ส่องเทรนด์วัสดุ ผ่านเลนส์นักออกแบบระดับโลกในงาน K 2019

ส่องเทรนด์วัสดุ ผ่านเลนส์นักออกแบบระดับโลกในงาน K 2019
ส่องเทรนด์วัสดุ ผ่านเลนส์นักออกแบบระดับโลกในงาน K 2019
ในงาน K 2019 งานแสดงนวัตกรรมพลาสติกและยางที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ ประเทศเยอรมนี นอกจากนวัตกรรมของพอลิเมอร์ชนิดต่าง ๆ เทคโนโลยีการผลิตชิ้นงานพลาสติกที่ทันสมัย และนวัตกรรมเพื่อตอบหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนซึ่งเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสนใจ ผสานความร่วมมือ และมุ่งมั่นในการพัฒนาสินค้าและบริการอย่างจริงจังแล้ว ภายในงานยังมีการนำเสนออีกแง่มุมของวัสดุผ่านมุมมองของนักออกแบบชื่อดังอย่าง คริส เลฟเทอรี่ (Chris Lefteri) ผู้เชี่ยวชาญด้านวัสดุและการออกแบบ เจ้าของสตูดิโอ CLD ณ กรุงลอนดอน และกรุงโซล และเจ้าของผลงานเขียนเกี่ยวกับการออกแบบวัสดุที่ได้รับการตีพิมพ์มากมายหลายเล่ม
 
ก่อนจะเข้าร่วมดีไซน์ทัวร์กับคริส ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมพิเศษของงาน K 2019 ครั้งนี้ All Around Plastics ได้มีโอกาสพูดคุยกับคริสอย่างใกล้ชิดที่บูทของเอสซีจี
 

 
คริสเล่าว่า “เทรนด์ที่เห็นได้ชัดเจน คือ การทำให้วัสดุมีความยั่งยืนมากขึ้น เพราะเป็นปัจจัยที่นักออกแบบต่างคำนึงถึงในการออกแบบสินค้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศสหรัฐอเมริกาและอีกหลายประเทศแถบยุโรป ซึ่งจะเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องไปในระยะยาว อีกหนึ่งเทรนด์ที่น่าสนใจก็คือ การสร้างประสบการณ์ให้กับผู้บริโภค ปัจจุบันผู้บริโภคมีความสนใจใคร่รู้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่มาของสินค้าหรือที่มาของวัสดุที่ใช้ในการผลิต โดยเรื่องราวเหล่านี้มีส่วนในการสร้างประสบการณ์ให้กับผู้บริโภค และสามารถสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าได้”
 

 
เส้นทางดีไซน์ทัวร์ที่คริสพาผู้สนใจ ซึ่งมีทั้งนักออกแบบ นักข่าว นักวิจัย และเจ้าของแบรนด์สินค้าเดินชม เริ่มต้นที่จุดนัดพบห้อง reception ฮอลล์ 8B เพื่อรวมตัวเหล่าลูกทัวร์และนัดหมายเส้นทาง โดยสินค้าและบูทที่คริสคัดเลือกพาชมในช่วงเวลา 90 นาทีนี้เน้นไปที่วัสดุที่น่าสนใจโดยเฉพาะนวัตกรรมที่ตอบโจทย์เศรษฐกิจหมุนเวียน
 

 
สินค้าไฮไลท์ที่น่าสนใจในงานมีทั้งที่เป็นวัสดุพลาสติกรีไซเคิล ตัวอย่างเช่น บูทของดาว เคมิคัล ที่นำพลาสติกรีไซเคิลจากกระบวนการผลิต (post-industrial recycled material) มาผลิตเป็นฝาขวดน้ำหอม บูทอินนิออส สไตโรลูชั่น ที่จัดแสดงเรื่องการรีไซเคิลวัสดุ ABS ทั้งเชิงเคมีและแบบเชิงกล ส่วนพลาสติกที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติ (bio based plastic) ก็มีบูทบราสเคม ที่นำผลิตภัณฑ์พลาสติกต่าง ๆ ที่ผลิตจากอ้อยมาจัดแสดง นอกจากนี้ ยังมีวัสดุคอมโพสิต เช่น บูทบีโอโลจิก ที่จัดแสดงวัสดุพลาสติกผสมไม้คอร์ก เยื่อกระดาษ เป็นต้น
 

 
ระหว่างที่พาชมมาถึงฮอลล์ 6 คริสก็ได้พูดถึงบูทเอสซีจี ที่ได้นำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในการออกแบบและนำสินค้ามาจัดแสดง เช่น เม็ดพลาสติกรีไซเคิลที่ผ่านการใช้งานจากผู้บริโภค (post-consumer recycled resin) และกระเบื้องปูพื้นที่ผลิตจากวัสดุคอมโพสิตจากเปลือกไข่
 

 
คริสได้ทิ้งท้ายด้วยข้อแนะนำในการเลือกใช้วัสดุพลาสติกในโลกยุคที่เราหันกลับมามองเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนแบบนี้ว่า “นักออกแบบต้องมีความเข้าใจในวัสดุ เพราะพลาสติกเองมีความซับซ้อน เราไม่สามารถสรุปได้ว่าพลาสติกแบบ biodegradable จะดีกว่าพลาสติกแบบ virgin หรือดีกว่าพลาสติกประเภทที่สามารถนำกลับไปรีไซเคิลได้เพราะมีหลายปัจจัยเกี่ยวข้อง วิธีที่ดีที่สุด คือ ให้ตั้งต้นจากคุณสมบัติของวัสดุ และออกแบบผลิตภัณฑ์จากคุณสมบัตินั้น ๆ ให้ได้ตามวัตถุประสงค์ของสินค้า”
 

 
กล่าวได้ว่าการพัฒนาวัสดุที่ก้าวหน้าขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบัน ช่วยสร้างความหลากหลาย สร้างโอกาสในการสร้างสรรค์ผลงาน และสร้างความเป็นไปได้ใหม่ ๆ มากมาย หากนักออกแบบและผู้ผลิตสินค้าได้เลือกใช้วัสดุที่เหมาะสมแล้วก็จะสามารถตอบโจทย์การใช้งานของผลิตภัณฑ์ได้อย่างยั่งยืน