‘โลก’ บ้านหลังใหญ่ของทุกคน กับคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

‘โลก’ บ้านหลังใหญ่ของทุกคน กับคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
‘โลก’ บ้านหลังใหญ่ของทุกคน กับคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
เราทุกคนอยู่ร่วมกันในบ้านหลังใหญ่หลังนี้ที่เรียกว่า ‘โลก’ หน้าที่ของพวกเราจึงเป็นการช่วยถนอมรักษาสิ่งแวดล้อมบนโลกใบนี้ เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งในปัจจุบัน และยั่งยืนยาวนานไปจนถึงอนาคต
 
การดูแลสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแค่ลองเริ่มต้นจากสิ่งรอบตัว เราชวนคุณสำรวจเรื่องราวเริ่มจากพื้นที่ใกล้ตัว ออกไปจนถึงภาพใหญ่ของทรัพยากรธรรมชาติ ที่พลังความสามัคคีจะช่วยสานต่อโลกอันสวยงามนี้กลับมาส่งผลดีกลับคืนต่อตัวเรา
 

 
พื้นที่รอบบ้าน
 
ชวนเริ่มกับสิ่งใกล้ตัวอย่างพื้นที่รอบบ้าน ง่ายที่สุดคือการจัดการพื้นที่อยู่อาศัยให้ถูกสุขลักษณะ โดยเฉพาะกับการใช้งานข้าวของทุกชิ้นภายในบ้านอย่างคุ้มค่า และคัดแยกประเภทของขยะก่อนส่งต่อสู่การกำจัดต่อไป การจัดการอย่างถูกวิธีจะช่วยให้ข้าวของแต่ละชิ้นใช้งานได้อย่างเกิดประสิทธิภาพสูงสุดในวงรอบชีวิตหนึ่ง
 
ยกตัวอย่างในการดูแลที่เป็นพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่ทั้งชุมชน เพื่อให้เกิดการจัดการอย่างเป็นระบบ เช่น โครงการ “ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ” ซึ่งมีการสร้างและขับเคลื่อนโมเดลการจัดการขยะที่เหมาะกับชุมชน โดยนำแนวทาง “บวร” ได้แก่ บ้าน วัด โรงเรียน เข้าเชื่อมโยงกับ “ธนาคารขยะ” ภายในชุมชน เพื่อให้เกิดการบูรณาการแบบครบทั้งระบบ นับเป็นการส่งเสริมให้ชุมชนมีความรู้และเข้าใจถึงการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า โดยลดการสร้างขยะ เพิ่มการรีไซเคิล และทิ้งขยะให้ถูกที่ถูกประเภท ซึ่งตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 ถึงตุลาคม 2565 สามารถนำขยะเข้าสู่ระบบแล้วกว่า 240 ตัน และยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 483,375 kgCO2eq
 

 
ป่าไม้
 
ขยายมุมมองออกไปกว้างอีกนิดที่ป่าไม้ พื้นที่ของระบบนิเวศที่มีส่วนสำคัญในการเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอน และช่วยบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งกำลังประสบกับวิกฤติการณ์ และต้องมีการลงมือแก้ไขอย่างจริงจังและต่อเนื่องเพื่อช่วยลดปัญหาโลกร้อน
 
SCGC ร่วมกับชุมชนท้องถิ่นและหน่วยงานราชการในพื้นที่ เปิดตัวโครงการ “ปลูก เพาะ รัก : ปลูกต้นไม้ เพาะต้นกล้า รักษาป่า สู่วิถีสังคมคาร์บอนต่ำ” ปลูกจิตสำนึกอนุรักษ์ด้วยการให้ความรู้ความเข้าใจต่อสภาวะโลกร้อนที่กำลังเกิดขึ้น เพื่อแสดงให้เห็นว่าปัญหาดังกล่าวไม่ใช่เรื่องไกลตัว และทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการฟื้นฟู อนุรักษ์ ดูแลป่าอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายที่จะปลูกป่า 1 ล้านต้น โดยในระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปี 2565 ได้ปลูกและเพาะต้นไม้ไปแล้วกว่า 191,889 ต้น คิดเป็นพื้นที่รวม 592 ไร่ ดูดซับก๊าซเรือนกระจก 2,867 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ด้วยความร่วมมือกันของ SCGC จิตอาสา ชุมชน และผู้ที่เกี่ยวข้องกว่า 3,400 คน
 

 
ภูเขา
 
แหล่งทรัพยากรอันเป็นบ้านของสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์นานาพันธุ์ เป็นเกราะป้องกันภัยทั้งน้ำฝนไหลบ่าในฤดูน้ำหลากและสร้างความชุ่มชื้นในฤดูแล้ง ดังเช่นตัวอย่างเขายายดา ในพื้นที่เพื่อนบ้านของ SCGC อันเป็นป่าต้นน้ำขนาดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงชุมชน จ.ระยอง ครอบคลุมกว่า 7 ตำบล 2 อำเภอ ที่ถูกปรับเปลี่ยนจากป่าไม้ไปเป็นพื้นที่ทำการเกษตร จนระบบนิเวศเปลี่ยนแปลงไป
 
เพราะตระหนักถึงปัญหาที่กำลังทยอยเกิดขึ้นเป็นลำดับ ตั้งแต่ปี 2550 SCGC ได้มีการทำงานเชิงรุกร่วมกับชุมชนด้วยหลักการบรรเทาผลกระทบตามลำดับขั้น (Mitigation Hierarchy) ประยุกต์ใช้ในการดำเนินโครงการปกป้องฟื้นฟูป่าต้นน้ำ โดยการสร้างฝายชะลอน้ำ ปลูกป่าเพิ่ม เสริมการปลูกป่า 5 ระดับ พร้อมจัดทำแผนป้องกันไฟป่า
 
ผลลัพธ์ปรากฏเช่นในปัจจุบัน เขายายดามีความอุดมสมบูรณ์ขึ้น และไม่เกิดไฟป่าอีก อีกทั้งยังส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้น ต่อยอดสู่การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ชุมชนมีความเข้มแข็งและสามารถพึ่งพาตนเองได้
 

 
ทะเล
 
ท้องทะเลอันเป็นองค์ประกอบส่วนใหญ่ของโลกใบนี้ และเป็นพื้นที่เศรษฐกิจโดยเฉพาะกับภาคตะวันออกของประเทศ ซึ่งกำลังประสบกับปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรทางทะเลบริเวณชายฝั่ง ส่งผลให้สัตว์น้ำที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งลดน้อยลง ชาวประมงพื้นบ้านมีรายได้น้อยลง จำเป็นต้องออกเรือนานขึ้นและไกลขึ้นเพื่อหาเลี้ยงชีพ
 
SCGC จึงหาทางช่วยแก้ปัญหาประมงพื้นบ้าน พร้อมกับช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศใต้ท้องทะเล ด้วยการคิดค้นนวัตกรรมบ้านปลาจากท่อ PE100 เกิดเป็นโครงการบ้านปลาเอสซีจีซี ด้วยการนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประยุกต์ใช้ การนำท่อ PE100 ที่เหลือจากกระบวนการขึ้นรูปทดสอบมาใช้สร้างบ้านปลา ด้วยคุณสมบัติแข็งแรงทนทาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
 
ตลอดระยะเวลา 9 ปีของการดำเนินการ SCGC ได้วางบ้านปลาครอบคลุมพื้นที่ภาคตะวันออกไปแล้วจำนวน 2,230 หลัง โดยวางในทะเลจังหวัดระยอง ชลบุรี จันทบุรี ตราด และระนอง คิดเป็น 43 กลุ่มประมง เป็นพื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลกว่า 50 ตารางกิโลเมตร ก่อให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลกว่า 212 ชนิด และเป็นเสมือนคลังทรัพยากรในทะเลที่ชาวประมงสามารถทำมาหากินได้อย่างยั่งยืนชั่วลูกชั่วหลาน
 
ถ้าบ้านดี ชีวิตก็ดี การดูแลโลกจึงไม่ใช่หน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นสิ่งที่ต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือ เริ่มต้นได้จากชีวิตประจำวัน แล้วพลังที่ร่วมมือกันจะสร้างสรรค์ให้บ้านหลังนี้ยังคงอุดมสมบูรณ์ สวยงาม ส่งต่อถึงลูกหลานตราบนานเท่านาน