กฎหมายภาษีอากร หน้าที่ทางกฎหมายสำหรับผู้ประกอบการ

กฎหมายภาษีอากร หน้าที่ทางกฎหมายสำหรับผู้ประกอบการ
กฎหมายภาษีอากร หน้าที่ทางกฎหมายสำหรับผู้ประกอบการ
การเสียภาษีอากรถือเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่ต้องดำเนินการตามกฎหมายอันรวมถึงผู้ประกอบการในประเทศไทยด้วย ซึ่งหากจะพูดถึงภาษีอากรสำหรับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะในแง่มุมกฎหมายแล้ว เชื่อได้เลยว่า คนส่วนใหญ่ต้องรู้สึกว่ามันยาก และซับซ้อนมาก ๆ ซึ่งก็อยากบอกว่าเป็นเรื่องยากจริง ๆ ที่จะทำความเข้าใจในทุกเรื่องอย่างทะลุปรุโปร่งภายในระยะเวลาและพื้นที่ที่จำกัด
 
ดังนั้น ในบทความนี้ เราจึงขอเน้นทำความเข้าใจในแนวคิดและความแตกต่างของภาษีอากรพื้นฐานหลัก ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการส่วนใหญ่ ซึ่งก็มีอยู่ 4 ประเภทด้วยกัน คือ ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์
 
ภาษีเงินได้นิติบุคคล
 
จำง่าย ๆ ว่า เมื่อธุรกิจมีเงินได้ ก็ต้องเสียภาษี ภาษีประเภทนี้จึงเป็นภาษีที่จัดเก็บจากผู้ประกอบการที่มีรายได้จากการประกอบกิจการหรือเนื่องจากการประกอบกิจการของบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี ซึ่งมีกำหนดสิบสองเดือนต่อหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชี โดยทั่วไปแล้วเงินได้ที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลหรือฐานภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้น
คิดจากกำไรสุทธิของกิจการ (ซึ่งปัจจุบันอยู่ในอัตราร้อยละ 20) แต่ในบางกรณีเพื่อความเป็นธรรม กฎหมายก็กำหนดจากยอดรายได้ก่อนหักรายจ่าย หรือเงินได้ที่จ่ายจากหรือในประเทศไทย หรือการจำหน่ายเงินกำไรออกไปจากประเทศไทย ขึ้นอยู่กับกิจการหรือเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด ซึ่งจะมีอัตราที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น อัตราภาษีของผู้ประกอบการที่เป็น SMEs ก็จะมีอัตราพิเศษที่ต่ำกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่ เป็นต้น

 
ภาษีมูลค่าเพิ่ม
 
ภาษีมูลค่าเพิ่ม เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “VAT” (แวต) เวลาที่เราได้ยินคำนี้ ก็จะกลัวกันว่า ถ้าเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสูง สินค้าบริการจะก็ราคาแพงขึ้นไปด้วย ซึ่งก็เป็นจริงเช่นนั้น เนื่องจากภาษีชนิดนี้เป็นภาษีทางอ้อมที่เรียกเก็บจากบุคคลที่ซื้อสินค้าหรือรับบริการ โดยทั่วไปแล้ว หากผู้ประกอบการมีรายรับจากการขายสินค้าหรือให้บริการเกินกว่า 1.8 ล้าน บาทต่อปี ก็มีหน้าที่ต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน ซึ่งการคำนวณภาษีที่ต้องเสีย มาจากมูลค่าส่วนที่เพิ่มขึ้นในแต่ละขั้นผลิต การจำหน่ายหรือการให้บริการ ตัวอย่างเช่น ถ้าอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นร้อยละ 10 หากเราซื้อวัตถุดิบมา 100 บาท และมีภาษีซื้อ 10 บาท เมื่อผลิตเป็นสินค้าขายในราคา 150 บาท ตอนขายไปจะต้องคิดภาษีขาย 15 บาท ดังนี้ ก็จะเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเฉพาะผลต่างจำนวน 15-10 = 5 บาท เท่านั้น
 
สำหรับประเทศไทยได้กำหนดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ที่ 10% แต่ทั้งนี้ ตั้งแต่ พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา คณะรัฐมนตรีจะออกพระราชกฤษฎีกาลดภาษีมูลค่าเพิ่มเหลือ 7% เป็นประจำทุกปี
 
ภาษีธุรกิจเฉพาะ
 
เป็นภาษีที่จัดเก็บจากการประกอบกิจการเฉพาะบางประเภทที่ดำเนินกิจการในราชอาณาจักรที่กฎหมายกำหนด ได้แก่ การธนาคาร การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ การรับประกันชีวิต การรับจำนำ การประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ และการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร โดยฐานภาษีคิดจากรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ที่ผู้ประกอบกิจการได้รับ หรือพึงได้รับเนื่องจากการประกอบกิจการ ซึ่งอัตราภาษีก็จะแตกต่างตามแต่ละประเภทของกิจการ ดังนั้น ผู้ประกอบการรายใดที่ทำธุรกิจข้างต้น ก็มีหน้าที่ต้องเสียภาษีชนิดนี้ด้วย
 
อากรแสตมป์
 
บางคนพอได้ยินคำว่า อากรแสตมป์ ก็เข้าใจว่าเหมือนกับแสตมป์ไปรษณีย์ที่ใช้ติดหน้าซองจดหมาย อย่าเพิ่งเข้าใจกันผิด เพราะมันไม่เหมือนกัน อากรแสตมป์เป็นภาษีอากรประเภทหนึ่ง ซึ่งมีการจัดพิมพ์คล้ายกับตราไปรษณียากร มีลวดลาย
มีรอยปรุ และราคาแสตมป์ ทว่าต่างกับแสตมป์ไปรษณีย์ ที่จะไม่มีตราประทับแสดงการใช้แสตมป์ แต่ใช้การขีดฆ่าแทน ซึ่งผู้ที่สามารถขีดฆ่าได้ต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ อากรแสตมป์จะเก็บจากการทำตราสารระหว่างกัน 28 ลักษณะ เช่น การทำสัญญาเช่าที่ดิน การทำสัญญาเช่าซื้อ การทำสัญญากู้ยืมเงิน การทำใบมอบอำนาจ เป็นต้น โดยมีอัตราการเสียอากร
ที่แตกต่างกันตามประเภทของตราสาร ดังนั้น หากผู้ประกอบการไปทำตราสารใด ๆ ที่เข้าข่ายตราสาร 28 ลักษณะ ก็มีหน้าที่ต้องติดอากรแสตมป์ด้วย

 
จากที่เล่ามาข้างต้น ถือว่าเป็นความรู้เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากรในระดับพื้นฐาน ที่ผู้ประกอบการควรจะรู้ แต่ในรายละเอียดว่าธุรกิจของเรา ต้องเสียภาษีหรือไม่ มีข้อยกเว้นหรือเปล่า หรือเสียภาษีในอัตรามากน้อยเพียงใด สามารถศึกษาหรือสอบถามได้จากเว็บไซต์ของกรมสรรพากร (http://www.rd.go.th/) หรือสายด่วนกรมสรรพากรที่หลายเลขโทรศัพท์ 1161