EEC และโอกาสทางธุรกิจของอุตสาหกรรมไทย

EEC และโอกาสทางธุรกิจของอุตสาหกรรมไทย
EEC และโอกาสทางธุรกิจของอุตสาหกรรมไทย
ภาคอุตสาหกรรมถือเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจประเทศ จากความสำเร็จของโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก หรือ Eastern Seaboard ที่เป็นการเปลี่ยนจากยุคเกษตรกรรมไปสู่ยุคอุตสาหกรรม วันนี้แนวโน้มอุตสาหกรรมทั่วโลกเริ่มเปลี่ยนทิศทางอีกครั้ง ประเทศไทยจึงต้องเริ่มทำการยกระดับประเทศใหม่อีกครั้งเพื่อให้ยังรักษาความสามารถในการแข่งขัน และเพื่อเป็นการสร้างฐานความเจริญครั้งใหม่ของประเทศ โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor – EEC) จึงเกิดขึ้นเพื่อส่งเสริมการลงทุนเพื่อยกระดับเทคโนโลยีและพัฒนาประเทศไปสู่ยุคดิจิทัล
 
 

 
 
All Around Plastics ได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณเจริญชัย ประเทืองสุขศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ระยองวิศวกรรมและซ่อมบำรุง จำกัด ที่ได้เข้าร่วมงานกับรัฐบาลในช่วงการจัดทำแผนในบทบาทของคณะทำงานประสานการลงทุนในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ถึงภาพรวมของโครงการ EEC และสิ่งที่ภาคอุตสาหกรรมของไทยควรเตรียมรับมือ รวมถึงโอกาสทางธุรกิจสำหรับอุตสาหกรรมพลาสติกจากการลงทุนต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
 
ภาพรวม และความคืบหน้าของโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
 
โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือที่คุ้นหูกันในชื่อ อีอีซี ได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายนำร่องใน 3 จังหวัดในภาคตะวันออก ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เพื่อสร้างโมเดลการบริหารจัดการก่อนที่จะขยายไปยังจังหวัดอื่น ๆ โดยมีการกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะได้รับการส่งเสริมเพื่อให้เกิดการลงทุนอย่างเป็นรูปธรรม มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคเพื่อเพิ่มศักยภาพรองรับการลงทุน มีการพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจและอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ในพื้นที่ รวมทั้งการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการจัดระบบการสะสมเทคโนโลยี ซึ่งเป็นการวางแผนทุกด้านให้เชื่อมโยงกัน เพื่อให้สามารถพัฒนาพื้นที่ EEC ให้สำเร็จได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนในทุกมิติ
 
 

 
 
ที่ผ่านมารัฐบาลได้ออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ส่วนใหญ่ต้องการองค์ความรู้และเทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตเพื่อต่อยอดหรือยกระดับอุตสาหกรรมในประเทศ โดยในปี 2563 นี้จะเป็นช่วงผลักดันโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา) โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด โครงการท่าเรือแหลมฉบัง และโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการบินแห่งใหม่ของภูมิภาคนี้ ซึ่งนอกจากจะเป็นสนามบินพาณิชย์แล้ว ยังมีแผนพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการบินอื่น ๆ ด้วย เช่น ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ศูนย์ขนส่งสินค้าทางอากาศ และศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบิน
นอกจากนี้รัฐบาลก็ได้เริ่มเตรียมความพร้อมเพื่อผลักดัน EEC ให้ก้าวสู่การพัฒนาในระยะถัดไป ซึ่งจะเป็นเรื่องการเดินหน้าลงทุนในอุตสาหกรรมต่าง ๆ อาทิเช่น การสร้างเมืองการบินภาคตะวันออก และการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ที่จะรองรับเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ รวมถึงเครือข่าย 5G เป็นต้น
 
โอกาสทางธุรกิจของอุตสาหกรรมพลาสติกจากโครงการ EEC
 
ถึงแม้ว่าอุตสาหกรรมพลาสติกจะไม่ได้เป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย แต่สินค้าพลาสติกมีความเกี่ยวข้องและเป็นส่วนหนึ่งใน value chain ของแทบจะทุกอุตสาหกรรม ดังนั้นสิ่งที่ผู้ประกอบการพลาสติกจะได้รับจากโครงการ EEC ก็คือโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นยอดขายของสินค้าเดิมที่เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของอุตสาหกรรม หรือการพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์อุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น การพัฒนาชิ้นส่วนรถยนต์และชิ้นส่วนเครื่องบินจากวัสดุพลาสติก การพัฒนาบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารแปรรูป การพัฒนาบรรจุภัณฑ์สำหรับการขนส่งสินค้า เป็นต้น
 
 

 
 
อย่างไรก็ดีอุตสาหกรรมพลาสติกนับว่าเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ไม่ต้องใช้เทคโนโลยีระดับสูงในการผลิตสินค้า ทำให้มีผู้เล่นในตลาดมาก และการแข่งขันค่อนข้างสูง ประกอบกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ส่งผลให้ภูมิภาคอาเซียนมีลักษณะเป็นตลาดเดียวกัน  มีฐานการผลิตเดียวกัน การเคลื่อนย้ายแรงงาน โรงงาน หรือฐานการผลิตสามารถทำได้ง่ายและรวดเร็ว ผู้ประกอบการจึงควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาสินค้าให้มีมูลค่าเพิ่ม มีจุดเด่นที่เหนือกว่าคู่แข่ง ตลอดจนพัฒนาประสิทธิภาพของการบริหารจัดการเพื่อที่จะสามารถเข้าถึงลูกค้าได้
 
EEC กับการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล
 
อีกหนึ่งหัวข้อสำคัญที่ทุกอุตสาหกรรมควรต้องให้ความสำคัญคือเรื่องของเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งมีตั้งแต่เรื่องที่เราคุ้นเคยในชีวิตประจำวัน เช่น การทำธุรกรรมออนไลน์ การซื้อขายสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ และการติดต่อสื่อสารกับคู่ธุรกิจผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถนำมาปรับใช้กับธุรกิจได้ทันที เพราะเป็นเรื่องที่ลงทุนไม่สูง และระบบการสื่อสาร 4G ในปัจจุบันก็สามารถรองรับได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามรัฐบาลเองก็กำลังเร่งส่งเสริมให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ ในประเทศนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการจัดการโรงงานมากขึ้น เช่น การนำเทคโนโลยีมาพัฒนาเครื่องจักรให้ทำงานได้อย่างอัตโนมัติมากขึ้น (Autonomous) การนำหุ่นยนต์ หรือแขนกลต่าง ๆ มาใช้ในกระบวนการผลิต การพัฒนาซอฟท์แวร์โดยนำเทคโนโลยี AI หรือ Artificial Intelligent มาใช้ และในอนาคตอันใกล้นี้เมื่อประเทศไทยมีเครือข่าย 5G ก็จะเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญที่จะทำให้อุตสาหกรรมสามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลขั้นสูงมาช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงานได้มากขึ้น ช่วยเพิ่ม speed ในการทำงาน และช่วยแก้ปัญหาเรื่องแรงงานที่จะหายากขึ้นในอนาคตได้
 
ทั้งหมดนี้เป็นบทสรุปให้ผู้ประกอบการได้เห็นโอกาสทางธุรกิจที่เกิดขึ้นจากโครงการ EEC เพื่อเตรียมวางแผนในเชิงรุก ธุรกิจต้องไม่หยุดรออยู่กับที่ แต่ควรเริ่มมองหาตลาดใหม่ ๆ เร่งพัฒนาตนเอง พัฒนาสินค้าที่มีมูลค่า นำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันให้ได้มากขึ้น
 
 
ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)