กฎหมายกับการประกอบธุรกิจออนไลน์…เรื่องง่ายๆ ที่ไม่ควรละเลย

กฎหมายกับการประกอบธุรกิจออนไลน์…เรื่องง่ายๆ ที่ไม่ควรละเลย
กฎหมายกับการประกอบธุรกิจออนไลน์…เรื่องง่ายๆ ที่ไม่ควรละเลย
การใช้ช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ ในการประกอบธุรกิจ ล้วนเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการปัจจุบัน ไม่ว่ารายเล็ก หรือรายใหญ่ล้วนให้ความสนใจ เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบัน ที่ต้องการความสะดวกรวดเร็วในการจับจ่ายใช้สอย ไม่ต้องเสียเวลาขับรถหาที่จอดหรือไปคอยเข้าคิวเป็นเวลานาน ๆ แต่รู้หรือไม่ว่าการประกอบธุรกิจผ่านช่องทางออนไลน์ ที่ดูเหมือนว่าใคร ๆ
ก็สามารถลุกขึ้นทำได้ ทว่าถ้าจะทำให้ถูกกฎหมายนั้น ผู้ประกอบการต้องมีความรู้และศึกษาให้เข้าใจก่อนลงมือทำ
โอกาสนี้ เราจึงขอนำเสนอกฎหมายหลัก ๆ หลายเรื่องที่ผู้ประกอบธุรกิจผ่านโลกออนไลน์ควรต้องรู้ เพื่อไม่ให้ปฏิบัติอย่างผิดกฎหมายโดยไม่รู้ตัว และอาจก่อให้เกิดความเสียหายในภายหลัง

 
กฎหมายทะเบียนพาณิชย์
พระราชบัญญัติทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ.2499 เป็นกฎหมายฉบับแรกเลยที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบธุรกิจออนไลน์ โดยกฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดให้ผู้ประกอบการออนไลน์ไม่ว่าจะเปิดเว็บไซต์เป็นร้านค้า หรือผ่านทาง Facebook, Instagram ต้องไปจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้สามารถระบุตัวตนของผู้ประกอบการร้านค้าออนไลน์ได้ และยังเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับลูกค้า เพื่อป้องกันการหลอกลวง หรือถูกโกง โดยผู้ประกอบการต้องนำเลขทะเบียนที่ได้จากการจดนั้น ไปแสดงบนหน้าร้านค้าออนไลน์ด้วย สำหรับเอกสารที่ต้องใช้ในการจดทะเบียน ขั้นตอนในการจดทะเบียน และค่าธรรมเนียม สามารถค้นหาข้อมูลที่เว็บไซต์หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์

 
กฎหมายขายตรงและการตลาดแบบตรง
นอกจากการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ตามพระราชบัญญัติทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ.2499 แล้ว ผู้ประกอบธุรกิจที่ขายสินค้าหรือบริการถึงผู้บริโภคผ่านช่องทางออนไลน์ ถือเป็นลักษณะของการ “ตลาดแบบตรง” ตามพระราชบัญญัติขายตรงและการตลาดแบบตรง พ.ศ.2545 ที่ต้องดำเนินการจดทะเบียนการประกอบธุรกิจการตลาดแบบตรงกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคก่อนดำเนินธุรกิจ มิฉะนั้นต้องรับโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกวันละไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ฝ่าฝืนอยู่ หากอยากทราบรายละเอียดเพิ่มเติม สอบถามได้ที่กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านธุรกิจขายตรงและการตลาดแบบตรง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค
 

กฎหมายธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
กฎหมายฉบับนี้ให้ความสำคัญการประกอบธุรกิจออนไลน์ โดยเฉพาะให้การรับรองสถานะทางกฎหมายของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ให้มีผลในทางกฎหมายเช่นเดียวเอกสารที่เป็นกระดาษ และสามารถนำเอกสารซึ่งเป็นสิ่งพิมพ์ออกของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์มาใช้แทนต้นฉบับหรือให้เป็นพยานหลักฐานในศาลได้ เช่น ใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ดังนั้น ในการประกอบธุรกิจออนไลน์ ผู้ประกอบการก็อาจส่งเอกสารทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อเป็นหลักฐานในการดำเนินธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการกับผู้ซื้อสินค้า หรือผู้รับบริการได้
 

กฎหมายการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มีความน่าสนใจที่ผู้ประกอบธุรกิจต้อง
พึงระวังไม่ให้กระทำความผิดที่อาจจะเกิดจากการนำเข้าข้อมูลสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่เป็นการผิดกฎหมาย เช่น การชักชวนหรือหลอกลวงผู้อื่นให้ลงทุนในธุรกิจ โดยผู้ประกอบธุรกิจมีเจตนาทุจริตหรือไม่มีเจตนาให้ร่วมลงทุนด้านธุรกิจจริง ๆ การหลอกลวงผู้อื่นผ่านสื่อออนไลน์ โดยมีเจตนาทุจริต หรือไม่มีเจตนาจะขายสินค้าจริง ๆ หรือไม่มีสินค้าอยู่จริง หรือกระทั่งนำภาพสินค้าของผู้อื่นมาโพสต์ เพื่อจำหน่ายและหลอกลวงผู้อื่น เป็นต้น ดังนั้น การเป็นผู้ประกอบธุรกิจจึงต้องมีความสุจริตเป็นสำคัญ โดยหากกระทำความผิดตามกฎหมายฉบับนี้แล้ว ก็มีโทษทางอาญาทั้งปรับหรือจำคุกที่ไม่น้อยเลยทีเดียว
 

กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค
ในการประกอบธุรกิจ เป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้ประกอบการต้องโฆษณาสินค้าและบริการของตนเอง ซึ่งการโฆษณาสินค้าหรือบริการนั้นต้องอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 กล่าวคือ การโฆษณาจะต้องไม่ใช้ข้อความที่เป็นการไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรือใช้ข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนรวม เช่น โฆษณาที่เป็นเท็จหรือเกินความจริง โฆษณาที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการไม่ว่าจะกระทำโดยใช้หรืออ้างอิงรายงานทางวิชาการ สถิติ หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอันไม่เป็นความจริงหรือเกินความจริงหรือไม่ก็ตาม โฆษณาที่เป็นการสนับสนุนโดยตรงหรือโดยอ้อมให้มีการกระทำผิดกฎหมายหรือศีลธรรม หรือนำไปสู่ความเสื่อมเสียในวัฒนธรรมของชาติ หรือโฆษณาที่จะทำให้เกิดความแตกแยกหรือเสื่อมเสียความสามัคคีในหมู่ประชาชน เป็นต้น