เทรนด์ของวงการพลาสติกเพื่อการขับเคลื่อนโลกอย่างยั่งยืน

เทรนด์ของวงการพลาสติกเพื่อการขับเคลื่อนโลกอย่างยั่งยืน
เทรนด์ของวงการพลาสติกเพื่อการขับเคลื่อนโลกอย่างยั่งยืน
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้เราได้เห็นหลายแบรนด์ยักษ์ใหญ่ระดับโลกออกมาประกาศนโยบายสิ่งแวดล้อมเป็นเป้าหมายสำคัญของธุรกิจ นั่นก็เพราะผู้บริโภคทั่วโลกต่างก็ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม ทั้งเรื่องปัญหาการจัดการขยะบนบกและในทะเล ปัญหาขาดแคลนทรัพยากร ปัญหาภาวะโลกร้อน ซึ่งไม่เพียงแต่องค์กรเอกชนเท่านั้น ภาครัฐในหลายประเทศก็ยังประกาศเรื่องนี้เป็นวาระเร่งด่วนด้วยการประกาศข้อกำหนดหรือกฎหมายเพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาได้ตามเป้าหมาย
 
สหราชอาณาจักร – ภาษีบรรจุภัณฑ์พลาสติก
 
   หนึ่งในตัวอย่างของการลงมือปฏิบัติอย่างเข้มงวดและเห็นภาพชัดเจน คือการที่สหราชอาณาจักรประกาศภาษีบรรจุภัณฑ์พลาสติก โดยบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่จะนำเข้าหรือผลิตใช้งานในสหราชอาณาจักร จะต้องประกอบด้วยวัสดุพลาสติกรีไซเคิลในปริมาณไม่น้อยกว่า 30% หากฝ่าฝืนจะต้องเสียภาษีค่าปรับจำนวน 200 ปอนด์ต่อตัน
 
 

 
 
   วัตถุประสงค์สำคัญของการออกข้อบังคับนี้ก็เพื่อที่จะสร้าง ecosystem ของธุรกิจที่ใช้พลาสติกรีไซเคิลในกระบวนการผลิตบรรจุภัณฑ์ ควบคู่ไปกับการสร้างความต้องการจากฝั่งผู้บริโภค ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นให้ผู้ผลิตพลาสติกจำเป็นจะต้องปรับตัวตั้งแต่กระบวนการผลิต ไปจนถึงกระบวนการจัดการขยะพลาสติก เพื่อนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างมีประสิทธิภาพ โดยทางสหราชอาณาจักรเองได้ดำเนินการศึกษาข้อมูลเพื่อร่างข้อบังคับนี้ตั้งแต่ปี 2017 จนเสร็จสิ้นในช่วงกลางปี 2019 และพร้อมเริ่มบังคับใช้จริงในเดือนเมษายนปี 2022
 
สหภาพยุโรป – วัสดุรีไซเคิลในกระบวนการผลิตขวด
 
   ทางด้านสหภาพยุโรปก็มีการดำเนินการเพื่อสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนแบบครบวงจรภายในภูมิภาค เริ่มจากการสร้างกลยุทธ์การจัดการขยะพลาสติกขึ้นเพื่อพาประชาคมไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ โดยเริ่มต้นจากการแบนพลาสติกที่ใช้งานครั้งเดียวทิ้ง หรือ Single-Use Plastics เพื่อลดปริมาณการใช้พลาสติกในชีวิตประจำวันที่ไม่จำเป็น ซึ่งได้แก่ ช้อนส้อม มีด จาน หลอด ก้านคนกาแฟ ก้านสำลี ก้านลูกโป่ง เป็นต้น
 
 

 
 
   นอกจากนี้ยังมีนโยบายที่เน้นเรื่องการคัดแยกและออกแบบวิธีการใช้งานขวดพลาสติกตั้งแต่ต้นทางไปสู่ปลายทางการกำจัด โดยตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2025 ขวดพลาสติกประเภท PET จะต้องประกอบด้วยวัสดุพลาสติกรีไซเคิลอย่างน้อย 25% และภายในปี 2030 เพิ่มเป็น 30% สำหรับขวดพลาสติกทุกประเภท
 
พันธมิตรพลาสติกแห่งยุโรป (European Circular Plastics Alliance)
 
   นอกจากการตื่นตัวของหน่วยงานภาครัฐแล้ว ภาคเอกชนเองยังมีการรวมตัวกันของผู้ประกอบการด้านพลาสติกในยุโรปตั้งแต่ปี 2018 ซึ่งปัจจุบันสามารถรวบรวมพันธมิตรจากทุกส่วนของห่วงโซ่การผลิตได้กว่า 175 องค์กร เพื่อตั้งเป้าหมายร่วมกันว่าจะต้องมีพลาสติกรีไซเคิลในตลาดภายในภูมิภาคให้ได้ถึง 10 ล้านตันภายในปี 2025 แม้เป้าหมายเหล่านี้จะไม่ได้ถูกกำหนดเป็นข้อบังคับใช้ แต่นับเป็นนโยบายที่แสดงถึงความร่วมมือของทุกหน่วยงานที่พร้อมลงมืออย่างจริงจัง
 
Ellen MacArthur Foundation
 

 
 
 
 
 
 
 
   อีกหนึ่งตัวอย่างของการร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานยักษ์ใหญ่ระดับนานาชาติ ก็คือ Ellen MacArthur Foundation (EMF) องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดขึ้น ซึ่งรวบรวมผู้ประกอบการและผู้ผลิตพลาสติกกว่า 500 รายจากทั่วโลกมาสร้างนโยบายและเป้าหมายเพื่อสิ่งแวดล้อมระดับโลก ซึ่งองค์กรที่ร่วมลงนามในข้อตกลงฉบับนี้ เป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกมากกว่า 20% ของปริมาณบรรจุภัณฑ์พลาสติกทั่วโลก จึงนับเป็นหน่วยงานที่มีศักยภาพสูงที่มีความพร้อมจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
 

 
 
   เอสซีจีได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ Ellen MacArthur Foundation ในฐานะบริษัทชั้นนำเพียงรายเดียวของประเทศไทย โดยมีโอกาสได้เรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนจากตัวแทนของมูลนิธิและบริษัทสมาชิกอื่น ๆ ทั้งยังได้นำเสนอแนวคิดและวิถีปฏิบัติ SCG Circular Way ผ่านโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ของเอสซีจีอีกด้วย ถือเป็นจุดเริ่มต้นและโอกาสที่ดีในการสร้างองค์ความรู้และการขยายเครือข่ายเศรษฐกิจหมุนเวียนในระดับนานาชาติ
 
   จะเห็นได้ว่าทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนกำลังลงมือดำเนินการเรื่องพลาสติกอย่างเข้มข้น เช่นเดียวกับในประเทศไทยที่มีการร่างพระราชบัญญัติสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ ว่าด้วยการจัดการขยะพลาสติกและภาษีค่าธรรมเนียมพลาสติก นับเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับพลาสติกต้องร่วมด้วยช่วยกัน และต้องปรับตัวเพื่อให้ตอบรับกับโจทย์เทรนด์โลกอย่างการการดำเนินตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อการดำเนินธุรกิจไปพร้อมกับการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีและยั่งยืน