รู้จัก (ร่าง) Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ.2561-2573 ก้าวสู่การจัดการพลาสติกที่ยั่งยืน ด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียน

รู้จัก (ร่าง) Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ.2561-2573 ก้าวสู่การจัดการพลาสติกที่ยั่งยืน ด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียน
รู้จัก (ร่าง) Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ.2561-2573 ก้าวสู่การจัดการพลาสติกที่ยั่งยืน ด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียน
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีพลาสติกใช้แล้ว แปลเปลี่ยนเป็นขยะประมาณ 12% ของขยะที่เกิดขึ้นทั้งหมด หรือประมาณปีละ 2 ล้านตัน โดย 0.5 ตันถูกหมุนเวียนกลับไปใช้ประโยชน์ และอีก 1.5 ตันเป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวรอกำจัด นอกจากพลาสติกที่ถูกทิ้งเข้าไปในระบบแล้ว ขยะพลาสติกในทะเลของประเทศไทยยังจัดว่าเป็นปัญหาสำคัญระดับโลก ซึ่งที่มาของพลาสติกเหล่านี้ก็มาจากขยะที่ถูกทิ้งตามท่อระบายน้ำ แม่น้ำ และบางส่วนก็ลำเลียงต่อไปยังทะเลในที่สุด ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นที่จะต้องมีนโยบายการจัดการกับพลาสติกใช้แล้วระดับประเทศที่เป็นเหมือนกับคู่มือเพื่อการจัดการอย่างถูกต้องและเป็นระบบเดียวกัน ตั้งแต่ต้นน้ำผู้ผลิต การใช้งานของผู้บริโภค ไปจนปลายน้ำอย่างการกำจัด (ร่าง) Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ.25612573 จึงเกิดขึ้น เพื่อสิ่งแวดล้อมของคนไทยทุกคน และพลาสติกแต่ละชิ้นจะถูกใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดในวงรอบของชีวิต
 
 

 
 
สถานการณ์พลาสติกใช้แล้วในประเทศไทย
 
ปัญหาการจัดการพลาสติกหลังการใช้งาน แบ่งออกเป็น 3 หัวเรื่องใหญ่ ข้อแรกคือปัญหาจากการออกแบบและการผลิต ซึ่งการออกแบบผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์พลาสติกเพื่อสิ่งแวดล้อม หรือการใช้วัสดุทดแทนพลาสติกยังไม่แพร่หลายเท่าที่ควร ข้อที่สองคือปัญหาจากการบริโภค การใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกเกินความจำเป็น และพลาสติกที่ปนเปื้อนอาหารจึงยากต่อการนำกลับมารีไซเคิล
 
 

 
 
และข้อสุดท้ายที่สำคัญคือปัญหาจากการจัดการพลาสติกใช้แล้วหลังการบริโภค ซึ่งคนไทยยังขาดความตระหนักในการคัดแยกพลาสติกใช้แล้วอย่างเป็นระบบ ในส่วนบริการเก็บขนขยะเองก็ยังไม่ทั่วถึงหรือกำจัดอย่างไม่มีประสิทธิภาพ และยังไม่มีกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับที่ส่งเสริมการคัดแยก กำจัด และนำพลาสติกใช้แล้วกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่
 
 

 
 
Roadmap จากความร่วมมือของทุกภาคส่วน
 
สำหรับการจัดทำ Roadmap การจัดการพลาสติกใช้แล้วในครั้งนี้ เกิดจากการมีส่วนร่วมในการให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรระหว่างประเทศ สถาบันการศึกษา และประชาชนที่เกี่ยวข้อง จนออกมาเป็น (ร่าง) Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ.25612573 ที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs)
 
 

 
 
เป้าหมายสำคัญของ Roadmap
 
เป้าหมายประการแรก คือการลดและเลิกใช้พลาสติก ด้วยการใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งภายในปี 2565 วางเป้าหมายเลิกใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติก (แบบบางใช้ครั้งเดียว) หลอดพลาสติก
เป้าหมายประการที่สอง คือการนำพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ 100% ให้ได้ภายในปี 2570 รวมทั้งส่วนพลาสติกของเสียที่นำกลับมาใช้งานไม่ได้ จะต้องถูกกำจัดอย่างถูกวิธีด้วยการเผาเป็นพลังงาน
 
เข้าสู่ระยะที่ 2 ของ Roadmap
 
Roadmap ในการจัดการพลาสติกใช้แล้ว ถูกแบ่งออกเป็น 3 ระยะด้วยกัน โดยเน้นไปที่การลด เลิกใช้ และการนำพลาสติกใช้แล้วกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่อีกครั้ง ในขณะนี้ เราผ่านพ้น (ร่าง) แผนการระยะแรกในปี 25612562 ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเน้นไปที่การเลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม (Cap Seal) ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ผสมสารอ็อกโซ่ (Oxo) รวมไปถึงถุงหูหิ้วที่มีความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน และกำลังอยู่ในระยะที่ 2 ในระหว่างปี 25632565 โดยแบ่งเป็นมาตรการต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางให้กับผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้ประกอบการธุรกิจ รวมถึงขั้นผู้บริโภค ในการวางแผนการใช้งานวัสดุพลาสติก เพื่อลดการใช้งานให้น้อยที่สุด หรือหาวัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
 
 

 
 
มาตรการลดการเกิดพลาสติก ณ แหล่งกำเนิด: สร้างมาตรฐานอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติกที่นำกลับมารีไซเคิลได้และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผู้ผลิตเองจึงควรจัดการค้นคว้าและออกแบบผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์พลาสติกในแบบ Eco-Design หรือวัสดุพลาสติกที่สามารถนำไปรีไซเคิลหรือใช้ประโยชน์ต่อได้ 100% ในทางฝั่งผู้จำหน่ายหรือผู้ประกอบการเอง ก็ควรให้การสนับสนุนการใช้งานผลิตภัณฑ์ทดแทนพลาสติกใช้งานครั้งเดียว ทั้งหมดนี้ก็เพื่อส่งเสริมการคัดแยกจัดเก็บเข้าสู่ระบบรีไซเคิลอย่างครบวงจร
 
มาตรการลด เลิกใช้พลาสติก ณ ขั้นตอนการบริโภค: จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้ประกอบการ และตัวประชาชนเองในการเรียนรู้ทำความเข้าใจพลาสติก การใช้งานอย่างคุ้มค่า และการเลิกใช้พลาสติกที่มากเกินจำเป็น
 
มาตรการจัดการขยะพลาสติกหลังการบริโภค: การให้ความรู้ในเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนนับเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อสนับสนุนการนำพลาสติกใช้แล้วเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล โดยส่งเสริมให้เกิดการคัดแยกขยะตั้งแต่ในระดับชุมชน ไปจนถึงการส่งเสริมธุรกิจ Upcycling เพื่อการใช้งานวัสดุพลาสติกให้เกิดคุณค่าสูงสุด
 
ทั้งหมดนี้เพื่อปูทางไปสู่ ระยะที่ (พ.ศ. 25662573) ที่เกิดความตระหนักถึงการใช้งานพลาสติกอย่างครบวัฏจักร ตั้งแต่ผู้ผลิตที่คำนึงถึงผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์พลาสติกต้นทางที่สามารถรีไซเคิลหรือทำประโยชน์ใหม่ได้ 100% ผู้บริโภคที่ลดการใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวให้ได้มากที่สุด และปลายทางที่การกำจัดที่มีการค้นคว้าวิจัยเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ จากการรีไซเคิลพลาสติกใช้แล้ว เพื่อยืดวงรอบของการใช้งานวัสดุหนึ่ง ๆ ได้อย่างยาวนานและคุ้มค่ามากที่สุด
 
 

 
 
จากแผนการฯ สู่ประเทศไทยยุคเศรษฐกิจหมุนเวียน
 
จากการประเมิน หากแผนการฯ ทั้ง 3 ระยะ ดำเนินไปได้ตาม Roadmap และบรรลุตามเป้าหมาย จะสามารถลดปริมาณพลาสติกใช้แล้วที่จะต้องนำไปกำจัดได้ถึง 0.78 ล้านตันต่อปี ประหยัดงบประมาณและพื้นที่ในการรองรับขยะฝังกลบได้ราว 2,500 ไร่ ลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก 1.2 ล้านตัน หรือหากเป็นพลังงาน ก็จะสามารถเป็นเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้าขนาด 230 เมกะวัตต์ และในภาคการผลิตเอง ก็ช่วยประหยัดพลังงานในกระบวนการผลิตได้มากถึง 43.6 ล้านล้านบีทียู
 
จึงนับเป็นความท้าทายของเหล่าผู้ผลิต ผู้จำหน่าย และผู้ประกอบการธุรกิจ ที่จะออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมพร้อมกับเป็นมิตรกับผู้บริโภค รวมถึงการนำพลาสติกไปผลิตและใช้งานอย่างรู้คุณค่า โดยนำจุดเด่นที่เหนือกว่าวัสดุอื่นของพลาสติกมาใช้งานอย่างเหมาะสม เพียงแค่เริ่มต้นจากความใส่ใจ ก็จะสานต่อความห่วงใยให้โลกได้อย่างยั่งยืน