จากแกลลอนน้ำยาล้างไต สู่กระถางต้นไม้รีไซเคิล ความร่วมมือระหว่างเอสซีจี และ BDMS

จากแกลลอนน้ำยาล้างไต สู่กระถางต้นไม้รีไซเคิล ความร่วมมือระหว่างเอสซีจี และ BDMS
จากแกลลอนน้ำยาล้างไต สู่กระถางต้นไม้รีไซเคิล ความร่วมมือระหว่างเอสซีจี และ BDMS
   การขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนให้ประสบความสำเร็จได้นั้น เคล็ดลับสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ ความร่วมมือ ช่วยกันระดมสมอง แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และความเชี่ยวชาญของแต่ละองค์กรเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ตอบโจทย์
 
   เช่นเดียวกับความร่วมมือระหว่างธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี และกรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) เครือข่ายโรงพยาบาลชั้นนำของไทย จากที่ได้ร่วมกันพัฒนาอุปกรณ์การแพทย์เพื่อยกระดับการใช้งานให้แก่ทั้งคนไข้และบุคลากรทางการแพทย์ ด้วยความเชี่ยวชาญด้านการออกแบบและการเลือกใช้วัสดุพอลิเมอร์ที่เหมาะสมมาแล้วหลายโปรเจกต์ นำมาสู่ความร่วมมือในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน เกิดเป็นโครงการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ทางการแพทย์อย่างแกลลอนน้ำยาล้างไตให้กลายเป็นกระถางต้นไม้สำหรับประดับตกแต่งภายในอาคาร
 
 

 

 
มองเป้าหมายเดียวกัน
 
   เศรษฐกิจหมุนเวียนคือหลักการที่ทั้งสององค์กรให้ความสำคัญเป็นอย่างมากเพื่อไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ทางเอสซีจีมีแนวปฎิบัติ SCG Circular Way เช่นเดียวกันกับ BDMS ที่มีนโยบายสิ่งแวดล้อม BDMS Earth Healthcare จึงเป็นที่มาของความร่วมมือผสานความเชี่ยวชาญที่แตกต่างเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกัน คือการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนอย่างยั่งยืน
 
 

 

 
   คุณเสริมศักดิ์ คำพิทูลย์ ผู้อำนวยการฝ่าย Customer Experience Management โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวถึงนโยบายสิ่งแวดล้อมภายในองค์กรว่า BDMS ได้เล็งเห็นความสำคัญและมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างต่อเนื่องให้กับชุมชนและสังคม จึงได้กำหนดนโยบายสิ่งแวดล้อม BDMS Earth Healthcare ซึ่งประกอบด้วย 4 ด้าน ได้แก่ การสร้างการตระหนักรักษ์สิ่งแวดล้อม (Building Eco-mindset) การออกแบบและสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมในการทำงานให้เหมาะสม (Designing Better Environment) การเดินหน้าสู่การทำธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน (Moving to Green Business) และการมีส่วนร่วมและผลประโยชน์ร่วมกันอย่างยั่งยืนกับชุมชน (Sustaining Social Engagement)

 
 

 

 
   ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของชาว BDMS ทุกคนที่จะต้องช่วยกันเป็นสนามพลังบวกให้แก่กัน โดยทางโรงพยาบาลกรุงเทพ สำนักงานใหญ่ เริ่มต้นจัดทำโครงการ Be Green ที่ให้ความรู้กับพนักงานในเรื่องของ 3R ได้แก่ Reduce Reuse และ Recycle เพราะการให้ความรู้เป็นการสร้างมาตรฐานความเข้าใจที่ถูกต้อง หากเริ่มจากการลดจำนวนขยะ แยกและจัดการขยะอย่างถูกต้องแล้ว สุดท้ายก็สามารถต่อชีวิตทรัพยากรเหล่านี้ให้เกิดคุณค่าสูงสุดผ่านกระบวนการ 3R ที่เหมาะสมกับขยะแต่ละประเภท
 
 

 

 
   จากนโยบายที่ชัดเจนของ BDMS ทางธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี จึงได้มาร่วมงานในฐานะพันธมิตรผู้เชี่ยวชาญด้านพอลิเมอร์ คุณศุภธิดา รัตนสวัสดิ์ Medical and Well-being Business Manager ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี กล่าวถึงภาพรวมการดำเนินงานว่า “โครงการครั้งนี้เราได้ร่วมงานกับ BDMS ซึ่งเป็นพันธมิตรที่เข้าใจกระบวนการทำงานทั้งหมดของทางเอสซีจี ซึ่งความสำเร็จของโครงการนั้นก็ขึ้นอยู่กับต้นทางด้วยเช่นกัน อย่างทาง BDMS ที่เข้าใจและให้ความร่วมมือตั้งแต่กระบวนการคัดแยกขยะอย่างถูกต้องเพื่อนำไปสู่ขั้นตอนต่อไป ซึ่งหากมีการจัดการที่ดีตั้งแต่ต้นทางแล้ว ทางเอสซีจีก็จะสามารถนำมาเข้าสู่ขั้นตอนการจัดการให้กลายเป็นสินค้าใหม่ได้ จากการทำงานตรงนี้นับว่าเราได้เจอกับคนที่มีเคมีตรงกัน มองเห็นภาพเดียวกัน นำมาซึ่งความร่วมมือจนผลงานประสบความสำเร็จ”
 
จากนโยบาย สู่ภาคปฏิบัติ
 
   กระบวนการทำงานแบ่งออกได้เป็นสองส่วนหลัก คือ การจัดการขยะ และการออกแบบผลิตภัณฑ์ โดยเอสซีจีได้แนะนำถึงกระบวนการทำงานตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการจัดการขยะนั่นคือ การวิเคราะห์ประเภทของขยะทั้งหมดที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลซึ่งมีการคัดแยกไว้อยู่แล้ว จากนั้นจึงเลือกจากขยะประเภทที่ไม่ติดเชื้อ จนได้พบว่าแกลลอนน้ำยาล้างไตเป็นวัสดุตั้งต้นที่น่าสนใจ เนื่องจากเป็นขยะคุณภาพดี สะอาด ไม่ปนเปื้อน โดยแกลลอนเป็นพลาสติกประเภท HDPE ที่ทางเอสซีจีเชี่ยวชาญอยู่แล้ว อีกทั้งยังทางโรงพยาบาลมีศูนย์ล้างไต จึงมีแกลลอนเปล่าเป็นขยะที่เกิดขึ้นทุกวันและมีปริมาณมากเพียงพอ จึงเหมาะแก่การนำมาต่อยอดให้เกิดประโยชน์
 
 

 

 
   เมื่อเลือกวัสดุได้แล้ว สิ่งสำคัญคือความร่วมมือร่วมใจจากเจ้าหน้าที่ของทาง BDMS เพื่อให้ได้มาซึ่งวัสดุต้นทางที่มีคุณภาพสูงสุด ทาง BDMS ได้ให้ความรู้เรื่องการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธีแก่พนักงาน เมื่อแม่บ้านจัดเก็บแกลลอนน้ำยาล้างไตจากหน่วยไตเทียมซึ่งมีประมาณ 150-200 แกลลอนต่อวัน โดยมีการบันทึกจำนวนทุกครั้ง จากนั้นทำการแยกฝา ฟอยล์ที่หุ้มฝา และฉลากที่เป็นวัสดุประเภทอื่นออก แล้วจึงทำความสะอาดแกลลอนทั้งภายในและภายนอกด้วยผงซักฟอก ขัดคราบกาวออก ล้างน้ำสะอาดและนำไปตากให้แห้ง ก่อนเก็บรวบรวมในสถานที่ที่สะอาด มิดชิด และไม่อับชื้น เพื่อส่งต่อให้ทางเอสซีจี
 
   ส่วนสำคัญต่อมาคือ การออกแบบผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นการระดมสมองระหว่างทั้งสององค์กรเพื่อสร้างสรรค์สินค้าที่สร้างมูลค่าและตอบโจทย์การใช้งานของทางโรงพยาบาล จากข้อจำกัดของกฎหมายที่ผลิตภัณฑ์จากวัสดุรีไซเคิลจะต้องไม่นำไปใช้สัมผัสกับอาหารโดยตรง ขณะเดียวกันกับที่โรงพยาบาลต้องการเพิ่มพื้นที่สีเขียวภายในบริเวณอาคารหลังใหม่ ผลสรุปจึงออกมาเป็นการดีไซน์กระถางต้นไม้ขนาดความสูง 80 – 100 เซนติเมตร สำหรับตกแต่งอาคาร ซึ่งถือเป็น customer touchpoint ที่ทั้งผู้มารับบริการและเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลก็จะได้เห็นตัวอย่างของการสร้างมูลค่าจากวัสดุที่เคยเป็นขยะได้ชัดเจนเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น
 
 

 

 
   “ความท้าทายของการทำงานในครั้งนี้คือ การสร้างการรับรู้ของผู้บริโภคที่สามารถมองเห็นและสัมผัสได้ว่า ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ทำมาจากวัสดุรีไซเคิลก็เป็นสินค้าคุณภาพดี รูปลักษณ์สวยงามเทียบเท่าสินค้าที่ผลิตใหม่ เราจึงทำการพัฒนาสูตรการผสมพลาสติกจากการรีไซเคิล รวมทั้งควบคุมกระบวนการขึ้นรูป เพื่อให้ผลลัพธ์สุดท้ายออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่เข้ากับภาพลักษณ์ขององค์กร BDMS ซึ่งเป็นผู้ให้บริการทางสุขภาพระดับพรีเมียม” คุณศุภธิดากล่าว
 
   การทำงานร่วมกันในครั้งนี้ จึงเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และความรู้ความเชี่ยวชาญของทั้งสองฝ่าย เพื่อสร้างองค์ความรู้ที่ว่าทรัพยากรในมือที่มีอยู่สามารถสร้างสรรค์เป็นอะไรได้บ้าง และนำไปใช้งานอย่างไรให้คุ้มค่ามากที่สุด
 
ก้าวต่อไปของโครงการ
 
   จากความสำเร็จของกระถางต้นไม้รีไซเคิลจากวัสดุแกลลอนน้ำยาล้างไตที่ช่วยสร้างพื้นที่สีเขียวและเพิ่มชีวิตชีวาให้ภายในอาคารโรงพยาบาล ผลิตภัณฑ์ถัดไปของโครงการก็คือ กระถางต้นไม้ขนาดเล็กสำหรับปลูกพลูด่างซึ่งเป็นพืชที่สามารถช่วยลดมลพิษในสถานที่ทำงานได้ โดยตัวกระถางได้รับการออกแบบให้มีสวยงามเป็นเอกลักษณ์ และยังมีฟังก์ชันพิเศษเพื่อการใช้งานที่สะดวกยิ่งขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์ถังขยะที่อยู่ระหว่างการออกแบบรูปลักษณ์เพื่อส่งเสริมให้ผู้ใช้งานเข้าใจวิธีการแยกขยะได้ง่ายขึ้นและสามารถแยกทิ้งขยะได้อย่างถูกต้อง
 
 

 

 
   “ผลงานกระถางต้นไม้รีไซเคิลที่เริ่มต้นก่อนเป็นเฟสแรกนี้อาจจะเป็นเพียงจุดเล็ก ๆ แต่องค์กรเราก็พยายามแสดงให้เห็นว่า ยังมีเวทีที่เราจะสื่อสารเพื่อสร้างความตระหนักให้กับทุกคนในเรื่องการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ” คุณเสริมศักดิ์กล่าว “ถือว่าเราโชคดีที่ได้รับโอกาสในการทำงานร่วมกับเอสซีจี ซึ่งเป็นองค์กรชั้นแนวหน้าในเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนในภาคปฏิบัติ ตั้งแต่จุดเริ่มต้น จนได้มาคิดวิเคราะห์ร่วมกันในทุกส่วนของการทำงาน และมีการติดตามผลในทุกขั้นตอนอย่างเป็นระบบ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากเอสซีจี และเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้โปรเจ็คต์ประสบความสำเร็จ”
 
   คุณศุภธิดาฝากทิ้งท้ายในเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนว่าเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคน “ทุกวันนี้ มนุษย์ผลิตขยะออกมาไม่มีสิ้นสุด จึงเป็นโจทย์สำคัญที่ว่า จะทำอย่างไรให้เรามองเห็นคุณค่าของวัสดุเหล่านั้น ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องที่ทำแค่คนเดียวแล้วจะสำเร็จ ต้องอาศัยความร่วมมือ ความเชี่ยวชาญในระดับองค์กรที่มีเป้าหมายร่วมกันในการจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ แต่ทั้งนี้จำเป็นจะต้องเริ่มต้นที่เราทุกคนต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้ดี”
 
 

 

 
   เช่นเดียวกับคุณเสริมศักดิ์ที่เล็งเห็นว่า การมีเป้าหมายร่วมกันเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ “การนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในองค์กรนั้น เราไม่ต้องเดินไปคนเดียว เพราะเรามีพันธมิตรที่เก่งและเป็นผู้นำในด้านนวัตกรรม เพียงแค่เรามีทัศนคติและเป้าหมายเดียวกันก็สามารถแลกเปลี่ยนความรู้และสร้างสรรค์คุณค่ากลับคืนให้กับสิ่งแวดล้อมได้ และในฐานะบุคลากรคนหนึ่งในองค์กร ผมเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงสิ่งใดก็ตาม ให้เริ่มเปลี่ยนจาก mindset การใช้เหตุใช้ผล ใช้ข้อมูลต่าง ๆ ซึ่งจะส่งผลต่อการเปลี่ยนพฤติกรรมตามมา ทาง BDMS ก็พร้อมสร้างบรรยากาศที่เป็นมิตร เอื้ออำนวยต่อการรักสิ่งแวดล้อมให้เกิดขึ้น เพื่อนำพาองค์กรไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนตามแนวความคิด “เติบโต สมดุล ยั่งยืน” อย่างแท้จริง”