จากความร่วมมือสู่ความสำเร็จของแกลลอนน้ำยาล้างจานซันไลต์ จากเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง

จากความร่วมมือสู่ความสำเร็จของแกลลอนน้ำยาล้างจานซันไลต์ จากเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง
จากความร่วมมือสู่ความสำเร็จของแกลลอนน้ำยาล้างจานซันไลต์ จากเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง
 

   ผู้บริโภคในปัจจุบันให้ความสนใจกับการรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้นกว่าแต่ก่อน จากที่เราเห็นผู้คนหันมาทำความรู้จักกับพลาสติกประเภทต่าง ๆ ในครัวเรือน เพื่อให้สามารถคัดแยกและส่งต่อพลาสติกใช้แล้วเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน
 
   ยูนิลีเวอร์ ในฐานะแบรนด์ที่เกี่ยวข้องกับสินค้าในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค และมีความมุ่งมั่นที่จะนำไปสู่การพัฒนาโลกเพื่อความยั่งยืน โดยบรรจุภัณฑ์เป็นสิ่งที่จำเป็นจะต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น โดยหนึ่งในภารกิจคือการนำเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง หรือที่เรียกกันว่า High Quality Post-Consumer Recycled Resin (High Quality PCR) ที่ผลิตมาจากพลาสติกที่ผ่านการใช้งานแล้วของผู้บริโภค แทนการใช้เม็ดพลาสติกที่ผลิตขึ้นมาใหม่ ซึ่งความมุ่งมั่นของยูนิลีเวอร์นี้เองที่นำมาสู่ความร่วมมือกับเอสซีจี เคมิคอลส์ ในการพัฒนานวัตกรรมเม็ดพลาสติก PCR คุณภาพสูง ชนิด HDPE สำหรับบรรจุภัณฑ์สินค้าในครัวเรือน ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยยังคงคุณสมบัติการใช้งานตามความต้องการของลูกค้า
 

 
   All Around Plastics ฉบับนี้ได้รับเกียรติจากคุณวิเวกอนันด์ ซิสท์ลา Regional R&D Director SEAA & Site ยูนิลีเวอร์ และคุณนิวัฒน์​ อธิวัฒนานนท์ Chief Technology Officer (CTO) – Polyolefins and Vinyl เอสซีจี เคมิคอลส์ มาร่วมพูดคุยเล่าเรื่องราวความสำเร็จของการพัฒนาบรรจุภัณฑ์แกลลอนน้ำยาล้างจาน แบรนด์ซันไลต์ ที่ผลิตจากเม็ดพลาสติก PCR คุณภาพสูง ซึ่งเป็นหนึ่งในสินค้าภายใต้แบรนด์ SCG GREEN POLYMER™
 
ผู้บริโภค เชื่อมโยงกับโลกสีเขียว
 
   คุณวิเวกอนันด์ เริ่มต้นเล่าถึงความมุ่งมั่นของยูนิลีเวอร์ ที่มีต่อสิ่งแวดล้อม และเป้าหมายด้านความยั่งยืน (SDGs) “ยูนิลีเวอร์มีเป้าหมายด้านพลาสติกทั้งหมด 3 ด้าน ได้แก่ เป้าหมายแรกคือการทำให้บรรจุภัณฑ์ทั้งหมดสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ สามารถรีไซเคิลได้หรือย่อยสลายได้ 100% เป้าหมายถัดมาคือ การลดการใช้เม็ดพลาสติกใหม่ลง 50% รวมถึงเพิ่มการใช้วัสดุที่มีส่วนผสมของพลาสติกรีไซเคิลในการผลิตบรรจุภัณฑ์ และเป้าหมายสุดท้ายคือการเรียกเก็บและแปรรูปบรรจุภัณฑ์ให้ได้มากกว่าที่ขายไปในท้องตลาด”
 

 
   ทั้งหมดนี้สอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจของเอสซีจี เคมิคอลส์ และตรงกับ สินค้าภายใต้แบรนด์ SCG GREEN POLYMER™ ที่มุ่งเน้นพัฒนาสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงนำมาสู่ความร่วมมือระหว่างแบรนด์ระดับโลกอย่าง ยูนิลีเวอร์ และเอสซีจี เคมิคอลส์ ที่จะพัฒนาบรรจุภัณฑ์จากเม็ดพลาสติก PCR คุณภาพสูง ที่ผลิตมาจากพลาสติกใช้แล้วภายในประเทศไทยร่วมกัน “ถ้าถามว่าจุดเริ่มต้นมาอย่างไร ก็มาจากจุดมุ่งหมายและความตั้งใจที่จะเปลี่ยนแปลง สร้างความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกันของทั้งสององค์กร” คุณนิวัฒน์เล่าถึงที่มาของความร่วมมือครั้งใหญ่ครั้งนี้ และนี่เองจึงเป็นจุดเริ่มต้นสู่การพัฒนาบรรจุภัณฑ์จากเม็ดพลาสติก PCR ซึ่งเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงบรรจุภัณฑ์แกลลอนน้ำยาล้างจานซันไลต์เป็นอย่างแรก
 
“เหตุผลที่เราเลือกขวดแกลลอน HDPE ของน้ำยาล้างจานซันไลต์เป็นโปรเจกต์เริ่มต้นสำหรับเม็ดพลาสติก PCR จากพลาสติกใช้แล้วภายในประเทศ นั่นก็เพราะน้ำยาล้างจานซันไลต์เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในประเทศไทย” คุณวิเวกอนันด์ เล่าถึงเหตุผลในการเลือกจุดเริ่มต้นของการพัฒนาร่วมกันในครั้งนี้ “ซึ่งการเริ่มจากบรรจุภัณฑ์ของสินค้าเพียงแบรนด์เดียวก่อน ก็เพื่อเรียนรู้ ทดสอบ และทดลองใช้งานเม็ดพลาสติก PCR จนผ่านมาตรฐานด้านคุณสมบัติทั้งหมดก่อน แล้วจึงต่อยอดไปสู่บรรจุภัณฑ์ของสินค้าอื่นต่อไป”
 

 
ความท้าทายเพื่อให้ได้มาซึ่งบรรจุภัณฑ์แกลลอน PCR ของซันไลต์
 
   การพัฒนาร่วมกันในครั้งนี้ นับเป็นความท้าทายของทั้งสององค์กรเป็นอย่างมาก นั่นก็เพราะในประเทศไทยเองยังไม่มีเม็ดพลาสติก PCR คุณภาพสูงที่ตอบความต้องการของสินค้าแบรนด์ระดับโลก และที่ผ่านมาบรรจุภัณฑ์แกลลอนของน้ำยาล้างจานซันไลต์ใช้เม็ดพลาสติก PCR ที่นำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นอันดีของทั้งสององค์กรที่จะได้ร่วมมือกันเพื่อสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างสมบูรณ์เป็นครั้งแรกในประเทศไทย
 

 
   คุณวิเวกอนันด์ ยกหัวเรื่องคุณสมบัติที่จำเป็นต้องมีในบรรจุภัณฑ์แกลลอนน้ำยาล้างจานซันไลต์ไว้ดังนี้ “ข้อแรกคือ เรื่องความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ เพราะว่าผลิตภัณฑ์นี้จะต้องสัมผัสกับผู้บริโภคโดยตรง เราจึงต้องทำการศึกษา Chemical Migration หรือการเคลื่อนย้ายของสารเคมีจากบรรจุภัณฑ์สู่ผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญและเข้มงวด เพราะวัตถุดิบตั้งต้นของเม็ดพลาสติกที่มาจากการรีไซเคิลอาจมีการปนเปื้อนที่มองไม่เห็น จึงจำเป็นต้องผ่านการทดสอบจากทีมทดสอบทั่วโลก เพื่อให้มั่นใจได้ว่าไม่มีสารเคมีตกค้างในผลิตภัณฑ์”
 
“ความท้าทายประการที่สอง คือเรื่องกลิ่น เพราะเม็ดพลาสติก PCR นั้นมาจากการรีไซเคิลพลาสกติกใช้แล้ว เราจึงจำเป็นต้องมีมาตรการและการสังเกตการณ์ เพื่อไม่ให้มีกลิ่นตกค้างจากบรรจุภัณฑ์มาสู่ผลิตภัณฑ์ ด้วยการนำน้ำยาล้างจานบรรจุลงในขวดแล้วเก็บไว้ตั้งแต่ระยะเวลา 3-6 เดือน ภายใต้เงื่อนไขต่าง ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีปฏิกิริยาใดเกิดขึ้นในเรื่องกลิ่น และผู้บริโภคไม่ได้สัมผัสกลิ่นจากบรรจุภัณฑ์ ซึ่งเอสซีจี เคมิคอลส์ ก็ผ่านการศึกษาทั้งสองข้อได้เป็นอย่างดี”
 
“ประการถัดมาเป็นเรื่องสี ข้อจำกัดของการใช้เม็ดพลาสติก PCR คือสีที่ได้จะไม่เป็นสีขาวล้วน นั่นก็เพราะเป็นพลาสติกรีไซเคิล ทำให้มีการเจือปนของสีเข้มซึ่งผู้บริโภคอาจจะยังไม่ชินกับเรื่องนี้ เราจึงต้องการสร้างความเข้าใจให้ผู้บริโภคว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ทำให้เกิดการปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์หรือทำให้คุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ลดลง เราจึงเริ่มจากแกลลอนของซันไลต์ที่เป็นสีเหลือง แต่แผนการในอนาคตจะนำไปสู่การใช้งานกับทุกสี โดยเฉพาะกับสีขาว เพราะสีขาวเป็นสีกลาง และเป็นสีของวัสดุที่นำไปรีไซเคิลต่อได้ง่ายที่สุด”
 
“และประการสุดท้าย เราเรียกว่า การคงรูปของบรรจุภัณฑ์ โดยตัวแกลลอนจะต้องแข็งแรง และสามารถผ่านกระบวนการบรรจุในการผลิต ซึ่งต้องใช้เครื่องจักรความเร็วสูงและความดันสูงในการบรรจุน้ำยาล้างจาน ขวดจำเป็นต้องทนทานตลอดกระบวนการตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต ไม่เสียหายจนอาจส่งผลต่อผลิตภัณฑ์ที่บรรจุด้านใน รวมทั้งรองรับการใช้งานของผู้บริโภคที่แตกต่างกัน เพื่อให้ลูกค้าสามารถใช้งานผลิตภัณฑ์ได้อย่างปลอดภัย และสามารถนำไปรีไซเคิลต่อได้”
 
   ซึ่งคุณสมบัติทั้ง 4 ประการนี้ คือความสำเร็จร่วมกันระหว่างยูนิลีเวอร์ และเอสซีจี เคมิคอลส์ ในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์จากเม็ดพลาสติก PCR คุณภาพสูง ของแกลลอนน้ำยาล้างจานซันไลต์ และผ่านการรับรองมาตรฐานจากศูนย์ทดสอบในหลากหลายประเทศ “นี่นับเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานระหว่างสององค์​กร และในอนาคตเราจะร่วมพัฒนาไปสู่ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ของยูนิลีเวอร์ รวมทั้งขยายจากบรรจุภัณฑ์ของสินค้าประเภทใช้ในครัวเรือน (Home Care) ไปสู่สินค้าประเภทของใช้ส่วนบุคคล (Personal Care)”
 

 
เบื้องหลังความสำเร็จที่กระบวนการพัฒนาเม็ดพลาสติก PCR
 
   ในส่วนการทำงานของเอสซีจี เคมิคอลส์ คุณนิวัฒน์เล่าให้ฟังตั้งแต่กระบวนการคัดเลือกวัตถุดิบตั้งต้น ผ่านการวิจัยและทดลอง จนออกมาเป็นบรรจุภัณฑ์มาตรฐานพร้อมจำหน่ายจริง
 
“การทำงานของเอสซีจี เคมิคอลส์ นั้นเริ่มตั้งแต่การสำรวจและจัดหาแหล่งของบรรจุภัณฑ์พลาสติกใช้แล้วจากครัวเรือนในประเทศไทย เพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตเม็ดพลาสติก PCR และเมื่อได้มาแล้วจะต้องมีการตัดลอกฉลากที่ติดมากับบรรจุภัณฑ์ออก เพื่อลดการเจือปนให้ได้มากที่สุด โดยเอสซีจี เคมิคอลส์ มีทีมนักวิจัยและพัฒนาในเรื่องสูตรการผลิตพลาสติก และการนำเทคโนโลยีล่าสุดในการกำจัดจุดดำและสิ่งแปลกปลอมที่อาจหลุดเข้ามา นอกจากนี้ในอนาคตก็จะมีการติดตั้งระบบกำจัดกลิ่น ทำให้ได้เม็ดพลาสติก PCR ที่มีคุณภาพสูงยิ่งขึ้น”
 
   ในส่วนความท้าทายในการทำงานของเอสซีจี เคมิคอลส์ คือการที่จะต้องผ่านเกณฑ์การประเมินอย่างเข้มงวดทั้ง 4 ข้อนี้ของยูนิลีเวอร์ ซึ่งจะส่งผลต่อผู้บริโภคโดยตรง “ทีมนักวิจัยของเราทำงานกับบริษัทระดับโลกอยู่ตลอดเวลา และในส่วนที่ได้ร่วมงานกับยูนิลีเวอร์ ถือว่าเป็นการได้เรียนรู้ร่วมกันอย่างมากในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยเรามี Application Development Center เป็นส่วนหนึ่งของศูนย์ i2P ซึ่งสามารถทดสอบและปรับปรุงสูตรจนผ่านข้อกำหนดทุกข้อของลูกค้าได้”
 
“ในเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกัน ต้องบอกว่าเป็นการดึงเอาความสามารถของเอสซีจี เคมิคอลส์ มาร่วมกันกับความสามารถของทางยูนิลีเวอร์ เพื่อให้ได้เม็ดพลาสติก PCR ที่มีคุณสมบัติตอบโจทย์ทุกข้อ ทั้งเรื่องการขึ้นรูป คุณสมบัติเชิงกล ไปจนถึงการทดสอบในกระบวนการผลิตจริงในระยะยาวตรงตามความต้องการของลูกค้า เพื่อให้เห็นว่าคุณภาพมีความสม่ำเสมอ และส่งต่อไปสู่การทดสอบคุณสมบัติที่แล็บของยูนิลีเวอร์ในต่างประเทศ เพื่อทดสอบว่าไม่มีสารโลหะหนักหรือสารอื่น ๆ เจือปน ตรงนี้ถือว่าได้บริษัทระดับโลกมาช่วยพิสูจน์ว่าเม็ดพลาสติก PCR ของเราเป็นวัตถุดิบชั้นดี”
 

 
ความร่วมมือที่ดี นำมาสู่ความสำเร็จ
 
   คุณนิวัฒน์ได้กล่าวถึงความประทับใจจากการร่วมมือกันในครั้งนี้ว่า “ยูนิลีเวอร์ เป็นองค์กรที่มีความมุ่งมั่นในเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก หลังจากมีการประกาศเจตนารมณ์แล้ว และทางทีมเราได้มีโอกาสเข้าไปพัฒนาโปรเจกต์ร่วมกัน เราเห็นได้ชัดเจนถึงความมุ่งมั่นและตั้งใจที่อยากให้งานประสบความสำเร็จ เมื่อไปถึงขั้นตอนการทำงานร่วมกัน ต้องบอกว่าเป็นความร่วมมือที่ดี มีผลตอบรับอย่างสม่ำเสมอ ทำให้นักวิจัยสามารถทำงานได้อย่างรุดหน้า รวมทั้งเรื่องเกณฑ์ข้อกำหนดต่าง ๆ ที่ระบุมาอย่างชัดเจน ทำให้เราสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้อย่างตรงใจลูกค้า”
 
   ในส่วนของทางยูนิลีเวอร์ ก็มีความประทับใจจากวิสัยทัศน์และการทำงานครั้งนี้เป็นอย่างมาก “เราได้เห็นเอสซีจี เคมิคอลส์ให้ความสำคัญกับการสร้างความตระหนักรู้ด้านสิ่งแวดล้อมแก่ผู้บริโภค ตั้งแต่การเข้าไปให้ความรู้ในโรงเรียนและหน่วยงานต่าง ๆ ในเรื่องการคัดแยกขยะและการรีไซเคิล ซึ่งช่วยสร้างความเข้าใจสำหรับผู้บริโภครุ่นใหม่ในอนาคต และในส่วนการทำงานเอง เรารู้สึกมีความสุขมากที่ได้ทำงานร่วมกับเอสซีจี เคมิคอลส์ ตั้งแต่เริ่มต้นคุยกันในทางธุรกิจ และทางทีมทำงาน ซึ่งนั่นก็สร้างนิมิตหมายอันดีร่วมกันในการเป็นบริษัทแรกที่ผลิตเม็ดพลาสติก PCR คุณภาพสูงที่ผลิตจากพลาสติกใช้แล้วในประเทศไทย”
 
“ตลอดระยะเวลาที่ร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์นี้ขึ้นมา พวกเราได้เจอกับความท้าทายหลากหลายรูปแบบ แต่เราทั้งสององค์กรช่วยกันทำงานเป็นทีมเวิร์คอย่างใกล้ชิด จึงทำให้เราสามารถก้าวผ่านความท้าทายทั้งหมดจนได้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค และเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศไทยจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากมีเพียงไม่กี่บริษัทจับมือกัน เราจำเป็นต้องทำงานร่วมกันกับทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดแรงกระเพื่อมเป็นวงกว้างและยั่งยืน และสุดท้ายนี้หวังว่าความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นและก้าวแรกที่สำคัญที่จะช่วยพัฒนาให้เศรษฐกิจหมุนเวียนเกิดขึ้นในประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน  คุณวิเวกอนันด์ กล่าวปิดท้าย