Smart Transfer Wheelchair รถเข็นผู้ป่วยที่ตอบโจทย์การใช้งานสำหรับทุกคน

Smart Transfer Wheelchair รถเข็นผู้ป่วยที่ตอบโจทย์การใช้งานสำหรับทุกคน
Smart Transfer Wheelchair รถเข็นผู้ป่วยที่ตอบโจทย์การใช้งานสำหรับทุกคน
   หนึ่งในอุปกรณ์ที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับโรงพยาบาลนั่นคือ รถเข็นผู้ป่วย สำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปยังสถานที่ต่าง ๆ อย่างปลอดภัยและรวดเร็ว เพื่อความสะดวกในการรักษาพยาบาล นำมาซึ่งโจทย์ในการพัฒนารถเข็นผู้ป่วยให้ตอบสนองความต้องการอย่างรอบด้าน ตลอดจนเรื่องฟังก์ชันการใช้งานสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย
 
   จากการพัฒนาร่วมกันอย่างต่อเนื่องระหว่างทีม Medical and Well-Being Business และ Design Catalyst ของเอสซีจี เคมิคอลส์ และเครือ BDMS ไม่ว่าจะเป็นถังทิ้งเข็มฉีดยา รถเข็นจ่ายยาอัจฉริยะ หรือกระถางต้นไม้รีไซเคิลจากแกลลอนน้ำยาล้างไต ที่ล้วนแล้วแต่เป็นการพัฒนาเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ทั้งในเรื่องการยกระดับการใช้งานอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้สะดวกและปลอดภัยยิ่งขึ้น และการนำพลาสติกที่ผ่านการใช้งานแล้วของโรงพยาบาลมาทำให้เกิดประโยชน์ใหม่อีกครั้ง ซึ่งทั้งหมดล้วนสอดคล้องกับเป้าหมายขององค์กรทั้งสอง จนนำมาสู่งานออกแบบ “Smart Transfer Wheelchair” รถเข็นผู้ป่วยดีไซน์ใหม่ ที่แก้ปัญหาต่าง ๆ ของรถเข็นแบบเดิม ๆ และการปรับโฉมให้ดูทันสมัย ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้กับโรงพยาบาลในเวลาเดียวกัน
 

 
Design Research
ค้นหาจุดด้อย เปลี่ยนเป็นจุดเด่น
 
   จากความเชี่ยวชาญของทีม Medical and Well-Being Business และ Design Catalyst ของเอสซีจี เคมิคอลส์ ในด้านการออกแบบ ด้านวัสดุศาสตร์ เครือข่ายพันธมิตร และประสบการณ์ในการออกแบบอุปกรณ์ทางการแพทย์ เมื่อได้มาร่วมกับประสบการณ์การใช้งานจริงจากบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับรถเข็นผู้ป่วย ไปจนถึงคนไข้ผู้รับบริการ ทำให้ทีมออกแบบค้นพบจุดที่สามารถปรับปรุงพัฒนาต่อได้ของรถเข็นผู้ป่วยที่ใช้อยู่เดิม ผนวกเสริมกับความต้องการจากผู้ใช้งาน จนสรุปออกมาเป็นโจทย์เพื่อสร้างสรรค์งานดีไซน์ที่ตอบความต้องการอย่างครอบคลุม
 
“อุตสาหกรรมรถเข็นสำหรับผู้ป่วย ไม่ได้รับการพัฒนามากว่า 20 ปี ความร่วมมือกันกับ BDMS ในครั้งนี้นอกจากจะเป็นการพัฒนารูปลักษณ์ให้ส่งเสริมภาพลักษณ์องค์กรแล้ว ยังเป็นจุดต่อยอดว่าทำอย่างไรให้สามารถให้บริการผู้ป่วยได้ดียิ่งขึ้น” – คุณศุภธิดา รัตนสวัสดิ์ ผู้จัดการ Medical and Well-Being เอสซีจี เคมิคอลส์
 

 
ดีไซน์ตอบผู้รับบริการ
 
   ผู้รับบริการหรือผู้ป่วย เป็นผู้ใช้งานหลักของรถเข็นนี้ จึงมีการ ปรับให้เหมาะกับหลักการยศาสตร์ (Ergonomics) ของผู้รับบริการมากขึ้น จากเดิมที่เป็นโครงเหล็ก X-Frame ขึงเบาะผ้าใบกับล้อเหล็กขนาดใหญ่อย่างที่เราคุ้นชินตากัน ถูกแก้ไขด้วยการออกแบบรูปทรงเบาะที่รองรับกับแนวกระดูกสันหลังช่วงเอว (Lumbar Support) ผู้ใช้งานจึงไม่ปวดหลังเมื่อต้องนั่งอยู่กับรถเข็นเป็นเวลานาน ๆ
 
   รอบตัวรถยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการใช้งานของคนไข้ผู้รับบริการโดยคำนึงถึงการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยขณะเข้าออกจากรถ ตั้งแต่ที่วางแขนสำหรับผู้ป่วยช่วยในการยึดจับเวลาต้องลุกขึ้นยืน และสามารถขยับหลบเข้าด้านหลังได้เมื่อจำเป็น ส่วนแท่นวางขาก็สามารถยืดออกรองรับผู้ป่วยขาเจ็บ ขาอ่อนแรง หรือใส่เฝือก และมีปุ่มกดพิเศษที่จะพับแท่นวางขาได้อัตโนมัติ นอกจากนี้ยังเสริมความปลอดภัยให้กับผู้รับบริการด้วยเข็มขัดนิรภัย 3 จุดแบบรถยนต์
 
   นอกจากงานด้านดีไซน์แล้ว รายละเอียดของรถเข็นยังลงลึกถึงเรื่องวัสดุเพื่อตอบด้านสุขลักษณะด้วยเนื้อโฟมสูตรพิเศษเฉพาะของเอสซีจี เคมิคอลส์ ใช้ทำเบาะรองนั่งของรถเข็น มีความทนทานต่อสารเคมีที่ใช้ทำความสะอาดพื้นผิวเบาะ จึงไม่เป็นแหล่งเพาะเชื้อ ไม่ยึดเกาะสิ่งสกปรก และทนทานต่อการขูดขีดที่ผิวสัมผัส
 

 
ดีไซน์ตอบผู้ใช้งาน
 
   ในส่วนของผู้ใช้งานโดยตรงอีกด้านอย่าง กลุ่มงานเวรเปล ทีมดีไซน์ของเอสซีจี เคมิคอลส์ ได้ทำการออกแบบระบบต่าง ๆ เพื่อให้บุคลากรกลุ่มนี้สามารถปฏิบัติงานระหว่างการเข็นและการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยได้อย่างสะดวกปลอดภัย ทั้งระบบเบรกหลังที่ออกแบบมาเป็นพิเศษด้วยการเหยียบ เพื่อให้เวรเปลสามารถเบรกได้ง่าย ลดระยะการประชิดตัวผู้ป่วย รวมทั้งมือจับเข็นที่ออกแบบมาเพื่อรองรับท่าทางในการเข็นที่ถูกตามหลักการยศาสตร์เช่นเดียวกัน
 
   นอกจากความสะดวกขณะใช้งานแล้ว การดูแลรักษาหลังการใช้งานก็ออกแบบเพื่อให้ตอบความต้องการของเวรเปลอย่างครบถ้วน โดยอะไหล่ของรถและข้อต่อที่มีน้อยลง ส่งผลให้ความเสียหายจากการใช้งานลดลง จึงสามารถลดค่าใช้จ่ายจากการซ่อมบำรุง และยืดอายุการใช้งานให้ยาวนานขึ้น จึงเป็นประโยชน์กับทั้งเจ้าหน้าที่หน้างาน และองค์กรในการดูแลรักษาได้ในระยะยาว
 

 
ดีไซน์ตอบโรงพยาบาล
 
   จุดเด่นที่เห็นได้ชัดเจนสำหรับรถเข็นผู้ป่วยดีไซน์ใหม่ในครั้งนี้ นั่นคือรูปลักษณ์สวยงาม แตกต่างจากรถเข็นที่เคยเห็นและใช้งานกันโดยทั่วไป ยิ่งมาพร้อมกับฟีเจอร์การใช้งานที่ครบครันตอบกับผู้ใช้งานทุกภาคส่วน ช่วยสะท้อนภาพลักษณ์ที่ดีให้กับโรงพยาบาลได้เป็นอย่างดี แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและใส่ใจที่ทางโรงพยาบาลมอบให้กับผู้รับบริการทุกคนผ่านทางการพัฒนานวัตกรรมและอุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างสม่ำเสมอ ช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นและไว้ใจของผู้รับบริการมากยิ่งขึ้น
 
“สิ่งเหล่านี้เกิดจากความพยายามแก้ไข Pain Point ที่เกิดขึ้นจากการใช้วีลแชร์ของผู้รับบริการและผู้ใช้งาน และแน่นอนว่า ลูกค้าที่มาใช้บริการปลอดภัยและประทับใจจากการให้บริการของพวกเรา”
– คุณเสริมศักดิ์ คำพิทูลย์ ผู้อำนวยการฝ่าย Customer Experience Management