New Normal Trends: สำรวจเทรนด์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากวิกฤตโควิด-19

New Normal Trends: สำรวจเทรนด์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากวิกฤตโควิด-19
New Normal Trends: สำรวจเทรนด์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากวิกฤตโควิด-19
  ชีวิตประจำวันของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงไปจากวิกฤตการณ์โควิด-19 ทำให้ทุกสิ่งรอบตัวต้องเปลี่ยนแปลงตาม ตั้งแต่พฤติกรรมการใช้ชีวิต อย่างการหลีกเลี่ยงการสัมผัส การเว้นระยะห่างทางสังคม หรือการใช้ชีวิตอยู่ติดบ้านให้มากขึ้น นั่นทำให้ในมุมมองของผู้ประกอบการทั้งในแง่อุตสาหกรรมการผลิตและภาคส่วนธุรกิจ จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อให้กระบวนการทำงานสอดคล้องกับพฤติกรรมรูปแบบใหม่ยิ่งขึ้น
   
   ‘นวัตกรรม’ กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ถูกหยิบมาใช้เพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับทุกคน ทั้งนวัตกรรมที่มีอยู่แล้ว และการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการและสถานการณ์เฉพาะหน้า รวมไปถึงการพัฒนาผลลัพธ์จากนวัตกรรมเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพต่อไปในระยะยาว ทั้งหมดนี้เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดเทรนด์ใหม่ และขับเคลื่อนเทรนด์ที่มีอยู่เดิมให้เด่นชัดมากยิ่งขึ้น
 

 
Acceleration: คีย์เวิร์ดของชีวิตกับโควิด-19
 
   การใช้นวัตกรรมเข้ามาช่วยปรับเปลี่ยนตั้งแต่ระดับจุลภาคอย่างวิถีชีวิต ไปจนถึงมหภาคอย่างอุตสาหกรรม มีคำว่า ‘การเร่งความเร็ว’ หรือ Acceleration มาเป็นหลักสำคัญในการทำงาน เริ่มต้นจากความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องแก้ปัญหาเฉพาะให้ปลอดจากการสัมผัสเชื้อให้ได้มากที่สุด
 
   อย่างที่เอสซีจีเอง มีการพัฒนากล่องป้องกันเชื้อฟุ้งกระจาย ผลิตจากอะคริลิก Shinkolite และชุด DIY Aerosol Guard สำหรับส่งมอบให้กับบุคลากรทางการแพทย์ สำหรับการใช้งานเฉพาะหน้าให้ทันท่วงที ก่อนจะนำไปสู่การพัฒนาเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างสะดวกและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น อย่างอุปกรณ์ครอบศีรษะคนไข้สำหรับงานทันตกรรมแบบปรับระยะได้ (Flexi Dent Guard) อีกทั้งแคปซูลความดันลบขนาดเล็ก สำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อ (Isolation Capsule) ที่มีหลายหลายรูปแบบ เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานที่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อเข้าเครื่อง CT หรือการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อผ่านอากาศยาน รวมไปถึงห้องแยกป้องกันเชื้อความดันลบแบบเคลื่อนที่ (Negative Pressure Isolation Room) และห้องตรวจเชื้อความดันลบหรือบวกแบบเคลื่อนที่ (Negative/Positive Pressure Isolation Chamber)จนกระทั่งพัฒนากลายเป็นนวัตกรรมป้องกัน โควิด-19 แบบเต็มรูปแบบ และส่งต่อไปสู่โรงพยาบาลทั่วประเทศเช่นในปัจจุบัน
 

 
Touchless Society: สังคมลดการสัมผัส
 
   เพียงลดการสัมผัสก็เท่ากับลดความเสี่ยงในการรับเชื้อ เป็นใจความสำคัญที่นำมาสู่การต่อยอดพัฒนานวัตกรรมที่ช่วยลดทั้งการสัมผัสทางพื้นผิวและการสัมผัสในละอองอากาศที่มองไม่เห็น
 
   จากเดิมที่อุปกรณ์ลดการสัมผัสถูกใช้งานกับอาคารสาธารณะในแง่ของการใช้งานเชิงนวัตกรรม ยกตัวอย่างการใช้ลิฟต์โดยสารด้วยการสแกนบัตรในอาคารสำนักงาน สุขภัณฑ์อัตโนมัติในห้างสรรพสินค้า หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านที่ควบคุมโดยสมาร์ทโฟนเองก็ตาม ปัจจุบันผลิตภัณฑ์เหล่านี้เริ่มนิยมนำมาใช้งานอย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น โดยเน้นถึงอรรถประโยชน์ในแง่การลดสัมผัสเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 เป็นสำคัญ จนเทรนด์การใช้งานอุปกรณ์อัตโนมัติกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน
 
   พฤติกรรมในชีวิตประจำวันใหม่ ๆ ที่จำเป็นต้องทำ อย่างการตรวจวัดอุณหภูมิก่อนเข้าอาคารหรือพื้นที่ทำงาน ก็กลายมาเป็นแรงบันดาลใจในการพัฒนานวัตกรรมวัดอุณหภูมิ อย่างเช่นเครื่อง Thermoscan ที่นำ AI มาประยุกต์ใช้ในการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายและการใส่หน้ากากอนามัย แล้วแสดงผลให้เห็นผ่านจอมอนิเตอร์ หรือการใช้เครื่องวัดอุณหภูมิที่ฝ่ามือ ซึ่งช่วยให้การคัดกรองผู้คนทำได้ง่ายขึ้น รวดเร็วขึ้น และสร้างการเว้นระยะห่างระหว่างกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 

 
Digitized Planning: วางแผนงานอย่างเป็นระบบด้วยดิจิตัล
 
   จากมาตรการทางสังคมทั้งการเว้นระยะห่างและลดการสัมผัส ช่วยให้มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในพื้นที่ทำงานอย่างเต็มรูปแบบมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการนำนวัตกรรม Automation เข้ามาช่วยในกระบวนการผลิตระดับอุตสาหกรรม ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ ช่วยตอบทั้งเรื่องประสิทธิภาพการทำงานที่สูงขึ้น การวิเคราะห์ความเป็นไปได้ที่แม่นยำยิ่งขึ้น และยังเชื่อมโยงบุคลากรแต่ละฝ่ายเข้ากันได้ด้วยเทคโนโลยี
 
   ซึ่งทั้งหมดนี้สอดคล้องไปกับแนวความคิดของยุค Industrial 4.0 ที่ใช้นวัตกรรมในการพัฒนาขีดความสามารถของอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการให้รุดหน้ามากยิ่งขึ้น โดยนวัตกรรม Automation เองก็มีหัวใจสำคัญอยู่ที่การใช้เครื่องจักรในการทำงานอัตโนมัติ จึงทั้งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตภายใต้เงื่อนไขที่แตกต่างกัน ไปพร้อมกับลดความเสี่ยงของการสัมผัสระหว่างบุคลากรที่อยู่ภายในกระบวนการ
 
   แม้วิกฤตการณ์ในครั้งนี้จะยังดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่การสะสมองค์ความรู้และประสบการณ์จากเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมา ก็เป็นบทเรียนที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมและสร้างสรรค์เทคโนโลยีใหม่ ๆ โดยจุดประสงค์หลักเพื่อสร้างความปลอดเชื้อและปลอดภัยให้กับชีวิตของผู้คน ไปพร้อมกับการสร้างสังคมที่ทุกคนเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นปกติสุข