Recyclable Packaging Solution โซลูชันครบวงจรที่คิดมาเพื่อบรรจุภัณฑ์อ่อนตัวที่รีไซเคิลได้จริง

Recyclable Packaging Solution โซลูชันครบวงจรที่คิดมาเพื่อบรรจุภัณฑ์อ่อนตัวที่รีไซเคิลได้จริง
Recyclable Packaging Solution โซลูชันครบวงจรที่คิดมาเพื่อบรรจุภัณฑ์อ่อนตัวที่รีไซเคิลได้จริง
 

บรรจุภัณฑ์อ่อนตัว (Flexible Packaging) เป็นหนึ่งในสิ่งที่อยู่รอบ ๆ ตัวในชีวิตประจำวันของเราแทบทุกคนในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นซองขนม ซองใส่อาหารแช่เย็น อาหารแช่แข็ง และซองบรรจุภัณฑ์ชนิดเติมสำหรับผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกายและน้ำยาทำความสะอาด ด้วยประโยชน์ที่หลากหลาย และความสะดวกในการใช้งาน แต่หากเป็นบรรจุภัณฑ์อ่อนตัวที่เกิดจากการประกอบกันของวัสดุหลายชนิด ก็อาจแปรเปลี่ยนกลายเป็นขยะที่นำไปรีไซเคิลต่อได้ยาก หรือต้องกำจัดด้วยวิธีการฝังกลบ ซึ่งมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้เช่นเดียวกัน ด้วยเหตุนี้เอง SCGC ได้ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดจากจุดเล็ก ๆ ในชีวิตประจำวัน จึงเป็นที่มาของ Recyclable Packaging Solution ซึ่งได้มีการคิดค้นและพัฒนาวัสดุสำหรับบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากพลาสติกพอลิโอเลฟินส์เป็นองค์ประกอบหลักและเป็นหนึ่งในโซลูชันภายใต้ SCGC GREEN POLYMER™ ซึ่งมีโจทย์สำคัญในการทำให้บรรจุภัณฑ์อ่อนตัวสามารถเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้อย่างสมบูรณ์แบบ
 

 
เราชวน คุณรุ่งทิพย์ จงสืบโชค Food and Beverage Business Director, SCGC พูดคุยถึงเป้าหมายของ SCGC ในการพัฒนาวัสดุสำหรับบรรจุภัณฑ์ที่รีไซเคิลได้ และการมี Recyclable Packaging Solution ที่ตอบความต้องการของทั้งห่วงโซ่อุปทาน ช่วยสร้างสรรค์บรรจุภัณฑ์อ่อนตัวตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างเต็มรูปแบบ
 
“SCGC มุ่งมั่นที่จะพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ไม่ใช่แค่รีไซเคิลได้ แต่ต้องตอบโจทย์ทั้งการใช้งานได้จริงและมีราคาที่เหมาะสม โดยได้นำเสนอ Recyclable Packaging Solution ที่จะไม่ได้ส่งมอบเพียงแค่วัสดุใดวัสดุหนึ่ง แต่นำเสนอวัสดุที่เหมาะสมในชั้นต่าง ๆ ของบรรจุภัณฑ์ทั้งหมด เพราะบรรจุภัณฑ์แบบอ่อนตัวจะขึ้นรูปจากฟิล์มหลายชั้นมารวมกันเป็นบรรจุภัณฑ์ ซึ่งฟิล์มแต่ละชั้นจะมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน เช่น นวัตกรรมล่าสุดที่เพิ่งเปิดตัวไป ‘BWO1501G‘ เป็นสารเคลือบชั้นฟิล์มป้องกันการซึมผ่านของอากาศ ซึ่งผ่านการรับรองมาตรฐานสากลโดย RecyClass เป็นรายแรกในอาเซียน”
 
“ในขั้นตอนการพัฒนาวัสดุต่าง ๆ ภายใต้ Recyclable Packaging Solution จะต้องผ่านการทดสอบคุณภาพหลายต่อหลายครั้งจากความร่วมมือของพาร์ตเนอร์ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมในขั้นตอนต่าง ๆ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเดียวกันในการพัฒนาให้เกิดบรรจุภัณฑ์ที่รีไซเคิลได้จริง ไม่ว่าจะเป็นผู้ขึ้นรูปฟิล์ม ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ และโรงรับรีไซเคิล ไปจนถึงการทดสอบนำเม็ดพลาสติกรีไซเคิลมาทดลองขึ้นรูปอีกครั้งที่ SCGC เอง เพื่อตรวจสอบคุณภาพและทำให้มั่นใจในโซลูชันที่จะนำเสนอต่อผู้ผลิต และเจ้าของบรรจุภัณฑ์ในวงกว้างต่อไป”
 
ฟิล์มที่มีคุณภาพ และวิสัยทัศน์ด้านความยั่งยืนของ ‘ยูนิค อุตสาหกรรมพลาสติก’
 
พาร์ตเนอร์คนสำคัญที่รับไม้ต่อจาก SCGC คือ UNIQUE – บริษัท ยูนิคอุตสาหกรรมพลาสติก จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตแผ่นฟิล์ม อันเป็นตัวแปรสำคัญก่อนจะประกอบขึ้นรูปเป็นบรรจุภัณฑ์แบบอ่อนตัว ซึ่งได้ร่วมกับ SCGC ในการทดลองผลิตฟิล์มแบบดึงยืด 1 ด้าน (MDOPE film) ที่เกิดจากการเป่าฟิล์มแบบ Co-Extrusion แล้วนำมาดึงยืดในแนวของเครื่องจักร (Machine Direction) เพื่อให้ได้ฟิล์มที่แข็งแรง เหมาะสำหรับงานพิมพ์ในบรรจุภัณฑ์ที่รีไซเคิลได้ ทดแทนการใช้ฟิล์ม BOPET
 

 
เราชวน คุณนิทัศน์ นวชาตโฆษิต ประธานกรรมการ บริษัท ยูนิคอุตสาหกรรมพลาสติก จำกัด พูดคุยถึงโครงการความร่วมมือกับ SCGC เพื่อเป็นรากฐานสู่บรรจุภัณฑ์ที่รีไซเคิลได้ ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ด้านสิ่งแวดล้อมขององค์กร
 

 
“ความยั่งยืนเป็นสิ่งที่ยูนิคลงมือทำอยู่เสมอ เรามีรากฐานขององค์กรที่ประกอบด้วย 3P ได้แก่ People (ผู้คน) Planet (โลก) และ Profit (ผลประโยชน์) ทั้ง 3P นี้จะต้องเดินทางไปด้วยกัน ซึ่งยูนิคได้วางนโยบายด้านผลิตภัณฑ์อย่างชัดเจนว่า เราจะเป็นผู้นำด้าน Recyclable Film ทุกประเภท เพื่อดูแลและรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่รีไซเคิลได้ ก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่สอดคล้องกับนโยบายและทิศทางที่ยูนิคกำลังจะมุ่งไป”
 

 
“จากวิสัยทัศน์ที่มีร่วมกันกับทาง SCGC เราจึงร่วมกันพัฒนาฟิล์ม MDOPE ร่วมกัน เพื่อบรรจุภัณฑ์ที่รีไซเคิลได้ซึ่งเป็นวัสดุเฉพาะทาง โดยยูนิคมีกระบวนการผลิตเฉพาะที่ช่วยให้สามารถผลิตฟิล์มที่บางกว่าปกติ แต่ได้ความแข็งแรงมากขึ้น ความคงตัวดีขึ้น และสามารถนำไปพิมพ์ด้วยความเร็วสูงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ฟิล์ม MDOPE จากเม็ดพลาสติกของ SCGC นับเป็นจุดเริ่มต้นที่นำมาทดแทนการใช้วัสดุเดิม เพื่อนำไปประกอบเป็นบรรจุภัณฑ์ที่สามารถเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้”
 
“ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องอาศัยความพร้อมและความร่วมมือจากหลายภาคส่วนสู่เป้าหมายของความยั่งยืนร่วมกัน นวัตกรรมนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือ การแบ่งปันประสบการณ์ การทดสอบร่วมกันจนประสบผลสำเร็จเรียบร้อย ความร่วมมือกันในครั้งนี้ นับเป็นการช่วยกระชับเวลาในการพัฒนาและเร่งนำบรรจุภัณฑ์ที่รีไซเคิลได้ มาตอบสนองความต้องการของตลาดได้อย่างดีและรวดเร็ว”
 
การปรับตัวสู่บรรจุภัณฑ์อ่อนตัวแบบรีไซเคิลได้ ของ ‘ไทยนำ’
 
ไทยนำ โพลีแพค เป็นธุรกิจผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์จากพลาสติก โดยคุณสมบัติที่จำเป็นต้องคำนึงถึง คือเรื่องคุณสมบัติในการใช้งาน เช่น ความแข็งแรง การรองรับน้ำหนัก และรูปลักษณ์ภายนอกของบรรจุภัณฑ์ เช่น ความใส และชั้นพิมพ์ที่สวยงาม
 

 
เรามาชวนคุยกับ คุณวัฒนา กฤษณาวารินทร์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยนำ โพลีแพค จำกัด ถึงการปรับตัวของผู้ผลิตและขึ้นรูปบรรจุภัณฑ์แบบอ่อนตัว กับวิสัยทัศน์สู่การผลิตบรรจุภัณฑ์ที่รีไซเคิลได้
 

 
“ไทยนำต้องการเดินตามนโยบาย BCG (Bio-Circular-Green) ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ในนโยบาย Green Packaging ของทางบริษัทเช่นเดียวกัน เราจึงอยากเห็นฟิล์ม MDOPE เป็นอีกทางเลือกของการเลือกใช้งานวัสดุให้กับผู้ประกอบการ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้โลกของเราสะอาดขึ้น อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และเข้าสู่กระบวนการเศรษฐกิจหมุนเวียนได้ จึงได้พยายามคิดค้นฟิล์มหลายประเภทเพื่อให้ตอบโจทย์บรรจุภัณฑ์ที่รีไซเคิลได้ โดยจะต้องคงคุณสมบัติทั้งทางกายภาพในเรื่องความคงตัว เพื่อใช้ในกระบวนการพิมพ์และการเคลือบให้สามารถทดแทนการใช้ฟิล์ม BOPET ในชั้นพิมพ์ แล้วนำมาประกบกับฟิล์ม LLDPE ได้ โดยผู้บริโภคจะต้องยังคงเห็นบรรจุภัณฑ์แบบอ่อนตัวด้วยหน้าตาและการใช้งานที่เหมือนเดิม”
 

 
“หลังจากได้ทดลองใช้ฟิล์ม MDOPE ที่ทางยูนิคผลิต ก็ต้องยอมรับว่าฟิล์มมีคุณสมบัติในการทนความร้อนได้สูง และมีการคงตัวได้ดี สามารถทำเป็นซองตั้งได้ดี เมื่อเปรียบเทียบกับฟิล์ม BOPET ในชั้นพิมพ์ก็แตกต่างกันเพียงเรื่องความใส โดยสิ่งสำคัญก็คือในการขึ้นรูป จะต้องปรับจูนกระบวนการผลิต ไม่ว่าจะเป็นการพิมพ์ การเคลือบ การขึ้นซอง ให้เหมาะสม โดยเฉพาะในเรื่องความเร็วและคุณภาพให้ได้ใกล้เคียงของเดิม เพื่อจะได้ช่วยเรื่องต้นทุนของตัวสินค้า”
 
บทพิสูจน์ของการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ที่ ‘ไร่ขิงพลาสติกรีไซเคิล’
 

 
เราเดินทางมายัง บริษัท ไร่ขิงพลาสติกรีไซเคิล จำกัด เพื่อพูดคุยกับ คุณชัยวัธน์ รัชวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ ซึ่งได้ทดสอบการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากวัสดุของ SCGC ที่จากเดิมติดข้อจำกัดของบรรจุภัณฑ์อ่อนตัวที่สามารถนำกลับมาสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ยาก เพราะการประกอบขึ้นจากวัสดุหลายชนิดซึ่งมีจุดหลอมเหลวที่แตกต่างกันมาก ทำให้เนื้อพลาสติกไม่สามารถเข้ารวมเป็นเนื้อเดียวกันได้ และอาจส่งผลกระทบต่อเครื่องจักรขณะหลอม ซึ่งถือเป็นข้อจำกัดของกระบวนการรีไซเคิลทั่วไปที่มีอยู่ในปัจจุบัน
 

 
“หลังจาก SCGC พัฒนาบรรจุภัณฑ์ใหม่ที่ผลิตจากพลาสติกพอลิโอเลฟินส์เป็นองค์ประกอบหลัก จึงสามารถนำมารีไซเคิลได้  โดยไม่มีปัญหาใด ๆ และสามารถเข้าสู่กระบวนการหลอมเป็นเนื้อพลาสติก และตัดเม็ด ออกมาเป็นเม็ดรีไซเคิลที่มีคุณภาพ ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน”
 

 
“ปัจจุบันพลาสติกใช้แล้วเป็นสิ่งที่ถูกโจมตีในประเด็นสิ่งแวดล้อม แต่จริง ๆ แล้ว ถ้าทุกคนให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เริ่มตั้งแต่การผลิตสิ่งที่นำไปรีไซเคิลได้ มีการคัดแยกที่ถูกวิธี และนำมารีไซเคิลอย่างถูกต้อง ผนวกกับตลาดของธุรกิจเม็ดพลาสติกรีไซเคิลกำลังเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งเท่าไหร่ ก็จะทำให้กระบวนการรีไซเคิลจะยิ่งทำได้ดีขึ้นและทำได้มากขึ้นตามไปด้วย”
 
สำหรับผู้สนใจ Recyclable Packaging Solution เพื่อบรรจุภัณฑ์ชนิดอ่อนตัวที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ foodbev_pkg@scg.com