The Mosquito Trap นวัตกรรมกับดักยุงลาย ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก

The Mosquito Trap นวัตกรรมกับดักยุงลาย ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก
The Mosquito Trap นวัตกรรมกับดักยุงลาย ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก

 
   ปัจจุบันโรคไข้เลือดออกยังคงเป็นหนึ่งในปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญในหลายพื้นที่ทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศเขตร้อนอย่างเอเชียและแอฟริกา รวมถึงประเทศไทยซึ่งปัจจุบันมีอัตราผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเฉลี่ยปีละ 100,000 คน และเสียชีวิตกว่า 100 คน เนื่องจากยุงลายซึ่งเป็นพาหะสามารถขยายพันธุ์ได้รวดเร็วและแพร่กระจายโรคได้อย่างกว้างขวาง
 

   โจทย์สำคัญในการแก้ไขปัญหาไข้เลือดออกจึงอยู่ที่การป้องกันการเกิดโรคด้วยการลดจำนวนการขยายพันธุ์ของยุงลาย ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นทาง สถาบันปาสเตอร์ ฝรั่งเศส (Institut Pasteur) สถาบันวิจัยชั้นนำระดับโลกซึ่งศึกษาและวิจัยนวัตกรรมเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกมากว่า 20 ปี ผู้ก่อตั้งโครงการ Defeat Dengue Program ได้ร่วมมือกับธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญในด้านการวิจัยและพัฒนาเคมีภัณฑ์สารเติมแต่งพิเศษ (Functional Material) รวมถึงความเชี่ยวชาญด้านวัสดุศาสตร์และการออกแบบจนเกิดเป็นผลงานนวัตกรรมกับดักยุงลายขึ้น
 

ทำความรู้จักนวัตกรรมกับดักยุงลาย
 

   นวัตกรรมกับดักยุงลายนี้ ประกอบด้วย 2 ส่วนสำคัญ ได้แก่ ส่วนกับดักยุง ที่ทำหน้าที่ดึงดูดยุงลายให้เข้ามาวางไข่ และส่วนของสารพิเศษที่ช่วยกำจัดลูกน้ำยุงลายในกับดัก
 

 

 

 
   หลักการสำคัญเริ่มแรกในการออกแบบกับดักจึงอยู่ที่การเรียนรู้พฤติกรรมตามธรรมชาติของยุงลาย และศึกษาสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการวางไข่ของยุง เพื่อนำมาสร้างกับดักที่เหมาะสม ทั้งเรื่องสีของวัสดุพลาสติก ขนาดและรูปแบบช่องว่างที่ให้ยุงบินเข้า ระดับน้ำ พื้นที่ว่างเพื่อการบินและลงมาเกาะวางไข่ภายในกับดัก อีกทั้งยังเคลือบผิวภายในกับดักด้วยสารดึงดูดยุงลาย (Attractant) ที่พัฒนาขึ้นโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และบริษัท อิคาริ เทรดดิ้ง (ประเทศไทย) นอกจากนี้การออกแบบยังคำนึงถึงความสะดวกในการใช้งานจริง ด้วยขนาดที่เหมาะสม ผู้ใช้งานสามารถใช้งานในพื้นที่กลางแจ้งได้เป็นอย่างดี
 

 

 

 
   นอกจากกับดักยุงจะทำหน้าที่ล่อยุงให้มาวางไข่ และควบคุมการแพร่พันธุ์ของยุงด้วย BTI (Bacillus thuringiensis israelensis) ซึ่งเป็นสารยับยั้งการเติบโตจากลูกน้ำไปเป็นยุงลายที่ใช้กันแพร่หลายอยู่เดิมแล้ว อีกส่วนสำคัญคือนวัตกรรมสารพิเศษที่เอสซีจีได้ต่อยอดการใช้สาร BTI โดยคิดค้นสารเติมแต่งเพื่อเสริมให้ BTI มีคุณสมบัติสามารถเกาะติดกับขายุงได้ดี โดยภายในกับดักจะมีฟองน้ำที่เคลือบสารพิเศษนี้ เมื่อยุงมาเกาะที่ฟองน้ำระหว่างที่วางไข่ สารพิเศษจะเกาะติดไปกับขายุง เมื่อยุงลายบินไปเกาะในแหล่งน้ำแห่งใหม่ สารพิเศษที่ติดขายุงจะละลายลงในน้ำ ช่วยกำจัดลูกน้ำยุงลาย โดยไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศของสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ในแหล่งน้ำนั้น ซึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการกำจัดลูกน้ำยุงลายในบริเวณที่กว้างมากยิ่งขึ้น ปริมาณการแพร่พันธุ์ยุงลายจึงลดลง ส่งผลให้การระบาดของโรคไข้เลือดออกลดลงตามไปด้วย
 

 

 

 
   ล่าสุดเอสซีจี ได้ร่วมมือกับเทศบาลเมืองมาบตาพุด จังหวัดระยอง นำร่องทดสอบประสิทธิภาพการใช้งานกับดักยุงลายในพื้นที่ชุมชนจำนวน 50 หลังคาเรือน นอกจากเพื่อช่วยลดการแพร่พันธุ์ยุงลายในช่วงฤดูฝนแล้ว ยังนำไปสู่การเก็บข้อมูลสำหรับศึกษาวิจัยเพิ่มเติมในส่วนของ “ยุงลายบ้าน” เพื่อสามารถพัฒนากับดักยุงลายให้ตอบกับโจทย์การใช้งานในบริบทของพื้นที่ที่แตกต่างกันต่อไปได้ดียิ่งขึ้น โดยก่อนหน้านี้ ได้ทดสอบการใช้งานนวัตกรรมกับดักยุงลายทั้งในห้องทดลองและภาคสนาม จำนวน 200 จุด โดยวิจัยภาคสนามที่จังหวัดจันทบุรี ซึ่งมี “ยุงลายสวน” ชุกชุมตลอดปี ซึ่งได้ผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ
 

 

 

 
   ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี มีทีมงานผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมนำเสนอโซลูชันด้านการบริการแบบครบวงจรเพื่อตอบโจทย์ทุกความต้องการ โดยครอบคลุมตั้งแต่การเลือกใช้วัสดุ คิดค้นและปรับปรุงสูตรให้เหมาะสม การออกแบบให้ตรงกับวัตถุประสงค์การใช้งาน จนถึงการขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนของธุรกิจและโลกไปพร้อมกัน
 

 
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ medandwellness@scg.com