ภารกิจที่ไม่มีวันหยุดของ The Sea Saver ผู้พิทักษ์ทะเล

ภารกิจที่ไม่มีวันหยุดของ The Sea Saver ผู้พิทักษ์ทะเล
ภารกิจที่ไม่มีวันหยุดของ The Sea Saver ผู้พิทักษ์ทะเล
   กว่า 20 ปีแล้วที่ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ได้ร่วมภารกิจดูแลท้องทะเลไทยผ่านหลากหลายโครงการและความร่วมมือ โดยมีแนวทางการดำเนินงานเสมือนเป็น “ผู้พิทักษ์ทะเล หรือ The Sea Saver เพื่อเน้นย้ำความสำคัญในการปกป้องและฟื้นฟูท้องทะเล ควบคู่ไปกับการทำธุรกิจที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ
 
   เอสซีจีให้ความสำคัญตั้งแต่ต้นทางของปัญหา ร่วมรณรงค์ให้คนไทยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคในชีวิตประจำวันให้สอดคล้องกับวิถีทางแห่งความยั่งยืน ส่งเสริมการจัดการขยะในครัวเรือนและในชุมชนอย่างเหมาะสม ขยายความร่วมมือออกไปในระดับสากลทั้งภาคเอกชนและภาคประชาสังคม ไม่ว่าจะเป็น The Ocean Cleanup องค์กรสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมชั้นนำระดับโลก รวมไปถึงการร่วมเป็นผู้ก่อตั้ง Alliance to End Plastic Waste (AEPW) องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ซึ่งมีกลุ่มบริษัทในห่วงโซ่อุตสาหกรรมพลาสติกมาร่วมกันแก้ปัญหาขยะพลาสติกในมหาสมุทร เรื่อยมาจนถึงปลายทางของการจัดการขยะในทะเล เอสซีจีก็ได้นำนวัตกรรมที่เกิดจากความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและวัสดุพลาสติกมาช่วยจัดเก็บเพื่อพิทักษ์ท้องทะเลไทย
 
พิทักษ์ทะเลตั้งแต่ต้นทาง วางแผนลดการสร้างขยะ
 
   การลดปริมาณขยะในท้องทะเลนั้น เริ่มต้นได้ที่บ้าน หรือที่ทำงานของเราทุกคน เอสซีจีได้ริเริ่ม “โครงการบางซื่อโมเดล” ในปี 2561 เชิญชวนพนักงานร่วมกันจัดการของเสียภายในองค์กรอย่างถูกวิธี ด้วยแนวคิด “ใช้ให้คุ้ม แยกให้เป็น ทิ้งให้ถูก” เริ่มจากการแยกขยะอย่างจริงจัง โดยปรับสภาพแวดล้อมในที่ทำงานให้เอื้อต่อการแยกขยะอย่างถูกต้องและเปลี่ยนพฤติกรรมได้จริง มีสถิติแสดงให้เห็นว่าปริมาณขยะที่ทุกคนช่วยกันแยกนั้น สามารถนำไปรีไซเคิลได้มากเพียงใด และลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากเท่าไหร่
 
 

 
 
   จากนั้นเอสซีจีได้ส่งต่อแนวทางการบริหารจัดการขยะสู่ชุมชนผ่านโครงการ “ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ” ในจังหวัดระยอง ซึ่งเคยมีปริมาณขยะกว่า 306,000 ตันในปี 2561 แต่มีเพียง 7% เท่านั้นที่นำไปรีไซเคิลได้จริง เอสซีจีจึงร่วมวางเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนขยะรีไซเคิลให้มากขึ้นด้วยการให้ความรู้และส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมการแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน วัด โรงเรียน ชุมชน และเทศบาล โดยในปีแรกชุมชนที่ร่วมโครงการได้นำขยะกลับสู่กระบวนการรีไซเคิลได้มากกว่า 28,190 กิโลกรัม ปลูกฝังจิตสำนึก ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้การจัดการขยะเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตทุกคน
 
 

 
 
ดูแลแหล่งน้ำระหว่างทาง ด้วยการสร้างนวัตกรรม
 
   แม่น้ำลำคลองซึ่งใกล้ชิดบ้านเรือนชุมชนนั้นเปรียบเสมือนเส้นทางที่ลำเลียงขยะไปสู่ทะเล เพื่อป้องกันปัญหาขยะหลุดรอดสู่ทะเลตั้งแต่กลางทาง ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ได้ใช้ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี พัฒนาทุ่นดักขยะเดิมของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้มีกลไกฝาเปิด-ปิดที่อาศัยหลักการไหลของน้ำและแรงดัน เกิดเป็น “นวัตกรรมทุ่นกักขยะลอยน้ำ” (SCGDMCR Litter Trap) ซึ่งช่วยกักเก็บขยะไม่ให้หลุดลอยออกนอกทุ่นตามการเปลี่ยนทิศทางของกระแสน้ำ และในปี 2563 เอสซีจีได้พัฒนาวัสดุลอยน้ำ “HDPE-Bone” ทำจากเม็ดพลาสติกพอลิเอทิลีนที่มีสารกันรังสียูวี ทนทาน มีอายุการใช้งานนานถึง 25 ปี ส่งผลให้ทุ่นกักขยะลอยน้ำรุ่นใหม่มีความแข็งแรงทนทานยิ่งขึ้น รวมทั้งประกอบและติดตั้งง่ายขึ้นด้วย
 
 
นวัตกรรมทุ่นกักขยะลอยน้ำ (บน,ซ้าย) และทุ่นกักขยะลอยน้ำรุ่นใหม่จากวัสดุ HDPE-Bone (ขวา)
 
 
   ปัจจุบันได้มีการติดตั้งทุ่นกักขยะลอยน้ำในบริเวณปากแม่น้ำและลำคลองสาขาที่เชื่อมต่อกับทะเลกว่า 25 ชุด ใน 15 จังหวัดทั่วประเทศ หลังจากติดตั้ง 9 เดือน สามารถกักขยะได้แล้วกว่า 40 ตัน นอกจากนี้ยังดำเนินการให้ความรู้แก่ชุมชนในพื้นที่เรื่องการคัดแยกขยะที่เก็บขึ้นมาจากแม่น้ำเพื่อนำขยะที่ได้ไปสร้างมูลค่าหรือนำไปฝังกลบอย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันไม่ให้กลับลงสู่แม่น้ำอีก รวมถึงทำฐานข้อมูลปริมาณและประเภทของขยะในแต่ละพื้นที่เพื่อวางแผนการลดปริมาณขยะแต่ละประเภทในระยะยาว
 
ฟื้นฟูทะเลปลายทาง อยู่เคียงข้างกันอย่างยั่งยืน
 
   ภารกิจพิทักษ์ทะเลนั้นไม่เพียงเป็นการลดขยะที่จะลงสู่ทะเลหรือเก็บขยะในทะเลเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการสร้างระบบนิเวศทางทะเลที่เหมาะสมต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตในทะเลด้วย “โครงการบ้านปลาเอสซีจี” ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 ที่ปากคลองแกลง จังหวัดระยอง ได้ขยายผลไปยังบริเวณชายฝั่งทะเลครอบคลุมพื้นที่ภาคตะวันออก ตั้งแต่ระยอง ชลบุรี จันทบุรี และตราด จนทำให้ในปัจจุบันมีบ้านปลาเอสซีจีใต้ท้องทะเลแล้วกว่า 2,180 หลัง ในพื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลกว่า 47 ตารางกิโลเมตร จากความร่วมมือของจิตอาสาจากทั่วประเทศกว่า 22,900 คน ที่มาร่วมกันสร้างบ้านปลาจากท่อ PE100 ที่เหลือใช้จากโรงงาน รวมถึงท่อที่ผลิตจากขยะพลาสติกที่พบบริเวณชายหาดและแหล่งชุมชนทั่วไป ซึ่งมีทั้งความแข็งแรงทนทาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มาสร้างที่อยู่อาศัยจำลองให้แก่สิ่งมีชีวิตในทะเล เพื่อเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้ระบบนิเวศทางทะเลและเพิ่มรายได้ให้กลุ่มประมงพื้นบ้านชายฝั่ง
 
 

 
 
   เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563 ที่เพิ่งผ่านมา ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ร่วมกับ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและบ้านฉาง จ.ระยอง อีกกว่า 13 องค์กร และเยาวชนผู้พิทักษ์ทะเล จากโครงการ ‘The Sea Saver Young Gen’ ร่วมกันจัดกิจกรรม วันอนุรักษ์ชายฝั่งสากล จังหวัดระยอง ประจำปี 2563 หรือ International Coastal Cleanup 2020 (ICC 2020) โดยมีทั้งการเก็บขยะชายหาดตามจุดต่าง ๆ เป็นระยะทางยาวถึง 20 กิโลเมตร ขยะที่เก็บมาได้กว่า 6,300 กิโลกรัม เป็นขยะรีไซเคิลกว่า 580 กิโลกรัม ส่วนขยะประเภทที่รีไซเคิลไม่ได้จะรวบรวมส่งไปยังศูนย์กำจัดขยะครบวงจรขององค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง
 
คลิกชมวีดีโอบรรยากาศงาน ICC 2020
 

 
 
   นอกจากนี้ภายในงานยังมีการรณรงค์ให้ความรู้เรื่องการคัดแยกและบริหารจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง ไม่ให้ขยะเล็ดลอดไปสู่ท้องทะเลได้อีกต่อไป รวมถึงเปิดตัวโปรเจกต์เพลงแรปโดนใจวัยรุ่น ‘รักต้องแยก’ ที่แรปเปอร์เยาวชนเชิญชวนทุกคนมา #ใช้ให้คุ้ม #แยกให้เป็น #ทิ้งให้ถูก โดยร่วมกับอีก 6 พันธมิตร ได้แก่ กรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย PPP Plastics หอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมสร้างการตระหนักรู้สู่ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาขยะระดับชาติ
 
 

 
 
   ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี หวังว่าโครงการทั้งหมดนี้จะสามารถสร้างแรงบันดาลใจและเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ทุกคนได้มีโอกาสเป็นผู้พิทักษ์ทะเลร่วมกัน เริ่มต้นง่าย ๆ ผ่านการปรับพฤติกรรมในการใช้ชีวิตในทุกวัน รู้จักแยกขยะ และทิ้งให้ถูกต้อง เพื่อให้ท้องทะเลไทยกลับมาสะอาด สมบูรณ์ และสวยงามอีกครั้ง