ระยองโมเดล ความร่วมมือเพื่อการจัดการขยะอย่างยั่งยืน

ระยองโมเดล ความร่วมมือเพื่อการจัดการขยะอย่างยั่งยืน
ระยองโมเดล ความร่วมมือเพื่อการจัดการขยะอย่างยั่งยืน
   เอสซีจีให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาโดยตลอด ซึ่งเมื่อไม่กี่ปีมานี้ได้เกิดแนวคิดหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวปฏิบัติที่จะช่วยสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม จึงเป็นหลักสำคัญที่เอสซีจีนำมาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจและกำหนดเป็นแนวปฏิบัติ SCG Circular Way เพื่อส่งเสริมพฤติกรรมการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตั้งแต่ขั้นตอนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ การผลิต การใช้งาน ไปจนถึงการวนกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตเป็นวัตถุดิบใหม่ หมุนเวียนอย่างสมบูรณ์ จากจุดเริ่มต้นภายในองค์กร วันนี้เอสซีจีร่วมมือกับทุกภาคส่วนช่วยกันขับเคลื่อนหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนสู่ระดับชุมชน มุ่งสู่เป้าหมายการแก้ปัญหาขยะพลาสติกอย่างเป็นรูปธรรม และเดินหน้าขยายผลสู่ระดับประเทศในอนาคต
 

 

 

ทำความรู้จัก PPP Plastics และระยองโมเดล
 

   เส้นทางสู่เป้าหมายการจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืนในระดับประเทศย่อมต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อหาวิธีการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกได้อย่างเป็นระบบ โครงการ PPP Plastics (Public Private Partnership for Plastic and Waste Management) จึงเกิดขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อลดขยะพลาสติกในทะลไทยลงให้ได้อย่างน้อย 50% ภายในปี 2570 โดยธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจีเข้าร่วมในฐานะ Co-founder และได้ร่วมออกความเห็นในการจัดทำ Road Map การจัดการขยะพลาสติก 2561-2573 โดยกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีเป้าหมายลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง และนำขยะพลาสติกเป้าหมายนำกลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้ 100% ภายในปี 2570
 

 

 

 
   จากเป้าหมายใหญ่นำไปสู่การสร้างแผนแม่บทในการจัดการขยะพลาสติกด้วยแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยอาศัย 4 องค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ การพัฒนาโครงสร้างและระบบการคัดแยกขยะแบบบูรณาการ การส่งเสริมธุรกิจรีไซเคิลและอัพไซเคิลเพื่อเพิ่มมูลค่าของขยะ การมีส่วนร่วมของภาคอุตสาหกรรมพลาสติก เจ้าของแบรนด์ และผู้ค้าปลีกให้มาร่วมจัดการขยะพลาสติก และการเปลี่ยนพฤติกรรมของสังคมให้ทุกคนมีจิตสำนึกรับผิดชอบในการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งทั้งหมดต้องพัฒนาให้เกิดขึ้นไปพร้อมกัน เพื่อให้ทรัพยากรสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน
 

เดินหน้าแก้ปัญหาขยะกับระยองโมเดล
 

   จากแผนแม่บทข้างต้น เป็นแนวทางสำคัญในการทำงานกับทุกภาคส่วน โดย PPP Plastics ได้เริ่มต้นด้วยการสร้างโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียนระดับจังหวัดและระดับชุมชน “ระยองโมเดล” โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 ในพื้นที่ 18 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง และมีแผนขยายผลทั้งจังหวัดระยองภายในปี 2565
 

 

 

   เหตุผลสำคัญที่ทำให้จังหวัดระยองได้รับเลือกเป็นจังหวัดนำร่องในพัฒนาโมเดลการจัดการขยะ เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีความพร้อมสูงสุดทั้งด้านเครือข่ายผู้นำและชุมชนที่เข้มแข็ง เป็นจังหวัดในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (ECC) ซึ่งมีระบบสาธารณูปโภคที่พร้อมสำหรับการจัดการขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวมแบบครบวงจร โรงหมักปุ๋ยจากขยะอินทรีย์ โรงงานรีไซเคิล และอยู่ระหว่างก่อสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าจากขยะมูลฝอย รวมถึงเป็นพื้นที่ชายฝั่งทะเลที่มีความเสี่ยงต่อการปล่อยขยะพลาสติกลงสู่ทะเลได้มาก
 

 

   กระบวนการทำงานเน้นหนักไปที่การสร้างความเข้าใจแก่คนในชุมชนให้รู้ถึงคุณค่าของทรัพยากร ผ่านการให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับขยะในชีวิตประจำวัน ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ ขยะอินทรีย์ ขยะรีไซเคิล ขยะทั่วไป และขยะอันตราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการสอนให้รู้จักวัสดุพลาสติกแต่ละประเภท เพื่อให้ชุมชนสามารถคัดแยกขยะพลาสติกได้ถูกต้องโดยเน้นการคัดแยกในเชิงพาณิชย์ กล่าวคือ พลาสติกที่จะขายได้มูลค่าจะต้องแห้ง สะอาด และแยกตามประเภทพลาสติก ซึ่งหากชุมชนสามารถแยกประเภทได้ละเอียดลงไปอีก เช่น แยกตามประเภทพลาสติก PE หรือ PP แล้ว และหากแยกตามสีเพิ่มเติมก็จะขายได้มูลค่ามากขึ้นกว่าการปนรวมกัน เป็นการเพิ่มรายได้ให้ชุมชน เช่น ชุมชนหมู่บ้านเอื้ออาทรระยอง (วังหว้า) สามารถขยายธุรกิจของธนาคารขยะรีไซเคิลชุมชน สร้างรายได้เพิ่มกว่า 10,000 บาทต่อเดือน นอกจากนี้ยังส่งผลดีต่อการนำไปรีไซเคิลที่จะเกิดประสิทธิภาพสูงสุดหากได้ขยะที่คัดแยกอย่างมีคุณภาพ ทั้งยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะของท้องถิ่น
 

   จากกระบวนการทำงานที่มีการประชุมติดตามผลอย่างต่อเนื่องและได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ผลสำเร็จจึงเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ในปี 2562 ชุมชนที่เข้าร่วมโครงการสามารถคัดแยกขยะพลาสติกสะอาดประเภทถุงและบรรจุภัณฑ์ฟิล์มพลาสติกเข้าระบบรีไซเคิลได้ประมาณ 300 ตัน สำหรับแผนงานขั้นต่อไปในปีที่ 2 ของระยองโมเดลนั้น PPP Plastics และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตั้งเป้าขยายพื้นที่เป้าหมายเพิ่มเติม และนำความสำเร็จนี้ไปจัดทำโมเดลโรงเรียน โรงแรม และห้างสรรพสินค้า เป้าหมายต่อไปภายในปี 2565 จังหวัดระยองจะต้องไม่มีขยะพลาสติกในหลุมฝังกลบ และขยะทั้งหมดภายในจังหวัดจะต้องได้รับการกำจัดอย่างถูกวิธี
 

การดำเนินงานอื่นๆ ของ PPP Plastics
 

   นอกจากระยองโมเดลซึ่งเป็นโมเดลต้นแบบของการนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนไปปรับใช้ในบริบทชุมชนต่างจังหวัดแล้ว สำหรับบริบทเขตเมืองนั้นเป็นการดำเนินงานในกรุงเทพมหานครภายใต้ชื่อ “คลองเตยโมเดล” โดยได้ร่วมกับ 7 องค์กรชั้นนำในเขตคลองเตย ร่วมกันศึกษาประเภทปริมาณขยะ และการจัดการแยกขยะที่เกิดขึ้น เพื่อจัดทำโมเดลย่อย เช่น โมเดลโรงแรม ห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงาน เป็นต้น เพื่อนำไปสู่การประยุกต์ใช้และขยายผลต่อไป
 

 

 

   PPP Plastics ยังได้ร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อจัดทำโครงการเกี่ยวกับการจัดการขยะพลาสติก เช่น การร่วมกับสถาบันพลาสติกและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดทำฐานข้อมูล Material Flow Analysis เพื่อแสดงข้อมูลการผลิต การใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติก รวมถึงการจัดการขยะพลาสติก ปริมาณการรีไซเคิล และปริมาณพลาสติกที่หลุดรอดออกสู่สิ่งแวดล้อมและทะเล และได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายผลักดันให้เกิดการจัดการถุงหูหิ้วและบรรจุภัณฑ์ฟิล์มพลาสติกแบบครบวงจร โดยสนับสนุนให้ใช้ถุงหูหิ้วชนิดหนาเกินกว่า 36 ไมครอนเพื่อใช้ซ้ำได้หลาย ๆ ครั้ง ก่อนนำมารีไซเคิลเพื่อทำเป็นถุงใช้งานใหม่ และอยู่ระหว่างการดำเนินโครงการ “Drop Point ถังวนถุง” ร่วมกับโครงการวน Modern Trade ห้างสรรพสินค้า สถานีน้ำมัน รวมถึงสถานที่ต่าง ๆ เพื่อตั้งจุดรับพลาสติกสะอาดประเภทถุงหูหิ้วและบรรจุภัณฑ์ฟิล์มพลาสติก นำไปรีไซเคิล เพื่อให้เกิดการจัดการครบวงจร คือ “ผลิต ใช้ และนำกลับไปใช้ประโยชน์”
 

 

 

เพราะเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นเรื่องของทุกคน
 

   เศรษฐกิจหมุนเวียนถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะสร้างความยั่งยืนทั้งทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม จึงเป็นหลักการที่ทุกคนควรตระหนัก ทำความเข้าใจ และนำองค์ความรู้ไปปรับใช้ให้เข้ากับรูปแบบการทำงานและในชีวิตประจำวัน สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการหรือเจ้าของแบรนด์นั้น จึงถือเป็นโจทย์สำคัญในฐานะผู้ผลิตที่ต้องมองให้เห็นถึงปลายทางการใช้งานสินค้าว่าจะทำอย่างไรให้สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ หรือทำอย่างไรให้นำไปกำจัดได้ถูกวิธีเมื่อหมดอายุการใช้งาน และต้องทำอย่างไรจึงจะเกิดความยั่งยืน ซึ่งผู้ประกอบการต้องมอบโจทย์นี้ให้กับทั้งการออกแบบบรรจุภัณฑ์ การเลือกวัสดุ หรือการเลือกใช้นวัตกรรม ควบคู่ไปกับการสร้างการรับรู้ให้ผู้คนเข้าใจการใช้งานพลาสติกอย่างถูกต้อง และสำหรับผู้บริโภคเองนั้นก็สามารถช่วยแก้ปัญหาได้ด้วยการคัดแยกขยะให้ถูกต้อง และส่งต่อความรู้สู่คนรอบข้าง จนขยายออกเป็นความสำเร็จของการจัดการขยะในระดับประเทศต่อไป
 

 

 

 
   PPP Plastics เป็นโครงการที่ตอบโจทย์เศรษฐกิจหมุนเวียนได้อย่างเป็นรูปธรรม เอสซีจีได้เข้าร่วมในฐานะ Co-founder ซึ่งผมมีโอกาสได้ร่วมงานตั้งแต่ต้นโครงการ เราร่วมกันสร้างภาคีเครือข่ายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ภาคธุรกิจ ตลอดจน Supply Chain ตั้งแต่ผู้ผลิตเม็ดพลาสติก ผู้แปรรูปผลิตภัณฑ์พลาสติก ผู้ผลิต เจ้าของแบรนด์สินค้าต่าง ๆ ที่ใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก ห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ รวมถึงองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพลาสติกอาทิเช่น กลุ่มพลาสติกสภาอุตสาหกรรม สมาคมอุตสาหกรรมพลาสติก สถาบันพลาติก รวมถึงภาคประชาสังคมทั้งในและต่างประเทศ เพื่อร่วมกันสร้างระบบและโครงการต้นแบบเพื่อให้ภาครัฐและภาคธุรกิจนำไปขยายผล เพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกในทะเลไทย และนำขยะพลาสติกเป้าหมายให้กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด
 

   ความท้าทายของโครงการนี้อยู่ที่การเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในสังคมให้เกิดการแยกขยะที่ต้นทาง ซึ่งจะต้องอาศัยการสร้างความตระหนักเรื่องการคัดแยกกับ Stakeholders ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ได้แก่ ภาครัฐ และภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ผู้ลงทุนด้านการจัดการขยะ ประชาชน และนักท่องเที่ยว ซึ่งต้องวางกฏระเบียบ และการจัดการองค์รวมจึงจะประสบความสำเร็จได้ รวมถึงการสนันสนุนทางการเงิน ความรู้ความสามารถของบุคลากร เพื่อจัดทำระบบและโครงการต้นแบบเพื่อนำไปต่อยอดและขยายผลทั่วประเทศ
 

   ผมขอฝากเรื่องการเป็นตัวอย่างที่ดีด้านการแยกขยะ โดยขอให้ทุกท่านเริ่มแยกขยะอย่างน้อย 4 ประเภท คือ ขยะอินทรีย์ ขยะที่รีไซเคิลได้(รวมถึงบรรจุภัณฑ์พลาสติกสะอาดที่ใช้แล้ว) ขยะทั่วไป(รวมถึงพลาสติกที่ปนเปื้อน) และขยะอันตรายออกจากกัน เพื่อให้นำไปใช้ประโยชน์ได้ การเริ่มต้นที่ตัวเราจะขยายผลไปที่ครอบครัวและสังคมข้างเคียง เพื่อลูกหลาน เพื่อสังคมที่ดีขึ้น
 

ธนาชัย ปิยะศรีทอง
Program Manager Circular Economy
ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี