จับมือกันสร้าง ‘ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ’

จับมือกันสร้าง ‘ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ’
จับมือกันสร้าง ‘ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ’
ในปัจจุบันนี้นับว่าเป็นเรื่องดีที่การพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมเพื่อค้นหาแนวทางการแก้ไขเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนไทยในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเรื่องขยะที่เห็นได้ชัดเจนและมีผลกระทบมหาศาลทั้งต่อคน สัตว์ และสภาวะแวดล้อมในระดับโลก การจะแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนภายในแต่ละท้องที่จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากขาดความร่วมมือจากคนในชุมชน และการค้นหาวิธีการจัดการที่เหมาะสม
 
นอกจากการส่งเสริมพฤติกรรมการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ให้คุ้มค่าแล้ว “การแยกขยะ” ก็เป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่จะช่วยแก้ไขปัญหาขยะได้อย่างยั่งยืน เพราะเป็นการนำวัสดุที่ยังคงใช้งานได้กลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลที่ถูกต้อง โดยเอสซีจีได้เริ่มทำโครงการจัดการขยะภายในองค์กรตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนภายใต้ชื่อ “บางซื่อโมเดล” มาตั้งแต่ปี 2561 และในปีนี้ได้ขยายผลสู่ชุมชนในพื้นที่จังหวัดระยอง เพื่อส่งต่อองค์ความรู้และแนวคิดในการบริหารจัดการขยะ โดยประยุกต์ให้เข้ากับบริบทของชุมชนผ่านโครงการ “ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ” โดยมุ่งเน้นการนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน
 
 

 
 
จากตัวเลขปริมาณขยะในจังหวัดระยองกว่า 306,000 ตันในปี 2561 นำไปสู่ค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะที่สูงถึง 328 ล้านบาท ทั้งยังมีปริมาณขยะที่รีนำไปไซเคิลได้จริงเพียง 7% เท่านั้น เอสซีจีจึงวางเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนขยะรีไซเคิลให้มากขึ้นด้วยการให้ความรู้และส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมการแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง รวมไปถึงสร้างการมีส่วนร่วมของทุกคนผ่านสามพฤติกรรมจำขึ้นใจ #ใช้ให้คุ้ม #แยกให้เป็น #ทิ้งให้ถูก
 
 

 
 
โรงเรียน แหล่งสร้างเยาวชนคุณภาพ
 
เพราะการปลูกฝังพฤติกรรมที่ดีตั้งแต่วัยเด็ก ย่อมทำให้พวกเขาเติบโตมาเป็นกำลังสำคัญของชาติที่มีคุณภาพ นอกจากโรงเรียนจะมุ่งสร้างเด็กเก่งแล้ว ยังต้องการสร้างเด็กดีที่ใส่ใจสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย เอสซีจีได้ร่วมกับทางโรงเรียนจัดตั้งฐานการเรียนรู้ เพื่อให้เด็ก ๆ ที่โรงเรียนโขดหินมิตรภาพที่ 42 ได้รับความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการจัดการขยะ สอนให้รู้จักประเภทของวัสดุต่าง ๆ รอบตัว โดยเฉพาะวัสดุพลาสติกซึ่งมีหลากหลายประเภท เมื่อใช้งานอย่างคุ้มค่าแล้วจะมีวิธีการแยก และนำไปจัดการต่ออย่างไรให้เกิดประโยชน์มากที่สุด พร้อมกับส่งเสริมพฤติกรรมที่ทำได้ในชีวิตประจำวัน เช่น การแยกขยะตั้งแต่ในห้องเรียน การใช้ภาชนะที่ใช้ซ้ำได้ใส่อาหารมาโรงเรียน หรือแม้แต่การตักอาหารให้พอดีเท่าที่จะรับประทานเพื่อลดเศษอาหารให้เหลือทิ้งน้อยที่สุด โดยมุ่งหวังให้นักเรียนปฎิบัติจนเป็นนิสัยตั้งแต่ยังเด็ก และสามารถเป็นต้นแบบถ่ายทอดความรู้สู่คนในครอบครัวให้เปลี่ยนพฤติกรรมไปด้วย
 
 

 
 
หนึ่งในฐานการเรียนรู้ที่น่าสนใจ คือ ฐานถุงนมกู้โลก ซึ่งถุงนมโรงเรียนจำนวนมหาศาลจะไม่กลายเป็นขยะไร้ค่าที่สร้างกลิ่นเหม็นรบกวนอีกต่อไป เมื่อเด็ก ๆ นำถุงนมที่ดื่มหมดแล้วมาล้างและตากที่สถานี ถุงนมซึ่งเป็นพลาสติกประเภท LLDPE ที่แห้งและสะอาดจะสามารถนำไปขายเป็นรายได้กลับมาช่วยพัฒนาโรงเรียน ส่วนน้ำที่เหลือจากการล้างถุงนมก็จะถูกส่งไปบำบัดผ่านถังดักไขมันด้วยแรงถีบจักรยานของเด็ก ๆ กลายมาเป็นน้ำสะอาดสำหรับรดแปลงผักในโรงเรียนต่อไปได้อีก นับเป็นการหมุนเวียนทรัพยากรอย่างครบวงจรอีกด้วย
 
 

 
 
วัด ศูนย์รวมจิตใจ เข้าถึงกลุ่มผู้ใหญ่ใจบุญ
 
สำหรับสังคมไทยแล้วพื้นที่ศูนย์กลางชุมชนอย่างวัดถือเป็นสถานที่ที่เข้าถึงผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุได้เป็นอย่างดี การปรับเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับขยะจึงสอดแทรกเข้าไปได้ผ่านหลักธรรมคำสอน โดยการยกตัวอย่างให้เห็นได้ง่าย ๆ จากปริมาณขยะพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้งจำนวนมากที่ญาติโยมใช้ใส่อาหารหรือสิ่งของมาถวายพระและกลายเป็นภาระจัดการของทางวัด เมื่อได้เห็นและได้เข้าใจว่าตนก็เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างขยะ การใช้พลาสติกเท่าที่จำเป็นและการแยกขยะก่อนทิ้งจึงถือเป็นความรับผิดชอบต่อส่วนรวม และเป็นการทำความดีอย่างหนึ่งนั่นเอง
 
 

 
 
เอสซีจีได้เข้าไปร่วมให้ความรู้เรื่องประเภทของพลาสติก เป็นต้นว่าถุงแกง ถุงหูหิ้ว หรือบรรจุภัณฑ์พลาสติกแต่ละชนิดแตกต่างกันอย่างไร ต้องทำความสะอาดและแยกประเภทอย่างไรจึงจะขายได้ จึงเกิดเป็นโครงการ “ถุงพลาสติกฝากบุญ” ที่แต่ละคนจะช่วยกันล้าง คัดแยก และทิ้งให้ถูกต้องตามประเภทพลาสติก เพื่อให้วัดนำไปขายเป็นเงินสำหรับพัฒนาวัดหรือเป็นทุนการศึกษาให้สามเณรต่อไป ทั้งยังนำความรู้ที่ได้กลับไปใช้กับที่บ้านได้อีก
 
 

 
 
บ้าน พื้นฐานที่สำคัญที่สุดของทุกคน
 
นอกจากความรู้ความเข้าใจของสมาชิกแต่ละคนในบ้านแล้ว การที่มีผู้นำชุมชนที่เข้มแข็งก็เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยผลักดันโครงการให้ประสบความสำเร็จ อย่างในชุมชนโขดหิน 2 ที่มีคุณจำลอง หอมหวน ประธานชุมชนที่เป็นต้นแบบของการแยกขยะในครัวเรือนอย่างถูกวิธีและเป็นผู้ออกแบบ “ห่วงรักษ์ พักขยะ” แจกจ่ายให้กับลูกบ้านเพื่อใช้สำหรับพักขยะที่ล้างทำความสะอาดและคัดแยกเรียบร้อยแล้วให้เป็นระเบียบจัดการง่าย โดยประกอบขึ้นง่าย ๆ จากวัสดุรีไซเคิลอย่างเคเบิลเก่ากับตาข่ายเหลือใช้ที่ให้ความโปร่ง ระบายน้ำและอากาศดี เพิ่มความสะดวกและส่งเสริมการแยกขยะโดยเฉพาะกับกลุ่มแม่บ้านที่ได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ นอกจากช่วยลดปัญหาขยะของชุมชนแล้ว ยังสามารถขายเป็นรายได้เสริมเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้แก่ครอบครัว สร้างความภาคภูมิใจและสามารถถ่ายทอดความรู้ให้ผู้อื่นได้อีกด้วย
 
 

 
 
ธนาคารขยะชุมชน จุดเชื่อมต่อขยะสู่ผู้รีไซเคิล
 
อีกส่วนสำคัญที่ช่วยทำให้ขยะที่มีมูลค่าได้กลับสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างมีประสิทธิภาพก็คือ ธนาคารขยะชุมชน ที่ทำหน้าที่เชื่อมระหว่างผู้ขายขยะกับโรงงานรีไซเคิล จากการลงพื้นที่ศึกษาความต้องการของธนาคารขยะ เอสซีจีจึงออกแบบแอปพลิเคชัน “คุ้มค่า” เพื่อมาเป็นผู้ช่วยบริหารจัดการข้อมูลต่าง ๆ ให้การซื้อ-ขายเป็นไปได้อย่างสะดวก รวดเร็วและง่ายยิ่งขึ้น แอปพลิเคชันนี้จะมาช่วยบันทึก จัดระเบียบข้อมูลประเภทขยะและปริมาณขยะอย่างเป็นระบบ ช่วยให้ธนาคารขยะสามารถวางแผนการซื้อขาย และการขนส่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถคำนวณยอดเงินจากการซื้อขายแต่ละครั้งได้ รวมถึงจัดการข้อมูลสมาชิก เช่น ประวัติการซื้อขาย สะสมหรือแลกคะแนนได้ในที่เดียว เป็นต้น ทั้งหมดนี้ช่วยให้การจัดการของธนาคารขยะชุมชนมีมาตรฐาน เพิ่มโอกาสการขายขยะแต่ละชนิดไปยังโรงงานรีไซเคิลและโรงหลอมได้โดยตรง และอำนวยความสะดวกให้คนทั่วไปสนใจนำขยะมาขายมากขึ้น
 
 

 
 
สำหรับผู้สนใจข้อมูลเกี่ยวกับ แอปพลิเคชัน “คุ้มค่า” สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ LINE @koomkah หรือ อีเมล contact@koomkah.com
 
 

 
 
เทศบาล ผสานพลังหน่วยงานราชการท้องถิ่น
 
หน่วยงานภาครัฐเองก็เข้ามามีบทบาทร่วมส่งเสริมให้เกิดการแยกขยะในชุมชนเพิ่มมากขึ้น โดยเทศบาลเมืองมาบตาพุด ได้ร่วมมือกับธนาคารขยะชุมชนในเครือข่ายในการมอบสิทธิพิเศษ “ประกันชีวิต” โดยจะได้รับเป็นเงินฌาปนกิจสงเคราะห์ ให้กับผู้ที่เข้ามาฝากขยะตามวิสาหกิจธนาคารขยะชุมชนใกล้บ้านที่เข้าร่วมโครงการอย่างต่อเนื่อง นับเป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญช่วยส่งเสริมและจูงใจให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการคัดแยกขยะอย่างยั่งยืน
 
 

 
 
ความสำเร็จทั้งหมดที่กล่าวมานี้จะเกิดขึ้นและดำเนินต่อไปไม่ได้หากขาดความรู้ความเข้าใจ จิตสำนึกอันดี และความร่วมมือของทุกคนที่จะช่วยดูแลโลกใบนี้ด้วยวิธีการที่แก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน เห็นได้จากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในทุกหน่วยย่อยของชุมชน ไม่ว่าจะเป็นบ้าน วัด โรงเรียน ธนาคารขยะชุมชน หรือเทศบาล ล้วนแต่เป็นแรงผลักดันชั้นดีที่จะส่งต่อไปสู่สังคมที่ใหญ่ขึ้นอย่างจังหวัด ประเทศ และในระดับโลก ซึ่งกระบวนการเหล่านี้สามารถเริ่มต้นขึ้นได้ง่าย ๆ ในชีวิตประจำวันของเราทุกคน แค่เราลองทบทวนดูพฤติกรรมในแต่ละวัน คิดหาวิธีการจัดการขยะที่เข้ากับตัวเราแล้วเริ่มลงมือทำตั้งแต่ตอนนี้ เราก็จะเป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญของการขับเคลื่อนสังคมไทยไปสู่ความยั่งยืน