โครงการส่งเสริมอาชีพผู้พิการ เปลี่ยนพื้นที่รกร้างเป็นสวนกล้วยหอม พร้อมต่อยอดด้วยดิจิทัล

โครงการส่งเสริมอาชีพผู้พิการ เปลี่ยนพื้นที่รกร้างเป็นสวนกล้วยหอม พร้อมต่อยอดด้วยดิจิทัล
โครงการส่งเสริมอาชีพผู้พิการ เปลี่ยนพื้นที่รกร้างเป็นสวนกล้วยหอม พร้อมต่อยอดด้วยดิจิทัล
“โครงการอยู่ดี ร่ำรวย ปลูกกล้วยกับเอสซีจี” เพื่อกลุ่มผู้พิการ ตำบลนิคมพัฒนา จังหวัดระยอง เริ่มต้นบนผืนดินแห้งแล้งที่แม้แต่เหล่าวัชพืชก็ยังไม่อาจเติบโตได้ แต่ด้วยความร่วมแรงร่วมใจของของกลุ่มผู้พิการในพื้นที่ ผู้ที่ต้องการจะพัฒนาตนเอง พัฒนาอาชีพ และพนักงานจิตอาสาของเอสซีจีที่ ที่มาช่วยกันทำให้ที่ดินรกร้างกลายเป็นแปลงกล้วยหอมที่เติบโตออกผลได้อย่างงดงาม จนทำให้ผู้คนมีความหวังงอกงามตามไปด้วย
 
 

 
 
            คุณสมชาย หงษ์สุวรรณ ผู้จัดการกิจการเพื่อสังคม ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี เล่าถึงบทบาทและความตั้งใจของเอสซีจีในการส่งเสริมอาชีพและคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ชุมชนตั้งแต่วันแรกที่เข้ามายังพื้นที่จังหวัดระยอง
 
“การที่โรงงานของเรามาตั้งอยู่ที่ระยอง ก็ถือเป็นภารกิจที่เราต้องดูแลชุมชนรอบข้างด้วย เพื่อให้ชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดี มีชีวิตที่เป็นสุข เอสซีจีเน้นการให้ความรู้แก่ชุมชนก่อน เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการสร้างอาชีพ เราสนับสนุนการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชน การคิดค้นพัฒนาสินค้าที่มีเอกลักษณ์ การยกระดับมาตรฐานการทำงาน คอยเติมองค์ความรู้ พาไปศึกษาดูงาน เชื่อมโยงไปสู่เครือข่ายอื่น ๆ เพื่อให้ชุมชนมีพันธมิตรในการดำเนินงาน ต่อยอดการทำธุรกิจไปด้วยกันได้”



โครงการอยู่ดี ร่ำรวย ปลูกกล้วยกับเอสซีจี มีที่มาจากการสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนแปรรูปกล้วยมาบชลูด ตำบลห้วยโป่ง อำเภอเมืองระยอง ซึ่งผลิตภัณฑ์ชุมชนที่แปรรูปจากกล้วยนั้นขายดีจนกล้วยหอมที่เป็นวัตถุดิบขาดตลาด เอสซีจีจึงสร้างเครือข่ายพันธมิตรวัตถุดิบในพื้นที่ใกล้เคียง ด้วยการแจกหน่อกล้วยให้ชุมชนต่าง ๆ จนกระทั่งได้มาเจอพื้นที่แปลงใหญ่ขนาด10 ไร่ ที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ของกลุ่มผู้พิการจังหวัดระยอง ที่แม้สภาพของดินจะไม่พร้อมสำหรับการปลูกพืชในระยะเริ่มต้น แต่เอสซีจีและกลุ่มผู้พิการมั่นใจในศักยภาพของคน และเชื่อมั่นว่าองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่เหมาะสมจะเข้ามาช่วยพัฒนาพื้นที่นี้ได้
 
 

 
 
“เมื่อก่อนที่ดินตรงนี้ถูกทิ้งแห้งแล้ง ปลูกหญ้าเลี้ยงแพะก็ยังไม่ได้ ตายหมด เป็นพื้นที่ที่ทำอะไรไม่ได้เลย” คุณสาคร เอมสมบูรณ์ ประธานกลุ่มเกษตรกรผู้พิการ ตำบลนิคมพัฒนา จังหวัดระยอง เล่าถึงอดีตของพื้นที่ปัจจุบันที่พัฒนาเป็นแปลงกล้วยกว่า 4,000 ต้น
 
ในช่วงแรกของโครงการนั้นเอสซีจีเริ่มจากส่งเสริมองค์ความรู้ด้านการปลูกกล้วย โดยเชิญผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับการปลูกกล้วยมาช่วยเป็นพี่เลี้ยงสอนการเพาะพันธุ์ดูแลต้นกล้วยที่ถูกวิธี ต่อมาจึงได้เพิ่มเติมการจัดการระบบน้ำในแปลงกล้วย โดยนำทีมงานบริการทางเทคนิคท่อเอสซีจีมาช่วยวางแผนระบบบริหารจัดการน้ำภายในสวน พร้อมออกแบบให้ใช้งานสะดวกเหมาะกับผู้พิการ
 
 

 
 
แต่เนื่องจากกล้วยเป็นพืชที่ต้องอาศัยน้ำปริมาณมากในการเจริญเติบโต แต่ด้วยทรัพยากรน้ำที่ค่อนข้างจำกัด ในช่วงแรกนั้นกลุ่มผู้พิการต้องทำงานหนักมาก เพราะต้องเดินตรวจสอบการให้น้ำแก่ต้นกล้วยทั้งหัวแปลง ท้ายแปลงด้วยตนเอง ทีมงานเอสซีจีเห็นปัญหานี้จึงได้แนะนำนวัตกรรมของบริษัทสตาร์ทอัพในเครือที่ชื่อว่า Agcura (แอคคูร่า) เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหา โดยนำระบบเซนเซอร์วัดความชื้นในดินและในอากาศมาทดลองติดตั้งที่หัวแปลง กลางแปลง ท้ายแปลง โดยจะมีการแจ้งเตือนผ่านแอปพลิเคชันได้อย่างแม่นยำว่าพื้นที่ส่วนใดความชื้นในดินต่ำ ควรรดน้ำเพิ่มเติม โดยระบบจะคำนวณ​และแนะนำปริมาณน้ำที่เหมาะสมตามความต้องการของพืชแต่ละชนิดอย่างแท้จริง จึงช่วยประหยัดทรัพยากรน้ำ ประหยัดเวลาและแรงงานในการทำงานของกลุ่มผู้พิการได้อย่างมหาศาล
 
 

 
 
“เนื่องจากเราทำงานกับผู้พิการ จึงต้องคิดหาวิธีการทำงานที่ใช้แรงงานน้อยที่สุดให้ได้ประสิทธิภาพ ปัจจุบันเราได้พูดคุยกันถึงการใช้โซลาร์เซลล์มาต่อยอดด้วย ตั้งใจว่าต่อไปเรื่องการรดน้ำจะสามารถสั่งการผ่านแอปพลิเคชันได้ทั้งหมด พี่ ๆ ผู้พิการจะได้ทำงานสะดวกขึ้น ผลผลิตจะได้มากขึ้น” คุณสมชายย้ำถึงความตั้งใจที่จะพัฒนาไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดนิ่ง
 
“เราสามารถเปลี่ยนสิ่งที่คนอื่นมองว่าเป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ เปลี่ยนพื้นที่แห้งแล้งให้เป็นพื้นที่สร้างรายได้ให้แก่ผู้พิการ เอสซีจีดีใจที่ได้ช่วยสนับสนุนให้พวกเขายืนหยัด พัฒนาต่อยอดด้วยตัวเอง เราก็พร้อมสนับสนุน ช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ด้วยกันต่อไป”
 
 

 
 
คุณสาคร เล่าถึงแผนงานต่อไปว่า จะปลูกกล้วยหมุนเวียนทั้งปี ด้วยการวางแผนการผลิตให้ดีขึ้น “การทำงานไม่ใช่เขาต้องให้เราทุกอย่าง เราต้องช่วยกัน มีส่วนร่วมด้วยกัน”
 
จากจุดเริ่มต้นโครงการในปีแรกซึ่งเป็นปีแห่งการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เริ่มทดลองปลูกกล้วย ลองผิดลองถูกกันมา จนมาในปีที่สองที่เริ่มมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้เสริมประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและแรงงาน วันนี้ได้เดินทางมาจนถึงปีที่สามที่กำลังจะขยายผลไปสู่การใช้เทคโนโลยีพลังงานสะอาดที่ชุมชนได้ประโยชน์ และดีต่อสภาพแวดล้อมโดยรวมอีกด้วย ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้ก็เพราะความมุ่งมั่นและกล้าริเริ่มทำสิ่งใหม่ ๆ และความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่ต้องการสร้างอาชีพที่ยั่งยืนให้กับกลุ่มผู้พิการนั่นเอง