ถอดบทเรียนมาบจันทร์รอดภัยแล้ง ต้นแบบการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนของชุมชน

ถอดบทเรียนมาบจันทร์รอดภัยแล้ง ต้นแบบการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนของชุมชน
ถอดบทเรียนมาบจันทร์รอดภัยแล้ง ต้นแบบการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนของชุมชน
   ปัญหาภัยแล้งเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญของประเทศไทยที่เป็นประเทศเกษตรกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูแล้งที่เป็นรอยต่อระหว่างปี 2562 – 2563 นี้ที่สถานการณ์ภัยแล้งมีความรุนแรงมากที่สุดในรอบ 20 ปี All Around Plastics ขอพาคุณผู้อ่านมาเรียนรู้และทำความเข้าใจกับวิธีการบริหารจัดการน้ำของชุมชนบ้านมาบจันทร์ ตำบลแกลง อำเภอเมือง จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นตัวอย่างของชุมชนที่สามารถวางแผนบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสบผลสำเร็จ มีน้ำใช้อุปโภคบริโภคเพียงพอ สามารถรอดพ้นจากปัญหาภัยแล้งในครั้งนี้
 

 

 

 
ตระหนักถึงปัญหา เร่งแก้ไขที่ต้นทาง
 

   เขายายดาตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่ากะเฉด – ป่าเพ – ป่าแกลง ครอบคลุมพื้นที่ 28,937 ไร่ เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำที่หล่อเลี้ยงชุมชนโดยรอบจำนวน 7 ตำบลจาก 2 อำเภอ แต่เมื่อป่าไม้ที่เคยอุดมสมบูรณ์ในอดีตเริ่มถูกทำลายหลังจากการกำหนดให้เขายายดาเป็นพื้นที่สัมปทานทำไม้ อีกทั้งพื้นที่ป่าไม้บางส่วนถูกบุกรุกและแปรสภาพไปเป็นพื้นที่ทำการเกษตรเชิงเดี่ยว สภาพการปกคลุมพื้นดินที่เปลี่ยนแปลงจากต้นไม้เล็กใหญ่ที่ขึ้นปะปนกันและมีความหลายหลายทางชีวภาพสูงไปเป็นพื้นที่ทำการเกษตรที่มีเรือนยอด(ความสูง)เพียงชั้นเดียว ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศป่าต้นน้ำหลายประการ
 
   เมื่อฝนตกลงมาโดยไม่มีเรือนยอดหลายชั้นของต้นไม้ช่วยลดแรงตกกระทบของเม็ดฝน ผิวหน้าดินจึงถูกอัดแน่นและดูดซับน้ำฝนได้น้อยลง เกิดเป็นน้ำป่าไหลหลากเวลาที่ฝนตกหรือในช่วงฤดูฝน เมื่อไม่มีน้ำฝนซึมลงไปในดินจึงไม่มีน้ำในชั้นดินหล่อเลี้ยงลำธารหลังฝนหยุดหรือในช่วงฤดูแล้ง ตลอดจนไม่มีน้ำฝนไหลซึมลงไปสะสมเป็นแหล่งน้ำใต้ดินหรือน้ำบาดาล ส่งผลต่อเนื่องให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำใช้ นอกจากนี้ปัญหาป่าเสื่อมโทรมและความแห้งแล้งยังส่งผลให้ปัญหาไฟป่ามีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
 

 

 

 
   ปัญหาดังกล่าวสร้างความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก ผู้นำชุมชนจึงลุกขึ้นมาหาทางแก้ปัญหาโดยเริ่มแก้ไขที่ต้นทางคือ การดูแลรักษาป่า ดับไฟป่า และฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ด้วยการตัดเถาวัลย์ที่ขึ้นเกาะกินต้นไม้และการปลูกป่าเสริมโดยคัดเลือกพันธุ์ไม้ในท้องถิ่นที่มีชั้นเรือนยอดระดับต่าง ๆ กันเพื่อลดแรงตกกระทบผิวดินและยืดระยะเวลาที่น้ำฝนตกลงสู่ผิวดินเพื่อให้ดินสามารถดูดซับน้ำฝนได้ดีขึ้น
 
   แม้ว่าชุมชนและกรมป่าไม้จะดูแล และฟื้นฟูป่าต้นน้ำเหนือหมู่บ้านมาบจันทร์อย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหาน้ำป่าไหลหลากในช่วงฤดูฝนและปัญหาการขาดแคลนน้ำใช้ในช่วงฤดูแล้งก็ยังคงเกิดขึ้นเนื่องจากขาดเครื่องมือที่ช่วยเร่งรัดการฟื้นฟู เช่น ฝายชะลอน้ำ จนกระทั่งในปี 2549 ชุมชนรอบเขายายดาได้เห็นตัวอย่างผลสัมฤทธิ์ของการสร้างฝายชะลอน้ำที่เอสซีจีดำเนินการร่วมกับชุมชนบ้านสามขา จังหวัดลำปาง จึงได้ติดต่อขอรับการสนับสนุนจากเอสซีจีและเริ่มต้นการทำฝายชะลอน้ำแบบผสมผสานเป็นครั้งแรกในปี 2550
 
 


 
 

ประโยชน์ของฝาย
 

   ฝายชะลอน้ำเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งที่ช่วยเร่งรัดการฟื้นตัวของป่าไม้ด้วยการเก็บกักความชุ่มชื้นเอาไว้ในพื้นที่ฝายชะลอน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝายแบบผสมผสานซึ่งเป็นการประยุกต์ใช้วัสดุธรรมชาติที่มีอยู่มาช่วยชะลอการไหลของน้ำในลำธารบริเวณพื้นที่ที่มีความลาดชันสูง เช่น ภูเขา ให้ไหลช้าลง น้ำจึงมีโอกาสซึมลงไปใต้ท้องลำธารและซึมเข้าไปในชั้นดินบริเวณสองฝั่งลำธาร ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นและสร้างความเขียวชอุ่ม สัตว์ป่าจึงมีแหล่งน้ำสำหรับบริโภคตลอดทั้งปี ตลอดจนช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศป่าต้นน้ำให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ดังเดิม
 
   การเปลี่ยนแปลงสภาพป่าเริ่มปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนในปีที่ 5 หลังจากที่เริ่มทำฝายชะลอน้ำ (ช่วงปี 2555) ซึ่งนอกจากความเขียวขจีที่เห็นชัดได้ด้วยตาแล้ว ดัชนีชี้วัดการฟื้นฟูทางธรรมชาติของป่าไม้ที่กลับมาอุดมสมบูรณ์หลังจากการสร้างฝายชะลอน้ำ คือ ข้อมูลจากภาพถ่ายทางดาวเทียมที่อาศัยการสะท้อนคลื่นแสงในระดับต่าง ๆ กันตามความสมบูรณ์ของหมู่ไม้
 

 

 

   ความชื้นหรือปริมาณไอน้ำในอากาศที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้พืชพรรณที่เคยหายไปอย่างต้นซกซึ่งเป็นต้นไม้ตระกูลปาล์มที่นำผลมาทำเป็นลูกชิดกลับมาแพร่พันธุ์และเจริญเติบโตในป่าธรรมชาติอีกครั้ง สัตว์ป่าน้อยใหญ่ เช่น หมี ก็กลับมาให้ชาวบ้านได้พบเห็นอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งกิจกรรมสร้างฝายชะลอน้ำในพื้นที่เขายายดานี้ก็ยังดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน รวมไปถึงการดูแลซ่อมแซมฝายแต่ละตัวให้ยังคงสภาพการใช้งานได้ดี
 
 


 

 
มุ่งมั่นพัฒนาต่อยอดสู่งานวิจัยชุมชน
 

   นอกจากการสร้างฝายและดูแลฟื้นฟูป่าต้นน้ำมาอย่างต่อเนื่องแล้ว ในปี 2560 เอสซีจีร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ สกว. ส่งเสริมให้ชุมชนบ้านมาบจันทร์สามารถคิด วิเคราะห์ปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาภัยแล้งและเก็บข้อมูล เพื่อวางแผนค้นหาแนวทางการแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง ผ่านการจัดทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น
 

 

 

 
   ผู้นำชุมชนที่เข้มแข็งเป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นของชุมชนบ้านมาบจันทร์เกิดขึ้นและสร้างผลได้อย่างต่อเนื่อง เมื่อเป้าหมายหลักของทุกคนคือ “อยากมีน้ำใช้เพียงพอตลอดไป” ผนวกกับองค์ความรู้ที่ ดร.พงษ์ศักดิ์ วิทวัสชุติกุล ที่ปรึกษาโครงการรักษ์น้ำ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ประยุกต์ให้ใช้งานได้ง่าย จึงเป็นแรงกระตุ้นในการทำงานวิจัยภาคปฏิบัติในชีวิตประจำวัน โดยที่ทุก ๆ วันจะมีการจดบันทึกปริมาณน้ำฝน อัตราการระเหยของน้ำ อุณหภูมิอากาศ จากอุปกรณ์ที่ดัดแปลงได้ในครัวเรือน เพื่อนำผลไปคำนวณต้นทุนน้ำจากธรรมชาติ เมื่อนำไปหักลบกับปริมาณการใช้น้ำของชุมชนทุกเดือนจากการจดบันทึกมิเตอร์ ทั้งน้ำอุปโภคบริโภคในครัวเรือน น้ำเพื่อทำเกษตร สวนผลไม้ หรือเลี้ยงสัตว์ ทั้งหมดนี้ทำให้ชาวบ้านเห็นภาพรวมของสถานการณ์น้ำที่เปลี่ยนไปในแต่ละช่วงเวลา สามารถวิเคราะห์และคาดการณ์แนวโน้มปริมาณน้ำในเดือนต่อ ๆ ไปได้ด้วยข้อมูลจริง
 
 

 
 
   นอกจากนี้ยังมีการสำรวจและจัดทำแผนผังแหล่งน้ำที่มีทั้งหมดในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นแหล่งน้ำตามธรรมชาติ บ่อน้ำสำรองต่าง ๆ ซึ่งผลที่ได้ทำให้ชาวบ้านมาบจันทร์พบว่ามียังมีบ่อหลวงซึ่งเป็นแหล่งน้ำสาธารณะที่มีอยู่แต่ไม่ได้รับการจัดสรรไปใช้ประโยชน์ นำไปสู่การขอทุนจากโครงการ “เอสซีจีร้อยใจ 108 ชุมชน รอดภัยแล้ง” ที่เอสซีจี ร่วมกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ สสน. และสยามคูโบต้า จัดขึ้นเพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพในการสูบน้ำมาใช้ด้วยพลังงานสะอาดอย่างระบบโซลาร์เซลล์ นับเป็นการใช้ทรัพยากรภายในพื้นที่ชุมชนอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด
 
ชุมชนร่วมใจสร้างกติกาการใช้น้ำร่วมกัน
 
   จากสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงและปริมาณน้ำฝนตามฤดูกาลที่น้อยกว่าปกติตั้งแต่กลางปี 2562 ผนวกกับข้อมูลจากงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นของชุมชนบ้านมาบจันทร์ที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่ากำลังมีปัญหาภัยแล้งในปีนี้ ผู้นำชุมชนจึงเรียกประชุมชาวบ้านเพื่อร่วมกันหาทางออก เมื่อต้นทุนน้ำมีน้อยทางแก้ปัญหาจึงเป็นการการสร้างกติกาการใช้น้ำร่วมกันเพื่อให้สามารถจัดสรรน้ำใช้ได้เพียงพอ ยกตัวอย่างเช่น การแบ่งพื้นที่สลับจ่ายน้ำประปาช่วงเช้าสำหรับพื้นที่ราบและช่วงเย็นสำหรับพื้นที่บนเนินเขา การกำหนดค่าปรับกรณีใช้น้ำเกินที่หน่วยกำหนดจะคิดค่าน้ำเป็น 2 เท่าตั้งแต่หน่วยแรก มาตรการที่เข้มข้นนี้แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจและความร่วมมือร่วมใจกันของชาวบ้านที่พร้อมจะปฏิบัติตามเพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวม
 
 

 
 

ไม่หยุดพัฒนา มุ่งสร้างเศรษฐกิจชุมชน
 

   ผลสำเร็จที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่สร้างชุมชนให้รอดพ้นภัยแล้งอย่างยั่งยืนเท่านั้น หากแต่ความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชนยังเกิดการต่อยอดความคิดสร้างสรรค์เพื่อสร้างอัตลักษณ์ให้มาบจันทร์เป็นแหล่งท่องเที่ยววิถีชุมชน พัฒนาสินค้าและกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดยคนในชุมชนมีการตั้งกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และกลุ่มเอ็นดูโร (Enduro) หรือจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ของเยาวชนรุ่นใหม่ที่เน้นการขับลุยตามเส้นทางในป่าแบบวิบาก ซึ่งถือเป็นการช่วยลาดตระเวน คอยสอดส่องดูแลพื้นที่ป่า ลดโอกาสของผู้บุกรุกป่าได้ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาผืนป่าและหมู่บ้าน พร้อมกับการสร้างเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืนของชุมชนบ้านมาบจันทร์แห่งนี้
 
   ผู้อ่านที่สนใจศึกษาหรือเรียนรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำของชุมชนบ้านมาบจันทร์ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ผู้ใหญ่วันดี อินทรพรม โทรศัพท์ 089 -248-1204 และ อบต.ธงชัย 089-805-5744