ชวนเปิดมุมมอง ‘ปัญหาสิ่งแวดล้อม’ เป็นเรื่องของทุกคน กับ ดร.วิจารย์ สิมาฉายา

ชวนเปิดมุมมอง ‘ปัญหาสิ่งแวดล้อม’ เป็นเรื่องของทุกคน กับ ดร.วิจารย์ สิมาฉายา
ชวนเปิดมุมมอง ‘ปัญหาสิ่งแวดล้อม’ เป็นเรื่องของทุกคน กับ ดร.วิจารย์ สิมาฉายา
สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่อยู่คู่กับการพัฒนาสภาพแวดล้อมของคนไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ.​2536 โดยพันธกิจของสถาบัน คือการเป็นผู้เชื่อมต่อประสานการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมแบบองค์รวมระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศให้เกิดดุลยภาพด้านสิ่งแวดล้อม สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยได้รับการยอมรับจากองค์กรระดับนานาชาติอย่างมหาวิทยาลัย Pennsylvania ประเทศสหรัฐอเมริกา ว่าเป็นคลังสมองด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศติดต่อกันเป็นปีที่ 9 อีกทั้งยังเป็นหน่วยประสานและดำเนินโครงการด้านสิ่งแวดล้อมอีกจำนวนมากที่เชื่อมประสานทุกกลุ่มคนเข้าทั้งในและระหว่างประเทศ
 
การพัฒนาสภาพแวดล้อมนั้น ครอบคลุมทั้งเรื่องระบบบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การจัดการมลพิษ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ ไปจนถึงการสร้างเครือข่าย การฝึกอบรมบุคลากร การสื่อสารสู่ประชาชน และที่สำคัญนั่นคือ การออกฉลากสิ่งแวดล้อม สำหรับรับรองผลิตภัณฑ์ตลอดทั้งวัฏจักร ตั้งแต่การได้มาของวัตถุดิบและกระบวนการผลิต ไปจนถึงการจัดการที่ปลายทาง เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเกิดของเสียน้อยที่สุด
 
 

 
 
วันนี้เราจึงชวนคุณมาพูดคุยกับ ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ถึงเรื่องภาพรวมของสถานการณ์สิ่งแวดล้อมทั้งของประเทศไทยและระดับโลก ไปจนถึงบทบาทของผู้ประกอบการ ผู้ผลิต และผู้บริโภค ที่จะช่วยสร้างจิตสำนึกรักษ์โลกไปด้วยกัน
 
สถานการณ์ปัญหาสิ่งแวดล้อมและปัญหาขยะบนโลกมีความสัมพันธ์กันอย่างไร ?
ดร.วิจารย์ : “ปัญหาสิ่งแวดล้อมโลกในตอนนี้ เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศถือว่าเป็นประเด็นสิ่งแวดล้อมสำคัญที่กระทบทั้งความเป็นอยู่ เศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อม จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่เราจะต้องเตรียมตัว ซึ่งปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะอยู่กับเราไปอีกยาว และน่าจะมีผลกระทบมากกว่าปัญหาโควิด 19 ในขณะเดียวกันปัญหาของประเทศไทยในตอนนี้ ก็มีทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อมพื้นฐาน อย่างปัญหาขยะ น้ำเสีย หรือ PM2.5 ซึ่งประสบปัญหาทุกปี ซึ่งเป็นปัญหาที่เราต้องรีบแก้ไข”
“ในส่วนของปัญหาขยะนับว่าเป็นปัญหาพื้นฐานของประเทศไทย ซึ่งมีขยะในภาพรวมของประเทศประมาณ 27.8 ล้านตันต่อปี หรือหนึ่งคนสร้างขยะ 1.15 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน แต่การจัดการขยะอย่างถูกต้องยังทำได้ไม่ถึงครึ่ง หรืออย่างในเมืองท่องเที่ยวตามธรรมชาติหรือชายฝั่งทะเลที่สร้างรายได้สำคัญให้ประเทศ ก็ยังมีปัญหาการจัดการขยะในหลายพื้นที่ บางแห่งขยะถูกกองทิ้งไว้ที่เนินเขา น้ำซะขยะที่มีความสกปรกสูงก็ไหลลงมาข้างล่าง ส่งต่อผลกระทบมาสู่ทรัพยากรทางทะเล​ที่เป็นทรัพยากรที่เราขายให้นักท่องเที่ยว ซึ่งเรื่องนี้ก็ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องให้ความสำคัญเร่งด่วนในการจัดการ เพื่อรองรับการเปิดประเทศเพื่อการท่องเที่ยวในระยะต่อไป”
 
 

 
 
ทางออกที่ดีที่สุดของปัญหาขยะจากพลาสติกใช้แล้ว คือการเลิกใช้ หรือไม่ ?
ดร.วิจารย์ : “ปัญหาขยะเป็นปัญหาสำคัญของโลกและระดับภูมิภาค รวมทั้งของประเทศไทย ที่เราถูกจัดอับดับหนึ่งในสิบของประเทศต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดปัญหาขยะในทะเล โดยประเทศไทยมีพลาสติกใช้แล้วประมาณ 2 ล้านตันต่อปี หรือสัดส่วนของพลาสติกใช้แล้วประมาณ 20 % ของขยะทั้งหมด แต่เราจัดการได้อย่างถูกต้องโดยการสามารถนำมารีไซเคิลได้เพียง 5 แสนตัน หรือคิดเป็น 25% ส่วนอีก 75% ใช้การฝังกลบ เผา หรือจัดการไม่ถูกต้อง แล้วอาจหลุดลอดลงคลอง แม่น้ำและออกสู่ทะเลต่อไป พลาสติกจากชิ้นใหญ่ย่อยเป็นชิ้นเล็กและอยู่ในทะเลกว่าสี่ร้อยปี”
 
“แต่ในชีวิตประจำวัน เราเลิกใช้พลาสติกได้ไหม ? ตอบได้เลยว่าไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงการแพร่ระบาดของโควิด 19 มีขยะประเภทพลาสติกเพิ่มขึ้นกว่า 50% เรารู้เลยว่า พลาสติกเข้ามามีบทบาทอย่างมากในการป้องกันเชื้อโรคต่าง ๆ ทั้งชุด PPE ก็ทำจากพลาสติก หน้ากากที่เราใส่ก็มีองค์ประกอบของพลาสติก บรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะการส่งอาหาร (Food Delivery) เพราะฉะนั้นถ้าเราจำเป็นต้องใช้พลาสติก เราต้องสร้างระบบความคิดที่ว่า เราจะใช้พลาสติกให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างไร เริ่มต้นจากพฤติกรรมการบริโภค สำรวจตัวเองว่าพลาสติกแบบไหนที่จำเป็นต้องใช้งาน ลดการใช้งานพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวให้ได้มากที่สุด และในเรื่องการจัดการเป็นเรื่องสำคัญ ระบบจัดเก็บและระบบรวบรวมที่เป็นมาตรฐาน ทำอย่างไรให้พลาสติกสะอาดกลับเข้าสู่ระบบได้มากที่สุด ส่วนพลาสติกสกปรกก็สามารถนำไปเป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตพลังงานได้ เศรษฐกิจหมุนเวียนจึงเป็นแนวคิดหนึ่งที่ประยุกต์ใช้กับการใช้งานและการจัดการพลาสติกอย่างยั่งยืน”
 
คิดเห็นอย่างไรกับมุมของผู้บริโภคที่รู้สึกว่าสินค้ารักษ์โลกมักมีราคาที่แพงกว่าสินค้าทั่วไป ?
ดร.วิจารย์ : “สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมไม่ได้มีราคาแพงเสมอไป แรก ๆ อาจจะรู้สึกว่าแพง เพราะมีผู้ผลิตน้อย แต่เมื่อมีผู้ผลิตมากขึ้น ราคาก็จะลดลง เป็นไปตามการแข่งขันของตลาด และถึงแม้ว่าราคาจะต่างกันเล็กน้อย แต่ถ้าเรารักสิ่งแวดล้อม แล้วเราทำไมต้องเลือก ? สินค้ารักษ์โลกเหล่านี้มักมีการคำนึงถึงการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในตัวสินค้าด้วยในตัว ยกตัวอย่างเช่น มีการใช้วัสดุที่สามารถย่อยสลายได้ หรือนำกลับมารีไซเคิลได้ หรือสินค้าไม่มีสารเคมีที่เป็นพิษและเป็นอันตรายต่อสุขภาพของเรา รวมทั้งไม่เป็นภาระของรัฐในการนำไปจัดการหลังการใช้อีกด้วย ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นมูลค่าที่เพิ่มเติมเข้ามาทั้งสิ้น”
 
 

 
 
ในมุมมองของผู้ประกอบการหรือผู้ผลิต จะสามารถเริ่มต้นปรับตัวเองให้เป็นผู้ประกอบการรักษ์โลกได้อย่างไรบ้าง ?
ดร.วิจารย์ : “เริ่มต้นจากแนวคิดง่าย ๆ ที่ว่า เศรษฐกิจหมุนเวียนไม่ได้เป็นภาระของผู้ประกอบการ เพียงแต่เราจัดระบบให้ถูกต้อง มองทั้งวัฎจักรของผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้าที่มีคุณภาพ ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เหมาะสม จัดการกับของเสียให้ไม่เป็นภาระกับสังคม ให้เกิดของเสียให้น้อยหรือนำของเสียเหล่านั้นกลับมาเป็นทรัพยากรได้อีกให้ได้ ซึ่งตรงนี้ถ้าหากมองให้ครบวงจร ก็จะช่วยลดผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตามมาได้ ในขณะเดียวกันก็สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อีกทางหนึ่งด้วย”
 
 

 
 
“สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ได้ออกฉลากเขียว (Green Label) ซึ่งเป็นฉลากด้านสิ่งแวดล้อมประเภทที่ 1 ที่มีการดูว่าสินค้าแต่ละประเภทมีแหล่งที่มาอย่างไร โดยผลิตภัณฑ์เองต้องได้รับมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) ก่อนในเรื่องคุณภาพสินค้า แล้วจึงจะสามารถยื่นขอฉลากเขียวเพิ่มเข้าไปได้ โดยจะมีกรรมการพิจารณาตรวจสอบติดตามตลอดกระบวนการจากโรงงานที่ผลิตจนถึงมือผู้บริโภค ทางสถาบันอยากเชิญชวนผู้ประกอบการมาร่วมกันสร้างมาตรฐานผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคมร่วมกัน เพราะภาครัฐเองได้มีนโยบายส่งเสริมและขับเคลื่อนการจัดซื้อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้น ถ้าหากผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ผู้บริโภคเข้าใจตรงกัน ก็จะสามารถขับเคลื่อนประเทศไปสู่เรื่องของการพัฒนาที่มองความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน และยังเป็นโอกาสที่จะส่งสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมไปต่างประเทศที่มีมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย”
 
ข้อมูลเพิ่มเติมและข่าวสารของสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ติดตามได้ที่ http://www.tei.or.th