มาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียน แนวปฎิบัติเพื่อความยั่งยืนของทุกองค์กร

มาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียน แนวปฎิบัติเพื่อความยั่งยืนของทุกองค์กร
มาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียน แนวปฎิบัติเพื่อความยั่งยืนของทุกองค์กร
เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งในหัวข้อสำคัญที่ผู้บริโภคยุคปัจจุบันหันมาให้ความสนใจและใส่ใจในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์และบริการต่าง ๆ มากขึ้น พวกเขาไม่เพียงมองหาสินค้าที่ผลิตจากวัสดุที่เป็นมิตรต่อโลกเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญไปถึงกระบวนการแต่ละขั้นตอนของผู้ผลิต รวมถึงปลายทางการจัดการสินค้าหลังใช้งานด้วย ผู้ประกอบการจึงต้องศึกษาและคำนึงถึงเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น โดยหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนสามารถเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ช่วยให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน
 
 

 

 
   ด้วยเหตุนี้เอง สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) จึงได้ประกาศใช้ มาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียน – Circular Economy หรือที่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า ‘มาตรฐานการตรวจสอบและรับรองแห่งชาติ (มตช.) เลขที่ 2 – 2562 แนวทางการใช้หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนในองค์กร’ ตามนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรมและนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการนำ BCG Economy Model มาใช้ เพื่อผลักดันให้ประเทศมีการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดดบนฐานการพัฒนายั่งยืน จากกลไกสำคัญที่ประกอบด้วยระบบเศรษฐกิจชีวภาพ (B – Bio Economy) ที่เป็นการนำทรัพยากรภาคการเกษตรมาต่อยอดด้วยความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (C – Circular Economy) ที่เน้นการหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ภายใต้ระบบเศรษฐกิจสีเขียว (G – Green Economy) ซึ่งมุ่งลดการสร้างมลพิษ ลดผลกระทบต่อโลกอย่างยั่งยืน
 
 

 

 
   องค์กรทุกประเภทสามารถนำ “มาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียน” มาปรับใช้เป็นแนวทางการจัดการทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ โดยนอกจากจะเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ และการแข่งขันได้อย่างยั่งยืนแล้ว ยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคด้วยมาตรฐานการรับรองที่เป็นรูปธรรมอีกด้วย โดยหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนประกอบด้วย 6 ข้อดังต่อไปนี้
 
1. การคิดเชิงระบบ (Systems Thinking) ทำความเข้าใจผลกระทบในวงกว้างที่เกิดจากการกระทำต่าง ๆ ขององค์กร รวมถึงมองเห็นความซับซ้อน เชื่อมโยงกันของระบบต่าง ๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับธุรกิจที่กำลังทำอยู่ เพื่อตัดสินใจรับมือความเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพและคาดการณ์ผลกระทบในระยะยาวได้
 
2. นวัตกรรม (Innovation) การมองไปข้างหน้าเพื่อหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ที่จะช่วยเพิ่มคุณค่า ยกระดับมูลค่า ผลักดันให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยนวัตกรรมสามารถอยู่ได้ทุกที่ ตั้งแต่การออกแบบการผลิตในโรงงาน การวิจัยและพัฒนา กระบวนการทำงาน ไปจนถึงรูปแบบการทำธุรกิจที่ต้องเกี่ยวข้องกับคู่ค้าหรือผู้บริโภค โดยต้องไม่ลืมพื้นฐานการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน
 
3. การดูแลรับผิดชอบ (Stewardship) การรับผิดชอบต่อการตัดสินใจ และการลงมือทำสิ่งต่าง ๆ ตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งในปัจจุบันและอนาคต เมื่อองค์กรตระหนักรู้ว่าทุกการกระทำนั้นส่งผลต่อธรรมชาติ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเสมอ ก็จะส่งผลให้เกิดความพยายามที่จะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดหรือสร้างสรรค์วิธีการใหม่ ๆ ขึ้นมาเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่ายมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
 
4. ความร่วมมือ (Collaboration) การทำงานร่วมกันไม่ว่าจะเป็นภายในองค์กรหรือระหว่างองค์กรก็ตาม ช่วยส่งผลดีต่อการเพิ่มพูนผลประโยชน์และสร้างคุณค่าทางธุรกิจทั้งสิ้น ลดการแข่งขัน ลดการทำงานแบบแยกส่วน หันมาเพิ่มขีดความสามารถในการทำงานในด้านที่แตกต่างไปจากเดิม ให้ความไว้วางใจ มีการสื่อสารระหว่างกัน กำหนดแนวทางเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายที่ร่วมกันวางไว้
 
5. คุณค่าที่เหมาะสม (Value Optimization) การทำให้ผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบ และวัตถุดิบเกิดคุณค่าสูงสุด เช่น หาทางใช้ประโยชน์จากวัสดุที่ถูกมองว่าเป็นของเสีย พัฒนาการผลิตหรือเลือกใช้วัสดุที่ยืดอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์ให้ยาวขึ้นได้ ใช้พื้นที่หรืออุปกรณ์ที่เหลืออยู่ให้เป็นประโยชน์สำหรับหน่วยงานอื่นภายในองค์กรหรือระหว่างองค์กร เป็นต้น
 
6. ความโปร่งใส (Transparency) การเปิดเผยแนวคิด การตัดสินใจ หรือกระบวนการทำงานต่าง ๆ รวมถึงแหล่งที่มาของวัสดุ อุปกรณ์ ส่วนผสมทางเคมีของผลิตภัณฑ์ ฯลฯ อย่างชัดเจนครบถ้วน ถูกต้อง และตรงเวลาย่อมเป็นผลดีต่อการดำเนินการตามมาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียน ทั้งนี้ไม่ได้หมายถึงการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นกรรมสิทธิ์ หรือข้อมูลที่มีภาระผูกพันความเป็นส่วนตัวต่อสาธารณะ
 
 

 

 
   จาก 6 ข้อข้างต้นที่กล่าวมานั้นเป็นหลักในการดำเนินการที่แต่ละองค์กรต้องนำไปปรับใช้ด้วยตนเอง เนื่องจากแต่ละพื้นที่ แต่ละรูปแบบกิจการล้วนมีข้อจำกัดและปัจจัยเอื้อที่แตกต่างกันไป แม้แต่ในองค์กรเดียวกัน ต่างแผนก ต่างกลุ่มผลิตภัณฑ์หรือบริการ ก็ยังอาจมีระดับของการดำเนินการที่แตกต่างกันได้เช่นกัน การจะนำมาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียนไปใช้นั้นสามารถนำไปปรับกับรูปแบบธุรกิจในปัจจุบัน โดยแบ่งรูปแบบได้ 6 กลุ่ม ดังต่อไปนี้
 
1) ผลิตตามความต้องการ (Made to Order) เมื่อเทคโนโลยีล้ำหน้า การติดต่อสื่อสารเป็นไปได้สะดวกรวดเร็วขึ้น การผลิตสินค้าตามความต้องการของลูกค้าจึงทำได้ง่ายขึ้น เพราะสามารถคำนวณวัสดุ ทรัพยากรในการผลิตล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำ ลดการผลิตส่วนเกิน ไม่เปลืองพื้นที่เก็บในคลังสินค้า ทั้งยังออกแบบให้เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้าเป็นรายบุคคลได้มากขึ้น
 
2) บริการดิจิทัลแทนการใช้วัสดุ (Digital Service) เปลี่ยนจากผลิตภัณฑ์ที่จับต้องได้ให้กลายเป็นบริการออนไลน์ ตัวอย่างที่น่าจะรู้จักคุ้นเคยกันดี เช่น ภาพยนตร์และเพลงที่เปลี่ยนจากการผลิตเป็นม้วนวิดีโอ แผ่นซีดี ดีวีดี มาเป็นบริการสตรีมมิ่งออนไลน์ ลดการใช้ทรัพยากร แต่ยังคงคุณค่าเดิมที่ผู้บริโภคต้องการ
 
3) การยืดอายุวงจรผลิตภัณฑ์และการใช้ซ้ำ (Product-life Extension) ทำได้ตั้งแต่การสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีอายุการใช้งานยาวนาน ออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สามารถดัดแปลงใช้งานได้หลากหลาย หรือให้ถอดประกอบเปลี่ยนบางส่วนได้เมื่อชำรุด ยกตัวอย่างสินค้าพลาสติกที่เน้นความทนทาน เช่น นวัตกรรมเม็ดพลาสติกเกรด SCG™ HDPE H112PC ที่สามารถผลิตท่ออุตสาหกรรม PE112 ที่ทนการสึกกร่อนได้มากกว่าท่อมาตรฐาน PE100 ถึง 50% และยังทนแรงดันได้มากกว่าถึง 10% โดยที่ใช้ปริมาณเม็ดพลาสติกเท่าเดิม ตอบโจทย์การใช้งานที่ยาวนานและลดการใช้ทรัพยากร
 
 

 

 
4) การนำวัตถุดิบทุติยภูมิกลับคืนมาใหม่และการรีไซเคิล (Resource recovery and Recycling) การนำวัสดุที่ใช้แล้วรวมถึงผลพลอยได้จากการผลิตกลับมาใช้ประโยชน์หรือไปผ่านกระบวนการรีไซเคิล ตัวอย่างที่น่าสนใจเช่น การนำถุงพลาสติกใช้แล้วที่ไม่มีมูลค่ามาบดและผสมกับยางมะตอยเพื่อทำถนนพลาสติกรีไซเคิล โดยโครงการความร่วมมือทางเทคโนโลยีระหว่างเอสซีจี และดาว เคมิคอล ได้เป็นถนนที่มีความแข็งแรงและทนการกัดเซาะของน้ำได้ดียิ่งขึ้น อีกประการคือ ผู้ผลิตควรส่งเสริมการรับคืนผลิตภัณฑ์หลังการใช้งานเพื่อนำเข้าสู่ระบบรีไซเคิลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
5) เปลี่ยนผลิตภัณฑ์เป็นบริการ (Product as a Service) การให้เช่าผลิตภัณฑ์สำหรับใช้งานในระยะเวลาที่กำหนด หรือตามจำนวนการใช้งานที่ตกลงกัน ช่วยให้ผู้บริโภคลดภาระค่าใช้จ่าย มีโอกาสที่ผลิตภัณฑ์หนึ่งชิ้นสามารถใช้งานได้ในหลายโอกาส ยืดอายุการใช้งานได้มากขึ้น เนื่องจากได้รับการดูแลที่ถูกต้องเหมาะสมจากผู้ให้บริการ เช่น การเช่าเครื่องจักร การเช่ารถยนต์ ตอบโจทย์ความต้องการที่จำเพาะเจาะจงและลดการใช้ทรัพยากรที่เกินจำเป็น
 
6) เศรษฐกิจแบ่งปันและการบริโภคแบบร่วมมือกัน (Sharing Economy) การสร้างแพลตฟอร์มสำหรับแลกเปลี่ยนทรัพยากรหรือผลิตภัณฑ์ที่ยังใช้งานได้ไม่เต็มที่ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ได้โดยที่ไม่ต้องซื้อสินค้ามาเป็นของตัวเอง โดยสามารถเช่าใช้งานได้เท่าที่จำเป็น เช่น แพลตฟอร์มเช่าอุปกรณ์เครื่องมือช่างระหว่างเพื่อนบ้าน แพลตฟอร์มการเช่าห้องพักอย่าง AirBnB หรือระบบเช่าจักรยานในลอนดอน ที่มีการสมัครสมาชิกผ่านระบบการจัดการที่เหมาะสม เกิดการแบ่งปันประโยชน์ร่วมกันอย่างที่ทุกฝ่ายพึงพอใจ
 
 

 

 
   ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของหลักการดำเนินงานตามมาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่ All Around Plastics หยิบยกมานำเสนอเพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการได้มองเห็นแนวทางในการนำไปประยุกต์ใช้กับการทำธุรกิจทั้งสินค้าและบริการ และสามารถนำไปปรับใช้กำหนดทิศทางขององค์กรต่อไปในอนาคต ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี พร้อมสร้างความร่วมมือกับคู่ค้าและพันธมิตรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อให้เกิดความยั่งยืนแก่เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศและโลกต่อไป