“บางซื่อโมเดล” โครงการจัดการของเสียภายในเอสซีจี เพราะการจัดการขยะ คือ กุญแจสำคัญสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน
Publish On 05, Oct 2019 | “บางซื่อโมเดล” โครงการจัดการของเสียภายในเอสซีจี เพราะการจัดการขยะ คือ กุญแจสำคัญสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน
การพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นเรื่องที่ทุกองค์กรต่างให้ความสำคัญควบคู่ไปกับการทำธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันที่ทั่วโลกตื่นตัวเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ไม่อาจเพิกเฉยได้อีกต่อไป หลักเศรษฐกิจหมุนเวียนจึงได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นแนวทางในการบริหารจัดการทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพ
จากหลักการ ผลิต-ใช้-วนกลับ ของเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เป็นการหมุนใช้ทรัพยากรธรรมชาติในห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการของเสีย วัตถุดิบ สินค้าที่หมดอายุ และพลังงาน ให้กลับไปเป็นทรัพยากรที่หมุนเวียนอยู่ในระบบด้วยกระบวนการที่เหมาะสมนั้น หากจะกล่าวเจาะจงถึงสินค้าที่จับต้องได้ นอกจากการเลือกวัสดุและออกแบบตัวสินค้าโดยคำนึงถึงปลายทาง เพื่อให้ใช้งานแล้วนำกลับเข้าสู่ระบบหมุนเวียนได้ และเกิดของเสียหรือขยะน้อยให้ที่สุดแล้ว สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ การมีระบบโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) ที่พร้อมจะรองรับขยะที่เกิดขึ้นกลับเข้าสู่วงจรให้ได้
การจัดการของเสีย หรือ Waste Management จึงเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ช่วยเชื่อมต่อขยะจากผู้ใช้งานส่งกลับเข้าระบบ โดยมีหลักการง่าย ๆ เริ่มต้นที่การแยกสิ่งที่มีมูลค่า ใช้ซ้ำได้ออกมาเพื่อส่งกลับเข้าวงจรการผลิตหรือรีไซเคิลออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ อีกส่วนคือของเสียที่ต้องนำไปกำจัดอย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นขยะเศษอาหารนำไปทำปุ๋ย ทำเชื้อเพลิง หรือขยะอันตรายที่มีสารพิษก็ต้องนำไปทำลายโดยผู้เชี่ยวชาญให้ถูกวิธี
เพราะการจัดการขยะนั้นต้องเริ่มจากสร้างพฤติกรรมการคัดแยกขยะและทิ้งลงถังให้ถูกประเภท เอสซีจีเองก็ต้องการสร้างการมีส่วนร่วมของพนักงานทุกคนในองค์กรด้วยเช่นกัน รวมถึงต้องการเป็นต้นแบบที่ดีด้านบริหารจัดการของเสีย โครงการบางซื่อโมเดล (Bang Sue Model) โครงการจัดการของเสียภายในเอสซีจี สำนักงานใหญ่ บางซื่อจึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของแนวปฏิบัติ SCG Circular Way วิถีชีวิตที่จะช่วยให้เราและโลกอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน เพื่อปลูกฝังหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนให้กับพนักงานผ่านเรื่องใกล้ตัวที่ทุกคนสามารถทำได้ด้วยแนวคิด “ใช้ให้คุ้ม แยกให้เป็น ทิ้งให้ถูก”
เอสซีจีสร้างความตระหนักรู้ให้พนักงานเห็นคุณค่าของทรัพยากรตั้งแต่ต้น สนับสนุนให้ใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด ใช้อย่างถนอม ใช้ซ้ำเท่าที่ใช้ได้ หากเสียก็ซ่อมแซม หากเก่าทรุดโทรมก็ปรับปรุงใหม่ ทั้งหมดนี้สามารถช่วยลดปริมาณของเหลือทิ้งที่จะเกิดเป็นขยะได้ จากนั้นจึงเข้าสู่การให้ความรู้เรื่องการคัดแยกประเภทขยะ และนำไปทิ้งให้ถูกต้องที่เป็นอีกส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เพราะขยะที่แยกประเภทอย่างถูกต้องจะสามารถนำกลับมาสร้างมูลค่าหรือสร้างประโยชน์ได้อีกมาก เมื่อเราเข้าใจว่าขยะ ไม่ใช่แค่ขยะ ที่พอใช้งานเสร็จทิ้งไปให้พ้นสายตาก็หมดความรับผิดชอบของเราแล้ว ย่อมนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตนเองและคนรอบข้าง
วิธีการแยกขยะแบบบางซื่อโมเดล จะเริ่มจากการแยกเศษอาหารและน้ำออกจากภาชนะก่อน เพราะเป็นจุดสำคัญที่จะทำให้จัดการขยะส่วนที่เหลือได้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากเศษอาหารและน้ำจะทำให้ขยะทั้งหมดสกปรก หรือเน่าเสียได้ จากนั้นจึงแยกทิ้งตามประเภทของวัสดุ แบ่งออกเป็น 6 ถัง ดังนี้
- ถังเทา สำหรับขยะประเภทเศษอาหาร น้ำ เปลือกผลไม้ ฯลฯ ซึ่งย่อยสลายได้
- ถังฟ้า สำหรับขยะประเภทกระดาษปนเปื้อน ทิชชู่ กล่องนม รวมถึงไม้ เช่น ไม้เสียบลูกชิ้น ตะเกียบ (สำหรับกระดาษสะอาด เช่น กระดาษเอกสารใช้แล้ว นิตยสาร กล่องกระดาษลัง จะมีจุดแยกทิ้งเพิ่มในห้องถ่ายเอกสารภายในสำนักงาน)
- ถังเขียว สำหรับขยะประเภทพลาสติกทุกประเภท รวมถึงกล่องโฟม โดยต้องไม่ปนเปื้อนเศษอาหาร มีการล้างทำความสะอาดก่อนทิ้งลงในถัง
- ถังขาว สำหรับขยะประเภทขวดน้ำพลาสติก PET เท่านั้นเนื่องจากขวด PET เป็นพลาสติกประเภทที่สังเกตได้ชัดเจน แยกได้ง่าย และเป็นวัสดุที่มีมูลค่ามาก นำไปรีไซเคิลต่อได้ง่าย โดยถังขาวรับเฉพาะตัวขวดเท่านั้น สำหรับฉลากและฝาให้แยกทิ้งลงถังเขียว
- ถังเหลือง สำหรับขยะประเภทโลหะและแก้ว เช่น กระป๋องเครื่องดื่ม ขวดแก้ว
- ถังสีแดง สำหรับขยะอันตราย ต้องการการจัดการหรือทำลายทิ้งโดยผู้เชี่ยวชาญ เช่น กระป๋องสเปรย์ ถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่ หลอดไฟ
ภายในพื้นที่บริษัทจะมีข้อมูลและสื่อประชาสัมพันธ์ติดไว้ตามจุดต่าง ๆ เพื่อให้พนักงานรวมถึงบุคคลภายนอกที่มาติดต่อเข้าใจหลักการแยกขยะอย่างถูกต้อง รวมไปถึงสร้างสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมและเอื้ออำนวยต่อการเปลี่ยนพฤติกรรม โดยมีการจัดวางถังขยะไว้ตามจุดต่าง ๆ ที่เช่น บริเวณสำนักงาน โรงอาหาร เป็นต้น เพื่อให้ง่ายต่อการแยกทิ้งลงในแต่ละถังได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สิ่งที่สำคัญไม่แพ้การจัดการด้านกายภาพในพื้นที่การทำงาน ก็คือการติดตามและรายงานผลให้พนักงานได้รับรู้ว่าผลจากการที่พวกเขาได้ลงมือแยกขยะนั้นสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นได้อย่างบ้าง ตัวอย่างเช่น ปริมาณขยะที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้มีเปอร์เซ็นต์เพิ่มขึ้น ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงอย่างต่อเนื่องจากการรีไซเคิล
การจัดการขยะอย่างถูกวิธีนั้นต้องอาศัยความตั้งใจ แม้อาจไม่สะดวกง่ายดายเท่าการทิ้งทุกอย่างลงถังขยะปะปนกันเหมือนที่ผ่านมา แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากเลย เมื่อคำนึงถึงผลดีที่ตามมาจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเราให้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น การคัดแยกขยะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างระบบหมุนเวียนทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เมื่อแยกขยะแล้วก็จะพบว่าไม่มีอะไรเป็นของไร้ค่า แต่ทุกสิ่งจัดการได้ และในท้ายที่สุดจะส่งผลให้ชีวิตของเราและทุกคนบนโลกดีขึ้นตามไปด้วย