Circular Economy หมุนเวียนและเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน
Publish On 22, May 2019 | Circular Economy หมุนเวียนและเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน
ในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วหรือประเทศที่กำลังพัฒนา ต่างก็พบปัญหาขยะล้นเมืองได้ไม่ต่างกันหากยังไม่มีมาตรการจัดการขยะที่ดีพอ เนื่องจากปริมาณขยะที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นขยะจากครัวเรือน สถานพยาบาล ภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร หรือขยะที่เกิดขึ้นในกระบวนการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ขยะเหล่านี้จะเพิ่มจำนวนทับถมกันไปเรื่อย ๆ จนคาดว่าจะแตะตัวเลข 3.4 พันล้านตัน ในปี 2050 เพิ่มขึ้นจาก 2.01 พันล้านตันในปี ค.ศ. 2016 หากเทียบให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ เพิ่มขึ้นเป็นถึงร้อยละ 70 จากเดิมภายในเวลา 32 ปี
พลาสติกกลายเป็นวัสดุที่ถูกจับตามองมากที่สุด โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าทั่วโลกเต็มไปด้วยกระแสความตื่นตัวเรื่องลดการใช้พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-Use Plastic) รวมถึงข่าวสัตว์ทะเลที่ตายจากการบริโภคขยะพลาสติกในท้องทะเลเข้าไป ก็สร้างความสะเทือนใจจนทำให้คนจำนวนไม่น้อยเริ่มตระหนักและเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เริ่มลด ละการใช้ผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ใช้ครั้งเดียวทิ้งกันอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งหัวข้อนี้ได้รับการพูดถึงอย่างแพร่หลาย จนทำให้พจนานุกรม Collins ยกให้คำว่า Single-Use กลายเป็นคำแห่งปี 2018
เรื่องการจัดการขยะและการลดการใช้พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้งยังได้รับความสำคัญจากหน่วยงานภาครัฐของหลาย ๆ ประเทศ เช่น ที่ประชุมรัฐสภายุโรปลงมติเห็นชอบให้สมาชิกสหภาพยุโรปออกกฎหมายยกเลิกการใช้พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้งภายในปี 2564 ประเทศไทยเองก็มีการกำหนดกรอบเวลายกเลิกการใช้พลาสติกในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ในปี 2562 นี้จะมีการยกเลิกพลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีส่วนผสมของสารประเภท oxo และ ไมโครบีดส์พลาสติก จากนั้นจะทยอยยกเลิกการใช้ผลิตภัณฑ์จากพลาสติกอีก 4 ชนิดภายในปี 2568
เมื่อโลกกำลังกลับมาทบทวนพฤติกรรมการบริโภคของมนุษย์อีกครั้ง มีการเสนอแนวคิดในการแก้ปัญหานี้นับไม่ถ้วน หนึ่งในแนวคิดที่เป็นที่กล่าวถึงมากที่สุดก็คือ “Circular Economy” หรือที่เรียกเป็นภาษาไทยว่า “แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน” ซึ่งเน้นให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการ ทั้งวัตถุดิบ พลังงาน และของเสีย ให้สามารถนำกลับไปใช้หมุนเวียนอยู่ในระบบได้ยาวนานที่สุด หรือจนหมดอายุการใช้งานที่แท้จริง
Circular Economy จึงไม่ได้เป็นเพียงการนำของเสียกลับมาใช้ใหม่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องเริ่มต้นจากการออกแบบที่ทำให้กระบวนการผลิตประหยัดทรัพยากรให้มากที่สุด ทำให้ผู้บริโภคสามารถใช้งานได้คุ้มค่าที่สุด หรือทำให้นำกลับมาใช้ใหม่ได้ให้มากที่สุด โดยต้องอาศัยการคัดแยกจัดเก็บอย่างเป็นระบบจากผู้ใช้งาน แต่หากไม่สามารถนำมาใช้ต่อในรูปแบบเดิมได้ อย่างน้อยที่สุดก็ต้องสามารถนำไปเป็นเชื้อเพลิงต่อไปได้
ในวงการพลาสติกเองก็เกิดการตื่นตัวในการนำแนวคิด Circular Economy มาใช้ในหลายภาคส่วน ในฝั่งแบรนด์สินค้าก็มีการนำวัสดุเหลือใช้มาสร้างมูลค่าด้วยการออกแบบ อย่าง Freitag ซึ่งนำผ้าใบรถบรรทุกสิบล้อใช้แล้วมาตัดเย็บเป็นกระเป๋า แต่ที่มากไปกว่าการนำของเก่ากลับมาใช้ใหม่ ก็คือการออกแบบให้ผลิตภัณฑ์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้น อย่างผลิตภัณฑ์ในครัวเรือนภายใต้แบรนด์ P&G ก็ได้นำแนวคิด “เมื่อเพิ่มสิ่งใหม่เข้าไป ต้องทำให้ลดลง” มาใช้กับการพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ
โดยประโยคดังกล่าวหมายความว่า การนำนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้นั้นไม่ใช่การทำให้ดูล้ำสมัยเพื่อเพิ่มมูลค่าเพียงอย่างเดียว แต่สิ่งใหม่ที่เพิ่มเติมเข้ามาจะต้องช่วยทำให้ปัญหาเดิม ๆ ลดน้อยลงหรือหายไป ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ใช้พลาสติกน้อยลงแต่ใช้งานได้ดี มีความทนทานเหมือนเดิม หรือน้ำยาทำความสะอาดที่ใช้ปริมาณสารเคมีน้อยลง แต่ขจัดคราบได้หมดจดไม่ต่างกัน ปัจจุบัน P&G ได้พัฒนามาถึงเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดอย่าง DS3 ที่เปลี่ยนโฉมหน้าการทำความสะอาดในครัวเรือนไปอย่างสิ้นเชิงด้วยการบีบอัดสารทำความสะอาดไว้ให้เหลือเพียงแผ่นบาง ๆ ในบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไป แต่ยังใช้ทดแทนผลิตภัณฑ์เดิม ๆ ได้เป็นอย่างดี
ในส่วนของภาครัฐเองได้มีการเตรียมตัวเพื่อตอบรับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนแล้วเช่นกัน ภายใต้ข้อตกลง ASEAN-UN Plan of Action 2016 – 2020 ด้วยการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ที่เน้นการขับเคลื่อนประเทศสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรมซึ่งมีบทบาทสำคัญในด้านการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมพลาสติกโดยตรง ตระหนักถึงความสำคัญและพยายามผลักดันนโยบายที่ร่างขึ้นให้ใช้งานได้จริง โดยมีแผนมุ่งปรับโครงสร้างการผลิตในประเทศไทยให้เป็นแบบหมุนเวียน เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมการปรับรูปแบบธุรกิจให้สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่จากของเสียหรือวัสดุเหลือใช้ในประเทศ
ปัจจุบันกระทรวงอุตสาหกรรมได้ผลักดันสถานประกอบการให้เข้าร่วมโครงการอุตสาหกรรมสีเขียวแล้ว 35,228 แห่ง ลงนาม MoU กับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกันรณรงค์ส่งเสริม Circular Economy ให้แก่สมาชิก ตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี Recycle-Urban Mining นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริม SMEs และชุมชนสร้างรายได้จากของเหลือใช้ โดยเริ่มที่โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ จัดทำฐานข้อมูลของเสียจากโรงงานเพื่อให้ผู้ประกอบการอื่น ๆ สามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตต่อเนื่อง นับเป็นการเริ่มต้นที่สำคัญสำหรับฝั่งต้นทาง
ในขณะเดียวกันสถาบันพลาสติกซึ่งเป็นหน่วยงานสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกของประเทศไทยรายงานว่า ประเทศไทยนั้นผลิตขยะจำนวน 2,000,000 ตันต่อปี แต่มีเพียง 500,000 ตัน เท่านั้นที่มีการนำไปรีไซเคิลอย่างถูกต้อง นั่นเพราะขาดการบริหารจัดการ ขาดมาตรการส่งเสริมการคัดแยกขยะที่เป็นระบบโดยรวม เกิดการขาดแคลนเศษพลาสติกสะอาด ส่งผลให้พลาสติกจำนวนมากไม่ได้ถูกนำกลับมารีไซเคิลเนื่องจากไม่คุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ รวมถึงผู้ประกอบการรายย่อยที่เทคโนโลยีการผลิตยังไม่ได้รับการพัฒนา ขาดมาตรฐานการรับรอง ไม่ได้อยู่ในระบบที่ทางภาครัฐจะสามารถตรวจสอบให้ความสนับสนุนได้ จึงต้องอาศัยความร่วมมือของหลายภาคส่วนที่จะต้องมาพูดคุยกันหาทางออกที่เหมาะสมกับทุกฝ่าย เพราะประเทศไทยได้ประกาศแล้วว่าในปี 2021 จะยกเลิกการนำเข้าขยะพลาสติกอย่างเด็ดขาด ณ ตอนนี้จึงเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่เราจะได้ทบทวนและวางแผนการบริหารจัดการขยะพลาสติกที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุด
เศรษฐกิจหมุนเวียนไม่ใช่จุดสิ้นสุดของอุตสาหกรรมพลาสติก แต่เป็นเพื่อนใหม่ที่หากได้ทำความรู้จักแล้ว จะนำพาให้ผู้ประกอบการ เจ้าของโรงงานพลาสติกทั้งหลายได้พัฒนาตนเองไปสู่อีกขั้นของการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์พลาสติกใหม่ ๆ ที่ใช้ได้นาน และนำกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ได้จนคุ้มค่า ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดที่มองหาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับโลกมากขึ้น เพื่อโลกที่ดีขึ้นสำหรับทุกฝ่าย ไม่ใช่แค่เอื้อต่อมนุษย์เพียงเท่านั้น แต่ทุกกระบวนการควรจะเอื้อประโยชน์ต่อทุกสรรพสิ่งบนโลกให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ด้วย