Circular Economy : เศรษฐกิจหมุนเวียน สมดุลของธุรกิจ คุณภาพชีวิต และอนาคตโลก
Publish On 08, Dec 2018 | Circular Economy : เศรษฐกิจหมุนเวียน สมดุลของธุรกิจ คุณภาพชีวิต และอนาคตโลก
ช่วงที่ผ่านมา หลาย ๆ ท่านอาจได้ยินคำว่า “Circular Economy” หรือ “เศรษฐกิจหมุนเวียน” ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจของหลายประเทศทั่วโลก โดยเมื่อกลางปีที่ผ่านมา เอสซีจี ได้ริเริ่มจุดประกายแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนให้กับภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม ภายใต้งาน SD Symposium งานสัมมนาระดับโลกในประเทศไทย ในแนวคิด “Circular Economy : The Future We Create”
Circular Economy หรือ เศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับการรักษาคุณค่าของทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ใช้ทรัพยากรเท่าที่จำเป็น ให้มีประสิทธิภาพสูงสุดตั้งแต่กระบวนการผลิต การบริโภค จนถึงการนำกลับมาใช้เป็นวัตถุดิบใหม่ ทั้งนี้มีการประเมินความต้องการใช้ทรัพยากรของโลก พบว่าในปีค.ศ. 2050 ความต้องการใช้ทรัพยากรของโลกจะเท่ากับ 1.3 แสนล้านตัน ซึ่งคิดเป็น 4 เท่าของปริมาณทรัพยากรบนโลกที่มีอยู่จริง พวกเราทุกคนจึงตกอยู่ในความเสี่ยงกับการขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิต รวมทั้งมลภาวะจากการผลิตและการกำจัดของเสียจากผลิตภัณฑ์หลังการบริโภค นี่เองจึงเป็นที่มาของ “แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน” หรือ “Circular Economy” ซึ่งปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจแบบดั้งเดิมที่เป็นเพียงการนำทรัพยากรมาผลิต และจบที่ใช้แล้วทิ้ง (Take-Make-Dispose) ให้เป็นการรักษาคุณค่าของทรัพยากรให้มากที่สุด ด้วยการสร้างระบบที่เอื้อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และนำสินค้าที่ใช้แล้วกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตได้อีก (Make-Use-Return) เพื่อการเติบโตอย่างสมดุลของธุรกิจ คุณภาพชีวิต และอนาคตโลกที่ยั่งยืน
อุตสาหกรรมพลาสติก กับ Circular Economy
จากรายงานของ World Business Council for Sustainable Development หรือ WBCSD ได้ระบุว่ามีวัสดุทั้งหมด 8 ชนิดที่ต้องขับเคลื่อนเรื่อง Circular Economy โดยเร็ว เช่น เหล็ก อลูมิเนียม พลาสติก แก้ว ไม้ เป็นต้น
สำหรับ “พลาสติก” คงปฎิเสธไม่ได้ว่าเป็นวัสดุพิเศษที่นำไปใช้ผลิตสินค้าได้หลากหลายอุตสาหกรรมทั้งในสินค้าประเภทคงทน เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าใช้ครั้งเดียวทิ้ง อาทิ อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ หากไม่มีวัสดุพลาสติก อาจส่งผลให้มนุษย์เราใช้ทรัพยากรธรรมชาติสิ้นเปลืองมากขึ้น ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งทำให้ความสะดวกสบายในชีวิตลดลงด้วย
อย่างไรก็ดี การนำพลาสติกมาใช้ในสินค้าประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง หรือ Single-Use เช่น ถุงหูหิ้ว ขวดน้ำ หลอดดูดน้ำ ช้อนส้อม เป็นต้น ก็กำลังเป็นที่ถกเถียงว่ามีความจำเป็นมากน้อยเพียงใด เนื่องจากมีอายุการใช้งานสั้น แต่ต้องใช้เวลาย่อยสลายนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อการจัดเก็บหลังการใช้งานยังไม่เป็นระบบ จึงทำให้เกิดปัญหาขยะพลาสติกในทะเล และกลายเป็นประเด็นสำคัญของโลกตามที่เราเห็นข่าวสัตว์น้ำตายอยู่เป็นระยะ ๆ
การนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy มาปรับใช้กับโมเดลธุรกิจ จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุดในขณะนี้เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน แต่จำเป็นต้องขับเคลื่อนร่วมกันทั้งระบบจึงจะประสบความสำเร็จได้ โดยทั้งผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ผู้บริโภค ต้องร่วมกันปรับเปลี่ยนเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน ได้แก่
Make (ผลิต): ผลิตสินค้าโดยใช้ทรัพยากรน้อยที่สุด เริ่มตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ และการใช้นวัตกรรมที่ช่วยลดการใช้ทรัพยากร
Use (ใช้): ใช้สินค้านั้น ๆ อย่างคุ้มค่า เต็มประสิทธิภาพ หลังจากการใช้งานแล้วต้องทิ้งอย่างถูกต้องเพื่อให้วัสดุเหล่านั้นนำมาใช้ใหม่ได้
Return (วนกลับ): นำวัสดุกลับมาใช้ในกระบวนการผลิตใหม่ หรือนำไปสร้างประโยชน์อื่น ๆ เพื่อให้คุ้มค่าสูงสุด
ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี เดินหน้าตอบโจทย์ Circular Economy ด้วยนวัตกรรม
ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ขับเคลื่อน Circular Economy ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ ๆ ให้กับลูกค้าในการพัฒนาอุตสาหกรรมให้มีความยั่งยืน ผ่าน 3 กลยุทธ์หลัก ได้แก่
หนึ่ง Reduce และ Durability คือ การลดใช้ทรัพยากรในกระบวนการผลิต เช่น นวัตกรรมเม็ดพลาสติก PE112 คอมพาวนด์สีดำ (PE112 Black HDPE Compound) พลาสติก PP สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ Polypropylene (PP) for the Automotive Industry
สอง Upgrade และ Replace คือ การพัฒนานวัตกรรมเพื่อทดแทนสินค้าหรือวัตถุดิบชนิดเดิม ด้วยสินค้าหรือวัตถุดิบชนิดใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ใช้ทรัพยากรน้อยลงหรือนำไปรีไซเคิลได้มากขึ้น เช่น เม็ดพลาสติกพอลิเอทิลีนจากเทคโนโลยีใหม่ของธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจีที่สามารถนำพลาสติกรีไซเคิลมาผสมได้เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า
และสาม Reuse หรือ Recycle คือ การเพิ่มความสามารถในการหมุนเวียนสินค้าที่ใช้งานแล้วกลับมาใช้ใหม่ เช่น การพัฒนา CIERRATM ซึ่งเป็นFunctional Material ที่ช่วยปรับคุณสมบัติพลาสติก ให้สามารถใช้พลาสติกเพียงชนิดเดียว (Mono Material) แต่ให้คุณสมบัติที่หลากหลายกับบรรจุภัณฑ์ แทนการใช้วัสดุหลายชนิด (Multi Material) ซึ่งยากต่อการนำไปรีไซเคิล หรือการนำขยะพลาสติกในทะเลและชุมชนมาเป็นส่วนประกอบสำหรับทำบ้านปลาเพื่ออนุรักษ์ระบบนิเวศทางทะเล
นอกจากนี้ เอสซีจียังสนับสนุนการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับทุกภาคส่วนทั้งในและต่างประเทศ โดยล่าสุดได้ร่วมมือทางด้านเทคโนโลยีกับกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ให้นำพลาสติกใช้แล้วมาเป็นส่วนผสมในการทำถนนยางมะตอย เพื่อช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกในทะเลและชุมชน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของถนนจากคุณสมบัติของพลาสติก และช่วยลดการเกิดก๊าซเรือนกระจกจากการทำถนน ทั้งนี้ได้สร้าง “ต้นแบบถนนพลาสติกรีไซเคิล” บริเวณนิคมอุตสาหกรรม RIL จ.ระยอง จากการนำพลาสติกใช้แล้วจากชุมชนและจากโรงงานในกลุ่มธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี มาเป็นส่วนประกอบ
Circular Economy ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
อย่างไรก็ดี แนวคิด Circular Economy จะเกิดขึ้นจริงอย่างเป็นรูปธรรมได้นั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เช่น ภาครัฐในหลายประเทศสนับสนุนเรื่องนี้ โดยบรรจุเข้าไปในนโยบายการบริหารประเทศ ส่วนภาคเอกชนไม่ว่าจะเป็นองค์กรใหญ่หรือแม้แต่ SME สามารถนำแนวคิดนี้ไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบที่น่าสนใจ บ้างก็มีการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อนำไปสู่การสร้างนวัตกรรม หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนมารองรับ
และที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้ Circular Economy เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนก็คือ “ผู้บริโภค” อย่างเรา ๆ นี่เอง ที่ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบริโภคโดยไม่มองว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องไกลตัวอีกต่อไป ส่งเสริมและสนับสนุนการ “ใช้ให้คุ้ม แยกให้เป็น ทิ้งให้ถูก” ได้แก่ การนำทรัพยากรที่ใช้แล้วกลับมาใช้ซ้ำให้มากที่สุด และเมื่อไม่สามารถใช้งานต่อได้แล้ว ก่อนจะทิ้งควรจัดการแยกตามประเภทของวัสดุ เช่น พลาสติก กระดาษ โลหะ เป็นต้น และทิ้งให้ถูกที่ ลงถังขยะให้ถูกต้อง ทั้งหมดนี้จะช่วยทำให้การนำขยะกลับมาสร้างประโยชน์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเกิดประโยชน์สูงสุด
ดังนั้นแล้วไม่ว่าคุณจะอยู่ในภาคส่วนใด เชื่อเถอะว่าคุณสามารถเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างให้โลกใบนี้มีอนาคตที่ยั่งยืน เป็นโลกที่มีความสมดุล และสมบูรณ์ตราบนานเท่านาน
“เอสซีจี พยายามคิดค้นเทคโนโลยีในการนำ Single-Use Plastic กลับมาใช้หรือรีไซเคิลให้ได้มากที่สุด อีกทั้งได้พยายามพัฒนาสินค้าพลาสติกที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้เกือบทั้งหมด นอกจากนี้ยังได้พยายามผลิตพลาสติกที่เป็น Durability ซึ่งยังคงมีความจำเป็นต้องใช้อยู่ แต่จะทำอย่างไรที่จะผลิตให้มีลักษณะ แข็งแรง เบา และเหนียว เพื่อทดแทนวัสดุธรรมชาติ ที่สำคัญต้องสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศและเทคโนโลยีในด้านต่าง ๆ”
ศักดิ์ชัย ปฏิภาณปรีชาวุฒิ
Vice President, Polyolefins and Vinyl Business
ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี