น้ำพริกเผาบ้านเพชร เมนูเด็ดสร้างรายได้
Publish On 04, Jan 2019 | น้ำพริกเผาบ้านเพชร เมนูเด็ดสร้างรายได้
“กินอะไรทำไมแข็งแรงจัง”
“น้ำพริก ผักต้ม” คือเมนูอันดับต้น ๆ ของผู้สูงอายุ รวมถึงคนที่มีสุขภาพดีมักตอบ เมื่อเจอคำถามนี้ แปลว่า เมนูนี้ต้องมีความพิเศษอะไรซ่อนอยู่แน่ ๆ
จากอาหารง่าย ๆ ที่หลาย ๆ บ้านต้องมีติดตู้ไว้เพื่อเพิ่มรสชาติความอร่อย แต่ “น้ำพริก” ก็เป็นเมนูหลักของอีกหลาย ครอบครัวเช่นกัน
วันนี้ “น้ำพริกเผาบ้านเพชร” ถูกยกระดับให้กลายเป็น “สินค้า” ที่สร้างรายได้ให้กับคนในหลากหลายชุมชน โดยอาศัยการพัฒนาผลิตภัณฑ์หลายขั้นตอน จนครองใจลูกค้าทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน
“น้ำพริกเผาบ้านเพชร” ของวิสาหกิจชุมชนหัวน้ำตก จ.ระยอง ที่มี พี่เล็ก-คุณเสาวลี ไตรลักษณ์ เป็นหัวหน้ากลุ่ม เดิมที น้ำพริกนี้วางจำหน่ายในร้านอาหารของคุณเสาวลีอยู่แล้ว และมีลูกค้าขาประจำในพื้นที่มาสั่งซื้อไปรับประทาน เป็นระยะ ๆ
วันหนึ่งได้มาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญของน้ำพริกเผาบ้านเพชร เมื่อพนักงานของธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี มาลงพื้นที่ ได้ลิ้มรสน้ำพริกและเห็นว่าสามารถต่อยอดพัฒนาสินค้าเพื่อขยายตลาดให้กว้างขึ้นได้ เพราะนอกจากจะเหมาะกับการนำไปใช้ปรุงอาหารและรับประทานกับข้าวเกรียบแล้ว น้ำพริกเผาบ้านเพชรยังรับประทานคู่กับผักต้มได้อย่างเอร็ดอร่อยอีกด้วย
“เมื่อปี 2558 ทีมงานของเอสซีจี มาที่ชุมชน ทางเราก็มอบน้ำพริกให้ไปกินกัน ซึ่งทางนั้นก็ชอบรสชาติ ไปบอกต่อกับคนอื่น ๆ ทำให้ยอดขายน้ำพริกดีขึ้น แต่น้ำพริกของเราตอนนั้นก็มีจุดอ่อนคือ เก็บได้ไม่นาน ทางเอสซีจีก็ผลักดันให้ทางชุมชนได้ร่วมโครงการ ITAP เพื่อพัฒนาให้น้ำพริกเก็บไว้ได้นานขึ้น” คุณเสาวลี เล่าถึงความช่วยเหลือที่ได้รับจากเอสซีจี
วิสาหกิจชุมชนหัวน้ำตกได้เข้าร่วมโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ ITAP ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อปี 2559 โดยได้รับเงินสนับสนุนเพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากรัฐบาลครึ่งหนึ่งและอีกครึ่งหนึ่งได้จากเอสซีจี ซึ่งผลลัพธ์สำคัญที่ได้จากการร่วมโครงการคือ การปรับสูตรน้ำพริก การพัฒนากระบวนการผลิต และบรรจุภัณฑ์ จนปัจจุบันน้ำพริกเผาบ้านเพชรสามารถเก็บไว้ได้นานถึง 6 เดือน
“ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งร่วมโครงการนี้ได้มาลงพื้นที่เพื่อดูปัญหา และร่วมกับชุมชนเพื่อปรับสูตรน้ำพริก สอนวิธีบรรจุน้ำพริกลงขวดที่ถูกต้องเพื่อไม่ให้เกิดเชื้อราและเก็บไว้ได้นานกว่าเดิมมาก ตอนนี้เวลาเอาน้ำพริกไปขายในงานแสดงสินค้าต่าง ๆ เราสามารถเตรียมล่วงหน้าได้ ไม่ต้องกลัวเหลือ เพราะเก็บไว้ได้นานขึ้น และตั้งแต่ได้รับความช่วยเหลือจากเอสซีจี และร่วมโครงการ ITAP ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้น 300%” คุณเสาวลี กล่าว
นอกจากผลักดันให้ร่วมโครงการเพื่อพัฒนาตัวผลิตภัณฑ์หรือน้ำพริกแล้ว หากต้องการขยายตลาดให้กว้างขึ้น ก็จำเป็นต้องขอจดทะเบียนอย. ซึ่งทางเอสซีจี ได้ช่วยเหลือเรื่องการปรับปรุงโรงเรือนสำหรับทำน้ำพริกให้ได้มาตรฐาน ตรงตามเงื่อนไขของการขอเครื่องหมายอย. และยังอำนวยความสะดวกแก่ชุมชนตลอดการดำเนินการขอเครื่องหมายอย. ด้วย
ไม่เพียงเท่านั้น ทางเอสซีจี ยังได้ช่วยเหลือวิสาหกิจชุมชนหัวน้ำตกในด้านอื่น ๆ เช่น การสร้างโลโก้ แนะนำการสร้างแบรนด์สินค้า พร้อมกับหาช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าน้ำพริกเพิ่มขึ้น
โดยคุณเสาวลี เล่าว่า ทีมงานของเอสซีจีฯ จะช่วยเหลือด้านการเดินทางเพื่อไปร่วมงานแสดงสินค้าต่าง ทั้งในจังหวัดระยอง กรุงเทพ และกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา รวมถึงรับออเดอร์มาให้ชุมชน นำน้ำพริกไปใส่กระเช้า ของขวัญสำหรับโอกาสพิเศษต่าง ๆ
“ทีมงานเอสซีจี ช่วยเหลือชุมชนอย่างแข็งขันมาก ถ้าไม่มีทีมนี้ ก็ไม่รู้ว่าเราจะมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร เอสซีจี ทำให้เรามีโอกาสไปขายน้ำพริกในงานแสดงสินค้าหลายที่ เช่น งาน OTOP ที่กรุงเทพฯ งาน Expo สินค้าไทยที่กรุงพนมเปญ ช่วยเปิดโลกทำให้เราได้รับรู้ความรู้สึกของลูกค้า สามารถนำมาพัฒนาทำให้น้ำพริกมีรสชาติกลมกล่อม น่ารับประทาน และมีบรรจุภัณฑ์ที่สะดุดตาลูกค้ามากขึ้น”
เป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่ง ที่ภายในเวลาเพียงไม่กี่ปียอดขายน้ำพริกเติบโตขึ้นหลายเท่าตัว นับเป็นความภาคภูมิใจของวิสาหกิจชุมชนหัวน้ำตกและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง แต่ทุกภาคส่วนก็ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์ “น้ำพริกเผาบ้านเพชร” ให้มีคุณภาพตรงตามความต้องการของผู้บริโภค โดยตั้งเป้าไว้ว่า ในปี 2562 จะขอมาตรฐานสินค้า OTOP ซึ่งจะช่วยเพิ่มช่องทางในการวางจำหน่ายในร้านค้า หรือห้างสรรพสินค้าได้ง่ายยิ่งขึ้น
ความร่วมแรง ร่วมมือ ร่วมใจ ของทุกฝ่ายล้วนเป็นแรงผลักดันและส่งเสริมให้ผลิตภัณฑ์ “น้ำพริกเผาบ้านเพชร” สามารถครองใจผู้บริโภค จนส่งผลให้เกิดรายได้ในชุมชน และช่วยพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ ของคนในชุมชน แน่นอนว่าสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ย่อมมีผลโดยตรงต่อเศรษฐกิจและความเจริญของประเทศอีกด้วย