“บ้านปลาเอสซีจี” สร้าง “ชีวิต”
Publish On 21, Oct 2018 | “บ้านปลาเอสซีจี” สร้าง “ชีวิต”
“ท่อ PE 100 สีดำขนาดสั้นและยาวค่อย ๆ ถูกลำเลียงมาหน้าชายหาด สองมือของบรรดาจิตอาสา ชาวประมง และเจ้าหน้าที่ค่อย ๆ ช่วยกันขันน็อตเชื่อมต่อท่อกันอย่างมุ่งมั่นท่ามกลางแดดจ้า จากท่อเล็ก ๆ ไม่นานก็เริ่มก่อร่างเป็นทรงสามเหลี่ยมขนาดใหญ่”…นี่ไม่ใช่การรวมพลังเพื่อสร้างของประดับชายหาดแต่อย่างใด แต่คือการรวมใจสร้าง “นวัตกรรมบ้านปลาเอสซีจี” ที่ เอสซีจี ร่วมกับภาครัฐและชุมชน ช่วยกันสร้างแหล่งอาศัยให้สัตว์น้ำคืนสู่ท้องทะเล กิจกรรมดีๆ ที่จัดอย่างต่อเนื่องสู่ปีที่ 7 เพื่อเพิ่มความสมบูรณ์ให้ทรัพยากรชายฝั่งทะเลอย่างยั่งยืน และเป็นการสืบสาน รักษา ต่อยอด การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ตามพระราชปณิธานจากภูผา สู่มหานที
เอสซีจี ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและมีความมุ่งมั่นที่จะฟื้นฟูทรัพยากรทะเลชายฝั่ง จึงได้ ร่วมกับสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (สบทช.) ที่ 1 (ระยอง) และ กลุ่มประมงพื้นบ้านจังหวัดระยอง ในการแก้ไขปัญหาโดยนำท่อที่ผลิตจากนวัตกรรมเม็ดพลาสติก PE100 ซึ่งเป็นเม็ดพลาสติกสำหรับผลิตท่อส่งน้ำดื่มเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาทดลองประกอบเป็นบ้านปลา มีการวางและเก็บข้อมูลจากการทดลอง ปรับเปลี่ยนรูปทรงให้เหมาะสมจนกลายเป็น “บ้านปลาเอสซีจี ” รูปทรงสามเหลี่ยมที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
บ้านปลาเอสซีจีหลังแรก ถูกวางในปี พ.ศ. 2555 ที่ปากคลองแกลง จังหวัดระยอง และได้ขยายไปยังกลุ่มประมงพื้นบ้านบริเวณทะเลชายฝั่งของ จังหวัดระยอง ชลบุรี และจันทบุรี ปัจจุบันมีการวางบ้านปลาลงสู่ใต้ท้องทะเลไปแล้วกว่า 1,400 หลัง ในกลุ่มประมงพื้นบ้านรวมทั้งสิ้น 34 กลุ่ม
“บ้านปลาเอสซีจี” ฟื้นชีวิต คืนรายได้
กิจกรรม สร้างบ้านปลาเอสซีจี จัดมาเป็นปีที่ 7 แล้ว โดยปีนี้ใช้ชื่องานว่า “รักษ์น้ำจากภูผา สู่มหานที จิตอาสาสร้างบ้านปลาเอสซีจี” ณ สวนสาธารณะชายหาดแหลมเจริญ เป็นอีกปีที่ช่วยตอกย้ำความสำเร็จ จากความร่วมมือของ เอสซีจี สบทช. กลุ่มประมงพื้นบ้าน และประชาชนจิตอาสาหลายร้อยชีวิต สานต่อการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ส่งเสริมชุมชนเข้มแข็ง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประมงพื้นบ้าน การสร้างบ้านปลาที่เริ่มต้นจากแค่ “สองมือ” ช่วยสร้างบ้านปลาได้เพิ่มกว่า 50 หลัง บ้านซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ และอนุบาลสัตว์น้ำ ทำให้ชายฝั่งทะเลไทยตะวันออกที่เคยเวิ้งว้างฟื้นคืนกลับมาสมบูรณ์ด้วยปูปลาอีกครั้ง
ไมตรี รอดพ้น ประธานวิสาหกิจชุมชนชมรมประมงเรือเล็กพื้นบ้าน อำเภอเมือง และอำเภอบ้านฉางสามัคคี จังหวัดระยอง กล่าวว่า
“เมื่อก่อนจะหาปลาต้องออกเรือจากฝั่งไปประมาณ 6-10 กิโลเมตร เมื่อออกไปไกลก็ต้องเผชิญกับคลื่นสูง ลม ซึ่งบางครั้งทำให้เครื่องมือประมงพื้นบ้าน เสียหายกลับมา แต่หลังจากมีบ้านปลา เห็นได้ชัดเลยว่า ในรัศมี 1-2 กิโลเมตรเท่านั้น ก็หาปู หาปลาได้แล้ว เป็นผลจากการวางบ้านปลาเพื่อเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ทะเล ซึ่งเป็นทรัพยากรอันล้ำค่าของทุกคน”
ด้วยโครงสร้างบ้านปลาที่ถูกคิดค้นออกแบบมาอย่างดี ประกอบการใช้วัสดุที่ปลอดภัย และมีพื้นผิวเอื้อต่อการอาศัยของสัตว์น้ำทั้งเพรียงและหอย ทำให้ท่อ PE 100 ถูกปกคลุมไปด้วย สัตว์น้ำมากมาย ซึ่งนั่นทำให้ปลาน้อยใหญ่เข้ามาใช้เป็นแหล่งพักอาศัยและหลบภัย การเพิ่มขึ้น ของปริมาณสัตว์น้ำอย่างสมดุล ไม่เพียงคืนความสมบูรณ์ให้กับท้องทะเลไทย แต่ยังเป็นการส่งเสริม ความมั่นคงของกลุ่มประมงพื้นบ้านที่จะมีอาชีพและรายได้ที่เพิ่มขึ้นด้วย
“อาชีพประมง อยู่กับความไม่แน่นอนของสภาพอากาศ พายุฝน เราประเมินกันดูว่ารายได้ จากเมื่อก่อนได้หลักร้อย แต่หลังจากมีบ้านปลาเอสซีจีรายได้เป็นหลักพันบาท เราจึงมาคิดกันในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนประมงฯ ว่า โครงการบ้านปลาเอสซีจี มาถูกทางแล้ว สามารถสร้างแหล่งอาหารให้ยั่งยืน กับอาชีพประมงพื้นบ้าน ซึ่งไม่เพียงชาวประมงเท่านั้นที่ได้ แต่มองไปถึงความยั่งยืนของแหล่งอาหารในประเทศไทยในอนาคตด้วย”
ไมตรี รอดพ้น ประธานกลุ่มประมงฯ ย้ำถึงความสำเร็จ
อัครสิงห์ สิงหฤกษ์ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล สำนักงานบริหาร จัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 2 ชลบุรี สะท้อนให้เห็นความร่วมมือว่า
“ประโยชน์ของ ความร่วมมือกับเอกชน มีส่วนช่วยเสริมการทำงานของภาครัฐมาตลอด โดยเฉพาะเอสซีจี ที่วางแผนการทำ “บ้านปลาเอสซีจี” ต้องมีการกำหนดจุดพิกัดร่วมกัน ภาครัฐใช้หลักวิชาการ เอกชนใช้หลักการวิจัยวัสดุ ที่ปลอดภัยมาสนับสนุนในพื้นที่ชุมชนประมง ให้ทุกชุมชนได้มีทรัพยากรชายฝั่งทะเลเพิ่มขึ้น ในอนาคตอาจจะรวมไปถึงในภาคใต้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งจากชุมชนและประเทศอย่างมากในภายภาคหน้า ”
“บ้านปลาเอสซีจี” สร้างจิตสำนึก “รักษ์ทะเล”
ทุกวันนี้การส่งต่อความดี ไม่ใช่เรื่องยาก เมื่อสังคมโซเชียลทำให้คนทั่วทุกมุมโลกเชื่อมต่อหากันได้เพียงปลายนิ้วสัมผัส การส่งต่อการอนุรักษ์จึงเสมือนเป็นการเปิดโอกาส และเปิดพื้นที่ให้กับเหล่าจิตอาสา ที่ไม่จำกัดเพศหรือสถานะใด ๆ ได้มาร่วมกันทำความดีควบคู่ไปกับเรียนรู้การอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลอย่างรู้เท่าทัน
พัชรินทร์ แจ่มจำรัส น้องผู้บกพร่องทางการได้ยิน จากโรงเรียนโสตศึกษา จังหวัด ชลบุรี สะท้อนแง่มุมการมาร่วมเป็นจิตอาสา สร้างบ้านปลาเอสซีจีครั้งนี้ไว้อย่างน่าสนใจ
“รู้สึกดีใจ และภูมิใจที่มีส่วนช่วยสังคม โดยเฉพาะช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลของไทยให้สวยงาม การมาร่วมกิจกรรมจิตอาสาสร้างบ้านปลาเอสซีจีครั้งนี้ ได้เห็นถึงการพัฒนาและการช่วยเหลือต่าง ๆ ทำให้เราสนุกและมีความสุขมาก ถือเป็นประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่ได้รับและทำให้เข้าใจมากขึ้นว่าบ้านปลา คือ ที่หลบภัยของปลาเพื่อป้องกันอันตรายจากปลาใหญ่หรือคนที่จะมาจับปลาเล็ก”
ด้วย 3 พลังประสาน (รัฐ เอกชน ชุมชนประมงพื้นบ้านและประชาชนจิตอาสา) สู่ “สองมือ” ที่รังสรรค์บ้านปลานับร้อยนับพันหลัง บ้านที่ไม่เพียงช่วยให้ทรัพยากรทางทะเลที่สมบูรณ์คืนกลับมาสู่ท้องทะเลไทย ทว่า “บ้านปลาเอสซีจี” ได้สร้าง “ชีวิตชีวา” ให้กับ “อาชีพประมงพื้นบ้านฯ” ผ่านกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมกับคนในชุมชน ให้เข้าใจการบริหารจัดการน้ำในจังหวัดระยอง ที่เริ่มจากต้นน้ำ ผ่านการสร้าง “ฝายชะลอน้ำ” ในพื้นที่เขายายดา จนถึงปลายน้ำ โดยสร้าง “บ้านปลาเอสซีจี” เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรทะเลชายฝั่ง ส่งเสริมให้ทุกคนมีความเป็นเจ้าของร่วมกันในพื้นที่ตนเอง สอดคล้องกับความมุ่งมั่นตั้งใจของเอสซีจี ที่น้อมนำพระราชปณิธาน “จากภูผา สู่มหานที” เป็นแนวทางการดูแลจัดการน้ำให้เหมาะสมกับชุมชนแต่ละพื้นที่ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ สู่ปลายน้ำ ถือเป็นต้นแบบการบริหารจัดการน้ำจากภูผา สู่มหานที อย่างแท้จริง
เปลี่ยนขยะพลาสติกเป็น “บ้านปลารีไซเคิล”
เพื่อช่วยลดปัญหาขยะพลาสติก และนำกลับมาสร้างคุณค่าให้ท้องทะเลไทยตามแนวคิด Circular Economy เอสซีจีจึงได้ต่อยอดการทำบ้านปลา ด้วยการคิดค้น และจัดทำต้นแบบ “บ้านปลารีไซเคิล” ขึ้น โดยนำขยะพลาสติกที่พบบริเวณชายหาด และแหล่งชุมชนทั่วไป เช่น ถุงพลาสติก ฝาขวดพลาสติก มาผ่านกระบวนการ และขึ้นรูปเป็นท่อสำหรับสร้างบ้านปลารีไซเคิล จากผลการทดสอบในเบื้องต้นพบว่า บ้านปลารีไซเคิลมีความแข็งแรงทนทาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกในทะเล และช่วยเพิ่มความสมบูรณ์ของทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง สร้างสมดุลสู่ระบบนิเวศอย่างยั่งยืน โดยบ้านปลารีไซเคิล 1 หลัง มีส่วนผสมจากฝาขวดพลาสติกที่ใช้แล้วจำนวนกว่า 20,000 ฝา