“จากภูผา…สู่มหานที” สานต่อศาสตร์พระราชา สู่การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน
Publish On 15, May 2018 | “จากภูผา…สู่มหานที” สานต่อศาสตร์พระราชา สู่การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน
โครงการรักษ์น้ำ “จากภูผา…สู่มหานที” ของ เอสซีจี เกิดจากความตั้งใจที่จะถ่ายทอดการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนให้ชุมชนเข้าใจและนำไปปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม พร้อมสร้างการมีส่วนร่วมให้เกิดการพึ่งพาตนเอง โดยน้อมนำพระราชดำริการบริหารจัดการน้ำของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มาเป็นแนวทางการดูแลจัดการน้ำให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ สู่ปลายน้ำ ผ่านกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมกับคนในชุมชนให้เข้าใจการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ตนเองอย่างแท้จริง ส่งเสริมให้ทุกคนมีความเป็นเจ้าของร่วมกัน
ไม่ใช่เพียงช่วยรักษาแค่สิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังส่งผลให้ชุมชนเกิดการพัฒนาสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม นำมาซึ่งสายธารความสำเร็จจากภูผา สู่มหานทีอย่างแท้จริง
“ต้นน้ำ” เป็นป่าไม้ จุดเริ่มต้นสายธารแห่งความสำเร็จด้วย “ฝายชะลอน้ำ”
หากความสำเร็จเปรียบได้เหมือนสายน้ำ ก็ย่อมมีจุดเริ่มต้นที่เป็นรากฐานให้กับความสำเร็จจุดต่อ ๆ ไป
เอสซีจี เริ่มต้นสายธารความสำเร็จด้วยการเข้าร่วมกับชุมชน จิตอาสา ภาครัฐ และภาคเอกชน สร้าง ฝายชะลอน้ำ ในพื้นที่ป่าต้นน้ำ คืนสมดุลสู่ระบบนิเวศ แก้ปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมอย่างเห็นผลจริง โดยเริ่มต้นจากชุมชนต้นน้ำ จ.ลำปาง ก่อนถ่ายทอดไปสู่ชุมชนในภูมิภาคอื่นๆ ทั่วประเทศ ปัจจุบันโครงการนี้สร้างฝายชะลอน้ำไปแล้วกว่า 75,500 ฝาย มีผู้ร่วมกิจกรรมกว่า 87,000 คน ทำให้ป่าที่เคยแห้งแล้งกลับฟื้นคืนความสมดุล พลิกฟื้นผืนป่าโดยไม่ต้องปลูกใหม่ ไฟป่าที่เคยมีก็ลดลงจนเกือบหมด พันธุ์นกและสัตว์ป่าเพิ่มขึ้น ชุมชนก็มีรายได้จากผลผลิตจากป่ามากขึ้น และสร้างความเข็มแข็งด้วยสองมือตนเอง
เพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจแนวทางการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน เอสซีจีได้เชิญชวนผู้นำชุมชนรอบโรงงานในทุกภูมิภาคและนักศึกษาคนรุ่นใหม่ มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวคิดด้านการบริหารจัดการน้ำ และได้ลงมือสร้างฝายชะลอน้ำด้วยตัวเอง พร้อมสัมผัสวิถีชีวิตคนต้นน้ำ เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดประสบการณ์จริงไปสู่คนรุ่นต่อไป
เมื่อมีน้ำ ก็ต่อยอดด้วยการสร้าง สระพวง เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ทำการเกษตร ซึ่ง คุณคงบุญโชติ กลิ่นฟุ้ง ผู้ใหญ่บ้านสาแพะ จ.ลำปาง กล่าวถึงหมู่บ้านตัวเองว่า “หมู่บ้านเราอยู่บนสันเขาและมีแหล่งน้ำที่มาจากฝายชะลอน้ำแต่ไม่รู้จะเอามาทำการเกษตรได้ยังไง หลังจากไปดูงานที่จังหวัดน่านในโครงการปิดทองหลังพระ เราได้รู้จักกับการขุดสระพวง จึงกลับมาปรึกษากับชุมชนว่า นี่แหละคือทางออกของชุมชนเรา เราก็ช่วยกันออกความคิด บริจาคที่ดิน ระดมแรงกายและใจจนสร้างสระพวงขนาดใหญ่สระแรกได้สำเร็จ ก่อนจัดระบบส่งน้ำไปสู่สระลูก สระหลาน ที่อยู่ใกล้ๆ หมู่บ้าน ปัจจุบันเรามีสระพวงทั้งหมด 7 สระ โดยเชื่อมต่อกันเป็นระบบ ตอนนี้เรามีน้ำเพียงพอในการทำเกษตรตลอดทั้งปี มีเกษตรกรเพิ่มจำนวนขึ้นกว่า 30 ราย ทำรายได้รวมกว่า 18 ล้านบาทต่อปี จึงเป็นสิ่งยืนยันชัดเจนถึงความสำเร็จของโครงการนี้”
นี่คือความสำเร็จของบริหารจัดการแหล่งน้ำในพื้นที่ต้นน้ำด้วยสระพวง ณ ชุมชนบ้านสาแพะ อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง
“กลางน้ำ” เป็นเกษตรกรรม “แก้มลิง” สร้างรอยยิ้มชุมชน
ในพื้นที่กลางน้ำ ระบบ แก้มลิง เป็นอีกหนึ่งศาสตร์พระราชาที่นำมากักเก็บน้ำ และแบ่งสันปันส่วนให้มีน้ำใช้ในการทำเกษตรกรรมอย่างทั่วถึง ด้วยการเชื่อมต่อคูคลองเข้ากับแหล่งน้ำธรรมชาติ เก็บน้ำในช่วงน้ำหลากและนำไปใช้ในช่วงน้ำแล้ง ช่วยให้ชุมชนพื้นราบจัดการกักเก็บน้ำและกระจายน้ำอย่างเป็นระบบ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำได้เป็นอย่างดี ตัวอย่างเช่น แก้มลิงหนองโป่ง จ.ลำปาง มีปริมาณน้ำ 100,000 ลูกบาศก์เมตร สามารถกระจายน้ำส่งต่อพื้นที่การเกษตรได้ 500 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 5 ชุมชน
นอกจากนี้ยังร่วมมือกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ พัฒนาชุมชนต้นแบบการบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น ชุมชนป่าภูถ้ำ ภูกระแต จ.ขอนแก่น ให้เป็นแกนนำขยายผลการดำเนินงานครอบคลุมชุมชนต่างๆ ที่อยู่ในลุ่มน้ำชี 10 จังหวัด จัดทำระบบแก้มลิงในพื้นที่ของตนเอง ผลของความสำเร็จสามารถเพิ่มปริมาณน้ำรวมสำหรับทำการเกษตรได้ 8,640,000 ลูกบาศก์เมตร ครอบคลุมพื้นที่การเกษตร 36,500 ไร่ สร้างรายได้เฉลี่ยให้ชุมชน 200,000 บาทต่อไร่ต่อปี และสร้างรอยยิ้มที่ประเมินค่ามิได้อีกมากมาย
“ปลายน้ำ” เป็นประมงพื้นบ้าน คืนความสมบูรณ์สู่ท้องทะเลด้วย “บ้านปลา”
ปลายทางแห่งสายธารที่พื้นที่ “ปลายน้ำ” การฟื้นฟูและอนุรักษ์ระบบนิเวศชายฝั่งทะเล ด้วยการสร้าง บ้านปลาจากท่อ PE 100 ที่ออกแบบโดยทีมนักวิจัย โดยเริ่มนำไปวางในทะเลชายฝั่งภาคตะวันออก เพื่อเพิ่มพื้นที่อนุรักษ์และอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน เป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตในทะเล คืนสมดุลระบบนิเวศชายฝั่งทะเล ภายใต้ความร่วมมือกันของเอสซีจี เคมิคอลส์ สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 และกลุ่มประมงเรือเล็กพื้นบ้าน
ชุมชนบริเวณชายฝั่งทะเล จ.ระยอง และ จ.ชลบุรี จัดทำบ้านปลามากว่า 5 ปี เกิดความร่วมมือกับกลุ่มประมงพื้นบ้าน 29 กลุ่ม สร้างบ้านปลาไปแล้วกว่า 1,200 หลัง ส่งผลให้เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลมากกว่า 120 ชนิด คืนวิถีชีวิตที่ยั่งยืนให้แก่ชาวประมงพื้นบ้าน และจะมีการส่งต่อการสร้างบ้านปลาไปสู่ท้องทะเลชายฝั่งทะเลภาคใต้ด้วย
คุณ สมัคร อ่อนลออ ประธานกลุ่มประมงเรือเล็ก หาดแสงเงิน จ.ระยอง กล่าวว่า “การเรียนรู้ร่วมกัน ทำให้ทุกคนมีจิตสำนึกในการดูแลบ้านเกิดและรักทรัพยากร สิ่งที่เราได้กลับมาคือทรัพยกรที่มีความอุดมสมบูรณ์ ทำให้สัตว์เล็กสัตว์น้อยเข้ามาอาศัย และไม่มีวันหมด เป็นชีวิตที่ยั่งยืนต่อไป”
จากความมุ่งมั่นและความตั้งใจดำเนินโครงการรักษ์น้ำมากว่า 10 ปี เอสซีจีเชื่อมั่นว่าการจัดการน้ำตลอดเส้นทางตามแนวพระราชดำริ สามารถช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศให้อุดมสมบูรณ์ เป็นประโยชน์ต่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตร สานต่อจากชุมชนต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ไปยังชุมชนอื่นๆ เพื่อร่วมขับเคลื่อนความยั่งยืนสู่ประเทศไทย
ผลสำเร็จที่เกิดขึ้นส่งผลให้ชุมชนเกิดการพัฒนาสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีผลผลิตเพิ่ม มีรายได้สูงขึ้น เกิดความเข้มแข็ง และพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน พร้อมส่งต่อแรงบันดาลใจขยายผลสู่เยาวชนคนรุ่นหลังและจิตอาสาให้สืบสานแนวปฏิบัติบริหารจัดการน้ำให้ยั่งยืนต่อไป
สร้างสายธารแห่งความสำเร็จ ให้หลั่งไหลทั่วผืนแผ่นดินไทย จากภูผา…สู่มหานทีอย่างแท้จริง
“ความสำเร็จที่เห็นได้จริงเกิดขึ้นจากการบริหารจัดการน้ำจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ โดยน้อมนำพระราชดำริมาเป็นแนวทางขยายผล เกิดเป็นห่วงโซ่ตลอดเส้นทาง และสร้างสมดุลให้ยั่งยืนแก่ประเทศไทย”
– ดร. รอยล จิตรดอน ที่ปรึกษา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน)
“วันนี้ผมได้เห็นถึงพลังของชุมชนจากทุกภูมิภาคที่มีจิตใจดวงเดียวกันในการดูแลรักษา อนุรักษ์ และบริหารจัดการน้ำ เพื่อให้ป่าต้นน้ำคงความอุดมสมบูรณ์ สามารถส่งต่อสู่พื้นที่ปลายน้ำได้ต่อไป”
– คุณประสงค์ แก้วบุญปัน นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดลำปาง
“รักษ์น้ำ จากภูผา สู่มหานที เป็นการสื่อความหมายถึงความสัมพันธ์ของสายน้ำ ถ้าไม่มีป่า ก็ไม่มีน้ำ”
– กลุ่ม Young รักษ์น้ำ