ขยะรีไซเคิล…ขุมทรัพย์ที่ยั่งยืน
Publish On 30, Sep 2016 | ขยะรีไซเคิล…ขุมทรัพย์ที่ยั่งยืน
การแยกขยะในองค์กร…จุดเริ่มต้นของอาชีพและรายได้ที่มั่นคงของชุมชน
ขยะไม่ใช่ของไร้ค่าหากมีการคัดแยกที่ถูกต้อง นอกจากการคัดแยกขยะจะทำให้ขยะกลายเป็นของมีค่าของผู้ที่รู้ค่าแล้ว ยังเป็นการแสดงความรักความห่วงใยต่อโลกอย่างง่ายแต่ยั่งยืนที่สุดวิธีหนึ่ง และเพราะรู้ดีว่าการคัดแยกขยะมีประโยชน์ต่อหลาย ๆ ฝ่าย เอสซีจี เคมิคอลส์ จึงนำแนวคิดโครงการ Do it clean มาปฏิบัติจริงในองค์กรเพื่อส่งเสริมให้พนักงานคัดแยกขยะอย่างมีประสิทธิภาพในทุกโรงงานของทุกบริษัทในเอสซีจี เคมิคอลส์ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างรายได้และอาชีพที่มั่นคงให้ชุมชน ลดภาระการจัดเก็บขยะของเทศบาล ลดปริมาณขยะภายในโรงงาน และปลูกจิตสำนึกในการดูแลสิ่งแวดล้อม โดยเลือก วิสาหกิจชุมชนขยะรีไซเคิล มาบชะลูด ชากกลาง ซึ่งดำเนินธุรกิจรับซื้อขยะรีไซเคิลมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2554 ให้เป็นผู้รับซื้อขยะรีไซเคิลเหล่านี้เนื่องจากมองเห็นศักยภาพจึงอยากสนับสนุนชุมชนซึ่งเปรียบเสมือนเพื่อนบ้านให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
สำหรับการคัดแยกขยะในโครงการ Do it clean ที่เอสซีจี เคมิคอลส์ แบ่งเป็นขยะในสำนักงาน ได้แก่ ขวดแก้ว พลาสติก กระป๋องอะลูมิเนียม กระดาษ และขยะในโรงงาน ได้แก่ ไม้และโลหะ โดยปัจจุบัน วิสาหกิจชุมชนแห่งนี้สามารถรับซื้อขยะจาก 5 โรงงานใน เอสซีจี เคมิคอลส์ ในอนาคตคาดว่าจะสามารถรับซื้อเพิ่มได้อีก ซึ่งการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางทำให้วิสาหกิจชุมชนแห่งนี้ได้รับประโยชน์โดยตรง ซึ่ง พี่จ็อด-จำนงค์ จ้อยทองมูล ประธานวิสาหกิจชุมชนมาบชะลูด ชากกลาง ขยายความให้ฟังดังนี้
“การที่เอสซีจี เคมิคอลส์ คัดแยกขยะไว้อย่างดีช่วยให้เราทำงานง่ายขึ้น ช่วยลดขั้นตอนการทำงานไปได้เยอะ สมมติว่าเราไปซื้อขยะที่โรงงานแล้วได้ขยะเต็มคันรถ เราก็เอาขยะไปขายต่อได้เลย ไม่ต้องเอากลับมากอง มาคัดแยก ทำให้ประหยัดค่าน้ำมันรถ ค่าแรงงาน ค่าขนส่ง และทุ่นเวลา นี่คือประโยชน์ของการคัดแยกขยะจากต้นทางจริง ๆ”
ส่งเสริม สนับสนุนชุมชน สร้างอาชีพ พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
นอกจากเป็นคนขายคนซื้อขยะรีไซเคิลกันแล้ว เอสซีจี เคมิคอลส์ ยังให้คำปรึกษาและสนับสนุนในเรื่องต่าง ๆ ที่ทางกลุ่มต้องการความช่วยเหลือ เช่น ช่วยดำเนินการเรื่องใบรง.105 ซึ่งเป็นเอกสารสำหรับรับซื้อขยะจากโรงงานอุตสาหกรรมอย่างถูกต้องตามกฎหมาย การอบรมการทำบัญชีเบื้องต้น เชิญอุตสาหกรรมจังหวัดมาอบรมเพื่อพัฒนาธุรกิจ เป็นต้น โดยในปีนี้มีแผนที่จะขยายและปรับปรุงโรงเรือนสำหรับจัดเก็บและคัดแยกขยะเพื่อการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบและเพื่อรองรับปริมาณขยะที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะพาไปศึกษาดูงานเพื่อศึกษากลยุทธ์การทำธุรกิจรับซื้อขยะให้ประสบความสำเร็จและการสร้างมูลค่าเพิ่มจากขยะ แนะนำผู้รับซื้อขยะเจ้าใหม่ ๆ รวมถึงจะผลักดันและให้ความรู้เรื่องวิธีขนย้ายเพื่อให้ขนขยะได้มากขึ้นในแต่ละครั้ง โดย พี่กบ-นพดล จันทร์เรือง ผู้จัดการกิจการเพื่อสังคม เอสซีจี เคมิคอลส์ ได้เพิ่มเติมรายละเอียดว่า
“คือสุดท้ายแล้วเป้าหมายของโครงการนี้เราอยากให้เขาพึ่งพาตัวเองได้ เราตั้งใจจะพาไปดูงานเพื่อให้เห็นว่า Best Practice ของการทำอาชีพนี้คนที่ประสบความสำเร็จทำอย่างไร ขณะเดียวกัน ขยะบางอย่างเราจะต่อยอดให้มีมูลค่าเพิ่มอย่างไร ซึ่งจริง ๆ ทางกลุ่มก็มีทำบ้างแล้ว อย่างไม้พาเลตที่ได้มาเขาก็เอาไปทำศาลาตามออเดอร์ซึ่งเราก็ช่วยหาลูกค้าให้ส่วนหนึ่ง ในอนาคตอาจจะขยายผลไปที่ขยะรีไซเคิลอื่น ๆ ด้วย เช่น กระป๋อง กระดาษ คาดหวังว่าจะมีกลุ่มแม่บ้านหรือกลุ่มต่าง ๆ มาเข้าร่วมกับวิสาหกิจแห่งนี้ แต่เหนืออื่นใด เอสซีจี เคมิคอลส์ เราให้ความสำคัญเรื่องคน การทำกิจกรรม CSR ไม่ว่าที่ไหน ๆ ก็ตามเราต้องหาคนให้เจอก่อน หมายความว่า คนที่ยินดีที่จะทำ ไม่ใช่ไปยัดเยียดให้เขาทำ ซึ่งที่นี่ทุกคนกระตือรือร้นและมีความตั้งใจมาก”
ขยะไม่เหมือนเดิมเพราะเพิ่มเติมมูลค่า
สำหรับเรื่องการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขยะรีไซเคิลซึ่งทางกลุ่มได้คิดต่อยอดและลงมือทำด้วยตัวเองในส่วนที่มีความรู้ความชำนาญอยู่แล้ว พี่จ็อด-จำนงค์ เล่าวิธีสร้างมูลค่าเพิ่มให้ขยะในแบบของทางกลุ่ม
“เมื่อได้ขยะมาแต่ละครั้งเราจะดูก่อนว่าจะทำอะไรได้บ้าง อย่างโต๊ะเก้าอี้หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าถ้ามันเสียแล้วเราซ่อมได้ เราจะซ่อมแล้วค่อยเอาไปขาย มันจะได้ราคาดีกว่าหลายเท่า หรือขยะบางประเภทเราต้องแยกชิ้นส่วนหรือย่อยให้มีขนาดเล็กลงก่อนเพราะขยะแต่ละอย่างราคาไม่เท่ากัน และเราจะได้ค่าคัดแยก ค่าย่อยขยะเพิ่มขึ้นด้วย แต่ที่เป็นความภูมิใจของเราคือ เรานำไม้ที่ได้มาแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์และศาลาพักร้อน เมื่อสองปีที่แล้วผมส่งโครงการศาลาพักร้อนเข้าไปประกวดในโครงการนำของเหลือใช้จากโรงงานมาเพิ่มมูลค่าและได้เป็นตัวแทนของนิคมมาบตาพุด มีโครงการจากนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศเข้าร่วม คณะกรรมการจะพิจารณาว่าโครงการนั้น ๆ สร้างประโยชน์ให้ชุมชนอย่างไรบ้าง ของเรานำรายได้ส่วนหนึ่งมาเป็นทุนแจกให้เด็กและผู้พิการปีละครั้ง ซึ่งเราได้รับรางวัลรองชนะเลิศและทำให้ผมได้ไปดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น ได้เห็นว่าที่นั่นนำของใช้แล้วมาต่อยอดอย่างไร ทำให้ผมได้ไอเดียอะไรมากมาย ตั้งใจว่าต่อไปจะทำงานประดิษฐ์ของชิ้นเล็กชิ้นน้อยจากเศษไม้เพราะเราไม่อยากทิ้งไม้ที่เหลือจากการทำเฟอร์นิเจอร์หรือศาลา เวลาไปไหนแล้วเห็นเฟอร์นิเจอร์ใหม่ ๆ ก็ถ่ายรูปกลับดู เอามาพูดคุยกันในกลุ่ม เราอยากคิด อยากพัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ ไม่หยุดแค่การเป็นคนซื้อขายขยะรีไซเคิล”
ด้วยความคิดที่ก้าวหน้าและสายตาที่ก้าวไกลของประธานวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้ รวมถึงการที่เขาและสมาชิกในกลุ่มมีแนวคิดที่สอดคล้องกับเอสซีจี เคมิคอลส์ เรื่องการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน จึงทำให้เอสซีจี เคมิคอลส์ เข้ามาผลักดันวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้เพื่อให้เติบโตและประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม
ต้นแบบความเกื้อกูล…ชุมชนกับโรงงานอยู่ร่วมกันได้
ทุกวันนี้รายได้ของวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนสามารถแบ่งเงินปันผลให้สมาชิกเพิ่มขึ้น ๆ และแจกทุนให้กับเด็กและผู้พิการได้ทุกปี และหากสมาชิกคนใดเข้ามาช่วยงานจะได้รับค่าแรงเพิ่มเติมจากเงินปันผลด้วย และในอนาคตอาจจะมีโบนัสพิเศษเพื่อจูงใจให้สมาชิกมาช่วยกันทำงานมากขึ้น ไม่น่าเชื่อว่าจากจุดเริ่มต้นของโครงการคัดแยกขยะภายในองค์กรจะสามารถต่อยอดสร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงให้กับชุมชนได้ และยังเป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมที่ทำให้เห็นว่าภาคอุตสาหกรรมกับชุมชนสามารถอยู่ร่วมกันได้หากทั้งสองฝ่ายเปิดใจรับฟังความคิดเห็นและช่วยเหลือเกื้อกูลกันก็จะเป็นเพื่อน เป็นเพื่อนบ้านที่ดี ก่อให้เกิดโครงการต่าง ๆ ที่สร้างความยั่งยืนได้ในอนาคต โดย พี่จ็อด-จำนง กล่าวทิ้งท้ายไว้อย่างน่าประทับใจ
“ทุกวันนี้ชุมชนกับโรงงานแยกกันไม่ออกแล้ว ยังไงต้องอยู่ด้วยกัน ต้องเดินไปด้วยกันให้ได้ อย่างการรับซื้อขยะรีไซเคิลนี้ เอสซีจี เคมิคอลส์ เข้ามาเสริมในสิ่งที่เราไม่รู้ เพราะเราเริ่มทำจากการที่ไม่รู้เรื่อง ไม่มีประสบการณ์อะไรเลย นอกจากรับซื้อกันแล้ว เขายังช่วยแนะนำ มาดูว่าเราขาดอะไรและเขาจะช่วยอะไรได้บ้าง ในความคิดผมอยากทำตรงนี้ให้เป็นต้นแบบเพื่อให้เห็นว่าชุมชนกับโรงงานอยู่ด้วยกันได้ เกื้อกูลกันได้ ขึ้นอยู่กับว่าคุณคิดจะทำกันหรือเปล่า โรงงานจะเข้ามาโอบอุ้มหรือเปล่า ชุมชนจะตั้งใจทำกันหรือเปล่า ทุกอย่างมันจะยั่งยืนได้ไม่ใช่แค่ว่าโรงงานเอาเงินมาให้ พอเงินหมดชาวบ้านไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย แต่ถ้ามีอาชีพมันจะยั่งยืน ชาวบ้านดีขึ้น ชุมชนดีขึ้น ต้องให้ชาวบ้านได้เรียนรู้และลงมือทำ ขาดเหลืออะไรค่อยให้โรงงานช่วย เราต้องพึ่งตัวเองให้ได้ก่อน เอกชนก็สนับสนุนส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งเราต้องดูแลของเราให้ดี”