Close
|
> SUSTAINABILITY > SCG – School Partner Project –ร่วมขับเคลื่อนระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานไทย มุ่งสร้างเยาวชนคนเก่งและมีคุณธรรม

SCG – School Partner Project –ร่วมขับเคลื่อนระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานไทย มุ่งสร้างเยาวชนคนเก่งและมีคุณธรรม

Publish On 30, Jun 2017 | SCG – School Partner Project –ร่วมขับเคลื่อนระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานไทย มุ่งสร้างเยาวชนคนเก่งและมีคุณธรรม

ด้วยเชื่อมั่นในคุณค่าของคนและถือมั่นในความรับผิดชอบต่อสังคม SCG จึงขานรับนโยบาย โครงการประชารัฐกลุ่ม E5 – การศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ ด้วยการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของภาคเอกชน 12 บริษัทชั้นนำของประเทศภายใต้ชื่อ CONNEXT ED เพื่อผนึกกำลังกันขับเคลื่อนและผลักดันโครงการโรงเรียนประชารัฐ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับระบบการศึกษาระดับประถมและมัธยมระดับตำบล โดยในปีแรกนี้มีโรงเรียนทั้งสิ้น 3,342 โรงเรียน ประสงค์ขอเป็นโรงเรียนประชารัฐ จากจำนวนกว่า 7,000 โรงทั่วประเทศ

 

 

 

 

           โดยทั้ง 12 บริษัทเอกชนในนาม CONNEXT ED ได้กำหนดรูปแบบ วางแผนงานและดำเนินโครงการ รวมถึงคัดเลือกตัวแทนของบริษัทที่เรียกว่า School Partner ตามความเหมาะสมให้สอดคล้องตามยุทธศาสตร์โรงเรียนประชารัฐ สำหรับ SCG ได้จัดโครงการ SCG School Partner โดยเฟ้นหาบุคลากรจิตอาสาของบริษัทที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเพื่อร่วมคิด ร่วมวางแผนกับผู้บริหารการศึกษาและผลักดันให้เกิดแผนงานหรือโครงการตามยุทธศาสตร์โรงเรียนประชารัฐ เพื่อกระตุ้นและสร้างให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ของเยาวชนให้เป็นคนเก่งและมีคุณธรรม  โดย SCG มี School Partner จำนวน 69 คน ซึ่งรับผิดชอบโรงเรียนใกล้โรงงาน ได้แก่ กาญจนบุรี ราชบุรี ชลบุรี สระบุรี ลำปาง และนครศรีธรรมราช รวมจำนวนโรงเรียนทั้งสิ้น 40 โรงเรียน

คุณถิรวัฒน์ ดีสมบูรณ์ ผู้จัดการสำนักงานพัฒนาองค์กร เอสซีจี เคมิคอลส์ ในฐานะ ผู้อำนวยการโครงการ ของ SCG School Partner กล่าวถึงความคาดหวังและประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในโครงการนี้

 

 

           “ความคาดหวังของโครงการ SCG School Partner Projectที่จริงผมมองไว้อยู่หลายมุม หนึ่งคือท่านผู้อำนวยการโรงเรียนต้องเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงเพราะว่าการสร้างกระบวนการเรียนรู้ในโรงเรียนนั้นท่านผู้อำนวยการโรงเรียนต้องมีความรู้ความเข้าใจและช่วยส่งเสริม คุณครูต้องเพิ่มทักษะในการสอน ส่งเสริมการตั้งคำถามให้เด็กรู้จักคิด และที่สำคัญคือเด็กได้ลงมือปฏิบัติจริงผ่านโครงการและสามารถเชื่อมโยงสาระวิชาได้    ผมคิดว่าสิ่งที่เด็กนักเรียนจะได้โดยตรงคือเขาจะมีองค์ความรู้ มีวิธีคิด มีวิธีการทำงาน เป็นเด็กเก่งและเป็นเด็กดี สามารถนำประโยชน์ที่ได้จากการเรียนรู้ไปใช้ในการพัฒนาประเทศชาติและพัฒนาตนเองได้ อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญคือการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและชุมชน ฉะนั้นความสำเร็จจะเป็นองค์รวมที่เรียกว่า The Whole School Approach”

 

 

 

           สำหรับบทบาทและหน้าที่ของ School Partner เป็นเหมือนเพื่อนคู่คิด โดยเข้าไปร่วมวางแผนกับผู้บริหารการศึกษาเพื่อนำเสนอแผนงานตามยุทธศาสตร์โรงเรียนประชารัฐ โดยต้องส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ผ่าน Action-based Learning และ Facilitative Approach ทั้งยังต้องลงพื้นที่เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและชุมชน ซึ่ง School Partner กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่ารู้สึกดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศ และยินดีที่ได้นำความรู้และประสบการณ์ต่าง ๆ จากการทำงานมาถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนมุมมองกับผู้อำนวยการโรงเรียนและครูอาจารย์ ทั้งยังรู้สึกท้าทายที่ต้องทำหน้าที่พนักงานประจำควบคู่ไปกับการทุ่มเทให้กับสถานศึกษาที่ดูแลรับผิดชอบอยู่

 

           SCG School Partner Project เริ่มต้นราวกลางปี 2559 ขณะนี้แต่ละโรงเรียนนำเสนอแผนงานของโครงการต่าง ๆ เพื่อขออนุมัติงบประมาณเสร็จสิ้นแล้ว และอยู่ในขั้นตอนที่ทุกโรงเรียนเริ่มดำเนินโครงการโดยก่อนที่จะเริ่ม SCG ได้จัดอบรมและสัมมนาให้กับผู้อำนวยการโรงเรียน ตัวแทนครูอาจารย์จากทั้ง 40 โรงเรียน และ School Partner ซึ่งหลักสูตรการอบรมสัมมนานี้เป็นความร่วมมือระหว่าง ศูนย์สถานศึกษาพอเพียง มูลนิธิยุวเสถียรคุณกับมูลนิธิ     เอสซีจี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจระหว่างผู้บริหารสถานศึกษา ครูอาจารย์และ School Partner ให้ตรงกันว่ากระบวนการสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็กนั้นเป็นอย่างไรและสามารถทำอย่างไรได้บ้าง โดยผู้เข้าร่วมทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่าสร้างมุมมองใหม่ ๆ ที่สามารถนำไปปรับใช้ในการกำหนดนโยบายของโรงเรียนได้

 

           โดยท้ายนี้ คุณถิรวัฒน์ ดีสมบูรณ์ กล่าวเน้นย้ำถึงความเชื่อมั่นในสำเร็จที่จะเกิดขึ้น

 

           “SCG มีอุดมการณ์อยู่ข้อหนึ่ง คือ เชื่อมั่นในคุณค่าของคน เราพัฒนาพนักงานให้เป็นคนเก่งและคนดีมานานนับร้อยปี โครงการนี้ตอบโจทย์เราเพราะว่าการพัฒนาคนให้เป็นคนเก่งและเป็นคนดีต้องเริ่มมาจากเด็กและเยาวชน นอกจาก SCG แล้วยังมีอีก 11 บริษัทที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาโรงเรียนประชารัฐ ซึ่งอันนี้จะช่วยสร้างให้แต่ละโรงเรียนระดับตำบลทั่วประเทศมีความแข็งแกร่ง และสามารถสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้เด็กได้ในอนาคต ซึ่งโครงการคงทำต่อเนื่องไปเพื่อที่จะสร้างความยั่งยืนให้กับกระบวนการเรียนรู้ให้กับเด็ก”

 

ความรู้สึกและความคิดเห็นของตัวแทนผู้บริหารสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการประชารัฐกับ SCG

 

 

คุณประพันธ์ พุ่มจันทร์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดท่าตะคร้อ จ.กาญจนบุรี

           “โรงเรียนของเราโชคดีที่ได้ School Partner ที่มีความตั้งใจและมีความสนใจที่จะพัฒนาร่วมกับเราจริง ๆ โดยเข้ามาดูสภาพบริบทของเราว่าเป็นอย่างไร เราปรึกษากันตั้งแต่เริ่มเขียนโครงการว่าน่าจะทำโฟกัสกรุ๊ปเด็กนักเรียนและผู้ปกครองเพื่อหาความต้องการที่แท้จริง School Partner เป็นผู้ที่ชี้แนะแนวทางต่าง ๆ มากมาย เป็นที่ปรึกษาที่ดี ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่ภาคเอกชนเห็นความสำคัญของการศึกษาของไทย”

 

คุณรุ่งทวี พรรณา ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองเสือช้าง (จรุงราษฎร์พัฒนา) จ.ชลบุรี

           “เราดีใจมากเลยที่เรามี School Partner ตั้ง 7 คน และวิธีการไปทำงานของ School Partner คือไปแบบเป็นทีม ช่วยกันคิด ช่วยกันแนะนำ ช่วยกันเพิ่มเติม เติมเต็ม ในส่วนของ SCG ที่เข้ามาช่วยเราวันนี้ผมมองว่าเป็นเรื่องที่ดีเพราะว่าถ้าเราทำงานเพียงลำพังต่อไป วันนี้เราก็จะอยู่ในกรอบของเรา แต่พอมี SCG มาเราจะเกิดแนวคิดใหม่ขึ้นมา เกิดแนวร่วมใหม่ขึ้นมา จากสิ่งที่เราไม่เคยคิดว่ามันจะเกิดได้ยิ่งใหญ่ขนาดนี้”

 

นายสมชาย แสงดวงมาศ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดถ้ำเต่า จ. สระบุรี

            “ผมคิดว่าโรงเรียนโชคดีที่ได้  School  Partner   ของบริษัท SCG ที่มีความเข้าใจใน ระบบการศึกษา สามารถเข้ามาประสานงาน  เสนอแนะ สนับสนุนและที่สำคัญคือร่วมมือในการจัดการศึกษากับโรงเรียนและชุมชนอย่างดียิ่ง  เราได้รับแนวคิดหลักการบริหารจากภาคเอกชน  โดยการเปรียบเทียบวัฒนธรรมองค์กร  ด้านบุคลากร  ด้านกระบวนการดำเนินงาน  ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน  เราจึงนำมาปรับปรุงในสถานศึกษาของเรา  เปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษามากขึ้น”

 

 

 

ความรู้สึกและความคิดเห็นของตัวแทน School Partner

 

 

คุณสิทธิศักดิ์ เจริญหิรัญ จากธุรกิจ SCG Chemicals

           “พอได้รับโอกาสก็ดีใจ คิดว่าความรู้เท่าที่มีตั้งแต่ทำงานมาเกือบ 30 ปีคงจะช่วยในการพัฒนาระบบการศึกษาได้ โครงการที่โรงเรียนจะทำต้องตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืนและเด็กได้ประโยชน์อย่างไรต้องออกมาให้ชัด School Partner Project ในความเห็นพี่ เด็กได้ประโยชน์แน่นอนเพราะว่าเด็กเป็นคนคิดเอง ลงมือทำเอง เขาได้ประสบการณ์ของเขาเองในการที่วันหน้าเขาจะไปต่อยอดสิ่งที่เขาอยากจะเรียนรู้ มันก็เรียนรู้ตลอดชีวิตน่ะครับ”

 

คุณกลยุทธ วอทองจากธุรกิจ SCG Packaging

           “เราต้องไปเรียนรู้ทักษะการฟัง การจับประเด็น การสังเกต เพื่อที่จะไม่เป็นการชี้นำแก่ทางคุณครู คือเราต้องการที่จะกระตุ้นให้เขาคิดเอง ที่สำคัญที่สุดเลยคือตัวเด็กที่จะได้เรียนรู้วิธีการเรียนใหม่ ๆ ที่มุ่งหวังให้เขาสามารถค้นหาความรู้ที่เขาสนใจได้ด้วยตัวเอง มีการปฏิบัติให้รู้จริง และประเทศชาติก็ได้ยกระดับการศึกษาไปด้วย”

 

ประพนธ์ เป้าทองจากธุรกิจ SCG Cement Building Material

           “School Partner มีบทบาทค่อนข้างมากในการไปสื่อสารกับโรงเรียนในเรื่องของโครงการ นโยบายต่าง ๆ ที่เราจะทำร่วมกัน ผมว่า School Partner Project ได้ประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่าย แต่ที่แน่ ๆ คือเราโฟกัสไปที่นักเรียน ขณะเดียวกันผู้ปกครองเองก็มีส่วนร่วม ครูเองก็มีความสุข สนุกสนานกับการจัดการเรียนรูปแบบใหม่ เท่ากับว่าทุกส่วนในสังคมเข้ามาช่วยกันดูแล คิดว่าประเทศชาติของเราที่จะได้”

 

 

หัวข้อที่เกี่ยวข้อง

[elementor-template id="3478"]