Close
|
> SUSTAINABILITY > จากบ้านปลาต่อยอดสู่ศูนย์การเรียนรู้วิถีประมง…เพื่อชีวิต เพื่อชุมชน เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

จากบ้านปลาต่อยอดสู่ศูนย์การเรียนรู้วิถีประมง…เพื่อชีวิต เพื่อชุมชน เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

Publish On 30, Nov 2016 | จากบ้านปลาต่อยอดสู่ศูนย์การเรียนรู้วิถีประมง…เพื่อชีวิต เพื่อชุมชน เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

นับตั้งแต่ปี 2555 ที่เอสซีจี เคมิคอลส์ ริเริ่มโครงการ ‘บ้านปลาจากท่อ PE100’ ร่วมกับชุมชนประมงและภาครัฐนั้น ชุมชนเนินฆ้อ อ.แกลง จ.ระยอง เป็นหนึ่งในชุมชนที่ให้ความสนใจและเข้าร่วมโครงการนี้ เนื่องจากมองว่าบ้านปลาจะช่วยฟื้นฟูและคืนความสมบูรณ์ของระบบนิเวศชายฝั่งทะเลอันนำมาสู่อาชีพประมงที่ยั่งยืน โดยปัจจุบัน มีบ้านปลาที่บริเวณชายฝั่งทะเลชุมชนเนินฆ้อจำนวน 60 หลัง ในจำนวนบ้านปลาทั้งหมดเกือบ 800 หลังในเขตชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก

 

           ด้วยความเข้มแข็งของชุมชนเนินฆ้อซึ่งได้ร่วมคิดและลงมือทำบ้านปลาร่วมกับเอสซีจี เคมิคอลส์ มาโดยตลอด อีกทั้งยังสามารถดูแลบ้านปลาและชายฝั่งทะเลบริเวณชุมชนได้เป็นอย่างดี เอสซีจี เคมิคอลส์ ชุมชนเนินฆ้อและภาคีเครือข่าย จึงเห็นพ้องต้องกันว่าควรเปิดศูนย์การเรียนรู้วิถีประมงเนินฆ้อเพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้เชิงอนุรักษ์ให้กับผู้มาเยี่ยมชมได้เรียนรู้วิถีประมงและการทำบ้านปลา โดยเอสซีจี เคมิคอลส์ และสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 ร่วมส่งเสริมและสนับสนุน คุณชาตรี ชื่นชมสกุล ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาอย่างยั่งยืน เอสซีจี เคมิคอลส์ กล่าวถึงที่มาที่ไปของการสร้างศูนย์การเรียนรู้วิถีประมงที่ชุมชนเนินฆ้อเพิ่มเติมดังนี้

 

            “กลุ่มประมงเนินฆ้อตอบโจทย์เราได้ทุกข้อ ทั้งความเข้มแข็ง ความตั้งใจจริง และการมีแผนการดูแล สิ่งที่เราทำร่วมกัน ทั้งโครงการบ้านปลาและธนาคารปู ตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบัน เขาดูแลสิ่งที่เราทำร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง เขาเข้ามามีส่วนร่วมทั้งกระบวนการ ตั้งแต่การประกอบและจัดวางบ้านปลา รวมถึงดูแลบ้านปลาหลังวางในทะเล ซึ่งหลังจากนี้ ชุมชนเนินฆ้อจะเป็นต้นแบบที่ช่วยถ่ายทอดให้กับชุมชนอื่น หากว่ามีชุมชนอื่นที่อยากได้บ้านปลาจากท่อ PE100 ชุมชนเนินฆ้อก็จะเป็นครูสอน ซึ่งนอกจากจะถ่ายทอดองค์ความรู้ต่าง ๆ แล้ว เพื่อให้ศูนย์ฯ อยู่ได้ระยะยาวคงต้องทำอย่างอื่นประกอบเพื่อให้มี
รายได้เข้ามา อย่างการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์หรือการแปรรูปอาหารทะเลซึ่งจะสามารถสร้างรายได้ให้ทางศูนย์ฯ และชุมชนสามารถเลี้ยงตัวเองได้ วันนี้เราดีใจนะที่โครงการที่เราปั้นมาตั้งแต่แรก ๆ เติบโตมาถึงปัจจุบัน แต่อย่างที่บอกว่าเราอยากสร้างให้มันให้ขยายผลต่อ ๆ ไปอีก ไม่ว่าจะเป็นพี่น้องชาวประมงที่อื่นถ้าสนใจคิดว่ามันได้ผลก็สามารถมาเรียนรู้ที่นี่และเอาไปใช้ในท้องถิ่นตัวเอง”

 

 

 

 

 

 

 

           สำหรับการสนับสนุนจากเอสซีจี เคมิคอลส์ นั้นครอบคลุมในหลายมิติ ได้แก่ การอบรมบุคลากร เช่น พัฒนาบุคลากรให้เป็นวิทยากรท้องถิ่นถ่ายทอดองค์ความรู้, ระบบบัญชี, ส่งเสริมให้กลุ่มแม่บ้านจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ของศูนย์ฯ เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน เป็นต้น มีการสร้างกลุ่มยุวมัคคุเทศก์ ให้เข้ามาเป็นผู้บรรยายและนำชมนิทรรศการซึ่งถือเป็นการสร้างจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติให้แก่เยาวชนในท้องถิ่นด้วย, การปรับปรุงอาคารและตกแต่งศูนย์ฯ, แผนการประชาสัมพันธ์ให้ศูนย์ฯ แห่งนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ที่ผู้สนใจสามารถเข้ามาหาความรู้ด้านวิถีประมง และเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลทรัพยากรป่าชายเลนและท้องทะเล เช่น การสร้างบ้านปลาจากท่อ PE100 การปลูกป่าชายเลน ซึ่ง คุณสำออย รัตนวิจิตร ประธานกลุ่มประมงพื้นบ้าน ต. เนินฆ้อ อ. แกลง จ. ระยอง กล่าวเสริมว่า

 

           “เอสซีจี เคมิคอลส์ มาช่วยปรับปรุงศาลาเอนกประสงค์ของชุมชนให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ที่สวยงาม มีศักยภาพ และช่วยเราคิด ช่วยเราปกป้อง ช่วยเราผลักดันทุกเรื่องจนเกิดการรวมตัวของคนในชุมชนขึ้นและมีการจัดการอย่างเป็นระบบ คือทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำเพื่อให้เห็นว่าการดูแลทรัพยากรต้องทำเป็นระบบและร่วมกันดูแลจึงจะยั่งยืน นอกจากนิทรรศการแล้วที่ศูนย์ฯ ของเรายังมีกิจกรรมให้ผู้เยี่ยมชมได้ทำ ได้เรียนรู้ตลอดทั้งปีซึ่งอาจแตกต่างกันไปในแต่ละช่วง เช่น ทำบ้านปลา ทำซั้งเชือก ปลูกป่าชายเลน ซึ่งจะเริ่มปลูกในเดือนกุมภาพันธ์ ถึง พฤษภาคม ออกเรือไปตกปลา ไปเยี่ยมชมศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าโดยมีเรือบริการข้ามไปดูศูนย์เพาะเลี้ยงเต่าทะเลที่เกาะมันใน และอีกมากมาย”

 

 

 

 

 

 

           ประโยชน์ที่เกิดจากการสร้างศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ไม่เพียงเฉพาะแต่ผู้มาเยือนเท่านั้นที่จะได้รับความรู้กลับไป คนในชุมชนก็ได้เรียนรู้ด้วยเช่นกัน พวกเขาได้เรียนรู้วิธีการทำงาน การบริหารจัดการ เป็นองค์ความรู้ใหม่ ๆ นอกเหนือจากเรื่องประมง ซึ่งจะช่วยให้พวกเขายืนหยัดและพึ่งพาตัวเองได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้ คุณชาตรี ชื่นชมสกุล กล่าวทิ้งท้ายว่า

 

           “จากโครงการบ้านปลาซึ่งช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศและทรัพยากรชายฝั่งทะเลทำให้ชาวประมงมีอาชีพและรายได้ที่ดีขึ้น มาจนถึงศูนย์การเรียนรู้ซึ่งทำให้ชุมชนประมงต้องปรับตัวและเรียนรู้ในการเป็นเจ้าของบ้านที่จะเปิดรับคนเข้ามายังบ้านตัวเอง ต้องมีการเตรียมความรู้และพัฒนาทีมเพื่อรองรับการเข้ามาเรียนรู้และทำความรู้จักจากกลุ่มคนที่หลากหลาย ชุมชนเนินฆ้อเรียนรู้ด้วยความกระตือรือร้น เป็นประโยชน์กับชุมชนประมงโดยรอบ เมื่อมีศูนย์ฯ เกิดขึ้นทำให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสร้างได้รายให้ชุมชนเพิ่มขึ้น กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ ทำให้ชุมชนอื่น ๆ และผู้ที่สนใจเรื่องการอนุรักษ์ตื่นตัว สร้างจิตสำนึกรักบ้านเกิดให้กับเยาวชน ซึ่งถือเป็นการสร้างนักอนุรักษ์รุ่นเยาว์เพื่อให้เติบโตมาสานต่อกิจกรรมดี ๆ ต่อไปในอนาคต”

 

 

 

 

ความรู้สึกของผู้เยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้

 

 

 

 

 

อาจารย์คำนวณ วงศ์จันทร์ ครูชำนาญการ โรงเรียนชำนาญสามัคคีวิทยา

           “วันนี้ยินดีมากที่ได้มาร่วมงานเปิดศูนย์การเรียนรู้ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากโรงเรียน เด็กนักเรียนที่มาวันนี้ได้ลงมือทำบ้านปลา เกิดการเรียนรู้ว่าวัสดุของโรงงานอย่างท่อพีอีก็นำมาช่วยฟื้นฟูท้องทะเลได้ และนิทรรศการต่าง ๆ ในศูนย์ฯ ก็ทำให้เด็กมีความรู้เรื่องประวัติและการดำเนินการจัดการของที่นี่ และได้เรียนรู้เรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติ เป็นการปลูกจิตสำนึก อย่างน้อยจะได้ไปเล่าให้เพื่อนฟังว่ามาทำบ้านปลา รู้จักว่าบ้านปลาทำมาจากอะไรและมีประโยชน์อย่างไร”

 

 

 

 

 

 

นางสาวเบญจวรรณ บำเพ็ญทาน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนชำนาญสามัคคีวิทยา

           “รู้สึกดีค่ะที่มีศูนย์การเรียนรู้ คิดว่าคนที่เข้ามาน่าจะได้ประโยชน์หลายเรื่อง เช่น การรักษาทรัพยากรทางทะเลและการทำบ้านปลา อย่างวันนี้ได้มาทำบ้านปลากับเพื่อน ๆ ด้วย ตอนแรกคิดว่าทำยากแต่พอทำไปสักพักก็ทำได้คล่องขึ้น สนุกดีค่ะ ภูมิใจด้วยที่ได้สร้างบ้านปลา ได้เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ชาวประมงมีแหล่งทำมาหากินเพิ่มขึ้น หลังจากวันนี้คิดว่าอยากจะไปเล่าให้เพื่อน ๆ ที่โรงเรียนฟังด้วยเขาจะได้รู้จักบ้านปลา ได้รู้ว่ามีประโยชน์มากแค่ไหน”

 

หัวข้อที่เกี่ยวข้อง

[elementor-template id="3478"]