Close
|
> SUSTAINABILITY > เมื่อฉันเป็น…จิตอาสา บ้านปลา เอสซีจี เคมิคอลส์

เมื่อฉันเป็น…จิตอาสา บ้านปลา เอสซีจี เคมิคอลส์

Publish On 11, Apr 2018 | เมื่อฉันเป็น…จิตอาสา บ้านปลา เอสซีจี เคมิคอลส์

 

 

   ฉันเป็นอีกคนหนึ่งที่ชอบมาเที่ยวทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่งทะเลที่อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ อย่างทะเลภาคตะวันออก เพราะการเดินทางสะดวก ขับรถมาไม่นานก็ได้เห็นทะเลและเกลียวคลื่นที่เล่นแสงระยิบระยับตัดกับท้องฟ้าใสแล้ว  และหนึ่งในสถานที่ที่ฉันและเพื่อนชอบมาก ก็คือ “ระยอง” เพราะเพียบพร้อมไปด้วยสิ่งที่ฉันชอบมาก ๆ นั่นก็คือ อาหารทะเลสด ๆ  และผลไม้ที่เลื่องลือว่าอร่อยที่สุดในสามโลกเลยทีเดียว

 

           แต่การมา “ระยอง” ของฉันในรอบนี้พิเศษกว่าทุก ๆ ครั้ง เพราะไม่ได้แค่มาเที่ยว กิน ช้อบ ตามปกติแบบที่เคยทำ แต่ครั้งนี้ ฉันอาสามาสร้าง “บ้านปลา” ร่วมกับเหล่าจิตอาสาอีกเกือบห้าร้อยคน  ก็ด้วยฉันและเพื่อน ๆ ได้เห็นการแชร์ คลิปเรื่องบ้านปลาใน Social Media  กับคำถามในคลิปที่กระตุกต่อมคิดของฉันที่ว่า “ถ้าไม่มีปลา แล้วเราจะอยู่ยังไง”  นั่นสิ เป็นคำถามที่ดี ถ้าปลาหมดไป พวกเราคงต้องนำเข้าปลามาจากประเทศเพื่อนบ้าน ต่อไปปลาอาจจะแพงจนเรากินได้ไม่บ่อยเท่านี้  พอได้ยินข่าวว่าจะมีงาน “จิตอาสาสร้าง บ้านปลา เอสซีจี เคมิคอลส์” เพื่อช่วยประมงพื้นบ้านและช่วยเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำในท้องทะเลไทย ฉันและเพื่อนจึงไม่ลังเลที่จะเป็นส่วนหนึ่งกับการสร้างบ้านให้ปลาในครั้งนี้

 

 

           การมาสร้างบ้านปลาครั้งแรกในชีวิตของฉัน รวมถึงเพื่อน ๆ จิตอาสาอีกหลายคน เรียกได้ว่า พวกเรารู้สึกตื่นเต้นอย่างบอกไม่ถูก ก็เราไม่เคยหยิบจับเครื่องไม้เครื่องมืออะไรมาก่อน ไม่แน่ใจว่าจะช่วยเค้าได้มั๊ย  แต่กลับพบว่า การสร้างบ้านปลา เอสซีจี เคมิคอลส์ นั้นง่ายกว่าที่คิด มีความละม้ายคล้ายกับการประกอบเฟอร์นิเจอร์แบบ DIY แถมยังมีมือโปรจากเอสซีจี เคมิคอลส์ และพี่น้องประมงพื้นบ้าน มาช่วยทำอีกต่างหาก ใช้เวลาไม่ถึง 2 ชั่วโมง ก็ได้โพสต์ท่าคู่บ้านปลาแบบเก๋ ๆ อัพขึ้นเฟซบุ๊ก ประกาศภารกิจทำความดีให้เพื่อนฝูงได้รับรู้และอิจฉากันเล่น ๆ

 

           ได้เห็น “บ้านปลา” เสร็จเป็นรูปร่างแบบตามแบบเป๊ะ ก็รู้สึกภูมิใจมากที่เราทำได้จริง ๆ แต่ยังก็อยากรู้ว่า “บ้านปลา” หลังนี้จะช่วยดึงดูดให้ปลาเล็กปลาน้อย และสัตว์น้ำนานาชนิด เข้ามาอยู่เหมือนที่เห็นในคลิปหรือเปล่า ว่าแล้วก็รีบปรี่ไปถาม “พี่ฟลุ๊ค” กับ “พี่สมพร” พี่ ๆ จากกลุ่มประมงเรือเล็กในจังหวัดระยอง ที่มาช่วยสอนพวกเราทำบ้านปลานี่แหละ

 

           พี่ฟลุ๊คร่ายยาวเรื่องประโยชน์ของบ้านปลาที่พี่เขาเห็นมาแล้วกับตาตัวเองว่า ก่อนหน้านี้ ชาวประมงพื้นบ้านรวมถึงพี่ฟลุ๊คและพี่สมพรเจอปัญหาหนัก จนแทบต้องเปลี่ยนอาชีพ หลายคนคิดว่าจะเปลี่ยนไปขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างอยู่แล้ว เพราะหาปลา หาสัตว์ทะเลยากมาก ๆ  กว่าจะหาปลาได้แต่ละที ก็ต้องออกเรือไปไกลจากฝั่งอย่างน้อย 20 กิโลเมตร แต่พอมาวางบ้านปลาได้ 5-6 ปีที่ผ่าน สมัยนี้ ออกไปแค่ 500 เมตร หรือ 1 กิโลเมตร ก็มีปลา กุ้ง ปู ให้จับแล้ว ช่วยประหยัดน้ำมันได้มาก เวลามีพายุก็ไม่ต้องกลัว เพราะหาปลาอยู่ใกล้ฝั่งมาก

 

 

           “บ้านปลาเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ เป็นแหล่งอนุรักษ์ ตั้งแต่มีบ้านปลาในทะเลใกล้ชุมชน ก็มีสัตว์น้ำมาอยู่ใกล้บ้าน ปลาบางชนิดที่เคยหายไป ก็กลับมา อย่างเช่น ปลาข้างเหลือง ปลากดทะเล จากเดิมมีรายได้แค่ 700-800 บาท ตอนนี้พวกพี่มีรายได้หลักพัน”

 

           แต่กว่าชีวิตจะสบายขึ้นแบบนี้ พี่สมพรเล่าว่า ตอนที่ทีมงานจากเอสซีจี เคมิคอลส์ และสบทช. (สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1)  มาชวนทำบ้านปลา ชุมชนก็ยังแบ่งรับแบ่งสู้ เพราะไม่รู้ว่าจะได้ผลดีจริงเหมือนเขาว่าหรือเปล่า แต่ไหนๆ ก็ไม่มีอะไรจะเสียอยู่แล้ว ก็ลองทำดู ปรากฏว่าได้ผลดีแบบเหลือเชื่อ ปลาที่เคยหายหน้าหายตาไปนานจนคิดว่าบอกลาระยองแบบถาวรไปแล้วอย่างปลาเก๋า ปลาข้างเหลือง ก็กลับมาอาศัยอยู่แถว บ้านปลาเยอะแยะไปหมด

 

 

           พอเห็นว่าดี พวกพี่ก็ขอชุดที่สอง และอีกหลายชุด ( 1 ชุด มี 10 หลัง) ตอนนี้แถวสวนสนที่พี่อยู่มีบ้านปลาร้อยกว่าหลัง ก่อนจะมีบ้านปลา พวกพี่ก็คิดว่าคงไม่มีโอกาสจับสัตว์น้ำอีกแล้ว ตอนนี้กลับมายิ้มได้อีก อยากฝากบอกครับว่า กลุ่มประมงพื้นบ้านที่ไหนยังไม่ทำ ให้ทำเถอะครับ ของดีแน่นอน”

 

 

           พวกพี่ ๆ เขายังเล่าด้วยว่า ที่เห็นทำบ้านปลาคล่องมือแบบวันนี้ ก็เพราะร่วมโครงการบ้านปลามานานตั้งแต่เริ่มต้น ร่วมออกแบบ ลองผิดลองถูก กับทีมงานมาตลอด และยังรับหน้าที่สำคัญคือ เอาบ้านปลาไปวางในจุดที่เหมาะสม ซึ่งต้องหารือกับทาง สบทช. ด้วย เพราะการวางบ้านปลาจะต้องไม่ขวางทางน้ำและควรจะอยู่ไม่ไกลจากโขดหิน  โดยทุก ๆ เดือน พวกพี่เขาก็จะดำน้ำลงไปดูสภาพบ้านปลาเป็นประจำ ช่วยกันรักษาให้คงสภาพดีอยู่ตลอด เพราะมีประโยชน์กับชุมชนและท้องทะเลไทยจริง ๆ

 

           ก่อนจะจากกัน พี่ฟลุ๊คยังขอบอกขอบใจพวกเราชาวจิตอาสาที่มาช่วยทำบ้านปลาเสียยกใหญ่ จนพวกเรายิ้มหน้าบานราวกับเป็นอัศวินผู้พิทักษ์ท้องทะเลยังไงยังงั้น เพราะพี่ฟลุ๊คบอกว่า “การสร้างบ้านปลาก็เหมือนช่วยเพิ่มสัตว์ทะเลให้กับท้องทะเลนั้นแหละครับ”

 

 

           ได้ฟังเรื่องราวความสุขของพี่ ๆ ชาวประมงตัวจริงเสียงจริงแบบนี้ ฉันก็มีความสุขอย่างบอกไม่ถูก และดีใจที่ตัวเองตัดสินใจมาร่วมโครงการ “จิตอาสาสร้าง บ้านปลา เอสซีจี เคมิคอลส์” ได้มีโอกาสพบปะเพื่อนใหม่หัวใจจิตอาสาเพิ่มขึ้นอีกหลายคน ได้เรียนรู้ขั้นตอนการสร้างบ้านปลา ประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม เป็นที่พักพิงของบรรดาสัตว์น้ำน้อยใหญ่ เป็นแหล่งสร้าง “รายได้” ของชาวประมงพื้นบ้าน รวมถึงเป็นแหล่งสร้าง “อาหาร” ที่อุดมสมบูรณ์ให้กับพวกเราคนไทยไปอีกนานแสนนาน อย่างที่ผู้บริหารระดับสูงของเอสซีจี เคมิคอลส์ ได้พูดไว้ตอนกล่าวเปิดงานว่า

 

 

           “บ้านปลาที่ได้วางไปกว่า 1,100 หลัง เมื่อ 5-6 ปีที่ผ่านมา ได้ก่อให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลกว่า 120 ชนิด เป็นเสมือนคลังทรัพยากรในทะเลที่ชาวประมงสามารถทำมาหากินได้อย่างยั่งยืนชั่วลูกชั่วหลาน”

 

 

           ฉันต้องขอบคุณเอสซีจี เคมิคอลส์ ที่เปิดโอกาสให้มาทำบ้านปลาครั้งนี้ แม้จะเหงื่อท่วมร่าง แต่ก็ชอบมาก (ก.ไก่ล้านตัว)   บ้านปลา ประกอบไม่ยากเท่าที่คิด มือใหม่อย่างฉันก็ทำได้ ถ้ามีกิจกรรมดี ๆ แบบนี้อีกรับรองฉันไม่พลาดแน่!

 

 

 

บ้านปลา เอสซีจี เคมิคอลส์

 

ปี  2555                       ปักธงโครงการแรกในพื้นที่ปากคลองแกลง จ.ระยอง

ปี 2555-2560            ขยายโครงการไปยังพื้นที่ทั่วชายฝั่งจ.ระยอง และเริ่มขยายไปยังจ.ชลบุรี

ปี 2560                        วางบ้านปลา 1,100 หลัง ใน 29 กลุ่มประมงพื้นบ้าน

อนาคต                    ตั้งเป้าหมายขยายโครงการบ้านปลาให้ครบทั้งจังหวัดระยอง

          และขยายสู่จังหวัดชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ได้แก่ จันทบุรี และตราด

 

 

 

รูปแบบ “บ้านปลา เอสซีจี เคมิคอลส์”

           บ้านปลา เอสซีจี เคมิคอลส์ มีรูปทรงสามเหลี่ยม ใช้ท่อ PE100 เป็นวัสดุหลัก รูของท่อช่วยให้น้ำสามารถไหลเข้าออกได้สะดวก โครงสร้างที่ซับซ้อนเหมาะให้ปลาและสัตว์น้ำขนาดเล็กเข้ามาอยู่ในช่องว่างต่าง ๆ

 

 

 

ประโยชน์จากการสร้างบ้านปลา เอสซีจี เคมิคอลส์

  1. เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล และเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำขนาดเล็ก
  2. ฟื้นฟูแหล่งทำประมงใกล้ชายฝั่ง
  3. มีแหล่งความรู้สำหรับการศึกษาและทำงานวิจัย
  4. เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลกว่า 120 ชนิด
  • สัตว์ทะเลเศรษฐกิจ เช่น ปลาข้างเหลือง ปลาเก๋า ปลาสละ ปลากุแล ปลาสลิดหินแขก ปลาสลิดหินหางพลิ้ว ปลากะพง ปูจักจั่น ปูหิน หอยแมลงภู่
  • ปลาสวยงาม เช่น ปลาหูช้าง ปลากระเบน ปลาโฉมงาม
  • ปะการังกลุ่มฟองน้ำ กัลปังหา สาหร่ายสีแดง
  • เพรียงหิน หอยสองฝา ปลิงทะเล
  • แพลงก์ตอนพืช แพลงก์ตอนสัตว์
  1. ชาวประมงมีรายได้จากการจับปลาเพิ่มขึ้น
  2. สร้างเครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเลมากกว่า 1,000 คนต่อปี

 

 

 

 

 

 

มารู้จักท่อ PE 100 วัสดุหลักในการทำบ้านปลา

 

           ท่อ PE100 คือ ท่อที่ทำจากเม็ดพลาสติกคุณภาพชนิด High Density Polyethylene  ที่ มีจุดเด่นสำคัญคือ

 

แข็งแรงทนทาน

  • ทนต่อการกัดกร่อน
  • ทนแรงดันได้สูง
  • อายุการใช้งานกว่า 50 ปี

 

เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

  • เม็ดพลาสติก PE 100 ของเอสซีจี เคมิคอลส์ ผ่านการทดสอบคุณสมบัติท่อโดยสถาบัน VTT ของ Finland และสถาบันอื่น ๆ ทั่วโลกในด้าน SFS-EN ISO 8795: 2001
  • ปลอดภัย ไม่มีสารเคมีที่อันตรายออกมาสู่น้ำทะเล

 

 

ติดตามโครงการบ้านปลาเอสซีจีได้ที่ www.scgchemicals.com/fishhome

 

 

 

 

หัวข้อที่เกี่ยวข้อง

[elementor-template id="3478"]