Close
|
> SUSTAINABILITY > รักษ์น้ำ The Journey สานต่อที่พ่อทำ สร้างฝายทั่วไทย

รักษ์น้ำ The Journey สานต่อที่พ่อทำ สร้างฝายทั่วไทย

Publish On 30, Sep 2017 | รักษ์น้ำ The Journey สานต่อที่พ่อทำ สร้างฝายทั่วไทย

   น้ำมีความสำคัญต่อทุกชีวิตเพราะ น้ำคือชีวิต เอสซีจี จึงจัดกิจกรรม ‘รักษ์น้ำ The Journey สานต่อที่พ่อทำ สร้างฝายทั่วไทย’ ภายใต้โครงการ ‘SCG รักษ์น้ำ เพื่ออนาคต’ เพื่อสืบสานแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เรื่องการอนุรักษ์และบริหารจัดการน้ำ โดยแบ่งกิจกรรมเป็น 2 ระยะ ระยะแรกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 24-26 มิถุนายน 2560 ที่จังหวัดลำปางและเชียงใหม่ โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 60 คน แบ่งเป็นแกนนำชุมชน 10 คนต่อจังหวัด และตัวแทนเยาวชนคนรุ่นใหม่ 10 คนต่อจังหวัด ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี นครศรีธรรมราช และขอนแก่น กิจกรรมระยะที่ 2 จัดขึ้นในพื้นที่ชุมชนจังหวัดนครศรีธรรมราช กาญจนบุรี และขอนแก่น ตามลำดับ โดยชุมชนที่เข้าร่วมกิจกรรมในระยะแรกจะนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้ไปลงมือปฏิบัติจริงพร้อมส่งต่อความรู้สู่ชุมชนบ้านเกิด ส่วนเยาวชนคนรุ่นใหม่จะเป็นเรี่ยวแรงหลักในการเผยแพร่ส่งต่อแนวพระราชดำริไปสู่เพื่อน ๆ รุ่นราวคราวเดียวกันให้รับรู้และเข้ามามีส่วนร่วมกับชุมชนแก้ไขปัญหาน้ำในพื้นที่ร่วมกัน

 

เรียนรู้จากชุมชนต้นแบบ – ย้อนรอยต้นกำเนิดฝายตามเส้นทางของพ่อ

 

           การเดินทางวันแรก ณ จังหวัดลำปางเป็นการเรียนรู้จากชุมชนต้นแบบ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เรียนรู้เรื่องฝายจากผู้รู้จริงและจากประสบการณ์ของตัวแทนชุมชนที่เคยประสบปัญหาเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ได้แก่ บ้านสาแพะและบ้านแป้นใต้ จากนั้นผู้ร่วมกิจกรรมได้ลงพื้นที่ดูความสำเร็จของชุมชน เช่น การบริหารจัดการแก้มลิงหนองโป่ง บ้านแป้นใต้ การทำเกษตรประณีตบ้านสาแพะ การขยายความรู้สู่เครือข่าย รวมทั้งได้เยี่ยมชมฝายชะลอน้ำทั้งแบบผสมผสานแบบกึ่งถาวร (กล่องเกเบียน) และแหล่งเก็บน้ำขนาดเล็กเพื่อส่งน้ำไปยังสระพวง และได้ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างฝายกับชุมชน ณ ลำห้วยโป่ง และลำห้วยต้นผึ้ง

 

           ส่วนการเดินทางวันที่ 2 เป็นการย้อนรอยดูต้นกำเนิดฝายและเรียนรู้ตามเส้นทางของพ่อ ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเปรียบเสมือนพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิตที่ ‘พ่อ’ สร้างไว้ให้ลูก ๆ ได้เรียนรู้เรื่องน้ำและสามารถนำไปทำได้จริง โดย ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และกรรมการกิจการสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เอสซีจี ให้เกียรติร่วมบรรยายเรื่องราวเส้นทางทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้านการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ถ่ายทอดแนวพระราชดำริและพระราชปณิธานจากพ่อของแผ่นดิน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมนำกลับไปสานต่อในพื้นที่ของตนเองในระยะที่ 2 ต่อไป

 

 

 

 

 

            พอพูดถึงน้ำแล้วก็ต้องมีป่า เพราะถ้าไม่มีป่า น้ำก็ไม่สามารถจะอยู่ได้ มันมาแล้วมันก็ไป ท่านบอกว่าปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูกสร้างสภาวะรอบ ๆ นั้นให้เอื้อต่อต้นไม้และพืชพันธุ์ที่มีอยู่ใต้ดิน พระองค์ท่านรับสั่งบอกทำฝายชะลอน้ำไป วันนี้อาจจะอยากเทียบเท่าถุงน้ำเกลือ แทนที่น้ำจะไหลไปหมด ให้มันค่อย ๆ หยดซึมเข้าไป คราวนี้ความชุ่มชื้นมันก็อยู่ในภูเขาบริเวณนี้นานขึ้น มีตัวอย่างความสำเร็จชุมชนหลายชุมชนซึ่งวันนี้มาร่วมด้วยนั้นเขาได้เอาแนวพระเจ้าอยู่หัวฯ ไปทำและชีวิตชุมชนรอดแล้ว

 

 

           จากนั้น ปิดท้ายกิจกรรมระยะแรกด้วยการทำเวิร์กช็อป ระดมความคิดเพื่อนำเสนอแนวทางแก้ปัญหาน้ำของแต่ละชุมชน และแผนงานต่อยอดส่งต่อความรู้สู่ชุมชนของตน โดย อ.คณิต ธนูธรรมเจริญ เลขานุการสมาคมภูมินิเวศพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นวิทยากรผู้คอยให้คำแนะนำ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เส้นทางรักษ์บ้านเกิด – เดินตามรอยเท้าพ่อเพื่อส่งต่อความยั่งยืน

 

           การเดินทางเริ่มขึ้นอีกครั้ง ครั้งนี้เป็นกิจกรรมระยะที่สองของ ‘รักษ์น้ำ The Journey สานต่อที่พ่อทำ สร้างฝายทั่วไทย’ หัวใจหลักของกิจกรรมคือ ลงมือสานต่อที่พ่อทำด้วยการส่งต่อความรู้และประสบการณ์เรื่องการบริหารจัดการน้ำที่ได้รับจากกิจกรรมระยะแรกมาสู่ชุมชน ด้วยการลงมือสร้างฝายชะลอน้ำร่วมกัน โดยเริ่มต้นที่ ชุมชนบ้านน้ำพุ ต.ถ้ำใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนกว่า 300 คน

 

           การสร้างฝายนั้นต้องมีรูปแบบที่เหมาะสมกับพื้นที่ของชุมชนนั้น ๆ จึงจะเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง สำหรับ จังหวัดนครศรีธรรมราชต้องการสร้างฝายชะลอน้ำเพื่อเก็บน้ำไว้ใช้หน้าแล้งจึงเลือกฝายแบบผสมผสาน สลับกับฝายกึ่งถาวรแบบกล่องเกเบียน

 

           กิจกรรมครั้งนี้ ทั้งชุมชนและคนรุ่นใหม่ชาวนครศรีธรรมราชไม่ได้แค่มารวมพลังสร้างฝายชะลอน้ำเพื่อคืนความชุ่มชื้น สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้บ้านเกิดเท่านั้น แต่ยังเป็นจุดเริ่มต้นสร้าง ‘ฝายในใจ’ ซึ่งเป็นการเดินตามรอยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงวางแนวทางไว้อย่างยั่งยืน

 

 

 

           สองตัวแทนของ จ.นครศรีธรรมราช ที่เข้าร่วมกิจกรรมตั้งแต่ระยะแรก จนถึงการลงมือสร้างฝายชะลอน้ำในชุมชนครั้งนี้ได้แสดงความรู้สึก แม้จะต่างรุ่น ต่างวัย แต่มีหัวใจรักษ์บ้านเกิดไม่ต่างกัน

 

 

 

 

 

 

พี่หลวง ธรากร ธรรมกิจ กล่าวว่า “การสร้างฝายกลางใจคนเป็นเรื่องที่อยากทำสำหรับผม ร้อยดวงใจหนึ่งร้อยฝายเกิดที่ตำบลถ้ำใหญ่แน่นอน ฝายชะลอน้ำนี่แหละจะช่วยพยุงระยะเวลาให้น้ำอยู่ในพื้นที่นานขึ้น ไม่ไหลทิ้งเปล่าโดยไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย”

 

 

 

 

น้องอลิส – พัชรชล หนูนารถ จิตอาสาคนรุ่นใหม่ แสดงความคิดเห็นดังนี้ “หลังจากที่ได้ไปเรียนรู้เรื่องการทำฝายที่จังหวัดลำปาง-เชียงใหม่ครั้งที่แล้ว อลิสได้รับความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับฝายชะลอน้ำมากเลยค่ะ และรู้สึกได้รับแรงบันดาลใจเกี่ยวกับการสร้างฝายในใจคนเพราะว่าการสร้างฝายในใจคนจะทำให้ความรู้ ความยั่งยืนในชุมชนมีมากกว่าการเข้าไปสร้างฝายเฉย ๆ”

 

           การเดินทางเพื่อส่งต่อความรู้เรื่องการสร้างฝายชะลอน้ำและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในครั้งนี้จะไม่สามารถเริ่มต้นและสำเร็จได้เลยหากขาดความร่วมมือร่วมใจจากทุกฝ่าย แต่การเดินทางตามรอยพ่อจะไม่มีวันสิ้นสุดเพราะการสร้างฝายชะลอน้ำและจิตสำนึกเรื่องการอนุรักษ์น้ำได้ถูกสร้างขึ้นในใจพวกเราแล้ว และมันจะยังอยู่ไปอีกนาน

 

 

 

หัวข้อที่เกี่ยวข้อง

[elementor-template id="3478"]