ถอดรหัสเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อธุรกิจเติบโตยั่งยืน
Publish On 30, Sep 2017 | ถอดรหัสเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อธุรกิจเติบโตยั่งยืน
“หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นเรื่องที่คนไทยและนานาชาติต่างยอมรับในความลึกซึ้งของแนวคิดที่ให้ผลลัพท์ซึ่งสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืนกับผู้ที่น้อมนำมาใช้ไม่ว่าจะเป็นในชีวิตประจำวัน หรือในธุรกิจก็ตาม
คำว่า “พอเพียง”ไม่ได้หมายความว่า “พอ” หรือ “หยุด” แต่คือ “การพัฒนาและใช้ศักยภาพที่มีอยู่เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน” และแน่นอนที่สุด หนึ่งในบริษัทที่ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจ ก็คือ เอสซีจี
หลักเศรษฐกิจพอเพียงได้ช่วยให้เอสซีจีฝ่าฟันวิกฤตนับครั้งไม่ถ้วน และวิกฤตครั้งใหญ่ที่เป็นบทเรียนที่ดีให้กับหลาย ๆ องค์กร ก็คือ “วิกฤตต้มยำกุ้ง” เมื่อปี 2540 ที่รัฐบาลประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ทำให้หลายบริษัทที่กู้เงินดอลลาร์สหรัฐมาลงทุนขยายธุรกิจช่วงนั้นต้องแบกหนี้มูลค่ามหาศาลทันที ซึ่งเอสซีจี ก็เป็นหนึ่งในหลายบริษัทที่มีหนี้เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวในชั่วข้ามคืน เพราะตลอดหลายสิบปีก่อนเกิดวิกฤต บริษัทได้ขยายธุรกิจอย่างรวดเร็ว มีการกู้เงินมาขยายธุรกิจทั้งธุรกิจดั้งเดิมและธุรกิจใหม่ เติบโตสดใสไปพร้อมกับเศรษฐกิจไทยที่มีอัตราการเติบโตบางปีสูงกว่าร้อยละ 10 แต่หลังการลอยตัวค่าเงินบาท ยอดหนี้เงินกู้ที่สูงอยู่ก็มีมูลค่าพุ่งขึ้นกว่าเท่าตัว ส่วนกำไรที่เคยสูงถึงเกือบ 7,000 ล้านบาทในปีก่อนหน้านั้น กลายเป็นขาดทุนถึงกว่า 50,000 ล้านบาท ขณะที่กำลังซื้อในประเทศหดหาย เพราะภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เฟื่องฟู และเป็นลูกค้าสำคัญของเราก็กลับฟุบหายในพริบตาเช่นกัน
แล้วหลักเศรษฐกิจพอเพียง ก็นำพาเอสซีจีให้กลับมายืนผงาดอีกครั้งพร้อม ๆ ไปกับการเติบโตอย่างยั่งยืน วันนี้ เราจึงขอพาทุก ๆ ท่านมาถอดรหัสเศรษฐกิจพอเพียงที่เอสซีจีนำมาใช้เพื่อที่จะได้เข้าใจและเข้าถึงแนวคิดนี้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น
ยกเครื่องโครงสร้างธุรกิจ
ช่วงก่อนวิกฤต เอสซีจีมีธุรกิจในเครือหลากหลายมาก ในช่วงภาวะวิกฤตจึงมีโอกาสได้กลับมาประเมินตัวเอง และวางแผนทำธุรกิจอย่างมีเหตุผล โดยยึดหลักความพอประมาณ ด้วยการจ้างบริษัทที่ปรึกษาระดับโลกมาช่วยปรับลดขนาดโครงสร้างธุรกิจที่ใหญ่โตเกินไป และตัดสินใจขายธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักเพื่อลดหนี้ จนในที่สุดเหลือเฉพาะธุรกิจหลัก 5 กลุ่ม คือ เคมีภัณฑ์ กระดาษ ปูนซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง และจัดจำหน่าย ซึ่งเป็นโครงสร้างใหม่ที่กะทัดรัดมากขึ้น และเป็นสิ่งที่เรามีความเชี่ยวชาญอย่างแท้จริง
เพิ่มขีดการแข่งขันด้วยนวัตกรรม
แค่รอดจากวิกฤตยังไม่เพียงพอ องค์กรจะต้องเติบโตต่อไป เอสซีจีได้เริ่มสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเอง และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันด้วยนวัตกรรม โดยเราได้สร้างวัฒนธรรมองค์กร ที่มุ่งพัฒนานวัตกรรม เพิ่มงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนา และมุ่งมั่นกับการพัฒนาสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (High Value Added Products and Services – HVA)
มองหาตลาดใหม่ ขยายธุรกิจในอาเซียน
ประสบการณ์จากวิกฤตการเงินครั้งใหญ่ ทำให้เอสซีจีบริหารความเสี่ยงอย่างรัดกุมทั้งด้านการดำเนินงานและการเงิน พร้อมเดินหน้ากระจายความเสี่ยง หารายได้จากตลาดต่างประเทศ เพื่อทดแทนกำลังซื้อในประเทศที่ลดลง และขยายธุรกิจไปยังอาเซียน โดยประเมินจากศักยภาพที่แท้จริงของตัวเอง และทำธุรกิจอย่างมีเหตุผล ต่างจากการเร่งขยายธุรกิจในช่วงก่อนวิกฤต ที่ทำให้องค์กรใหญ่เกินไปและทำธุรกิจที่เราไม่เชี่ยวชาญ
เฟ้นหา–บ่มเพาะ “คนเก่งและดี”
สำหรับเอสซีจีแล้ว “บุคลากร” คือสินทรัพย์ที่ล้ำค่าขององค์กรอย่างแท้จริง ถ้าต้องการที่จะเติบโตอย่างยั่งยืน ต้องให้ความสำคัญกับการดูแลและพัฒนาพนักงาน ความสำเร็จของเอสซีจีในทุกวันนี้เกิดจากความร่วมแรงร่วมใจของพนักงานทุกระดับ ที่ปฏิบัติหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มความสามารถ เอสซีจีเฟ้นหาคนทำงานที่ “เก่งและดี” หรือคนที่มีทั้งความรู้และคุณธรรม มาร่วมงาน
เมื่อเลือกเฟ้นบุคลากรมาแล้ว บริษัทยังมีแนวทางพัฒนาศักยภาพบุคลากรที่ชัดเจน งบประมาณที่เอสซีจีไม่เคยตัดเลยไม่ว่าจะประสบปัญหาการเงินหนักแค่ไหนก็คือ งบประมาณการฝึกอบรม และการจัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพของพนักงาน เพราะความเชื่อที่ว่า การพัฒนาบุคลากร ถือเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันระยะยาวให้กับองค์กร เพราะพวกเขาเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรสู่ความสำเร็จ
เป็นพลเมืองที่ดีของสังคม
นอกจากพนักงานในองค์กรแล้ว เอสซีจียังห่วงใยไปถึงคนนอกองค์กร ได้แก่ คนในชุมชนและสังคมที่บริษัทเข้าไปทำธุรกิจ เราต้องยอมรับว่าอุตสาหกรรมที่เอสซีจีทำ หากไม่ดูแลการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี อาจส่งผลกระทบต่อชุมชน ดังนั้นจึงต้องปลูกฝังเรื่องการเป็นคนดีมีคุณธรรมให้กับพนักงาน ไปอยู่ที่ไหนให้มีคนรัก ซึ่งนอกจากจะให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมแล้ว บริษัทยังดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมต่าง ๆ เพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในทุกพื้นที่ที่เข้าไปลงทุน
เล่ากันครบถ้วนแบบนี้ ทำให้เข้าใจกันอย่างแจ่มแจ้งว่า “พอเพียง” และ “ธุรกิจ” ไปด้วยกันได้จริง ๆ การนำ “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” มาใช้ ทำให้เอสซีจีรู้จัก พอประมาณ รู้จักประเมินตนเองและวางแผนธุรกิจอย่างมีเหตุผล และมีแผนกระจายความเสี่ยง สร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเอง และที่สำคัญ มุ่งพัฒนาคนให้มีความรู้คู่คุณธรรม ทำให้เอสซีจีสามารถขับเคลื่อนให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืนในทุกวันนี้
สร้างภูมิคุ้มกัน : จับมือพันธมิตรปั้นนวัตกรรม
เอสซีจี เคมิคอลส์ หนึ่งในกลุ่มเอสซีจี ได้ร่วมมือกับสถาบันวิจัยชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม อาทิ
- สนับสนุนห้องทดลอง เครื่องมือวิเคราะห์ และอุปกรณ์วิจัยขั้นสูง และงบประมาณวิจัย ให้แก่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- พัฒนาศูนย์ Center of Excellence ร่วมกับศูนย์วิจัยของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ
ขณะเดียวกัน ได้ร่วมกับพันธมิตรเอกชนพัฒนานวัตกรรมเพื่อคุณภาพชีวิต เช่น นวัตกรรมทางการแพทย์ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดย เอสซีจี เคมิคอลส์ คิดค้นพัฒนานวัตกรรมวัสดุและการออกแบบอุปกรณ์ทางการแพทย์ ให้ใช้งานได้สะดวก สะอาดปลอดภัยขึ้น เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ล่าสุด ยังได้สร้างสรรค์เทคโนโลยี และนวัตกรรมด้วยตนเอง ด้วยการพัฒนานวัตกรรมหุ่นยนต์ตรวจสอบ เพิ่มความปลอดภัย-ประสิทธิภาพการทำงาน ช่วยให้การบริหารจัดการโรงงานทั้งระบบมีประสิทธิภาพมากขึ้น
หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
2 เงื่อนไข
- ความรู้
ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องรอบด้าน ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงเพื่อประกอบการวางแผนและความระมัดระวังในการปฏิบัติ
- คุณธรรม
มีความตระหนักในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต และมีความอดทน มีความเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต
3 หลักการ
- ความพอประมาณ
ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกิน โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น
- ความมีเหตุผล
การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับความพอเพียงนั้นจะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น ๆ อย่างรอบคอบ
- ภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี
การเตรียมตัวให้พร้อมกับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต
4 มิติ
- เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม
หลังจากได้ปฏิบัติจนเกิดความสมดุลแล้ว ก็จะมีความพร้อมรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมในการดำเนินชีวิตและธุรกิจได้เป็นอย่างดี