Close
|
> SUSTAINABILITY > ร่วมสืบสานพระราชปณิธาน 70,000 ฝาย รวมพลังรักษ์น้ำทั่วไทย

ร่วมสืบสานพระราชปณิธาน 70,000 ฝาย รวมพลังรักษ์น้ำทั่วไทย

Publish On 30, Mar 2017 | ร่วมสืบสานพระราชปณิธาน 70,000 ฝาย รวมพลังรักษ์น้ำทั่วไทย

“…หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก

เพราว่าชีวิตอยู่ที่นั่น

ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้  

ไม่มีไฟฟ้าคนอยูได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้…

 

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2529 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

 

 

 

 

           ตลอดระยะเวลากว่า 70 ปีที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงงานผ่านโครงการต่าง ๆ หลากหลายด้านเพื่อยังประโยชน์แก่ประชาชนของพระองค์ หนึ่งในนั้นคือโครงการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเนื่องจากพระองค์ทรงตระหนักถึงความสำคัญของน้ำ ดังพระราชดำรัสว่า “น้ำคือชีวิต” จึงทำให้มีโครงการเกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำและการจัดการทรัพยากรน้ำมากมายอันเกิดจากแนวพระดำริของพระองค์จนรัฐบาลไทยถวายพระราชสมัญญาว่า “พระบิดาแห่งการจัดการทรัพยากรน้ำ”

 

 

 

 

           เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ เอสซีจี จึงน้อมนำแนวพระราชดำริด้านการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้วยการสร้างฝายชะลอน้ำ ภายใต้โครงการ “เอสซีจี รักษ์น้ำเพื่ออนาคต” โดยเริ่มต้นที่จังหวัดลำปาง เมื่อปี 2550 และขยายผลไปสู่จังหวัดอื่น ๆ อาทิ เชียงใหม่ แพร่ น่าน ระยอง กาญจนบุรี ราชบุรี สระบุรี ขอนแก่น และนครศรีธรรมราช เป็นต้น ปัจจุบัน มีเครือข่ายชุมชนใน
โครงการฯ กว่า 80 ชุมชน ใน 12 จังหวัดทุกภูมิภาค สร้างฝายชะลอน้ำไปได้แล้ว 68,000 ฝาย

 

 

 

 

           สำหรับการสร้างฝายชะลอน้ำภายใต้โครงการ “SCG รักษ์น้ำ เพื่ออนาคต” ในพื้นที่จังหวัดระยองนั้น เอสซีจี เคมิคอลส์ ดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี 2550 เพื่อแก้ปัญหาน้ำขาดและช่วยสร้างสมดุลให้กับระบบนิเวศบริเวณเขายายดา อำเภอเมือง จ.ระยอง ซึ่งประกอบด้วย 6 ตำบล ได้แก่ ตำบลตะพง, ตำบลแกลง, ตำบลเพ, ตำบลสำนักทอง, ตำบลนาตาขวัญ และตำบลบ้านแลง ซึ่งบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่เกษตรกรรมและแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่สำคัญแห่งหนึ่งของระยอง ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงปี 2532-2549 บริเวณพื้นที่เขายายดาประสบปัญหาป่าเสื่อมโทรม เกิดไฟป่าต่อเนื่องและประสบวิกฤตขาดแคลนน้ำ ภาครัฐและชาวบ้านในพื้นที่ต่างช่วยกันแก้ปัญหาและฟื้นฟูความสมบูรณ์ให้เขายายดาด้วยแนวทางต่าง ๆ ซึ่งการสร้างฝายชะลอน้ำเป็นมาตรการหนึ่ง และเมื่อมีการแจ้งความประสงค์ขอสนับสนุนวิธีการ ผู้เชี่ยวชาญ และงบประมาณในการสร้างฝายชะลอน้ำมาที่เอสซีจี สำนักงานใหญ่ เอสซีจี เคมิคอลส์ จึงได้รับมอบภารกิจนี้จนทำให้มีการสร้างฝายชะลอน้ำอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน รวมจำนวนฝายชะลอน้ำในพื้นที่จังหวัดระยองทั้งสิ้นกว่า 5,500 ฝาย โดยตลอดระยะเวลากว่าสิบปี ฝายที่เราได้ร่วมกันสร้างนั้นสร้างความชุ่มชื้นให้สภาพแวดล้อมบริเวณเขายายดาจึงทำให้ความแห้งแล้งและวิกฤตไฟป่าหมดไป ส่งผลให้สภาพเศรษฐกิจของชุมชนดีขึ้น มีน้ำใช้ตลอดปี มีผลผลิตอย่างสม่ำเสมอ ที่สำคัญชุมชนเกิดจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อม ดูแลรักษาป่าและแหล่งน้ำ รักและหวงแหนป่าบ้านเกิด อันนำไปสู่การพัฒนาชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืน

 

 

 

 

           เพื่อเป็นการแสดงเจตนารมณ์ในการสานต่อพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อย่างต่อเนื่อง เอสซีจี จึงเดินหน้าจัดกิจกรรม “สืบสานพระราชปณิธาน 70,000 ฝาย รวมพลังรักษ์น้ำทั่วไทย” โดยร่วมกับชุมชนเครือข่ายโครงการเอสซีจี รักษ์น้ำเพื่ออนาคตทั่วประเทศ สานต่อการสร้างฝายชะลอน้ำตามแนวพระราชดำริเพิ่มเติมอีก 2,000 ฝาย ให้ครบ 70,000 ฝาย โดยกิจกรรมครั้งนี้จัดขึ้นพร้อมกันทั้ง 6 จังหวัดทุกภูมิภาค ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี (200 ฝาย), สระบุรี (150 ฝาย), ลำปาง (1,300 ฝาย), นครศรีธรรมราช (100 ฝาย), ขอนแก่น (100 ฝาย) และ ระยอง (150 ฝาย)

 

            โดยที่จังหวัดระยองได้จัดกิจกรรม “สืบสานพระราชปณิธาน 70,000 ฝาย รวมพลังรักษ์น้ำทั่วไทย” ที่บริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยหินดาด ต.ตะพง อ.เมือง ซึ่งได้รับความร่วมมือจากคู่ธุรกิจ ผู้แทนจำหน่าย ภาครัฐ ชุมชนเครือข่ายโครงการเอสซีจี รักษ์นํ้าเพื่ออนาคต หน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง นักเรียนอาชีวะ ตลอดจนจิตอาสาในพื้นที่ คุณสมชาย หวังวัฒนาพาณิช ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-ปฏิบัติการ บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด กล่าวว่า เอสซีจี เคมิคอลส์ ภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างแรงบันดาลใจเพื่อร่วมกันสืบสานพระราชปณิธานในการอนุรักษ์น้ำ ซึ่งถือเป็นการส่งเสริมให้ชุมชนพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน กิจกรรมการสร้างฝายชะลอน้ำในครั้งนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนว่า เอสซีจี เคมิคอลส์ ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม เพราะไม่ว่าโครงการใด ๆ ก็ตามต้องอาศัยความร่วมมือกันจึงจะประสบความสำเร็จ ทั้งยังกล่าวทิ้งท้ายเชิญชวนผู้สนใจให้เข้ามาร่วมโครงการดี ๆ ในครั้งต่อไป

 

 

 

 

 

 

 

            “ทุกคนมาที่นี่ด้วยความอิ่มเอิบและด้วยความตั้งใจเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเพื่อในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งวันนี้ผมเห็นแล้วทุกคนเชื่อมั่นว่า นอกจากมาทำฝายวันนี้แล้วก็คงจะร่วมกับชุมชนช่วยกันดูแลรักษาฝายที่เราตั้งใจทำมาตลอดระยะเวลา 10 ปี ซึ่งตอนนี้ก็ได้มากกว่า 5,500 ฝายแล้ว ก็จะรักษาและดูแลให้เป็นสมบัติของพื้นที่และของลูกหลานสืบไป รวมทั้งให้เป็นแหล่งเรียนรู้แก่ชุมชน อื่น ๆ เพื่อจะนำวิธีการที่เราทำฝายชะลอน้ำจนประสบความสำเร็จไปใช้ในพื้นที่ตัวเองเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป อยากจะเชิญชวนทุกภาคส่วน เอกชน บริษัทต่าง ๆ ถ้าอยากจะมาร่วมทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์อย่างนี้และสืบสานพระปณิธานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้วยกัน เรายินดีที่ผ่านมาเราก็เชิญชวนไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานสามัญศึกษา หน่วยงานเอกชน หรือหน่วยงานราชการ ที่มีความตั้งใจจะทำกิจกรรมดี ๆ อย่างนี้เข้ามาร่วมกับเราอยู่อย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว ต่อไปเราคงทำไปเรื่อย ๆ ไม่หยุดทำเรื่องของการรักษ์น้ำเพื่ออนาคตให้มีความเข้มข้นและมีประโยชน์แพร่หลายไปสู่ชุมชนอื่น ๆ ต่อไป”

 

 

คุณสมชาย หวังวัฒนาพาณิช
ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-ปฏิบัติการ
เอสซีจี เคมิคอลส์

 

 

            พระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชส่งผลต่อความยั่งยืนของประชาชนและประเทศชาติอย่างแท้จริง การสร้างฝายเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น เอสซีจี เคมิคอลส์ ยังคงมุ่งมั่นเพื่อจัดกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ ที่สืบสานพระราชปณิธานด้านอื่น ๆ ของพระองค์ต่อไป

 

 

ความรู้สึกของผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมร่วมสืบสานพระราชปณิธาน 70,000 ฝาย รวมพลังรักษ์น้ำทั่วไทย

 

คุณนิมิต สกุลพงษ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 14 ต.ตะพง อ.เมือง จ.ระยอง

“ทีแรกเราไม่คิดว่าการสร้างฝายชะลอน้ำมันจะมีประโยชน์จริง ๆ พอมาทำแล้วใช้เวลาเป็นตัวพิสูจน์ เราก็ได้ผลตามที่ปรากฏทุกวันนี้ มีความชุ่มชื้นบริเวณเขา ตามสวน
ชาวบ้านส่วนใหญ่ที่นี่ทำอาชีพเกษตรกรรม มีสวนยาง สวนเงาะ สวนทุเรียน ฯลฯ ถ้าทำต่อเนื่องอย่างนี้ทุกปี ผลที่ออกมามันมหาศาล ดีใจนะที่ได้ทำงานตามแนวพระราชดำริ พระราชดำรัสของพระองค์ท่าน ถึงจะเป็นเศษเสี้ยวเล็ก ๆ แต่ว่าเรามารวมตัวกันมันก็สามารถเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ได้สมกับพระราชปณิธานของพระองค์ท่านที่ว่ามีความสามัคคีเป็นหมู่คณะและช่วยกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมซึ่งพระองค์ทรงเป็นห่วงเรื่องป่าต้นน้ำและความชุ่มชื้นบริเวณรอบ ๆ ที่เราทำกิจกรรมอยู่”

 

 

 

 

 

 

คุณปรัชญา  เครือแก้ว นักศึกษาชั้นปวส.1 วิทยาลัยเทคนิคมาบตาพุด จ.ระยอง

            “รู้สึกยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างฝายครั้งนี้เพื่อสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ผมคิดว่าการที่จะสืบสานพระราชปณิธานของในหลวงมีหลายวิธี การทำฝายเป็นวิธีที่ไม่ยากเกินไปและเป็นการช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศ ช่วยดูแลผืนป่าของเราด้วย”

 

 

 

 

หัวข้อที่เกี่ยวข้อง

[elementor-template id="3478"]