Close
|
> SUSTAINABILITY > เพื่อนช่วยเพื่อน ส่งต่อความตั้งใจ ร่วมสร้างโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

เพื่อนช่วยเพื่อน ส่งต่อความตั้งใจ ร่วมสร้างโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

Publish On 30, Sep 2016 | เพื่อนช่วยเพื่อน ส่งต่อความตั้งใจ ร่วมสร้างโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

ผู้ประกอบการหลายคน เมื่อได้ยินเรื่องของโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ หรือ Eco Factory อาจคิดว่าเป็นเรื่องยากในการปรับปรุงหรือพัฒนาโรงงานไปสู่แนวทางนี้ แต่หากได้ศึกษาเรียนรู้ให้เข้าใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าได้รับคำแนะนำและความช่วยเหลือจากเพื่อนผู้มีประสบการณ์และประสบความสำเร็จในการทำ Eco Factory มาแล้วก็อาจเป็นเรื่องง่ายกว่าที่เคยคิด

 

           เช่นเดียวกับความรู้สึกของ คุณภาคภูมิ ภูอุดม Executive Vice President บริษัท ที.เค.เอส.เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) ที่นำโรงงานของบริษัท ผ่านการตรวจประเมินโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ในปี 2559 ด้วยความช่วยเหลือจาก “เพื่อน” ที่ยึดมั่นในแนวคิดเดียวกัน และเคียงข้างกันมาตลอดอย่าง เอสซีจี เคมิคอลส์

 

 

 

 

            “บริษัท ที.เค.เอส.เป็นสมาชิกของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเหมือนกับเอสซีจี เคมิคอลส์” คุณภาคภูมิเริ่มต้นบท   สนทนาในวันที่
คุณสุภาวิณี กฤษณาวัฒนา Manager – Corporate Environmental Health and Industrial Hygiene  Management เอสซีจี เคมิคอลส์ เดินทางมาแสดงความยินดีเมื่อโรงงานของทั้งสองบริษัทในเครือ คือ บริษัท ที.เค.เอส.  เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ที.เค.เอส.สยามเพรส แมเนจเม้นท์ จำกัด ผ่านการรับรองโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

 

            “เอสซีจี เคมิคอลส์ เข้ามาให้คำแนะนำเรื่อง Eco Factory ผ่านโครงการ “เพื่อนช่วยเพื่อน” ของสภาอุตสาหกรรมฯ” คุณภาคภูมิเล่าต่อ
“เรารู้ว่าเอสซีจี เคมิคอลส์ เป็นบริษัทแรกที่โรงงานในเครือทุกโรงงานผ่านการรับรองโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศแบบ 100% ทำให้มั่นใจว่าจะช่วยเราได้ ความจริงเราได้ยินเรื่อง Eco Factory มาสักปีสองปีแล้ว ซึ่งมันสอดคล้องกับนโยบายสิ่งแวดล้อมที่บริษัทเราทำมาเกือบสิบปี ที่สำคัญ มันมีส่วนช่วยธุรกิจในด้านการแข่งขันในตลาดอนาคตด้วย พอมาศึกษาก็เห็นว่ามีหลายเรื่องที่เราทำมาก่อน แต่หลายเรื่องก็ต้องพยายามพัฒนาให้ได้ตามเกณฑ์ที่วางไว้ พอเอสซีจี เคมิคอลส์ เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงให้ เราก็ขับเคลื่อนไปต่อได้อย่างรวดเร็ว ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันเลย”

 

 

 

 

 

 

            “เรื่องสิ่งแวดล้อมมันเป็นเรื่องสากล” คุณสุภาวิณีเสริม “แนวคิดหลักของอุตสาหกรรมเชิงนิเวศคือ ต้องดูแลตัวเราให้มีกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ ผลิตสินค้าคุณภาพ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เมื่อดูแลตัวเองดีแล้วก็ออกไปดูแลสังคม ซึ่งจริง ๆ การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมก็ถือเป็น
การตอบโจทย์สังคมอย่างหนึ่งอยู่แล้วเพราะฉะนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นอุตสาหกรรมเดียวกันก็สามารถใช้หลักพื้นฐานเดียวกันได้ ไม่ว่าเป็นโรงงานอะไรต้องมี
การพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิต บริหารจัดการสิ่งแวดล้อมด้วยจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมทั้งภายในและภายนอกองค์กร เรียกว่าตลอดทั้งโซ่อุปทาน และต้องทำอย่างต่อเนื่อง”

 

            “ใช่ครับ ผมเห็นด้วย” คุณภาคภูมิกล่าวเสริม “ตอนที่เราตัดสินใจทำ Eco Factory ผมมองว่าแม้เราจะไม่ใช่บริษัทใหญ่แต่ก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งในกลไกที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมได้เหมือนกัน ถ้าโรงงานหนึ่งเริ่มต้นทำสิ่งที่ดีก็จะเป็นต้นแบบให้โรงงานอื่นเห็นและอยากทำตาม ที่สำคัญ คนในโรงงานของเราซึ่งมีประมาณ 500-600 คน ก็ได้รับความรู้ความเข้าใจเรื่องสิ่งแวดล้อมไปด้วย พอกลับบ้าน เขาก็เอาไปใช้ในชีวิตประจำวันได้เลย มันก็จะขยายแนวคิดนี้ต่อไปเรื่อย ๆ”

 

 

 

           “หลายคนอาจจะคิดว่ามันเป็นนามธรรมจังเลย เวลาได้ยินคำว่ากระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” คุณสุภาวิณีอธิบาย “แต่ถ้ามองให้เป็น
รูปธรรม เราแค่ต้องทำให้ตอบโจทย์ว่าผลิตอย่างไรให้ลดการใช้พลังงาน ลดของเสีย และใช้วัตถุดิบหรือทรัพยากรต่างๆ อย่างคุ้มค่าที่สุด”

 

           “ผมเห็นด้วยครับ” คุณภาคภูมิเสริม “พอเราผ่านมาตรฐานแล้ว ผมรู้เลยว่ามันไม่ใช่เรื่องยาก และการมีเพื่อนที่ช่วยให้คำแนะนำอย่างจริงใจมันทำให้เราเข้าใจและประสบความสำเร็จง่ายขึ้น ตอนนี้ทาง ที.เค.เอส. เลยตั้งใจว่าเราพร้อมเปิดโรงงานของเราให้เพื่อนโรงงานอุตสาหกรรมอื่นมาเรียนรู้ โดยเฉพาะในนิคมสินสาคร นิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร และโรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดสมุทรสาครที่เราอยู่ ซึ่ง มีมากกว่า 5,000 โรงงาน เราอยากส่งต่อแนวคิดและให้คำแนะนำให้ทุกโรงงานทำเรื่อง Eco Factory อย่างจริงจัง”

           

           “เรื่องชุมชนเป็นอีกเรื่องที่ต้องใช้ความตั้งใจและความจริงใจ” คุณสุภาวิณีกล่าว “เอสซีจี เคมิคอลส์ มีโครงการที่เรียกว่า บวร หมายถึง บ้าน วัด และโรงเรียน พอจัดการระบบภายในโรงงานดีแล้ว ก็ถ่ายทอดและแบ่งปันองค์ความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมให้กับบ้าน หรือ ชุมชน วัด และโรงเรียนรอบ ๆ โรงงานด้วย เป็นการสร้างความรู้ ความเข้าใจ ปลูกจิตสำนึกให้ชุมชนเห็นความสำคัญของการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมเดินไปด้วยกัน”

 

 

            “ที.เค.เอส.ก็ได้ไอเดียดี ๆ เยอะมากจากเอสซีจี เคมิคอลส์” คุณภาคภูมิเอ่ย “ก่อนหน้านี้เรารู้จักเอสซีจี เคมิคอลส์ดีอยู่แล้วว่าเป็นบริษัทใหญ่ เรียกว่าอันดับต้น ๆ ของประเทศ แล้วไม่ใช่แค่ประสบความสำเร็จในธุรกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นบริษัทที่รู้กันดีว่าใส่ใจสังคมและสิ่งแวดล้อมมาก ถือเป็นไอดอลของบริษัทเราเลย ขอบคุณมากนะครับ”

 

             “ขอบคุณมากเช่นกันค่ะ” คุณสุภาวิณีกล่าวและยิ้มตอบ “การที่เราเข้ามาช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้ ที.เค.เอส.ทำให้เราได้เรียนรู้มุมมองที่กว้างขึ้นด้วยเพราะเป็นคนละกลุ่มอุตสาหกรรมกัน เอสซีจี เคมิคอลส์ยินดีมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเพื่อนร่วมวงการอุตสาหกรรมให้ประสบความสำเร็จในการเป็น Eco Factory เพราะเราเชื่อว่าการที่เราส่งต่อแนวคิดนี้ไปสู่คนอื่น ยิ่งส่งผลดีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยรวม ถือเป็นการช่วยโลกใบนี้ให้มีสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างยั่งยืน”

 

            

 

 

           นอกจากนี้ ในปี 2559 เอสซีจี เคมิคอลส์ ยังได้เข้าไปให้คำแนะนำในการขอการรับรองโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศกับ บริษัท นวพลาสติกอุตสาหกรรม (สระบุรี) จำกัด และ บริษัท สยามสเตบิไลเซอร์สแอนด์เคมิคอลส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท ไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) จนประสบความสำเร็จผ่านการรับรองโรงงานอุตสาหกรรม ถือเป็นความภาคภูมิใจของ “เพื่อน” อย่างเอสซีจี เคมิคอลส์ ที่พร้อมให้ความช่วยเหลือให้ทุกโรงงานที่มีความตั้งใจดี ๆ ต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม โดย คุณสมชาย หงษ์สุวรรณ ผู้จัดการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท นวพลาสติกอุตสาหกรรม กล่าวว่า
 

         “ตอนนวพลาสติกได้รับคำแนะนำจาก เอสซีจี เคมิคอลส์ เราเริ่มต้นด้วยการนำเกณฑ์โรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศมากางดูเลย แล้วก็พัฒนา ยกระดับกระบวนการทำงานให้ตอบโจทย์ทั้ง 14 ด้าน ตอนแรกดูเหมือนยากนะ แต่ถ้าตั้งใจและได้เพื่อนที่ทำสำเร็จแล้วมาเป็นพี่เลี้ยง เราก็เข้าใจกระบวนการอุตสาหกรรมเชิงนิเวศชัดเจนขึ้น เอสซีจี เคมิคอลส์ นี่ช่วยเต็มที่มาก ส่งทั้งทีมงานและผู้บริหารเข้ามาให้คำปรึกษาแบบใกล้ชิดเลย มาช่วยแก้ปัญหา หาวิธีการยกระดับการทำงานเพื่อให้ตอบโจทย์ให้ได้ ตอนผู้ตรวจจะมาตรวจ เรามี Pre-audit กับทีมเอสซีจี เคมิคอลส์ ก่อนซึ่งช่วยให้เรารู้ว่าจะนำเสนออย่างไรให้ตรงประเด็น พอตรวจประเมินครั้งแรกก็ผ่านเลย ต้องขอบคุณ เอสซีจี เคมิคอลส์ ที่ให้คำแนะนำ ช่วยเปิดทางให้เห็นการทำงานที่ชัดเจน ทำให้เราเดินไปได้ตรงจุด ไม่เสียเวลา มีเพื่อนดีมันก็ดีอย่างนี้แหละ ขอบคุณมากครับเพื่อน

 

         “เพื่อนช่วยเพื่อน” ช่วยกันส่งต่อความตั้งใจดี ๆ เพื่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ต่อยอดสู่ชุมชนเชิงนิเวศ อีกไม่นาน เราคงได้เห็นเมืองที่มีแต่สิ่งแวดล้อมดี มีคนคุณภาพ
และมีความสุขอย่างยั่งยืน

 

 

เกณฑ์โรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 14 ด้าน พัฒนาขึ้นโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ครอบคลุมทั้ง 5 มิติ คือ กายภาพ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการบริหารจัดการ ได้แก่

1.การใช้วัตถุดิบ

2.พลังงาน

3.การขนส่งและโลจิสติกส์

4.โซ่อุปทานสีเขียว

5.ภูมิทัศน์สีเขียว

6.การจัดการสารเคมีและวัตถุอันตราย

7.การจัดการน้ำและน้ำเสีย

8.การปล่อยก๊าซเรือนกระจก

9.การจัดการมลภาวะทางอากาศ

10.การจัดการกากของเสีย

11.ความปลอดภัยและสุขภาพของพนักงาน

12.ความหลากหลายทางชีวภาพ

13.การกระจายรายได้ให้กับชุมชน

14.การอยู่ร่วมกับชุมชนโดยรอบ

 

 

         “เอสซีจี เคมิคอลส์ ถือเป็นต้นแบบบริษัทที่ผ่านการรับรองมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Factory) ครบ 100% เป็นรายแรกของประเทศไทย และน่าชื่นชมที่บริษัทฯ ยังได้นำแนวทางปฏิบัติมาถ่ายทอดและส่งต่อให้กับโรงงานอุตสาหกรรมอื่น แม้จะไม่ใช่กลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกันเลยก็ตาม นี่เป็นการแสดงถึงน้ำใจของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมด้วยกัน และยังช่วยกระตุ้นให้โรงงานอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่อาจคิดว่าการทำ Eco Factory เป็นเรื่องยากนั้น ทำความเข้าใจได้และสนใจที่จะเข้าสู่กระบวนการสร้างมาตรฐานนี้ ซึ่งจะส่งผลต่อ
การพัฒนาธุรกิจของประเทศอย่างยั่งยืน”

ผศ. ดร. รัตนาวรรณ มั่งคั่ง

ผู้อำนวยการศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ด้านกลยุทธ์ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

 

 

 

      ตัวอย่างโครงการ Eco Factory ของบริษัท ที. เค. เอส. สยามเพรส แมเนจเม้นท์ จำกัด และบริษัท ที. เค. เอส. เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน)

 

  1. โครงการติดตั้งอุปกรณ์ต่อกระดาษอัตโนมัติ บนเครื่องพิมพ์ ซึ่งช่วยลดการสูญเสียกระดาษจากการต่อม้วนกระดาษด้วยมือ
  2. โครงการติดตั้งหัวพิมพ์ Ink-jet บนเครื่องพิมพ์ ทำให้สามารถลดขั้นตอนการทำงานลงจาก 2 ขั้นตอน เหลือขั้นตอนเดียว ลดการสูญเสียในกระบวนการผลิตที่ต้องทำทีละขั้นตอน และลดค่าใช้จ่ายในการหยอดข้อมูลลง 50 % ต่อใบสั่งผลิต
  3. โครงการติดตั้งหอเก็บน้ำ (แทงค์แชมเปญ) ช่วยลดการใช้พลังงานของปั๊มแรงดันสูงและลดการสูญเสียน้ำ
  4. โครงการเปลี่ยนหลอดไฟแสงสว่างคลังสินค้า โดยเปลี่ยนจากหลอดแสงจันทร์เป็นหลอด LED ให้ความสว่างเท่าเดิมแต่ประหยัดพลังงานมากกว่า
  5. โครงการใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายน้อยกว่าทดแทนสารเดิม เช่น การเปลี่ยนสารหมึกพิมพ์ที่มีองค์ประกอบของตะกั่วเป็น หมึกพิมพ์ฐานถั่วเหลือง   (Soy Ink) และโครงการเปลี่ยนสารละลายกาวจาก Ethyl Acetate ไปเป็น สารที่เป็น Water Base

 

หัวข้อที่เกี่ยวข้อง

[elementor-template id="3478"]