Close
|
> NEWS > คลังสำรองข้อมูลแห่งนอร์เวย์ ปกป้องข้อมูลสำคัญให้คงอยู่ตลอดไป

คลังสำรองข้อมูลแห่งนอร์เวย์ ปกป้องข้อมูลสำคัญให้คงอยู่ตลอดไป

Publish On 01, Aug 2019 | คลังสำรองข้อมูลแห่งนอร์เวย์ ปกป้องข้อมูลสำคัญให้คงอยู่ตลอดไป

เป็นเวลากว่า 10,000 ปีมาที่แล้วมนุษย์เริ่มรู้จักเพาะปลูกพืชเพื่อให้เข้าถึงแหล่งอาหารได้มากขึ้นแทนการพึ่งพาธรรมชาติเพียงอย่างเดียว เทคโนโลยีทางการเกษตรที่ก้าวหน้าขึ้นอย่างมากในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อป้อนเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมได้ส่งผลให้การเพาะปลูกเปลี่ยนรูปแบบไปอย่างมาก  ในขณะที่ผลผลิตทางการเกษตรต่อไร่มีปริมาณสูงขึ้น ความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งเป็นผลจากระบบเกษตรกรรรมพืชเดี่ยวกลับมีแนวโน้มสวนทางกัน  พันธุ์พืชที่ค่อย ๆ สูญหายไปก็ไม่ต่างอะไรกับการสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์ที่ไม่อาจย้อนเวลากลับคืนมาได้  การก้าวเข้าสู่ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของโลกเกษตรกรรมทำให้มนุษยชาติต้องเผชิญกับความท้าทายและร่วมรับผิดชอบต่อสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น

 

รัฐบาลนอร์เวย์เล็งเห็นถึงความสำคัญของประเด็นนี้จึงได้ก่อตั้งศูนย์กลางสำหรับเก็บรักษาพันธุ์พืชด้วยการสำรองเมล็ดของพืชนานาพรรณจากธนาคารเมล็ดพันธุ์ 1,750 แห่งทั่วโลกและนำมาเก็บรวบรวมไว้ในดินแดนอันโดดเดี่ยวใกล้กับขั้วโลกเหนือ ภารกิจของโครงการนี้คือการปกป้องความหลายหลายของพันธุ์พืชที่จะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ภัยธรรมชาติ ตลอดจนอันตรายต่าง ๆ จากน้ำมือของมนุษย์  ธนาคารเมล็ดพันธุ์ซึ่งเป็นสถานที่คุ้มครองความหลากหลายของพันธุ์พืชที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งนี้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2551 บนหมู่เกาะสวาลบาร์ดของประเทศนอร์เวย์ซึ่งตั้งอยู่ในมหาสมุทรอาร์กติก สถานที่จัดเก็บเมล็ดพืชอันหนาวเย็นนี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อ Svalbard Global Seed Vault หรือ คลังเมล็ดพันธุ์พืชโลกสวาลบาร์ด

 

 

 

 

สวาลบาร์ดเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ด้วยเหตุผลหลายประการ ถึงแม้ว่าอุณหภูมิโลกจะปรับตัวสูงขึ้นแต่บริเวณขั้วโลกซึ่งปกคลุมไปด้วยน้ำแข็งตลอดทั้งปีอย่างสวาลบาร์ดจะช่วยคงความหนาวเย็นเอาไว้ได้ดีกว่าพื้นที่อื่น ๆ บนโลก  พื้นที่แห่งนี้มีสภาพภูมิประเทศที่มั่นคงและแทบไม่ได้รับผลกระทบจากการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลก  ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นสถานที่ใกล้ขั้วโลกเหนือเพียงแห่งเดียวที่มีสนามบินให้เที่ยวบินประจำได้ลงจอดด้วย

 

คลังเมล็ดพันธุ์พืชโลกสวาลบาร์ดตั้งอยู่ลึกเข้าไป 120 เมตรในภูเขาหินทรายซึ่งทำหน้าที่เป็นฉนวนป้องกันความร้อนและแช่แข็งคลังเมล็ดพันธุ์เอาไว้ หากระบบทำความเย็นเกิดขัดข้อง ห้องเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ทั้งสามห้องถูกสร้างขึ้นสูงจากระดับน้ำทะเล 130 เมตร และติดตั้งสถานีสูบน้ำฉุกเฉินไว้สองแห่งเพื่อจัดการกับน้ำที่ซึมเข้ามา และป้องกันเหตุน้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด

 

 

 

 

เมล็ดพันธุ์พืชจะถูกเก็บรักษาไว้อย่างดีในบรรจุภัณฑ์สุญญากาศซึ่งทำขึ้นจากแผ่นฟอยล์หนาสามชั้นและบรรจุลงในกล่องพลาสติก ก่อนที่จะนำไปวางซ้อนกันบนชั้นโลหะที่สูงจรดเพดานห้อง  หน่วยทำความเย็นซึ่งอาศัยพลังงานจากถ่านหินที่ขุดได้ในแถบนั้นจะปรับอุณหภูมิภายในห้องให้ลดลงไปอยู่ที่ -18 องศาเซลเซียสซึ่งเป็นสภาวะที่เหมาะสมในการจัดเก็บ  อุณหภูมิที่ต่ำและการจำกัดปริมาณออกซิเจนและความชื้นจะช่วยลดการเผาผลาญสารอาหารและช่วยยืดระยะเวลาในการจัดเก็บเมล็ดพันธุ์พืชออกไปให้ได้นานที่สุด  ในกรณีที่ระบบทำความเย็นได้รับความเสียหาย อาจต้องใช้เวลานานกว่าสองศตวรรษกว่าที่คลังเมล็ดพันธุ์แห่งนี้จะค่อย ๆ อุ่นขึ้นจนถึงอุณหภูมิ 0 องศาเซลเซียส

 

 

 

 

คลังเมล็ดพันธุ์แช่แข็งสามารถจัดเก็บพันธุ์พืชได้มากถึง 4.5 ล้านสายพันธุ์ ปัจจุบันมีจำนวนตัวอย่างเมล็ดพันธุ์จากทั่วโลกถูกเก็บรักษาเป็นอย่างดีในห้องนิรภัยแห่งนี้กว่า 1,000,000 ตัวอย่างแล้วโดยเน้นไปที่การอนุรักษ์พันธุ์พืชอาหาร เช่น ข้าวสาลี ข้าวเจ้า ข้าวโพด และพืชตระกูลถั่วเป็นหลัก  เมื่อกล่องใส่เมล็ดพันธุ์เดินทางมาถึงสวาลบาร์ด เจ้าหน้าที่จะตรวจรับและลงทะเบียนเมล็ดพันธุ์เข้าสู่สารบบพร้อมกับเปิดเผยข้อมูลเบื้องต้นให้สาธารณะเข้าถึงได้

 

 

 

 

นอกจากการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์พืชให้คงอยู่ตลอดไปแล้ว คลังข้อมูลสำหรับรับมือกับภัยคุกคามที่คาดไม่ถึงกำลังขยายรูปแบบไปสู่การเป็นแหล่งสำรองข้อมูลและเอกสารสำคัญอีกด้วย  หอจดหมายเหตุโลกอาร์กติก (The Arctic World Archive) เป็นแหล่งจัดเก็บข้อมูลแบบออฟไลน์เพื่อปกป้องข้อมูลจากการโจรกรรมทางไซเบอร์  ข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำไปบันทึกลงบนแผ่นฟิล์มชนิดพิเศษและเก็บรักษาไว้ในบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ ก่อนนำไปจัดเก็บภายในห้องนิรภัยซึ่งซ่อนตัวอยู่ในเหมืองร้างบนหมู่เกาะสวาลบาร์ด

 

 

 

 

ไฟล์ที่สามารถเขียนลงบนแผ่นฟิล์มได้มีทั้งที่อยู่ในรูปของเอกสารซึ่งเป็นตัวหนังสือ รูปภาพ ภาพเคลื่อนไหวพร้อมเสียง ตลอดจนฐานข้อมูลในรูปแบบดิจิทัล  บรรดาข้อมูลต่าง ๆ ที่จะนำมาจัดเก็บลงสื่อบันทึกข้อมูลจะต้องถูกแปลงให้เป็นชุดข้อมูลดิจิทัลในลักษณะเดียวกับจุดสีขาว-ดำที่ปรากฏอยู่บน QR code เพื่อนำรหัสเหล่านั้นไปเขียนลงบนแผ่นฟิล์ม หลังจากทดสอบการถอดรหัสด้วยเครื่องอ่านฟิล์มแล้ว ม้วนฟิล์มจะถูกนำไปบรรจุลงในกล่องจัดเก็บก่อนที่จะส่งไปเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีที่ห้องจัดเก็บในสวาลบาร์ด  ผลการทดสอบที่สภาวะจำลองแสดงให้เห็นว่าแผ่นฟิล์มและกล่องบรรจุที่พัฒนาขึ้นมาสามารถเก็บรักษาข้อมูลสำคัญได้ยาวนานกว่า 500 ปีในสภาวะปกติ

 

หอจดหมายเหตุโลกอาร์กติกเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมาโดยมีหอจดหมายเหตุแห่งชาติของบราซิล เม็กซิโก และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินอร์เวย์เป็นหน่วยงานที่นำข้อมูลเข้าไปเก็บรักษาไว้เป็นชุดแรก นอกจากนี้หอจดหมายเหตุโลกอาร์กติกยังเปิดกว้างและได้รับความสนใจสื่อสารมวลชนแขนงต่าง ๆ  อาทิ CNN, นิตยสารไทม์ และสภาเศรษฐกิจโลกในการนำข้อมูลสำคัญมาจัดเก็บไว้อีกด้วย  เนื่องจากสภาพอากาศบริเวณขั้วโลกที่มีน้ำแข็งปกคลุมตลอดทั้งปีเป็นสภาวะที่เหมาะสมที่สุดสำหรับเก็บรักษาข้อมูลอันมีค่า สวาลบาร์ดจึงเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยที่สุดและหนาวเย็นที่สุดสำหรับจัดเก็บม้วนฟิล์มและเมล็ดพันธุ์พืชเพื่อชนรุ่นหลังให้คงอยู่ได้ต่อไปอีกเป็นเวลาหลายศตวรรษ

 

 

 

 

รู้หรือไม่?

 

พิกเคิล (Piql) เป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีของนอร์เวย์ที่ให้บริการจัดเก็บข้อมูล ณ หอจดหมายเหตุโลกอาร์กติก  ข้อมูลต่าง ๆ จะถูกนำมาบันทึกลงบนแผ่นฟิล์มเฉพาะที่มีชื่อว่า piqlFilm ซึ่งเป็นแผ่นฟิล์มไวแสงที่ทนต่อสารเคมีและผ่านการปรับปรุงคุณสมบัติในระดับนาโนเพื่อให้สามารถบรรจุข้อมูลดิจิทัลได้มากขึ้น  นอกจากฟิล์มที่ออกแบบมาเพื่อการเก็บรักษาข้อมูลโดยเฉพาะแล้ว บรรจุภัณฑ์ซึ่งผลิตจากวัสดุพลาสติกชนิดพิเศษยังมีบทบาทสำคัญในการปกป้องม้วนฟิล์มจากการเสื่อมสภาพอีกด้วย  แผ่นฟิล์มและบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่มีความแข็งแรงและทนทานเป็นพิเศษผ่านการพิสูจน์แล้วว่าสามารถปกป้องข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นเวลายาวนานหลายร้อยปี

 

www.piql.com

 

 

หัวข้อที่เกี่ยวข้อง

ABOUT THE WRITER

Science Ilustrated
ไซแอนซ์ อิลลัสเตรเต็ด

นิตยสารที่มุ่งให้ความรู้จากโลกวิทยาศาสตร์แก่ผู้อ่านด้วยภาษาที่เข้าใจง่ายและเพลิดเพลิน

แต่ละฉบับจะนำผู้อ่านเดินทางผ่านกาลเวลาและระยะทางอันยาวไกลสู่โลกของวิทยาศาสตร์ทุก ๆ สาขาตั้งแต่ต้นกาเนิดของชีวิตไปจนถึงเทคโนโลยีล้ำสมัยแห่งอนาคตและจากก้นบึ้งของมหาสมุทรไปสู่วัตถุที่อยู่ไกลสุดขอบจักรวาล โดยมีเนื้อหาหลักๆ เกี่ยวกับ เทคโนโลยี , การแพทย์ , ธรรมชาติ, และวัฒนธรรม

บทความอื่นๆ
[elementor-template id="3478"]