Venture Capital ทางเลือกนักลงทุน ทางรอด Startup
Publish On 30, Sep 2017 | Venture Capital ทางเลือกนักลงทุน ทางรอด Startup
ช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมาแวดวงไอทีคึกคักไปกับการเปิดตัว iPhone 8 และ iPhone X เป็นอย่างยิ่ง และไม่ว่าจะเป็นสาวกแอปเปิ้ลฟีเวอร์ หรือผู้ใช้โทรศัพท์ทั่วไปก็รอการครอบครองไอโฟนรุ่นใหม่กันด้วยใจจดจอ แต่กว่าที่วันที่แอปเปิ้ลและไอโฟนจะเกิดขึ้น หากไม่มีคนหรือกลุ่มทุนที่เห็นไอเดียบรรเจิดของสตีฟ จ็อบส์ เราคงไม่ได้เห็นบริษัทแอปเปิ้ลผงาดเป็นบริษัทชั้นนำของโลกไปได้ นั่นคือกลุ่มทุนที่เรียกว่า “Venture Capital”
Venture Capital (VC) หรือ ธุรกิจร่วมทุน คือ ธุรกิจทางการเงินที่ลงทุนในกิจการที่มีศักยภาพ ทว่าขาดทุนทรัพย์และอาจมีเครดิตไม่มากพอที่ธนาคารจะให้สินเชื่อ ทำให้บริษัทสตาร์ทอัพเหล่านั้นต้องหาทุนจากแหล่งอื่น ซึ่ง VC เองก็ได้กำไรจากการนำเงินไปร่วมลงทุน และยิ่งมีกำไรมากขึ้นจากการขายหุ้นเมื่อบริษัทเหล่านั้นดันตัวเองเข้าตลาดหลักทรัพย์สำเร็จ
ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นต้นกำเนิดของ VC ตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง โดย Georges Doriot ผู้ได้รับการขนานนามว่าเป็นบิดาแห่ง VC เขาได้ตั้ง American Research and Development Corporation (ARDC) และประสบความสำเร็จอย่างมากในการร่วมลงทุนกับบริษัทต่างๆ เช่น Digital Equipment Corporation (DEC) ที่มีผลกำไรให้เขาถึงปีละ 101 % ตั้งแต่ปีพศ. 2500-2511
แม้ธุรกิจ VC จะได้รับผลตอบแทนสูง และมีการเติบโตสูงในระยะแรก แต่ก็ตกต่ำลงช่วงพ.ศ. 2523 กระทั่งกลับมาบูมอีกครั้งราวปีพ.ศ.2533 พร้อมการเกิดขึ้นของคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต ทำให้มีบริษัทเทคโนโลยีเกิดขึ้นมากมายและต้องการแหล่งเงินทุน เช่น Digital Equipment Corporation บริษัทคอมพิวเตอร์ยักษ์ใหญ่ระดับเดียวกับ IBM ,บริษัท Apple Inc. ยุคที่สตีฟ จ็อบส์กำลังสร้างตำนานแอปเปิ้ลคอมพิวเตอร์,Genentech บริษัทด้านเทคโนโลยีชีวภาพที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก ไม่เว้นแม้แต่ Facebook, Google, Instagram และ WhatsApp ล้วนเป็นตัวอย่างบริษัทที่ได้รับโอกาส และเงินทุนจาก VC ทั้งสิ้น และแน่นอนว่า VC ก็ได้รับผลตอบแทนมหาศาลจากการร่วมทุนกับบริษัทเหล่านั้น
กระทั่งปีพ.ศ. 2558 ด้วยกระแสบริษัทสตาร์อัพ และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) กำลังเติบโตในบ้านเรา ทำให้ VC เป็นที่รู้จักในเมืองไทยมากขึ้น ด้วยข้อดีของสไตล์การทำงานที่เน้นการลงทุนระยะยาว 3-5 ปี ทั้งยังเป็นการลงทุนที่เหมือนเป็นเจ้าของกิจการ รวมถึงสามารถให้คำปรึกษาด้านการเงิน และแนวทางต่างๆ เพื่อให้ธุรกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมีเป้าหมายหลัก คือ ผู้ประกอบการหรือบริษัทรุ่นใหม่ ทำให้ทั้ง VC และบริษัทที่ VC เข้าไปร่วมทุนก้าวเดินอย่างมั่นคงและยั่งยืนจนสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หากกล่าวโดยสรุปบริษัท VC จะมีลักษณะ ดังต่อไปนี้
- หวังผลตอบแทนสูง คุ้มค่ากับความเสี่ยง
- ร่วมลงทุนระยะยาว (3 ปีขึ้นไป)
- มีระยะเวลาการลงทุนที่แน่นอน
- บริหารเงินร่วมลงทุนอย่างมืออาชีพ
สำหรับผู้ที่สนใจ Alternative Investments การนำเงินไปลงทุนในธุรกิจร่วมทุนจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถได้ผลตอบแทนก่อนหักค่าใช้จ่ายปีละ 15 – 30 % ทั้งยังเกื้อกูลและเป็นพี่เลี้ยงกิจการหรือธุรกิจใหม่ที่มีโอกาสเติบโต ธุรกิจร่วมทุนจึงเป็นอีกทางเลือกในการลงทุนที่น่าสนใจใน ณ วันนี้
เอสซีจี ได้จัดตั้งบริษัทรูปแบบ Corporate Venture Capital หรือ CVC ภายใต้ชื่อ AddVentures เพื่อเสริมศักยภาพและลงทุนในสตาร์ทอัพไทยและทั่วโลก โดยจะมองหาดิจิตอลเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจหลักของเอสซีจี ซึ่งมีพันธมิตรเป้าหมายในการลงทุนอยู่ใน 3 กลุ่มหลักคือกลุ่ม Enterprise กลุ่ม Industrial และกลุ่ม B2B โดยเปิดกว้างทั้งความร่วมมือเชิงพาณิชย์ การอนุญาตให้ใช้ทรัพย์สินทางปัญญา และการร่วมทุน
สำหรับสตาร์ทอัพที่สนใจร่วมงานกับ AddVentures สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง www.addventures.co.th Facebook AddVenture by SCG หรือ LinkedIn: AddVentures by SCG