‘เสื้อกันฝน’ เลือกแบบไหน ? ใช้วัสดุอะไรดี ?
Publish On 19, Sep 2023 | ‘เสื้อกันฝน’ เลือกแบบไหน ? ใช้วัสดุอะไรดี ?
ช่วงที่ฝนตกบ่อย ๆ แบบนี้ หลายคนยังมีความจำเป็นต้องออกไปทำงานนอกบ้าน บ้างตากฝนเพียงชั่วคราวเพื่อเดินทาง บ้างต้องตากฝนเป็นระยะเวลานานเพราะต้องทำงานกลางแจ้ง ไอเทมกันฝนที่ใช้งานคล่องตัวมากที่สุด ไม่ต้องหยิบจับ หรือถือไว้ให้เมื่อย หลายคนคงนึกถึง “เสื้อกันฝน” ซึ่งก็มีหลากหลายแบบให้เลือกซื้อ แต่ละคนก็มีความต้องการใช้งานในรูปแบบที่แตกต่างกันไป
ชนิดของวัสดุเสื้อกันฝน
เสื้อกันฝนแบบบาง
- ผลิตจาก LDPE
- บาง น้ำหนักเบา พกง่าย
- สามารถรีไซเคิลได้
- ราคาถูก
- เหมาะกับการพกพาไว้ใช้งานชั่วคราว
- สามารถใช้ซ้ำได้หากสภาพยังดี
เสื้อกันฝนแบบหนา
- ผลิตจาก PVC หรือ EVA (Ethylene Vinyl Acetate)
- เนื้อหนา ทนทานกว่าแบบบาง
- นำไปใช้งานซ้ำได้ สามารถใช้ได้ในการปฏิบัติงาน หรือใช้สำหรับเสื้อกันฝนขี่มอเตอร์ไซต์
ในประเทศไทยมักจะคุ้นเคยกับเสื้อกันฝนพลาสติกแบบบาง เพราะหาซื้อได้ง่าย ราคาย่อมเยา มีน้ำหนักเบา สามารถพับเก็บได้ เพิ่มความสะดวกสำหรับพกติดกระเป๋าได้ทุกเวลา เผื่อเอาไว้วันที่ฟ้าไม่เป็นใจ แต่บางคนก็ต้องการชุดกันฝนแบบหนาที่ใช้งานได้นาน ไม่ขาดง่าย พร้อมปฏิบัติงานทุกเมื่อ
นอกจากนี้หลายคนยังมีอุปกรณ์คู่ใจอื่น ๆ อย่าง รองเท้า กระเป๋า เสื้อแจ็กเกต ที่มีการนำผ้าที่มีคุณสมบัติกันน้ำไปใช้เพื่อช่วยเพิ่มอายุการใช้งานให้นานยิ่งขึ้น ดังนั้นเรามาทำความรู้จักวัสดุผ้าชนิดนี้ ที่ถูกนำมาใช้ทำเป็นข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ รอบตัวเพื่อสามารถนำไปปรับเลือกใช้งานได้อย่างถูกต้องไปด้วยกัน
‘ผ้าสะท้อนน้ำ’ และ ‘ผ้ากันน้ำ’ ความเหมือนที่แตกต่าง สังเกตได้ไม่ยาก
ผ้าสะท้อนน้ำ (Water Repellent)
- ผ้าทำมาจากฟลูออโรคาร์บอน หรือ เทฟลอน
- มีคุณสมบัติที่อากาศสามารถผ่านได้ หากโดนฝนน้ำจะกลิ้งเหมือนอยู่บนใบบัว แต่ถ้าปล่อยไว้สักระยะน้ำจะซึมลงเนื้อผ้า
- นิยมนำมาใช้กับผ้าบุเฟอร์นิเจอร์ เพื่อตกแต่งและเพิ่มคุณสมบัติชะลอการซึมผ่านของน้ำ ทำให้เช็ดทำความสะอาดคราบสกปรกจำพวกของเหลวได้ง่าย โดยที่ผิวสัมผัสจะไม่แตกต่างจากเดิมมากนัก
ผ้ากันน้ำ (Waterproof)
- เป็นผ้าที่น้ำและอากาศไม่สามารถซึมผ่านได้แม้ทิ้งไว้เป็นเวลานาน มักเป็นผ้าที่เคลือบด้วยพลาสติกชนิด PU หรือซิลิโคน
- มีคุณสมบัติที่สามารถกันน้ำได้ 100% รวมถึงมีความทนทาน สามารถใช้งานได้ในระยะยาว
- ข้อเสียระบายอากาศได้น้อย หากนำไปทำเสื้อผ้าจะทำให้ผู้ใส่รู้สึกอบร้อนมาก
- นิยมนำมาผลิตกระเป๋าผ้ากันน้ำสำหรับกีฬาทางน้ำ ผ้าม่าน ผ้ากันเปื้อน ผ้าปูรองที่นอน
รู้หรือไม่ !? ประวัติศาสตร์เสื้อกันฝนยุคใหม่เกิดขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1824
จุดเริ่มต้นของเสื้อกันฝนยุคใหม่เกิดขึ้นจาก ชาร์ลส์ แม็กอินทอช (Charles Macintosh) นักเคมีชาวสกอตแลนด์ ได้คิดค้นวิธีการทำผ้ากันน้ำ โดยนำผ้าฝ้าย 2 ผืนทาด้วยยางแนฟทา มีลักษณะเป็นสารข้นเหนียวคล้ายกาวได้จากกระบวนการกลั่นน้ำมันดิบ รีดประกบเป็นผืนเดียว ทำให้ผ้ามีคุณสมบัติกันน้ำซึมผ่าน นับเป็นการเปลี่ยนวิธีทำผ้ากันน้ำจากวิธีธรรมชาติสู่กระบวนการทางเคมี นอกจากประสิทธิภาพการกันน้ำแล้ว ยังช่วยทำให้เนื้อผ้าแข็งแรงขึ้นและยืดหยุ่นได้ดี จดเป็นสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ในปี 1824 และผลิตขายในปีถัดมา
กว่าจะเป็นเสื้อกันฝนที่เราใส่กันทุกวันนี้ มีพลาสติกเป็นวัสดุสำคัญที่ช่วยพลิกโฉมให้เสื้อกันฝนใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แทนการใช้วัสดุจากธรรมชาติ ช่วยให้ผู้คนสามารถทำงาน เดินทาง ใช้ชีวิตได้สะดวกสบายแม้ในวันฝนตก และยังต่อยอดสู่ของใช้ต่าง ๆ ให้เราใช้ชีวิตได้สะดวกยิ่งขึ้น และอย่าลืมใช้พลาสติกซ้ำให้คุ้มค่า แยกประเภทขยะหลังการใช้งาน เพื่อส่งเสริมการรีไซเคิล