Close
|
the first plastic bag
> KNOWLEDGE > พลาสติกทำมาจากอะไร แล้วเกิดมาทำไมกันนะ!?

พลาสติกทำมาจากอะไร แล้วเกิดมาทำไมกันนะ!?

Publish On 07, Jul 2023 | พลาสติกทำมาจากอะไร แล้วเกิดมาทำไมกันนะ!?

จริง ๆ แล้วพลาสติก คือวัสดุสังเคราะห์ที่มาทดแทนการใช้วัสดุธรรมชาติ ส่วนใหญ่เกิดจากการนำน้ำมันดิบหรือก๊าซธรรมชาติ มาผ่านกระบวนการกลั่น ก่อให้เกิดปฏิกิริยาพอลิเมอไรเซชัน (Polymerization) ด้วยการนำสารประกอบมาทำปฏิกิริยาให้ต่อกันเป็นโมเลกุลขนาดใหญ่สายยาว ก็จะได้วัสดุพลาสติก โดยพลาสติกชนิดต่าง ๆ มีการใช้สารเติมแต่ง (Polymer additive) และสารปรับปรุงคุณภาพ เพื่อให้ได้คุณสมบัติเฉพาะตอบโจทย์ตามผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ต้องการ

 

 

ประวัติศาสตร์มุนษยชาติและพลาสติก

ในรอบกว่า 100 ปีที่ผ่านมา ความสำเร็จแบบก้าวกระโดดของคนทั้งโลกที่นอกเหนือไปจากภารกิจเหยียบดวงจันทร์ของยานอะพอลโล 11 การคิดค้นวัคซีนโรคโปลิโอ การค้นพบปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชัน และอินเทอร์เน็ตแล้ว ยังรวมไปถึง “พลาสติก” ด้วย สิ่งประดิษฐ์ด้านวัสดุศาสตร์สุดมหัศจรรย์นี้ได้เข้ามาพลิกโฉมภูมิทัศน์ทางธุรกิจ พร้อมช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคมเรื่อยมาตั้งแต่ช่วงปี 1960 แต่ในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปีที่ผ่านมากลับถูกเหมารวมว่าเป็นหนึ่งในต้นตอของปัญหาขยะสิ่งแวดล้อม และสถานะความเป็นผู้ร้ายที่ทำลายธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตยังคงถูกผลิตซ้ำอย่างต่อเนื่อง

 

 

‘พลาสติก’ สุดยอดวัสดุที่เกิดจากความตั้งใจดี

 

ลูกบิลเลียดทำจากเซลลูลอยด์

ลูกบิลเลียด ที่ผลิตจากเซลลูลอยด์ พลาสติกกึ่งสังเคราะห์ชนิดแรกของโลก

จอห์น เวสลีย์ ไฮเอตต์ (John Wesley Hyatt) พยายามค้นหาวัสดุทดแทนงาช้างเพื่อมาทำลูกบิลเลียด ซึ่งในขณะนั้นเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมอย่างมาก จนเป็นสาเหตุให้ช้างป่าในแถบแอฟริกาลามไปจนถึงเอเชียถูกไล่ล่าเพื่อเอางาจนเกือบสูญพันธุ์ บริษัทผู้ผลิตลูกบิลเลียดในประเทศสหรัฐอเมริกาจึงได้ประกาศให้รางวัล 10,000 เหรียญแก่ผู้ที่สามารถหาวัสดุทดแทนงาช้างเพื่อใช้ในการทำลูกบิลเลียดได้ อันเป็นที่มาของต้นกำเนิดวัสดุพลาสติกกึ่งสังเคราะห์ชนิดแรกของโลกที่มนุษย์สร้างขึ้นที่เรียกว่าเซลลูลอยด์ (Celluloid) และยังถูกต่อยอดไปเป็นวัสดุทำคีย์เปียโนแทนงาช้าง ทำหวีแทนกระดองสัตว์ และกลายเป็นจุดกำเนิดของฟิล์มในวงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์และภาพถ่าย

 

 

ฟิล์มเซลลูลอยด์

ฟิล์มเซลลูลอยด์สำหรับภาพยนตร์และการถ่ายภาพ

 

สินค้าที่ผลิตจากเบเคอไลต์

ตัวอย่างโทรศัพท์ที่ผลิตจาก ‘เบเคอไลต์’ พลาสติกรุ่นบุกเบิก

 

ในยุคต่อมา ลีโอ เบคแลนด์ (Leo Baekeland) ได้พยายามสังเคราะห์สารประกอบต่าง ๆ เพื่อให้ได้ออกมาเป็นวัสดุชนิดใหม่ที่ทั้งเหนียว ทนทาน และมีน้ำหนักเบา ซึ่งต่อมาได้รับการตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ให้กำเนิดมันว่า ‘เบเคอไลต์ (Bakelite)’ พลาสติกรุ่นบุกเบิกนี้พลิกโฉมสังคมของผู้คนในยุคนั้นไปอย่างสิ้นเชิง เพราะสามารถนำไปผลิตเป็นสิ่งของได้หลายชนิด อาทิ ฉนวนเคลือบสายไฟ ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า รวมไปถึงเครื่องประดับต่าง ๆ จนเบเคอไลต์ถูกเรียกในอีกชื่อหนึ่งว่า ‘วัสดุสารพัดนึก’ (The Material of a Thousand Uses) นั่นเอง

 

 

‘ถุงพลาสติก’ ถือกำเนิด

ปี ค.ศ. 1965 เป็นอีกหนึ่งความก้าวล้ำของวัสดุพลาสติกถุงพลาสติกหูหิ้ว’ (T-shirt plastic shopping bag)’ ที่มี สเตียน กุสตาฟ ทูลิน (Sten Gustaf Thulin) เป็นผู้ออกแบบ ยังคงสะท้อนคุณสมบัติอันโดดเด่นของพลาสติกไว้ได้อย่างชัดเจนที่สุด นั่นคือ เป็นวัสดุชนิดใหม่เพื่อใช้ทดแทนวัสดุธรรมชาติ และต้องผลิตได้ง่ายตอบโจทย์ความต้องการของสังคม ใช้ได้ทนทาน เพื่อลดการตัดป่าไม้ที่ถูกนำใช้ไปเป็นจำนวนมากเพื่อผลิตเป็นถุงกระดาษ

 

 

สเตียน กุสตาฟ ทูลิน ผู้ออกแบบถุงพลาสติกหูหิ้วคนแรกของโลก

สเตียน กุสตาฟ ทูลิน ผู้ออกแบบถุงพลาสติกหูหิ้วเพื่อทดแทนการตัดป่าไม้

 


ด้วยความสามารถพิเศษในการปรับแต่งคุณสมบัติได้หลากหลายของพลาสติก เพียงแค่ใส่สารเสริมเติมแต่งบางชนิดเข้าไป วัสดุพลาสติกก็จะแปลงร่างได้อย่างสร้างสรรค์ดั่งใจนึก ไม่ว่าจะเป็นการกันน้ำ การทนความร้อน น้ำหนักเบา ไปจนถึงการเปลี่ยนรูปร่างหน้าตาสีสันได้สวยงาม นอกจากนี้ ขั้นตอนในการผลิตพลาสติกนั้นยังมีการใช้น้ำและใช้พลังงานที่น้อยกว่า ทำให้มีต้นทุนที่ถูกกว่า พลาสติกจึงได้กลายเป็นวัสดุสุดฮอตที่ถูกนำไปใช้ในวงการต่าง ๆ ตั้งแต่ทำเป็นสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงชิ้นส่วนของอุปกรณ์ไฟฟ้า กันชนและชิ้นส่วนรถยนต์ ท่อส่งน้ำ หรือแม้กระทั่งอุปกรณ์การแพทย์ 

 

 

ประเด็นท้าทายของประเทศไทยและคนทั้งโลก

จากความกังวลเรื่องทรัพยากรธรรมชาติที่นับวันยิ่งใช้ยิ่งหมดลงแล้ว พลาสติกจึงกลายเป็นวัสดุทางเลือกแห่งยุคสมัย แต่คงไม่มีใครคาดคิดว่าการขานรับการใช้งานพลาสติกในรูปแบบนี้ จะเป็นอีกหนึ่งจุดเริ่มต้นของวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมที่โลกยุคปัจจุบันกำลังเผชิญ ผลพวงจากการผลิตแบบอุตสาหกรรมทำให้สินค้าหลายชนิดซึ่งรวมถึงสินค้าพลาสติกถูกผลิตออกมาเป็นจำนวนมาก อัตราการใช้งานข้าวของเครื่องใช้ชนิดต่าง ๆ ของสังคมบริโภคนิยมจึงเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การใช้สิ่งของซ้ำเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่มองข้าม เพราะไม่ได้ตระหนักว่าทรัพยากรกำลังร่อยหรอลงไป และระเบิดเวลาก้อนใหญ่ที่จะเป็นภัยต่อธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตของคนในเจเนเรชันต่อมาได้เริ่มนับถอยหลังแล้ว

 

ปัญหาขยะพลาสติก

 

เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จึงได้กลายเป็นหลักในการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและตอบโจทย์ด้านความยั่งยืน SCGC มุ่งมั่นขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างเป็นรูปธรรมมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านการพัฒนานวัตกรรมและโซลูชันพลาสติกให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาทิ การออกแบบตั้งแต่ต้นทางเพื่อให้พลาสติกนั้นรีไซเคิลได้ง่ายขึ้น (Recyclable) การลดการใช้ทรัพยากรการผลิต (Reduced material use) แต่เพิ่มประสิทธิภาพของวัสดุ และการนำพลาสติกใช้แล้วมาหมุนเวียนเพื่อใช้ประโยชน์เป็นวัตถุดิบได้ใหม่อีกครั้ง (Recycle) เพื่อให้ ‘พลาสติก’ สิ่งประดิษฐ์ด้านวัสดุศาสตร์ของโลกชิ้นนี้ถูกใช้งานอย่างยั่งยืน

 

 

พลาสติกเพื่อสิ่งแวดล้อม

นวัตกรรมพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 4 โซลูชันจาก SCGC

 

 

มาดูตัวอย่างความตั้งใจในการนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนของ SCGC มาใช้ในการดำเนินธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม SCGC พัฒนานวัตกรรมพลาสติกเพื่อสิ่งแวดล้อมที่เรียกว่า SCGC GREEN POLYMER™ ที่ตอบโจทย์ตามหลักเศษฐกิจหมุนเวียน ครอบคลุม 4 ด้าน คือ การลดใช้ทรัพยากร การออกแบบเพื่อให้รีไซเคิลง่าย การนำกลับมาใช้ใหม่ และการทำให้ย่อยสลายได้ทางชีวภาพและการใช้ทรัพยากรหมุนเวียน

 

 

ที่มา: AMRICANHISTORYMTEC

หัวข้อที่เกี่ยวข้อง

[elementor-template id="3478"]