7 ประเภทของพลาสติกและสัญลักษณ์รีไซเคิลที่ทุกคนควรรู้
Publish On 06, Jul 2023 | 7 ประเภทของพลาสติกและสัญลักษณ์รีไซเคิลที่ทุกคนควรรู้
พลาสติกเป็นสิ่งที่เราใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวัน หลายครั้งที่เราใช้งานเสร็จแล้วทิ้งไปโดยอาจจะไม่รู้หรือลืมไปว่า พลาสติกใช้แล้วเหล่านี้จัดว่าเป็นพลาสติกรีไซเคิลที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ โดยสังเกตได้จากตัวเลขและสัญลักษณ์รีไซเคิลที่มักพิมพ์ไว้บนบรรจุภัณฑ์
เพราะฉะนั้น เราจึงอยากชวนทุกคนมาทำความรู้จักพลาสติกให้มากขึ้น และช่วยกันแยกให้ถูกต้อง เพื่อจะได้นำไปรีไซเคิล และยังเป็นการช่วยลดปริมาณขยะให้กับโลกเรา เริ่มง่าย ๆ ด้วยการทำเรียนรู้ประเภทของพลาสติกกันก่อน จากการแบ่งตามคุณสมบัติพลาสติกทางความร้อน
พลาสติกโดยทั่วไป แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่
พลาสติกประเภทเทอร์มอเซต (THERMOSETTING PLASTIC)
- คุณสมบัติ: เมื่อได้รับความร้อนไม่สามารถอ่อนตัว หรือนำมาหลอมใหม่ได้ ทนต่ออุณหภูมิสูง และสารเคมีมากกว่า THERMOPLASTIC
- ตัวอย่างผลิตภัณฑ์: เมลามีน ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า สารเคลือบผลิตภัณฑ์ ยางสังเคราะห์ เป็นต้น
- นับว่าเป็นพลาสติกที่รีไซเคิลได้ยาก แต่บางชนิดได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทำให้สามารถรีไซเคิลได้
พลาสติกประเภทเทอร์มอพลาสติก (THERMOPLASTIC)
- คุณสมบัติ: เมื่อได้รับความร้อนจะอ่อนตัว สามารถนำมาหลอมขึ้นรูปใหม่ได้หลายครั้ง
- ตัวอย่างผลิตภัณฑ์: ถุงพลาสติก กล่องบรรจุอาหาร แกลลอนใส่นม ท่อน้ำ เป็นต้น
- ส่วนใหญ่เป็นชนิดพลาสติกรีไซเคิล
ผลิตภัณฑ์พลาสติกในชีวิตประจำวัน แบ่งออกเป็น 7 ประเภท
พลาสติกเบอร์ 1 – PET หรือ PETE (POLYETHYLENE TEREPHTHALATE)
- คุณสมบัติ: ใส แข็ง เบา ทนความเป็นกรด กันการซึมผ่านของออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดี
- ตัวอย่างผลิตภัณฑ์: ขวดน้ำดื่ม ขวดน้ำอัดลม กล่องใสใส่ผลไม้
พลาสติกเบอร์ 2 – HDPE (HIGH DENSITY POLYETHYLENE)
- คุณสมบัติ: มีลักษณะขุ่น มีความแข็งแรงสูง เหนียว ทนสารเคมี
- ตัวอย่างผลิตภัณฑ์: ขวดแชมพู ขวดน้ำยาซักผา แกลลอนใส่นม ถุงร้อนขุ่น ถุงหูหิ้ว
พลาสติกเบอร์ 3 – PVC (POLYVINYL CHLORIDE)
- คุณสมบัติ: มีลักษณะหลากหลาย ตั้งแต่แข็ง จนถึงอ่อนนิ่ม
- ตัวอย่างผลิตภัณฑ์: ฟิล์มห่ออาหาร หนังเทียม ทอน้ำ กรอบประตูหน้าต่าง
พลาสติกเบอร์ 4 – LDPE (LOW-DENSITY POLYETHYLENE)
- คุณสมบัติ: นิ่ม เหนียว ยืดหยุ่น ทนต่ออุณหภูมิต่ำได้ดี
- ตัวอย่างผลิตภัณฑ์: ถุงใส่ขนมปัง ถุงซิปล็อก ถุงบรรจุผ้าออมเด็ก ถุงบรรจุผ้าอนามัย
พลาสติกเบอร์ 5 – PP (POLYPROPYLENE)
- คุณสมบัติ: เหนียว ทนความร้อนและป้องกันความชื้นได้ดี
- ตัวอย่างผลิตภัณฑ์: กล่องอาหารที่เข้าไมโครเวฟได้ ฝาขวดน้ำ ถ้วยโยเกิร์ต หลอด
พลาสติกเบอร์ 6 – PS (POLYSTYRENE)
- คุณสมบัติ: โฟม มีลักษณะฟู น้ำหนักเบา บางชนิดใส เปราะ
- ตัวอย่างผลิตภัณฑ์: กล่องโฟมใสอาหาร แก้วน้ำพลาสติกแบบบาง ฟองน้ำ
พลาสติกเบอร์ 7 – OTHER
- คุณสมบัติ: พลาสติกชนิดอื่น ๆ ที่ไม่อยู่ใน 6 ประเภทข้างต้น
- ตัวอย่างผลิตภัณฑ์: ไนลอน อะคริลิก เมลามีน
พลาสติกรีไซเคิลได้ คนรับซื้อแฮปปี้
- พลาสติกชนิด 1-6 รีไซเคิลได้ แต่ขึ้นอยู่กับสภาพ ต้องไม่เป็นวัสดุผสม และบางชนิดมีข้อจำกัดในการรีไซเคิล เช่น ขวด PET สี ที่รีไซเคิลยากกว่าแบบใส เพราะจำเป็นต้องเพิ่มขั้นตอนการแยกเม็ดสีออกก่อน เพื่อให้ได้เม็ดพลาสติกรีไซเคิลที่มีคุณสมบัติมาตรฐานเดียวกัน
- พลาสติกที่นิยมนำมารีไซเคิลมากที่สุด และขายง่าย คือ พลาสติกเบอร์ 1 PET และพลาสติกเบอร์ 2 HDPE เนื่องจากมักปนเปื้อนน้อย เก็บรวบรวมได้ง่าย และมีน้ำหนัก
- ตัวอย่างพลาสติกรีไซเคิล: #1 PET รีไซเคิลเป็น เส้นใยสังเคราะห์ ทำเสื้อผ้า #2 HDPE และ #5 PP รีไซเคิลเป็น ถัง กะละมัง กล่อง ถุงขยะ
พลาสติกที่รีไซเคิลไม่ได้ แต่ยังสร้างประโยชน์ได้ ถ้าจัดการให้ถูก
- พลาสติกที่ปนเปื้อนสารเคมีหรือไม่สะอาด ดังนั้นพลาสติกที่รวบรวมสำหรับรีไซเคิล ไม่ควรปนเปื้อนเศษอาหาร หรือสารเคมีน้ำยาต่าง ๆ
- พลาสติกที่มีวัสดุหลายชั้น (Multilayer film) ไม่สามารถแยกออกได้ด้วยมือเปล่า เช่น ซองขนมขบเคี้ยว ถุงน้ำยาปรับผ้านุ่ม กล่องนม เป็นต้น โดยหากนำไปหลอมใหม่จะทำให้ได้ชิ้นงานที่พื้นผิวไม่สม่ำเสมอ หรือไม่ได้คุณสมบัติตามเดิม เพราะจุดหลอมเหลวของพลาสติกในแต่ละชั้นมีความแตกต่างกัน
- Bioplastic Biodegradable และ Compostable Plastic ไม่สามารถรีไซเคิลได้ เพราะต้องกำจัดเฉพาะทางที่โรงหมักเพื่อย่อยสลาย ดังนั้นจึงห้ามทิ้งรวมกับพลาสติกทั่วไป
- การจัดการ คือนำไปทำเชื้อเพลิง RDF เพื่อผลิตไฟฟ้า เพราะพลาสติกและยางให้ค่าความร้อนสูง โดยสามารถนำส่งได้ที่ N15 Technology และ Eastern Energy Plus
อยากให้ทุกคนรู้จักพลาสติกมากขึ้น เพื่อนำไปสู่การเลือกใช้ เลือกจัดการวัสดุพลาสติกนี้ได้ดียิ่งขึ้น
เพิ่มการรีไซเคิลพลาสติก ลดการสร้างขยะที่สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม
อย่าลืมแบ่งปันข้อมูลกับคนรอบข้าง และเป็นต้นแบบ
#ใช้ให้คุ้ม #แยกให้เป็น #ทิ้งให้ถูก
เพื่อทรัพยากรที่มีคุณค่าจะได้หมุนเวียนกลับมาสร้างประโยชน์ต่อไป
ที่มา: THAIPLASTICS, SARANUKROMTHAI, PLASTICSEUROPE, WASTE4CHANGE