ส่องโอกาสและทิศทางนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม ใครเริ่มก่อน คนนั้นได้เปรียบ
Publish On 07, May 2018 | ส่องโอกาสและทิศทางนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม ใครเริ่มก่อน คนนั้นได้เปรียบ
ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ การที่จำนวนประชากรที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ก็ส่งผลโดยตรงต่อปริมาณการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เหตุนี้มนุษย์เราจึงพยายามคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะช่วยลดการใช้พลังงานและทรัพยากรทางธรรมชาติ นำมาซึ่ง “นวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม (Eco-Innovation)” ต่าง ๆ ที่จะมาช่วยแก้ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมอยู่ขณะนี้
เช่นเดียวกับภาคอุตสาหกรรม ที่ผู้ประกอบการหลาย ๆ บริษัทเริ่มหันมาใส่ใจการบริหารจัดการนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่ง รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม ภาควิชานวัตกรรมอาคาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หนึ่งในบุคคลที่ทำงานเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมมานาน บอกกับเราว่า นี่เป็นโอกาสสำคัญสำหรับผู้ประกอบการและ SMEs เช่นกัน เพราะใครเดินนำเส้นทางนี้เป็นคนแรก ก็จะได้เปรียบและรับประโยชน์สูงสุด
โอกาสเป็น “คนแรก” มาถึงแล้ว
ปัจจุบันยังมีผู้ประกอบการที่ทำเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังน้อยมาก สาเหตุก็เพราะผู้ประกอบการยังกังวลที่จะเปลี่ยนแปลง หรือก้าวออกจาก “ความคุ้นชิน” ไปยังสิ่งที่ยัง “ไม่มั่นใจ” การก้าวไปเป็นคนแรกบนเส้นทางนี้อาจต้องเปลี่ยนกระบวนการผลิตปัจจุบัน มีความเสี่ยงสูง ผู้ประกอบการหลายคนจึงมักรอให้ใครสักคนเป็นคนลองเริ่มก่อน
ทว่า อ.สิงห์กลับมองเห็นตรงข้าม นี่คือโอกาสดีที่สุดสำหรับคนแรกที่กล้าก้าวไปก่อน และเปลี่ยนแปลงการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างสร้างสรรค์ทั้งห่วงโซ่อุปทาน (Value Chain) จริง ๆ จัง ๆ เสียที ทั้งนี้ต้องอยู่ในช่วงเวลาที่เหมาะสม
“ทุกคนรอให้ Demand เกิดขึ้นก่อน แต่ถ้า Supply ไม่เกิด Demand จะเกิดได้อย่างไร” เขาอธิบาย “มีคนพูดประเด็นนี้มานานแล้ว แต่ไม่ค่อยมีใครลงมือทำ ซึ่งใครลงมือปรับก่อนก็จะได้เปรียบ อีกหน่อยล้ออุตสาหกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมจะหมุนมากกว่านี้แน่นอน”
เพราะผู้บริโภครักตัวเอง
แน่นอน ธุรกิจจะอยู่รอดก็ต้องอาศัยแรงอุดหนุนจากผู้บริโภค ซึ่งในสายตาของ อ.สิงห์มองอย่างเจ็บ ๆ คัน ๆ ว่า คำว่า “รักโลก” นั้น แท้จริงแล้วก็คือการ “รักตัวเอง”
“ทุกคนรักชีวิตตัวเองครับ คำว่ารักโลก ก็คือการรักตัวเอง รักลูกหลาน รักตับ รักหัวใจ รักปอด รักสิ่งของของตัวเองทั้งนั้นครับ” เขากล่าวด้วยน้ำเสียงจริงจัง “สิ่งที่ทำให้คนเปลี่ยนมารักสิ่งแวดล้อม ก็คือการบอกให้เขารู้ว่า Supply Chain ที่เขากินทั้งหมดมาจากธรรมชาติ บ้านที่อยู่ก็มาจากธรรมชาติ ทุกกระบวนการผลิตจึงส่งผลกระทบต่อเราเสมอ แล้วมนุษย์จะทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองมีความสุข สวย อิ่ม ผ่องแผ้ว หรือฉลาด กลายเป็นภาพลักษณ์รักสุขภาพที่เขาจะต้องรักษาไว้”
พูดง่าย ๆ คือ โลกจะดีขึ้น ถ้าทุกคนหันมารักตัวเองมาก ๆ เข้าใจผลกระทบต่อตัวเรา นั่นเอง
เหตุผลที่ผู้ประกอบการและ SMEs ต้องใส่ใจ
ขยับมามองในฐานะผู้ประกอบการกันบ้าง สิ่งหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือ เทรนด์เรื่องสิ่งแวดล้อมที่ทั่วโลกเริ่มให้ความสำคัญ เห็นได้จากตลาดสากลเริ่มมีการกีดกันสินค้าที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หากผู้ประกอบการอุตสาหกรรม และ SMEs ไม่ปรับกระบวนการผลิตของตัวเอง ก็จะทำให้การดำเนินงานลำบากมากขึ้น ส่งออกได้น้อยลง
ปัจจัยภายนอกก็เรื่องหนึ่ง ปัจจัยภายในก็สำคัญ เพราะการเปลี่ยนกระบวนการผลิต บ่อยครั้งยังช่วยลดต้นทุนผู้ประกอบการได้ จากการประหยัดน้ำ ประหยัดไฟ หรือการลดการปล่อยขยะเหลือทิ้ง สุดท้ายโลกก็จะได้รับผลประโยชน์ตามไปด้วย
“ผมอยากให้ผู้ประกอบการคิดว่า ถ้าโลกนี้พัง แล้วเราจะเอาวัตถุดิบมาจากไหน? ถ้าคนป่วยสุขภาพไม่ดี เราจะขายของให้ใคร? ผู้ประกอบการจึงควรมองในระยะยาวว่า เราจะทำอย่างไรให้บริษัทอยู่ได้โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม หากปล่อยปัญหาสิ่งแวดล้อมไปแก้ในอนาคต ผมว่ามันเป็นวิธีการที่ไม่ยั่งยืนครับ”
ภาครัฐ อำนาจ และการสนับสนุน
“ถ้าผมมีอำนาจในรัฐบาลนะครับ ผมจะทำ Top Down Policy ดันเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมเลย”
อ. สิงห์ตอบกลับทันที เมื่อเราถามว่า ถ้าเขามีอำนาจวางนโยบาย จะมีวิธีจูงใจผู้ประกอบการและ SMEs ให้เกิดการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมอย่างไร
“ถ้าผมมีอำนาจ จะออกกฎหมายหลายอย่าง เช่น ทุกคนต้องจ่ายเงินค่าทิ้งขยะตามน้ำหนัก บังคับว่าต้องคัดแยกขยะเพื่อรีไซเคิล หรือให้กรมสรรพากรลดหย่อนภาษีให้กับผู้ที่ซื้อสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลองคิดดูว่า ถ้าเราเปลี่ยนการชอปช่วยชาติให้เป็นสินค้ากรีนทั้งหมด อุตสาหกรรมกรีนจะเติบโตเร็วขนาดไหน”
สาเหตุก็เพราะ “การลดหย่อนภาษี” เป็นปัจจัยง่าย ๆ ที่รัฐบาลสามารถใช้เป็นแรงจูงใจให้คนหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อม แล้วผู้ประกอบการก็จะมาลงทุนในอุตสาหกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น
อนาคตอุตสาหกรรมพลาสติกกับสิ่งแวดล้อม
ตลอดการพูดคุยสังเกตได้ว่า อ.สิงห์ย้ำอยู่บ่อย ๆ ว่าอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สิ่งแวดล้อมในประเทศไทยมีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่อง และเป็นทิศทางในการเปลี่ยนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตจากตลาดเดิม ดังนั้นภาพในฝันที่ อ.สิงห์อยากเห็น คือทุกบริษัทไม่มีผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกต่อไป
“ผมคิดว่านวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมพลาสติกเป็นโอกาสที่สร้างรายได้มหาศาล เพราะโลกนี้ขาดพลาสติกไม่ได้ แต่พลาสติกก็มีความท้าทายที่ทุกคนต้องเผชิญร่วมกัน ทำไมเราไม่ใช้โอกาสตอนนี้ วางแผนการจัดการทรัพยากรอย่างฉลาด เพื่อลดผลกระทบในระยะยาว”
แน่นอนล่ะ ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นหน้าที่ของมนุษย์ทุกคน เมื่อเรารักษาธรรมชาติ สุดท้ายธรรมชาติก็กลับมาดูแลรักษาเรา ถึงเวลาแล้วที่ภาคอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการ SMEs จะก้าวสู่การบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการพัฒนานวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมมาส่งเสริมคุณภาพชีวิต สร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคม ควบคู่ไปกับการรักษาสมดุลธรรมชาติ นำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมไทยอย่างยั่งยืน
ถึงเวลาแล้ว ที่เราจะต้องก้าวเป็นคนแรกๆ และสร้างความได้เปรียบ
Ecology + Innovation = Eco-Innovation
“นวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม (Eco-Innovation)” เกิดจากคำสองคำมาผนวกกัน คือคำว่า “นวัตกรรม (Innovation)” แปลว่า สิ่งใหม่ที่ใช้งานจริงแล้วเห็นประโยชน์อย่างชัดเจน ส่วนคำว่า “สิ่งแวดล้อม (Ecology)” คือสภาพแวดล้อมหรือระบบนิเวศ
ฉะนั้น นวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมก็คือเทคโนโลยี ระบบ หรือการบริการรูปแบบใหม่ที่ใช้งานได้จริงแล้วเกิดประโยชน์ช่วยเหลือสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมนั่นเอง
Did You Know? นวัตกรรมแบ่งเป็น 5 ระดับ ได้แก่…
Incremental innovation นวัตกรรมแบบค่อยเป็นค่อยไป ที่มีการเปลี่ยนแปลง พัฒนาหรือปรับปรุงสินค้าหรือบริการที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้นกว่าเดิมอย่างมีนัยสำคัญ
Modular Innovation นวัตกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญในองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่งของผลิตภัณฑ์ แต่โครงสร้างโดยรวมยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
Architectural Innovation นวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบูรณาการโดยรวมกับองค์ประกอบอื่น ๆ แต่มีการเปลี่ยนแปลงในตัวผลิตภัณฑ์เองเพียงเล็กน้อย
System Innovation ระบบนวัตกรรม การจัดเรียงการประสานงานร่วมกันระหว่างเทคโนโลยี หน่วยงาน องค์กร หรือกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องให้เกิดฟังก์ชั่นใหม่
Radical Innovation นวัตกรรมในลักษณะเฉียบพลัน ที่มีการเปลี่ยนแปลงในลักษะไม่มีใครเคยเห็นมาก่อน และนำไปสู่อุตสาหกรรมใหม่
อ. สิงห์แนะนำว่า ไม่จำเป็นต้องสร้างนวัตกรรมระดับ Radical innovation เพียงแค่ Incremental, Modular, Architectural หรือ System เท่านี้โลกของเราก็จะมีโซลูชั่นในการแก้ปัญหาได้มหาศาล