เมื่อสองผสานเป็นหนึ่ง When Two Become One
Publish On 30, Mar 2017 | เมื่อสองผสานเป็นหนึ่ง When Two Become One
จากการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา และการร่วมมือกับบริษัทต่างชาติในอังกฤษและนอร์เวย์ ทำให้เอสซีจีสามารถสรรสร้างนวัตกรรมมากมาย ทั้งที่ใช้เทคโนโลยีนาโนและใช้เทคโนโลยีอื่นๆ ซึ่งนำความล้ำหน้ามาสู่วงการอุตสาหกรรมพอลิเมอร์ ใน All Around Plastics ฉบับนี้ เรามาพูดคุยกับ คุณทีเนอ เรอร์วิค ประธานกรรมการบริษัท นอร์เนอร์ โฮลดิ้ง ซึ่งแม้ขณะนี้จะเป็นบริษัทย่อยของเอสซีจี เคมิคอลส์แล้ว แต่ยังคงเป็นอิสระในการดำเนินการให้บริการที่ปรึกษาด้านการวิจัยและพัฒนาและมีลูกค้าอยู่ทั่วโลก
ด้วยประสบการณ์กว่า 40 ปีในวงการ นอร์เนอร์เป็นผู้นำตลาดโลกในการให้บริการด้านการวิจัยและพัฒนาสำหรับอุตสาหกรรมพอลิเมอร์ โดยนำเสนอทั้งการคิดค้นพัฒนานวัตกรรม บริการปรึกษาด้านกลยุทธ์ บริการทดสอบในห้องทดลอง นับตั้งแต่การแปลงก๊าซ การดัดแปลงพอลิเมอร์ การสังเคราะห์พอลิเมอร์ ไปจนถึง สารเติมพอลิเมอร์ การอัดรีดพลาสติก และการนำพลาสติกไปใช้ขึ้นชิ้นงานพร้อมใช้ นับได้ว่าเป็นบริษัทที่ทุ่มเทเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงและผลิตผลในวงการอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง
มาร่วมงานกับ เอสซีจี เคมิคอลส์ ได้อย่างไร
นอร์เนอร์มาร่วมธุรกิจกับเอสซีจี เคมิคอลส์ได้สองปีแล้ว เราทุกคนดีใจมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวเอสซีจี โดยเอสซีจี เคมิคอลส์ ได้เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทนอร์เนอร์ โฮลดิ้ง เมื่อเดือน ธ.ค. 2557 และมาเป็นเจ้าของเต็มตัวในเดือนก.ย. 2558 การลงทุนในนอร์เนอร์ครั้งนี้ เอสซีจี เคมิคอลส์มุ่งหวังจะสร้างนอร์เนอร์ให้เติบโตและแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ในฐานะหุ้นคู่คิดด้านการพัฒนานวัตกรรมพลาสติกทั้ง Value Chain
ในอุตสาหกรรมพอลิเมอร์และเคมีภัณฑ์ การวิจัยและพัฒนามีความสำคัญแค่ไหน
หากเราต้องการพัฒนาไปพร้อมกับลูกค้า ก็ต้องคิดค้นอะไรใหม่อยู่เสมอ ๆ แค่ไปแวะร้านของชำมา ความต้องการของลูกค้าก็เปลี่ยนไปแล้ว เพราะลูกค้าย่อมมองหาดีไซน์ใหม่ ๆ ที่ดึงดูดใจมากกว่า หรือโซลูชั่นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าที่มีอยู่ ดังนั้น เราจึงพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ โดยคำนึงถึงความต้องการของลูกค้าที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ผู้ผลิตวัตถุดิบต้องติดตามความเคลื่อนไหวและแปลงความต้องการเหล่านี้ให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ซึ่งจะส่งผลต่อกำไรของบริษัทในระยะยาว หากนำเสนอแต่สินค้าทั่ว ๆ ไป นาน ๆ เข้าคุณค่าก็จะลดลงและแข่งขันได้ยากขึ้น การสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างสม่ำเสมอจึงสำคัญไม่น้อยไปกว่าการนำความเปลี่ยนแปลงและสิ่งใหม่ ๆ มาสู่สังคมอย่างต่อเนื่อง
ความท้าทายอะไรบ้างที่ทีมวิจัยและพัฒนามักเผชิญ
บริษัทขนาดใหญ่เช่น เอสซีจี เคมิคอลส์มีความหลากหลายในองค์กรสูงมาก ทั้งยังดำเนินโครงการหลายโครงการไปพร้อม ๆ กันในเวลาเดียวกัน ดังนั้น การจัดอันดับความสำคัญและจัดสรรทรัพยากรให้เหมาะสมกับแต่ละโครงการจึงเป็นเรื่องท้าทาย บริษัทจะต้องวางแผนแต่ละโครงการล่วงหน้า 5-10 ปีและตัดสินใจว่าอะไรน่าจะเหมาะและมีประโยชน์ต่อโครงการในอนาคต จากประสบการณ์ส่วนตัวในบริษัทขนาดใหญ่ เรื่องที่ตัดสินใจยากที่สุดในแผนกน่าจะเป็นเวลาที่คิดคาดการณ์ในแบบต่าง ๆ แล้วต้องมาตัดสินใจเลือกว่าตัวเลือกไหนเหมาะที่สุด ความท้าทายอีกเรื่อง คือ เราอาจอยากให้ผลิตภัณฑ์เรามีคุณลักษณะอย่างโน้นอย่างนี้ อาจฟังดูสวยหรูในหัว แต่กลับยังทำไม่ได้จริงในทางวิทยาศาสตร์ ดังนั้น แม้จะตัดสินใจไปแล้วว่าจะมุ่งความสนใจไปที่โครงการไหน หรือเริ่มคิดรายละเอียดโครงการไปแล้ว เราไม่มีทางรู้เลยว่าจะทำได้ตามเป้าหรือไม่ ความคาดเดาไม่ได้ในลักษณะนี้ทำให้งานด้านวิจัยและพัฒนามีความท้าทายกว่าฝั่งการผลิต
ปัจจัยสำคัญอะไรที่ส่งให้นอร์เนอร์ก้าวขึ้นเป็นบริษัทวิจัยและพัฒนาระดับโลก
เมื่อมีกระแสอะไรในสังคม เราก็จะพยายามเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งเสมอ โดยเรามองล่วงหน้า 5-10 ปีและพัฒนาตนเองให้มีความรู้ในด้านที่ลูกค้าจะต้องการ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นได้ในชั่วพริบตา เราต้องวางแผนเพื่อกำหนดให้แน่ชัดว่าความชำนาญการด้านใดที่เราต้องพัฒนาในอีก 5-10 ปีต่อจากนี้ สำหรับตอนนี้ เราได้เลือกมุ่งเน้นไปที่วัสดุคอมโพสิตขั้นสูง วัสดุนาโน และสารเคมี แต่ในขณะเดียวกันก็มุ่งเน้นที่ความยั่งยืนด้วย รวมไปถึงพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และพอลิเมอร์ชนิดรีไซเคิลได้ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่สังคมปัจจุบันหันมาให้ความสำคัญแล้ว เราพยายามพัฒนาตนเองให้มีความชำนาญในสาขาเหล่านี้ แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ เรายังไม่ทิ้งการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าให้แน่นแฟ้นด้วย เพื่อจะได้มีช่องทางรับฟังความคิดเห็นจากลูกค้าและได้ร่วมสร้างนวัตกรรมไปพร้อมกับลูกค้าของเรา
มีคำแนะนำสำหรับผู้สนใจทำงานในสายงานวิจัยและพัฒนาอย่างไรบ้าง
หากมุ่งมั่นที่จะทำงานในสายนี้ก็ควรเป็นคนรักเทคโนโลยี ใครที่ได้ทำงานสายวิจัยถือว่าโชคดี เพราะจะได้พบสิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลาชนิดที่คาดการณ์ไม่ได้ และได้สำรวจสิ่งต่าง ๆ เหมือนนักสืบ นอกจากจะสนใจเทคโนโลยีแล้ว นักวิจัยยังต้องเข้าใจธุรกิจด้วย เพราะหากโครงการที่จะทำไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ในทางธุรกิจ ก็มีโอกาสเกิดเป็นรูปเป็นร่างได้ยาก อีกทั้งควรเป็นคนที่สนใจสำรวจเทคโนโลยีใหม่ ๆ และสร้างแรงจูงใจและแรงบันดาลใจให้ตนเองได้อยู่เสมอ ซึ่งส่วนตัวคิดว่าเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับนักวิจัย
การมีนอร์เนอร์ มืออาชีพด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมระดับโลก เป็นผู้ร่วมผลักดันสร้างสรรค์นวัตกรรม เป็นหนึ่งในพลังขับเคลื่อนที่สำคัญในการดำเนินธุรกิจของเอสซีจี เคมิคอลส์ เชื่อมั่นว่าจากวันนี้ไป จะมีนวัตกรรมต่าง ๆ เกิดขึ้นอีกมากมาย ธุรกิจปิโตรเคมีคงมีความเปลี่ยนแปลงให้ได้เห็นกันอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น และเร็วขึ้นเรื่อย ๆ คงต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดไปพร้อม ๆ กัน.