Close
|
> INTERVIEW > บูรณาการร่วมกันเพื่อยกระดับมาตรฐานระบบสายโทรคมนาคมไทย

บูรณาการร่วมกันเพื่อยกระดับมาตรฐานระบบสายโทรคมนาคมไทย

Publish On 30, Sep 2016 | บูรณาการร่วมกันเพื่อยกระดับมาตรฐานระบบสายโทรคมนาคมไทย

ปัจจุบันการใช้อินเตอร์เน็ตความเร็วสูงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับชีวิตประจำวันของมนุษย์ยุคนี้ โดยเฉพาะในที่ทำงานหรือที่บ้านที่มักใช้อินเตอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านระบบสายเคเบิลใยแก้วนำแสง (Fiber Optics) อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่มักประสบปัญหาต่าง ๆ ในการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นสัญญาณที่ล่าช้าหรือสัญญาณหลุดบ่อยครั้ง รู้หรือไม่ว่าสาเหตุหนึ่งของปัญหาดังกล่าวนั้นมาจากคุณภาพของสายเคเบิลใยแก้วนำแสงที่ไม่ได้มาตรฐาน

 

 

 

 

   สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม (สมอ.) ได้มีการกำหนดมาตรฐานมอก.2050*, มอก. 2051* และมอก. 2052* ที่อ้างอิงตามมาตรฐาน IEC 60794 มาใช้ในการควบคุมมาตรฐานของสายเคเบิลใยแก้วนำแสงไว้ ซึ่งเป็นมาตรฐานที่เน้นทดสอบการดึงสายและการทดลองประสิทธิภาพในการนำส่งสัญญาณของสายเคเบิลใยแก้วนำแสง ทว่ายังไม่ครอบคลุมการทดสอบคุณสมบัติของวัสดุที่นำมาเคลือบสายเคเบิลใยแก้วนำแสง (Jacketing) ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน เพราะหากวัสดุที่นำมาเคลือบสายไม่ได้คุณภาพ ไม่สามารถทนต่อสภาพแวดล้อมและภูมิอากาศได้แล้ว ก็จะนำมาซึ่งการแตกชำรุดของสาย การส่งสัญญาณที่ไม่สม่ำเสมอ สูญเสียงบประมาณในการซ่อมแซมบำรุงรักษา หรืออาจต้องลงทุนติดตั้งใหม่

 

 

 

 

   ผลกระทบหนึ่งของการไม่ได้กำหนดมาตรฐาน Jacketing ข้างต้น จึงเป็นช่องโหว่สำคัญที่ทำให้ผู้ผลิตสายเคเบิลใยแก้วนำแสงจากต่างประเทศได้ผลิตและนำเข้าสายเคเบิลใยแก้วนำแสงที่ไม่ได้คุณภาพมาจำหน่ายให้แก่ผู้วางโครงข่ายการสื่อสารในประเทศไทย (Network Provider) โดยอาศัยราคาที่ถูกกว่าผู้ผลิต (Producer) ในประเทศไทย โดยเราอาจละเลยกันไปว่านั่นอาจส่งผลกระทบในระยะยาวต่อประสิทธิภาพในการให้บริการของผู้วางโครงข่ายการสื่อสาร กระทบต่อการใช้งานของผู้บริโภค และอาจสูญเสียเม็ดเงินไปอย่างมหาศาล

 

 

 

 

   เพื่อยกระดับระบบโครงข่ายการสื่อสารในประเทศไทยให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือครั้งสำคัญในการจัดงานสัมมนาเชิงวิชาการภายใต้หัวข้อ “การบริหารจัดการเชิงบูรณาการเพื่อยกระดับมาตรฐานระบบสายโทรคมนาคมไทย” โดย เอสซีจี  เคมิคอลส์ เป็นโต้โผสำคัญในการจัดงานครั้งนี้ ซึ่งนับเป็นการจัดสัมมนาครั้งแรกในประเทศไทยที่มีการเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดกับการให้บริการระบบสายเคเบิลใยแก้วนำแสง ไม่ว่าจะเป็นผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ผู้ผลิตสายเคเบิลใยแก้วนำแสง ผู้วางโครงข่ายการสื่อสารในประเทศไทย อันได้แก่ TOT, AIS, True ตลอดจนเอสซีจี เคมิคอลส์ ในฐานะผู้ผลิตเม็ดพลาสติกสำหรับการผลิต Jacketing สายเคเบิลใยแก้วนำแสง

 

   

 

   บรรยากาศในการจัดงานครั้งนี้ อบอวลไปด้วยกลิ่นอายของความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ก็ได้มาให้ความรู้เกี่ยวกับแนวทางเชิงนโยบายในการฝังดินสายเคเบิลใยแก้วนำแสงซึ่งทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้ตระหนักถึงคุณภาพของสายเคเบิลใยแก้วนำแสงในอนาคตที่ต้องมีมาตรฐานและทนต่อสภาพแวดล้อมมากขึ้น นอกจากนั้นแล้ว ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแลมาตรฐานสายเคเบิลใยแก้วนำแสง ผู้ผลิตสายเคเบิลใยแก้วนำแสง และผู้วางโครงข่ายการสื่อสารในประเทศไทย ก็ได้มีโอกาสซักถามและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาคุณภาพของสายเคเบิลใยแก้วนำแสงในปัจจุบันที่พบว่ามีการชำรุดแตกเสียหายอยู่บ่อยครั้ง และในเวทีนี้เอง เอสซีจี เคมิคอลส์ในฐานะผู้นำนวัตกรรมพลาสติกคุณภาพสูง ก็ได้มีโอกาสนำเสนอวิธีทดสอบ Jacketing และเม็ดพลาสติกในการผลิต Jacketing ที่เป็นสินค้าเกรด H2001WC, Black High Density Polyethylene Compound ซึ่งได้คุณภาพมาตรฐาน ทนต่อสภาพแวดล้อม และเหมาะสมกับการนำไปใช้ผลิตสายเคเบิลใยแก้วนำแสง อันมีความแตกต่างจาก Jacketing ของสายเคเบิลใยแก้วนำแสงที่มีการนำเข้าและใช้งานอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน

 

   โดยบทสรุปของเวทีนี้ ผู้เข้าร่วมงานต่างเห็นตรงกันว่าประเทศไทยควรมีการปรับปรุงแก้ไข และยกระดับมาตรฐาน Jacketing ของสายเคเบิลใยแก้วนำแสง ซึ่งการบูรณาการร่วมกันของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องนั้นจะส่งผลดีและเป็นประโยชน์ต่อผู้ผลิตสายเคเบิลใยแก้วนำแสงและผู้วางโครงข่ายการสื่อสารในแง่ธุรกิจการลงทุน ส่วนผู้บริโภคก็จะได้ใช้บริการโทรคมนาคมที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ท้ายที่สุด ทางเอสซีจี เคมิคอลส์ในฐานะผู้จัดงานก็ได้รับรู้ถึงปัญหาของผู้ใช้งานเพื่อที่จะนำไปสู่การพัฒนาวัสดุที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับการใช้งานของสายเคเบิลใยแก้วนำแสง อันเป็นการยกระดับมาตรฐานสายเคเบิลใยแก้วนำแสงให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลและสร้างความพึงใจให้แก่ลูกค้าต่อไป

 

 

เม็ดพลาสติกคอมพาวด์ H2001WC (Black High Density Polyethylene Compound) ของเอสซีจี เคมิคอลส์ มีคุณสมบัติพิเศษดังนี้

 

  • โครงสร้างของเม็ดพลาสติก ประกอบไปด้วยโมเลกุลสองประเภท คือ โมเลกุลที่มีขนาดเล็กและโมเลกุลที่มีขนาดใหญ่ โดยโมเลกุลขนาดเล็กจะช่วยให้พลาสติกไหลตัวได้ดีในสภาวะหลอมเหลวทำให้ง่ายต่อการขึ้นรูป (Easy Processing) สำหรับโมเลกุลที่มีขนาดใหญ่ก็จะให้สมบัติเชิงกลที่ดี (Good Mechanical Properties)
  • ทนต่ออุณหภูมิความร้อน ส่งผลดีต่อผู้ผลิตสายเคเบิลในระหว่างการขึ้นรูป
  • อายุการใช้งานยาวนาน เนื่องจากการออกแบบโครงสร้างโมเลกุลที่เหมาะสมและมีการเติมสารเติมแต่งให้ทนต่อความร้อนและรังสีอัลตราไวโอเลตเพื่อยืดอายุการใช้งานของสายเคเบิลให้มากกว่า 20 ปี

 

มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเคเบิลเส้นใยนำแสงที่กล่าวถึงคือ

  • มอก. 2050-2543  สายเคเบิลใยแก้วนำแสง ข้อกำหนดคุณลักษณะทั่วไป
  • มอก.2051-2556   สายเคเบิลใยแก้วนำแสง ข้อกำหนดคุณลักษณะทั่วไป – วิธีดำเนินการทดสอบสายเคเบิลนำแสงพื้นฐาน
  • มอก. 2052-2548  สายเคเบิลใยแก้วนำแสง ข้อกำหนดคุณลักษณะเป็นรายเรื่อง – สายเคเบิลนอกอาคาร

 

 

 

 

 

คุณพิพัฒน์ จงรักวิทย์
ผู้จัดการศูนย์มาตรฐานเคเบิลและอุปกรณ์ข่ายสาย

ส่วนมาตรฐานระบบข่ายสายและอุปกรณ์ปลายทาง บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)

   “ถ้าเราได้เคเบิลที่มีคุณภาพ สิ่งที่เราได้อันดับแรกก็คือความเสถียร ความคงทน อันที่สอง เมื่อเคเบิลมีอายุนานขึ้น การลงทุนก็คุ้มค่า สามารถที่จะใช้ทรัพย์สินตัวนั้นได้ไปอีกหลายปี นี่คือมุมมองของผู้ให้บริการ ในส่วนของผู้บริโภคเอง ลูกค้าก็ประทับใจ เพราะว่าไม่มีปัญหาเรื่องของการใช้งาน”

 

 

 

 

 

คุณสถิตย์ ตาบเพ็ชร์
กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามไฟเบอร์ อ๊อพติคส์ จำกัด

   ถ้าเราสามารถยกระดับมาตรฐานของเคเบิลให้สูงขึ้น เคเบิลที่มีคุณภาพสูงจะแตกต่างจากเคเบิลที่มีคุณภาพต่ำซึ่งลูกค้าสามารถเห็นความแตกต่างได้ เคเบิลที่เข้ามาแข่งขันในตลาดทุกวันนี้ที่มีคุณภาพต่ำ จะค่อย ๆ หายไปจากตลาด”

 

 

 

 

 

รองศาสตราจารย์ ดร.อธิคม ฤกษบุตร

รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร
อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์

   “มาตรฐานที่มีอยู่เดิมอาจจะไม่สามารถครอบคลุมเคเบิลใหม่ ๆ ขึ้นมาได้ เมื่อไม่สามารถครอบคลุมได้ ถ้าเกิดผู้ติดตั้งหรือผู้บริการนำเข้าสิ่งที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่ควรจะเป็นเนื่องจากราคาถูก มันก็จะมีผลกับผู้บริโภค ฉะนั้นคำว่ายกระดับก็คือการเสริมสร้างระดับของมาตรฐานให้แข็งแกร่งกว่าเดิม ให้สามารถครอบคลุมและแน่ใจได้ว่าเคเบิลที่ใช้ในเมืองไทยมีอายุยืน สามารถทำงานได้ถูกต้องตามสเปคโดยที่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคได้น้อยมาก”

 

 

 

 

 

คุณศักดิ์ชัย ปฏิภาณปรีชาวุฒิ

กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซีจี พลาสติกส์ จํากัด

และบริษัท เอสซีจี เพอร์ฟอร์มานซ์ เคมิคอลส์ จำกัด

   “ถ้าประเทศเรามีในระบบเครือข่ายที่ดี มีอายุการใช้งานยาวนาน ก็จะเป็นการลดต้นทุนโดยรวมของผู้ประกอบการ  แล้วในฐานะประชาชนนอกจากได้ใช้งานข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต หรือข้อมูลสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว คิดว่าค่าใช้จ่ายในระยะยาวน่าที่จะลดต่ำลง”

หัวข้อที่เกี่ยวข้อง

[elementor-template id="3478"]