Close
|
> INNOVATION > SPRINT Accelerator Thailand สร้างระบบนิเวศ จุดกระแสสตาร์ทอัพ Deep Tech ครั้งแรกในไทย

SPRINT Accelerator Thailand สร้างระบบนิเวศ จุดกระแสสตาร์ทอัพ Deep Tech ครั้งแรกในไทย

Publish On 05, Oct 2019 | SPRINT Accelerator Thailand สร้างระบบนิเวศ จุดกระแสสตาร์ทอัพ Deep Tech ครั้งแรกในไทย

ในปัจจุบัน เมื่อพูดถึงการแก้ปัญหาด้วยนวัตกรรม หลายคนอาจมองเห็นภาพของกลุ่มสตาร์ทอัพที่นำเสนอโซลูชั่นใหม่ ๆ อย่างการใช้ดิจิทัลมาจัดข้อมูลปริมาณมหาศาล (Big Data) และสร้างซอฟต์แวร์เจ๋ง ๆ ที่จัดการทุกอย่างได้ภายในพริบตาอย่างที่เราคุ้นเคยกัน แต่เมื่อมองในภาพที่กว้างขึ้นกว่าเพียงการแก้ปัญหาความไม่สะดวกสบายในชีวิตประจำวัน ในระดับอุตสาหกรรมใหญ่ ๆ ที่มีความซับซ้อน ก็ต้องการไอเดียใหม่ ๆ นวัตกรรมใหม่ ๆ ที่มาช่วยแก้ปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ดีขึ้นด้วยเช่นกัน

 

เอสซีจีเป็นองค์กรนวัตกรรมที่มุ่งมั่นสนับสนุนระบบนิเวศ (ecosystem) ของการสร้างสรรค์นวัตกรรมในทุก ๆ ด้าน เพื่อค้นหาทางเลือกใหม่ ๆ ในการหาโซลูชั่นใหม่ ๆ มานำเสนอลูกค้าได้อย่างรอบด้านที่สุด นอกจากการส่งเสริมด้าน R&D ภายในองค์กรมาอย่างต่อเนี่อง รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมร่วมกับพาร์ทเนอร์จากทั่วโลกแล้ว เอสซีจีได้ร่วมก่อตั้ง SPRINT Accelerator Thailand ขึ้นเพื่อเป็น ecosystem ที่ส่งเสริมและผลักดันกลุ่มสตาร์ทอัพด้าน Deep Tech ในประเทศไทยให้มีศักยภาพพร้อมสำหรับการทำธุรกิจ ช่วยเร่งการเติบโต ฝึกปรือฝีมือเพื่อลงสู่สนามจริงมาแล้วกว่า 3 รุ่น โดยร่วมกับพาร์ทเนอร์ต่าง ๆ ที่มีความเชี่ยวชาญพร้อมสนับสนุนด้านองค์ความรู้ เงินทุนและ networking อย่างเต็มเปี่ยม

              

 

 

 

นิยามของ Deep Technology หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า Deep Tech ก็คือ เทคโนโลยีเชิงลึกที่จับต้องได้ สามารถเพิ่มศักยภาพในการผลิตของภาคอุตสาหกรรมและการดำเนินธุรกิจได้อย่างมหาศาล โดยจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรและความรู้ด้านเทคโนโลยีขั้นสูง และอาศัยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เป็นอย่างมากในการพัฒนา Deep Tech ขึ้นมาสักอย่าง

 

หากถามว่าสตาร์ทอัพด้าน Deep Tech แตกต่างจากสตาร์ทอัพประเภทอื่น ๆ อย่างไรนั้น เมื่อนิยามของสตาร์ทอัพ คือ ธุรกิจขนาดเล็กที่เน้นการแก้ปัญหา มีโมเดลธุรกิจที่เน้นการเติบโตแบบก้าวกระโดด สามารถทำซ้ำได้ง่าย (repeatable) และขยายฐานได้รวดเร็ว (scalable) ซึ่งส่วนใหญ่มักอาศัยเทคโนโลยีที่มีอยู่หรือสร้างเทคโนโลยีใหม่ขึ้นมาแก้ปัญหา แต่สิ่งที่ Deep Tech แตกต่างกับสตาร์ทอัพประเภทอื่น ๆ ที่มักมีเทคโนโลยีดิจิทัล มีโปรแกรม มีซอฟท์แวร์เป็นสินค้าหลักของธุรกิจก็คือ Deep Tech จะต้องมีส่วน hardware ของสินค้าหรือบริการที่จับต้องได้เพิ่มมาด้วย และความท้าทายหลักจะอยู่ที่ทรัพยากรที่ใช้ในการลงทุนวิจัย การทดสอบทั้งในห้องแล็ป ทั้งการนำมาใช้งานในสภาวะจริง และระยะเวลารอผลทดสอบที่มักใช้เวลานาน

 

พงศกร ขันติชัยมงคล CEO บริษัท คิววาเทค จำกัด ตัวแทนของหนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการ SPRINT Accelerator Thailand รุ่นที่ 1 ช่วยอธิบายเพิ่มเติมว่า

 

 

 

 

“การทำธุรกิจสตาร์ทอัพด้าน Deep Tech มักจะต้องคิดค้นพัฒนาเทคโนโลยีหรือผลิตภัณฑ์ออกมาซึ่งเป็น Equipment ใหม่ ที่ตอบโจทย์ใหม่ ทำให้เส้นทางการพัฒนาสินค้าแทบจะเป็นคนละแบบกับการทำซอฟต์แวร์ เพราะการปรับปรุงแก้ไขสินค้าแต่ละครั้งมีต้นทุนทั้งหมด ยกตัวอย่าง GalvaX (กัลว่าเอ็กซ์) เป็นระบบเคลือบผิวกันสนิมที่เราส่งเข้าร่วมในโครงการ SPRINT ซึ่งต้องผ่านการทดสอบความทนการกัดกร่อนตามมาตรฐานอุตสาหกรรมถึง 2,000 ชั่วโมง แปลว่ามีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการทดสอบสูงมาก รวมถึงต้นทุนเรื่องเวลา การเพิ่มสเกลหรือเมื่อนำออกไปทดสอบในสภาพการใช้งานจริงก็ย่อมมีปัจจัยต่าง ๆ ที่ต้องคำนึงถึงว่าผลที่ได้อาจจะไม่เป็นไปตามที่ทดลองในแล็บ เช่น เราใช้บีกเกอร์ใหญ่สุดขนาด 5 ลิตร แต่การนำไปใช้งานจริงในโรงงานปริมาตรต้องเพิ่มเป็น 10,000 ลิตร เป็นต้น

 

แม้จะผ่านการทดสอบประสิทธิภาพในขั้นแรกแล้วก็ต้องไปทดสอบ Field Test กับสภาวะการใช้งานจริง เช่น ติดตั้งที่แท่นขุดเจาะน้ำมันกลางทะเลเป็นระยะเวลานาน ซึ่งก็มักประเมินระยะเวลาได้ยาก อาจนานกว่า 1 ปีหรือจนกว่าจะหมดอายุการใช้งานของสินค้า หากสินค้าเป็นนวัตกรรมที่ใหม่จริง ๆ และไม่เคยมีมาตรฐานการทดสอบใดรองรับมาก่อน การที่จะให้ลูกค้าจะมั่นใจซื้อสินค้าเป็นสิ่งที่ท้าทายยิ่งขึ้น ซึ่งอาจต้องมีขั้นตอนพิเศษสำหรับการหามาตรฐานมารองรับตามกฎหมายมาตรฐานอุตสาหกรรมด้วย ดังนั้นเรื่องของเวลาและทรัพยากรที่ใช้ไม่ว่าจะเป็นเงินลงทุนหรือทีมทำงานล้วนเป็นสิ่งที่สตาร์ทอัพด้าน Deep Tech ต้องเตรียมรับมือเมื่อจะเริ่มพัฒนานวัตกรรมขึ้นมาสักชิ้นหนึ่งจนไปถึงการนำไปใช้จริงในเชิงพานิชย์

 

 

 

 

อีกความท้าทายของการเป็นสตาร์ทอัพด้าน Deep Tech ที่พงศกรได้เรียนรู้จาก SPRINT Accelerator Thailand ก็คือ มุมมองความคิดด้านธุรกิจและการตลาด เพราะแต่ละขั้น (Stage) ของธุรกิจนั้น ลูกค้าย่อมมีความต้องการที่ต่างกันไป การวาง Milestone ของแต่ละขั้นจึงมีความสำคัญมาก ซึ่งโครงการได้มาช่วยเสริมความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ที่สตาร์ทอัพแต่ละทีมมีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว

 

“เราได้เข้าใจและเห็นภาพชัดเจน สามารถประเมินได้ว่าตอนนี้โปรเจกต์อยู่ในขั้นไหน และควรต้องทำอะไรซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เช่น ถ้าอยู่ขั้น Idea Stage ให้พิสูจน์ความเป็นไปได้ในการพัฒนาเทคโนโลยีออกมาให้สำเร็จก่อน ทั้งคุณสมบัติของสินค้าหรือโจทย์ทางการตลาด เน้นการขับตัวเทคโนโลยีออกไปหาตลาดในขั้นต่อไปให้เร็วที่สุด Market Stage ให้ออกไปพบลูกค้า ขายดูจริงๆ เพื่อหาฟีดแบ็กเพื่อปรับปรุงทั้งแผนธุรกิจและเทคโนโลยี Scale up Stage คือเร่งการขายอย่างจริงจัง อาจรวมถึงลงทุนในโรงงานผลิตให้เหมาะกับความต้องการของตลาดด้วย ซึ่งบทเรียนเหล่านี้ช่วยลดปัญหาการทำงานข้ามขั้นตอน กลับไปกลับมา และช่วยย่นระยะเวลาทำงานได้มาก”

 

 

 

 

พงศกรเล่าว่า แต่ละสัปดาห์ใน SPRINT Accelerator Thailand จะมีการบ้านที่ช่วยให้สตาร์ทอัพแต่ละทีมเข้าใจว่าแต่ละ Stage ของการทำงาน จะต้องเจอคำถามอะไร ควรจะเตรียมข้อมูลอะไร รวมถึงยังได้มีโอกาสพูดคุยกับ Potential Customer ทำความเข้าใจความต้องการของลูกค้า ฝึกฝนการอธิบายเรื่องยากๆ ที่กำลังทำอยู่ให้เข้าใจง่าย ลำดับเรื่องให้ดี ผ่านการซ้อม Pitching อธิบายไอเดียของธุรกิจ ภายในเวลาสั้น ๆ 1 นาที 3 นาที เพื่อให้ลูกค้าฟังแล้วเกิดความสนใจภายในระยะเวลาที่จำกัด

 

 

 

 

นอกจากนี้พงศกรยังเพิ่มเติมว่า Connection ระหว่างสตาร์ทอัพด้าน Deep Tech ด้วยกันก็เป็นผลพลอยได้จากโครงการนี้ที่แต่ละทีมได้ช่วยเหลือกัน แนะนำลูกค้า หรือแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เป็นการสร้างบรรยากาศในการพัฒนาตัวเองและผู้อื่นไปพร้อม ๆ กัน นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของ Ecosystem ของแวดวง Deep Tech ในกลุ่มเล็ก ๆ ที่ค่อย ๆ เติบโตแข็งแรงขึ้นไปเรื่อย ๆ

 

ในมุมมองของ ดร. สุรชา อุดมศักดิ์ Vice President and CTO – Innovation and Technology ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ในฐานะผู้ที่อยู่เบื้องหลังโครงการ SPRINT Accelerator Thailand มองว่าโครงการนี้เป็นอีกหนึ่งในแนวทางการดำเนินงานด้านวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ของเอสซีจี โดยจับมือกับพันธมิตรที่เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ มาช่วยกันผลักดันองค์ความรู้ด้าน Deep Tech ให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์การใช้งานของภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมได้อย่างยั่งยืน เพราะ ดร. สุรชาเห็นว่าโจทย์ที่ทุกภาคส่วนยังคงมีร่วมกันในระดับโลกอย่างเรื่องสิ่งแวดล้อม ต้องการนวัตกรรมเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหา เนื่องจากจะสามารถแก้ไขได้ในระดับใหญ่ เกิด impact มากกว่าและยั่งยืนกว่า การส่งเสริมผลักดันให้บริษัทเล็ก ๆ นักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์ วิศวกรที่ทำงานในห้องแล็บ สามารถพัฒนาผลงานวิจัยไปสู่กิจกรรมเชิงพาณิชย์ ก่อตั้งเป็นสตาร์ทอัพด้าน Deep Tech ที่สร้างสรรค์นวัตกรรมที่แก้ไขปัญหาใหม่ ๆ ได้จึงเป็นอีกหนึ่งความตั้งใจของเอสซีจี

 

 

 

 

จาก 3 ปีที่ดำเนินโครงการนี้มาพบว่าความท้าทายหนึ่งของวงการ Deep Tech ประเทศไทยก็คือ ตัวอย่างของผู้ที่ประสบความสำเร็จยังมีจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร นอกจากนี้กลุ่มนักลงทุน Angel Investor หรือ Venture Capital (VC) ที่เชี่ยวชาญในการลงทุนในด้าน Deep Tech ก็ยังมีจำนวนน้อย ดร. สุรชาจึงมองว่านี่เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของสตาร์ทอัพด้าน Deep Tech เพราะหนทางในการสร้าง Ecosystem นั้นเป็นเส้นทางที่ยาวไกล แต่ก็เห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพที่สามารถจะขยับขยายไปได้ถึงการเป็นหนึ่งในเครือข่ายของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะในไทยมีฐานอุตสาหกรรมหลายประเภท มีลูกค้าต้องการให้ตอบโจทย์ที่หลากหลาย

 

“การทำอะไรใหม่ ๆ มันจะไม่ง่ายขึ้นหรอก แต่มันสนุกกว่า มองในแง่บวกว่าได้ลับสมองตลอดเวลา ทางโครงการต้องการคนที่ชอบลับสมองตลอดเวลา โลกเรามีคน 7,000 ล้านคน และมีคนกลุ่มนี้อยู่ (สตาร์ทอัพด้าน Deep Tech) เราจะช่วยสนับสนุนเขาได้อย่างไรให้เขามีส่วนได้นำนวัตกรรมที่เขามีอยู่มาพัฒนาสังคมโดยรวมได้ ทำให้อย่างไรให้ลูกค้าที่มีปัญหาอยู่หาคนกลุ่มนี้ให้เจอ” ดร. สุรชาย้ำ

 

 

 

 

ตราบใดที่โลกของเรายังมีมนุษย์ ก็ย่อมมีปัญหาและยังคงมีสิ่งที่ต้องการพัฒนาให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม พลังงาน การแพทย์ คุณภาพชีวิต เอสซีจีจึงมุ่งมั่นสนับสนุนเพื่อให้ Ecosystem ด้าน Deep Tech เกิดขึ้นในประเทศไทย สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมจากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาตอบโจทย์เหล่านี้ และเติบโตเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพในการแข่งขันได้อย่างยั่งยืน

 

 

 

 

Deep Tech ที่ SPRINT Accelerator Thailand ให้การสนับสนุน มี 4 สาขา ได้แก่

 

Advance Materials: วัสดุที่ให้ประสิทธิภาพสูง สำหรับใช้งานในโครงสร้างพื้นฐาน งานก่อสร้าง อุตสาหกรรมยานยนต์ ไปจนถึงบรรจุภัณฑ์

 

Healthcare and Medical Devices: เครื่องมือขั้นสูงหรือแพลตฟอร์มที่เพิ่มประสิทธิภาพในการวินิจฉัยโรค รักษา หรือพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้สูงอายุ

 

Industrial IoT: ได้แก่ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เซ็นเซอร์เพื่อการใช้พลังงานให้คุ้มค่ายิ่งขึ้น หรือคาดการณ์การบำรุงรักษาที่เหมาะสมสำหรับกระบวนการผลิต

 

Sustainable and Green Technologies: เทคโนโลยีที่มุ่งลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) หรือก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ การนำขยะพลาสติกและน้ำกลับมาบำบัด

 

 

 

ติดตามข่าวสารของ SPRINT ได้ที่  เว็บไซต์ https://sprintacceleratorthailand.com

 

และเฟสบุ๊ก Sprint Accelerator Thailand

หัวข้อที่เกี่ยวข้อง

[elementor-template id="3478"]