Close
|
> INNOVATION > เท้าเทียมเพื่อชีวิตใหม่
⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀

เท้าเทียมเพื่อชีวิตใหม่
⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀

Publish On 17, May 2019 | เท้าเทียมเพื่อชีวิตใหม่
⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀

คนเราทุกคนนั้น หากมีปัจจัยพื้นฐานของชีวิตดี สามารถดำรงชีวิตได้ปกติ ย่อมส่งเสริมให้เขาเหล่านั้นดึงศักยภาพในตนเองออกมาอย่างเต็มที่ แต่สำหรับผู้พิการที่สูญเสียอวัยวะสำคัญอย่าง “ขา” ไปนั้น ย่อมกระทบต่อการใช้ชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้พิการยากไร้ที่อาจขาดโอกาสในการประกอบอาชีพ ส่งผลต่อรายได้เลี้ยงดูตนเองและครอบครัว รวมถึงอาจทำให้ขาดความเชื่อมั่น จนลดทอนโอกาสที่จะพัฒนาศักยภาพของตนเองด้วย

 

 

 

 

ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี พร้อมด้วยพันธมิตร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ผู้นำด้านเคมีภัณฑ์และการออกแบบนวัตกรรมจากวัสดุเคมีภัณฑ์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น และบริษัท รับเบอร์โซล จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบและผลิตรองเท้าชั้นนำของประเทศ เห็นความสำคัญในการสร้างโอกาสให้กับผู้พิการ โดยนำความสามารถเฉพาะด้านของแต่ละบริษัทมาร่วมกันสร้างประโยชน์ให้กับมูลนิธิขาเทียม ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งก่อตั้งขึ้นจากพระราชปณิธานของสมเด็จย่า โดยมีจุดประสงค์ให้ผู้พิการทุกคนสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ ตลอดจนประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองได้

 

กระบวนการทำงานแบบผสานความร่วมมือที่เกิดขึ้นนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้พิการสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมั่นใจอีกครั้ง และสามารถนำศักยภาพที่พวกเขามีมาเป็นกำลังสำคัญในการร่วมกันพัฒนาประเทศของเราต่อไป

 

 

 

 

ก้าวแรก

 

มูลนิธิขาเทียมฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือผู้พิการขาขาดยากไร้ตามพระราชปณิธานของสมเด็จย่ามาเป็นเวลานานกว่า 30 ปี ตระหนักถึงความจำเป็นในการพัฒนาอุปกรณ์และชิ้นส่วนของขาเทียมเพื่อให้ใช้งานได้มีประสิทธิภาพและทนทานขึ้น จึงร่วมมือกับภาคเอกชนที่มีศักยภาพมาร่วมพัฒนาอุปกรณ์ดังกล่าวให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ใช้งาน

 

 

ขจรพงศ์ ภู่สิทธิกุล Marketing and Market Intelligence Manager กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย

 

ขจรพงศ์ ภู่สิทธิกุล Marketing and Market Intelligence Manager กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ในฐานะผู้ให้การสนับสนุนมูลนิธิฯ กล่าวถึงที่มาของความร่วมมือในครั้งนี้ว่า “ดาวได้ร่วมบริจาคผลิตภัณฑ์พอลิยูรีเทนสูตรเฉพาะของดาวให้กับทางมูลนิธิฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 ซึ่งขาเทียมในอดีตแบ่งเป็นหน้าแข้ง ขา และเท้า โดยผลิตภัณฑ์ของดาวเป็นโฟมด้านในส่วนหน้าแข้ง ช่วยให้ขาเทียมมีสัมผัสที่อ่อนนุ่มขึ้น

 

สำหรับโจทย์ที่ท้าทายในครั้งนี้ เป็นการพัฒนา ‘เท้าเทียม’ รูปแบบใหม่ โดย รศ...วัชระ รุจิเวชพงศธร กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิขาเทียม ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้ปรารภกับทีมงานของดาวว่าต้องการที่จะออกแบบส่วนเท้าเทียมใหม่ เพื่อให้ถูกหลักสรีระวิทยาของคนไข้มากยิ่งขึ้น

 

 

 

 

“การออกแบบในครั้งนี้เราต้องให้เครดิตกับทางเอสซีจี ซึ่งมีทีมนักออกแบบเข้ามาดูเรื่องการออกแบบผลิตเท้าเทียมให้มีคุณภาพดีขึ้น ประหยัดขึ้น ที่สำคัญก็คือถูกหลักสรีระวิทยา เมื่อดาวมีสินค้าคือผลิตภัณฑ์เคมี ทีมเอสซีจีมีผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบ และได้รับความร่วมมือจากรับเบอร์โซล ซึ่งเป็นพันธมิตรทางการค้ากันมาช่วยดูแลด้านการขึ้นรูป นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่นำเอาเทคโนโลยี นวัตกรรม รวมถึงการออกแบบมาพัฒนาเท้าเทียมเพื่อให้ผู้พิการสามารถเดินได้ดีขึ้น เท้าแบบใหม่ต้องสามารถรับแรงกระแทกได้มากขึ้น เพื่อให้การใช้งานในชีวิตประจำวันมีประสิทธิภาพมากขึ้น นี่คือสิ่งที่เรากำลังพัฒนาร่วมกับมูลนิธิขาเทียมฯ อยู่”

 

“กลุ่มบริษัทดาว ประเทศไทย ได้ชักชวนทีมงานซึ่งทำงานด้านการพัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์อยู่แล้วให้เข้ามาร่วมงานกับมูลนิธิขาเทียมในครั้งนี้” ศุภธิดา รัตนสวัสดิ์ Medical and Wellbeing Business Manager ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี กล่าวถึงจุดเริ่มต้นก่อนจะเสริมต่อว่า

 

 

ศุภธิดา รัตนสวัสดิ์ Medical and Wellbeing Business Manager ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี

 

 

“ต้องขอบคุณกลุ่มบริษัทดาวเลยนะคะ เพราะว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ทางเอสซีจีจะได้ใช้ความรู้ที่มีอยู่ในองค์กร ประกอบกับประสบการณ์ที่มีอยู่ในวงการเครื่องมือแพทย์มาหลายปีมาสร้างประโยชน์กับสังคม ทีมงานทุกคนสนุกกับโปรเจกต์นี้มาก เพราะทุกคนที่มีส่วนร่วม ทำด้วยพลังของมิตรภาพและความร่วมมือ ซึ่งมันไม่สามารถประเมินเป็นมูลค่าได้ ซึ่งสิ่งนี้ยั่งยืนมากเมื่อเราได้ใช้ทักษะที่เรามีช่วยเหลือสังคม”

 

ด้าน ศรัณย์ ภูริปรัชญา ประธานบริษัท รับเบอร์โซล จำกัด เล่าถึงที่มาของความร่วมมือในครั้งนี้ว่า “รับเบอร์โซลเป็นลูกค้ากลุ่มเอสซีจี ซึ่งเราเชี่ยวชาญเกี่ยวกับรองเท้าแตะยาง ทางเอสซีจีจึงได้ประสานมาว่าทางเราพอจะช่วยดำเนินการเรื่องนี้ได้หรือไม่ เพราะเนื่องด้วยเท้าเทียมมีราคาต้นทุนค่อนข้างสูง เอสซีจีต้องการทำราคาให้สามารถช่วยคนพิการได้ เราก็เลยรับโปรเจกต์นี้ขึ้นมาช่วยทำ”

 

 

ก้าวไปสู่จุดหมาย

 

นอกเหนือจากความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน อีกสิ่งหนึ่งที่ทุกฝ่ายมีร่วมกันก็คือ เป้าหมายที่อยากเห็นผู้พิการได้กลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติอีกครั้ง แต่กว่าจะไปถึงจุดนั้น ทีมงานต้องเจอกับความท้าทายต่าง ๆ มากมาย

 

 

 

 

รศ.นพ.วัชระ เล่าว่า “วัสดุอุปกรณ์สมัยก่อนถ้ามาจากต่างประเทศต้นทุนจะสูงมาก คนพิการก็จะสู้ราคาไม่ไหว ทางมูลนิธิฯ จึงได้ผลิตขาเทียมจากวัสดุภายในประเทศ และพัฒนามาเรื่อย ๆ ซึ่งที่ผ่านมายังเจอปัญหาพอสมควร เช่น พลาสติกพอลิยูรีเทนส่วนของเท้า เมื่อใช้งานแล้วก็อาจจะเสื่อมเร็ว หรือแกนพลาสติกข้างในใช้ไปแล้วก็อาจจะหักหากคนไข้น้ำหนักตัวเยอะ หรือทำงานยกของหนัก ๆ นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทางมูลนิธิฯ อยากจะพัฒนาให้คุณภาพดีขึ้น”

 

 

 

 

ศุภธิดา กล่าวเสริมถึงกระบวนการทำงานว่า “หลังจากที่คุยกันแล้ว เราก็วางแผนกันว่าจะทำงานกันอย่างไร ขั้นตอนปกติในการพัฒนาสินค้าชนิดหนึ่ง เรามักจะให้ความสำคัญกับการทำความเข้าใจปัญหาของสินค้าก่อนว่าคืออะไร ความต้องการของผู้ใช้งานเป็นอย่างไร แล้วนำมาประมวลเพื่อออกแบบแก้ไขอย่างเหมาะสม ในเรื่องนี้ปัญหาแรก ๆ จะเป็นเรื่องของแกนเท้าหัก ดังนั้นต้องทำให้แข็งแรงขึ้น แต่ความท้าทายอยู่ที่วัสดุที่แข็งขึ้นใช่ว่าจะตอบโจทย์ เพราะถ้าแข็งเกินไปก็จะทำให้เกิดแรงสะท้าน ทำให้เจ็บ ไม่สบายตัว เราจึงต้องเลือกวัสดุที่เหมาะสม ทางด้านงานออกแบบเราก็ต้องใช้ทักษะการออกแบบด้านรูปลักษณ์ และการออกแบบเชิงวิศวกรรมเพื่อให้ได้สินค้าตามมาตรฐานอุตสาหกรรม นอกจากนี้เดิมเท้าเทียมใช้วัสดุค่อนข้างสิ้นเปลือง เพราะเมื่อใช้งานชำรุดก็ต้องทิ้งส่วนเท้าไปทั้งชิ้น เราจึงออกแบบให้แยกชิ้นกันระหว่างแกนเท้ากับส่วนตัวเท้า โดยหากชำรุด ก็สามารถแยกชิ้นซ่อมหรือเปลี่ยนได้ นับว่าเป็นการบริหารการใช้งานวัสดุให้ไม่สิ้นเปลือง”

 

ขจรพงศ์ ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มบริษัทดาว ประเทศไทย ที่ทีมงานเลือกใช้ในครั้งนี้ คือ อิลาสโตเมอร์ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่สามารถรับแรงกระแทกได้ดี มีความคงสภาพได้ คือไม่มีการเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากอุณหภูมิ ซึ่งผลิตภัณฑ์นี้อยู่ในอุตสาหกรรมการผลิตรองเท้าชั้นนำ เพราะเราเล็งเห็นความสำคัญเวลาที่ฝ่าเท้าต้องรับแรงกระแทก”

 

 

ศรัณย์ ภูริปรัชญา ประธานบริษัท รับเบอร์โซล จำกัด และทีมงาน

 

 

“ทางคุณหมอวัชระท่านอยากได้เท้าเทียมที่ใกล้เคียงเท้ามนุษย์ น้ำหนักเบา ทนทาน ราคาไม่สูง แล้วก็หาซื้อเปลี่ยนได้ง่าย หน้าที่ของรับเบอร์โซลคือตอบโจทย์ตรงนี้ให้กับคุณหมอ ด้วยอุตสาหกรรมของรับเบอร์โซลเองเรามีทีมงานในการออกแบบแม่พิมพ์แล้วก็ทำคอมพาวนด์วัตถุดิบให้สอดคล้องกับสิ่งที่จะออกมาเป็นชิ้นงาน ซึ่งค่อนข้างจะครบวงจร” ศรัณย์ กล่าวเสริมถึงโจทย์ที่ได้รับในตอนแรก

 

 

 

ก้าวที่พร้อมฟันฝ่า

 

เมื่อการทำงานเริ่มต้นขึ้น สิ่งที่ทุกฝ่ายต้องเผชิญก็แตกต่างออกไปตามบทบาทที่ได้รับ แน่นอนว่าทุกฝ่ายพร้อมรับฟังปัญหา แก้ไข และพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่ง

 

 

 

 

เอสซีจี ในฐานะทีมออกแบบ ถ่ายทอดประสบการณ์ในครั้งนี้ว่า “ความท้าทายของการทำงานในครั้งนี้คือ การเลือกวัสดุ โดยเลือกจากสิ่งที่เรามีและราคาต้องเข้าถึงได้ เพราะว่ามูลนิธิฯ ต้องนำไปใช้ต่อ ซึ่งเราเลือกวัสดุที่ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ผสมผสานกับการออกแบบใหม่ จากเดิมออกแบบเป็นรูปตัว C ซึ่งจะมีแรงกดตรง ทำให้แกนแตกหัก ปัจจุบันเราออกแบบเป็นรูปตัว A เพื่อให้เกิดการรับแรง กระจายแรง โดยผสมผสานกับการออกแบบให้เป็นลักษณะโครงสร้างของรังผึ้ง ในที่สุดเราก็สามารถทำได้ตามมาตรฐานอุตสาหกรรม โดยเท้าสามารถรับน้ำหนักสูงสุดได้ที่ 90 กิโลกรัม และเดินได้ขั้นต่ำ 2,000,000 ก้าว ซึ่งเราคิดว่าจะสามารถรองรับการใช้งานจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

 

 

 

 

ในมุมของรับเบอร์โซล มีความเห็นว่า “เนื่องจากเท้าเทียมจะต้องมีแกนตรงกลางเหมือนโครงกระดูกอยู่ด้านใน ถ้าเคมีที่หุ้มเบาและนุ่ม แต่ไม่เหนียว เจอสิ่งที่แข็งเหมือนกระดูกก็อาจทำให้ทะลุออกมาได้ เรื่องความเบาและเหนียวก็ต้องคำนวณอีกแบบหนึ่ง ซึ่งเราต้องทำให้ทุกเรื่องไปในทิศทางเดียวกัน คุมทั้งราคาและคุณภาพ ซึ่งก็ดีใจที่ดาวสามารถตอบโจทย์เรื่องเคมีให้เรานำมาใช้ได้หลายตัว แล้วก็มีเอสซีจีแนะนำการออกแบบโครงสร้างแกนเท้าด้านใน ทีมเราทำด้านนอก ซึ่งมาร่วมกันทำจนสำเร็จนั้นใช้เวลาเกือบปีตั้งแต่เขียนโครงสร้างแบบ จนเป็น 3D และเป็นแม่พิมพ์ชิ้นแรก”

 

“ความท้าทายครั้งนี้อยู่ที่การจัดการความเปลี่ยนแปลง เพราะเราเปลี่ยนแปลงตั้งแต่วัสดุ การออกแบบ การขึ้นรูป เพราะฉะนั้นทุกขั้นตอนจะต้องมีสิ่งใหม่เกิดขึ้น เป็นความท้าทายที่เกิดขึ้นกับทีมงานตลอดเวลา เราให้เครดิตกับทีมงานของเราเสมอที่ช่วยกัน ใส่ใจ แล้วก็คิดค้นจัดการกับสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น โดยมีการพูดคุยกับทางมูลนิธิฯ อย่างสม่ำเสมอ ทางคุณหมอวัชระเองก็ให้ข้อมูลจากการทดลองแต่ละครั้งกลับมาว่าได้ผลอย่างไรบ้าง เพราะคนไข้ของมูลนิธิฯ มีช่วงอายุที่หลากหลาย การใช้งาน หรือการดำเนินชีวิตก็แตกต่างกัน ทีมงานจะประชุมกันเพื่อแก้ปัญหาเรื่องแบบ เรื่องวัสดุ กลับไปขึ้นรูปเท้าเทียมชิ้นใหม่ แล้วนำกลับไปให้คุณหมอทำการทดสอบอีก นี่เป็นความท้าทายที่เราต้องเจอ” ขจรพงศ์ กล่าว

 

 

ก้าวไปด้วยกัน

 

แม้บทบาทหน้าที่จะแตกต่างกันออกไป แต่เพื่อจุดมุ่งหมายเดียวกัน การทำหน้าที่สนับสนุนซึ่งกันและกันก็เป็นอีกหนึ่งบทบาทที่ทุกฝ่ายเต็มใจและยินดี

 

 

รศ.น.พ.วัชระ รุจิเวชพงศธร กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิขาเทียม ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

 

 

“เมื่อทางมูลนิธิฯ ได้มาร่วมทำงานกับองค์กรเอกชน ก็ได้เห็นการทำงานจริงจัง มีเครื่องมือพร้อม อยากได้อะไรก็สามารถทดลองทำได้ทันที มีทั้งความรู้และประสบการณ์ เพราะฉะนั้นเมื่อทางเอสซีจี  ดาว และรับเบอร์โซล ร่วมกันวิจัย ทดสอบ ทดลอง แล้วก็ผลิตชิ้นงานออกมาได้อย่างนี้จะประสบความสำเร็จเร็ว เพราะว่าสิ่งที่มูลนิธิฯ ต้องการคือผลงานที่ใช้ได้จริง ไม่ได้เป็นเพียงแค่องค์ความรู้เท่านั้น” รศ.นพ.วัชระ กล่าว

 

“นับเป็นการทำงานที่ทุกฝ่ายให้ความร่วมมือกันเป็นอย่างดี เพราะเราเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้พิการเป็นอันดับแรกเหมือน ๆ กัน ต้องการให้ผู้พิการสามารถกลับเข้าสู่สังคมได้ อยู่กับครอบครัวได้ เยาวชนมีความสุขกับการไปโรงเรียน คนทำงานก็สามารถกลับไปทำงานได้ ซึ่งทำให้ประเทศพัฒนาเรื่องของ GDP เพิ่มมากขึ้น สังคมดีขึ้น” ขจรพงศ์ ในฐานะผู้ชักชวนพันธมิตรร่วมโปรเจกต์นี้กล่าว

 

“การทำงานร่วมกัน ผมมองว่าอยู่ที่ตัวบุคลากรและองค์กร ถ้าไม่ถือตัวเองเป็นสำคัญ แล้วยอมรับความคิดเห็น ผมคิดว่ายังไงก็ทำงานกันได้ เพราะเราทำงานแล้วมองเป้าหมายเป็นที่ตั้ง” ศรัณย์ กล่าวเสริม

 

ด้าน ศุภธิดา ให้ความเห็นว่า “การได้ร่วมงานกับมูลนิธิฯ ดาว และรับเบอร์โซล ทีมงานทุกคนรู้สึกเป็นเกียรติ และภูมิใจมาก ๆ นี่คือพลังแห่งการผสานความร่วมมือที่ทุกคนใช้ความรู้ความสามารถในศาสตร์ที่ตนมีมาช่วยเหลือสังคม และเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย เพราะว่ามูลนิธิฯ สามารถนำไปทำต่อเองได้อย่างไม่รู้จบ”

 

 

ก้าวแห่งความภูมิใจ

 

เมื่อถามแต่ละฝ่ายถึงการได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการมอบเท้าเพื่อก้าวใหม่ ซึ่งเปรียบเหมือนการให้อนาคตที่สดใสกับผู้พิการ

 

“ความรู้สึกที่ได้มาทำงานนี้ตอนแรกไม่ได้คาดหวังมาก คิดว่าทำได้บุญกุศล แต่พอได้เห็นคนที่ได้ใช้งาน ก็รู้สึกภูมิใจในอาชีพของเราเลย จากคิดว่าแค่ทำงานหาเงินเลี้ยงครอบครัว เลี้ยงคนในบริษัท แต่นี่ได้ไปช่วยคนที่เขาเดินไม่ได้ เหมือนเราให้ชีวิตใหม่เขาเลย ผมเห็นก็รู้สึกภูมิใจ นำคลิปวิดีโอกลับมาให้ทีมงานดูเขาก็ยิ้ม ภูมิใจว่าเราทำให้คนสามารถมีชีวิตใหม่ได้” ศรัณย์ กล่าว

 

 

 

 

“ครั้งแรกที่เห็นผู้พิการเดินได้ รู้สึกปลื้มมาก ดีใจมาก ในฐานะหน่วยงานที่เป็นคนรับผิดชอบทางด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ไม่มีอะไรที่จะภูมิใจมากกว่านี้อีกแล้ว การที่เราใช้เวลาคิดค้นพัฒนา เมื่อเราได้เห็นว่าเขายืนขึ้นได้ เดินได้ด้วยสินค้าที่เราพัฒนาขึ้นมาแล้วเขาบอกว่าดี แค่นี้ก็ตอบทุกอย่างแล้ว” เสียงแห่งความภูมิใจจาก ศุภธิดา ในฐานะทีมออกแบบที่ตอบโจทย์การใช้งาน

 

“ภูมิใจแล้วว่านี่คือสิ่งที่เราเล็งเห็น เราบอกได้เลยว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่มีประโยชน์สำหรับประเทศชาติ ช่วยให้คนไข้ที่เสียขาไปได้กลับเข้ามาในสังคม ช่วยให้เขาสามารถก้าวตามความฝันได้อีกครั้งหนึ่ง ในขณะเดียวกันเราเองก็ไม่อยากให้มีคนไข้ประเภทนี้เพิ่มมากขึ้น การใช้รถใช้ถนน การใช้ชีวิตประจำวันให้มีความตระหนักเรื่องของความปลอดภัยนั้นสำคัญที่สุด” ขจรพงศ์ เสริมถึงการป้องกันไม่ให้เกิดผู้พิการเพิ่มขึ้น

 

 

ก้าวต่อไป

 

เมื่อการทำงานบรรลุไปอีกขั้น การวางเป้าหมายในอนาคตและความคาดหวังที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงก็ย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา

 

“8 ปีที่ผมอยู่ในมูลนิธิฯ อยากเห็นคนที่ด้อยโอกาสได้มีโอกาส ณ เวลานี้ นอกจากให้ขาเทียมเขาแล้ว สิ่งที่ผมทำต่อยอดคือ นำเอาพระราชปณิธานของสมเด็จย่ามาแปลงเป็นกิจกรรม เช่น การส่งเสริมอาชีพในท้องถิ่น เพราะพระองค์ท่านอยากเห็นคนพิการได้รับขาที่ดี มีชีวิตที่ดีขึ้น ตามมาด้วยการเลี้ยงดูตัวเองได้และไม่เป็นภาระกับสังคม” คือสิ่งที่ รศ.นพ.วัชระ ตั้งใจและลงมือทำมาอย่างต่อเนื่อง

 

“เราอยากให้ทางภาครัฐได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ของการออกแบบผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้ ซึ่งคิดค้น ออกแบบและผลิตโดยคนไทยทั้งหมด อาจจะทำเป็นแผนธุรกิจเพื่อขยายตลาดส่งออก เพราะว่าผลิตภัณฑ์ตัวนี้พิสูจน์ได้แล้วว่าสามารถตอบโจทย์ ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้แท้อย่างจริง” ขจรพงศ์ กล่าวในเชิงธุรกิจระดับประเทศ

 

นวัตกรรมต่าง ๆ ที่เราร่วมกันสร้างสรรค์ขึ้น ไม่ได้มีไว้เพียงเพื่อให้เกิดความเจริญก้าวหน้าของโลกเท่านั้น แต่ยังช่วย ซ่อมความหวัง สร้างชีวิตใหม่ ให้ผู้คนได้อีกมากมาย

 

เอสซีจีจึงยังคงเดินหน้าคิดค้นนวัตกรรมและพร้อมจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของทุกคนให้ดีขึ้นและเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน

 

 

 

 

นวัตกรรมการออกแบบ

 

  • ออกแบบให้รับและกระจายแรงได้อย่างมีประสิทธิภาพ แก้ปัญหาแกนเท้าหัก
  • เพิ่มการล็อคแกนเท้าเข้ากับวัสดุหุ้มแกนเท้า เพื่อการก้าวเดินอย่างมั่นใจ
  • เสริมยางพอลิยูรีเทน (polyurethane) บริเวณส้นแกนเท้า เพิ่มความยืดหยุ่นในจังหวะลงน้ำหนัก และช่วยลดแรงสะท้าน (shock) ของผู้ใช้
  • สามารถถอดแยกออกจากกันเพื่อเปลี่ยนเฉพาะส่วนที่ชำรุดได้ ทำให้ใช้ประโยชน์จากแต่ละชิ้นส่วนได้นานและคุ้มค่าที่สุด

 

แกนเท้า(Keel)

 

ทำจากวัสดุพอลิโพรพิลีน คอมโพสิท (PP Composite) ที่มีส่วนผสมของไฟเบอร์กลาส จากธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ให้ความแข็งแรงพิเศษ และมีน้ำหนักเบา

 

วัสดุหุ้มแกนเท้า (Foot Shell)

 

ทำจากวัสดุพลาสติกเอทิลีนไวนิลอะซีเตท (Ethylene Vinyl Acetate) และ พลาสติกพอลิโอเลฟินอิลาสโตเมอร์ ENGAGETM (Polyolefin Elastomer –  ENGAGETM) จากกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ทนทาน รับแรงกดและคืนตัวเร็ว ให้ความเหนียวและยืดหยุ่น น้ำหนักเบา สวยงามคล้ายเท้าจริง

 

 

 

 

“ คนไข้บางคนไม่เคยเดินเลยตลอด 40 ปี เพราะเขาไม่เคยได้รับโอกาสให้ได้มีขาเทียม หากได้ไปดูจุดที่เรากำลังทำขา หรือว่าได้เห็นคนไข้มาที่มูลนิธิฯ ตั้งแต่เช้าด้วยความหวังว่าวันรุ่งขึ้นจะเดินได้ นี่คือคำตอบว่าผมทำสิ่งนี้เพื่ออะไร ”

 

รศ.น.พ.วัชระ รุจิเวชพงศธร

กรรมการและเลขาธิการ

มูลนิธิขาเทียม ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

 

 

 

 

 

 

 

 

“การพัฒนาเท้าเทียมใหม่นี้นอกจากเป็นการคืนโอกาสให้กับผู้พิการแล้ว การเลือกวัสดุและการออกแบบยังทำให้ต้นทุนของเท้าเทียมลดลงไปได้ถึงครึ่งหนึ่ง ซึ่งทำให้มูลนิธิสามารถช่วยเหลือผู้พิการได้จำนวนมากขึ้นในงบประมาณเท่าเดิม”

 

ศุภธิดา รัตนสวัสดิ์

Medical & Wellbeing Business Manager

ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี

 

 

 

 

 

 

“ตรงนี้เป็นการจุดประกายเรื่องนวัตกรรมของผลิตภัณฑ์ที่สามารถช่วยให้คุณภาพชีวิตของคนไข้ดีขึ้น พร้อมกับให้ขาเทียมเป็นตัวที่ตอบโจทย์ผลิตภัณฑ์ที่ทันสมัยมากขึ้น”

 

ขจรพงศ์ ภู่สิทธิกุล

Marketing and Market Intelligence Manager

กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย

 

 

 

 

 

 

 

“สิ่งที่เห็นตอนทุกคนได้ใส่ มองสีหน้าแววตาเขารู้เลย อย่างเด็ก 5 ขวบ เขาใส่ปุ๊บเขาเดินใหญ่เลย เดินอย่างมีความสุข เราก็ปิติใจ”

 

ศรัณย์ ภูริปรัชญา

ประธานบริษัท รับเบอร์โซล จำกัด

หัวข้อที่เกี่ยวข้อง

[elementor-template id="3478"]