Close
|
> INNOVATION > รวมพลังยกระดับสุขาภิบาลของโลก
⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀

รวมพลังยกระดับสุขาภิบาลของโลก
⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀

Publish On 04, Feb 2019 | รวมพลังยกระดับสุขาภิบาลของโลก
⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀

จะดีไหม ถ้าในพื้นที่กันดารห่างไกลทั่วโลก จะสามารถเข้าถึงสุขาและระบบสุขาภิบาลพื้นฐานได้อย่างเท่าเทียม

 

จะดีไหม ถ้าสุขานั้นมีระบบบำบัดที่สามารถเปลี่ยนของเสียให้กลายเป็นปุ๋ยและน้ำที่สะอาดพอจนปล่อยกลับสู่ธรรมชาติหรือนำไปใช้ประโยชน์ได้

 

จะดีไหม ถ้าสิ่งเหล่านี้ได้เกิดขึ้นแล้วจากการผสานความร่วมมือของธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (AIT) บริษัทธรรมสรณ์ จำกัด และ บริษัททีเบลโก้ จำกัด ที่ใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านสร้างผลงานโดยมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ ยกระดับสุขาภิบาลของโลกให้ทุกคน โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนามีสุขอนามัยที่ดีขึ้นอย่างทั่วถึง

 

และจะดีที่สุด ถ้าระบบนี้ได้นำไปใช้จริงในอนาคต

 

 

ที่มาของความร่วมมือ


            .ดร.ธรรมรัตน์ คุตตะเทพ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย ในฐานะหัวหน้าทีมวิจัยระบบ Zyclone Cube ซึ่งเป็นระบบบำบัดน้ำเสียจากสุขาครบวงจรที่ใช้หลักฟิสิกส์ง่าย ๆ ด้วยแรงโน้มถ่วงและหลักการหมุนเหวี่ยง จนสามารถแยกสิ่งปฏิกูลที่เป็นของเหลว และกากออกจากกันทันที โดยไม่ต้องใช้ไฟฟ้า ซึ่งเป็นการลดการปนเปื้อนสารได้มากถึง 50% รวมทั้งมีการฆ่าเชื้อโรคโดยการใช้ความร้อน ผลพลอยได้คือกากสิ่งปฏิกูลที่ฆ่าเชื้อแล้ว ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นปุ๋ยที่ปลอดเชื้อในการเกษตรและน้ำอุปโภคได้อย่างปลอดภัย กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการทำงานครั้งนี้ว่า

    

“การยกระดับสุขาภิบาลของประเทศกำลังพัฒนาเป็นสิ่งสำคัญ บทบาทของ AIT ในฐานะที่เป็นสถาบัน พัฒนาเทคโนโลยีแห่งเอเซีย เราทำวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ขึ้นมา อีกทั้งยังต้องการนำนวัตกรรมส่งไปให้ประชาชนได้ใช้ แต่ในความเป็นจริงเราทำงานได้ในระดับของนักวิจัย เราจึงต้องการภาคอุตสาหกรรมที่จะเข้ามาช่วยสานต่อว่าจะทำอย่างไรให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานได้จริง และสามารถเข้าสู่ตลาดโลกได้”

 

 

เทคโนโลยีที่ถูกคิดค้นขึ้นนี้ผ่านการทดลองหลายครั้ง แต่ด้วยความถนัดด้านงานวิจัย จึงทำให้ยังติดปัญหา ในการพัฒนาให้เกิดเป็นสินค้าเชิงพาณิชย์ จนเมื่อได้มาเจอกับอรรถวุฒิ คุ้มครอง Open Innovation – Partnership Management ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี งานวิจัยนั้นก็ค่อย ๆ เป็นจริงขึ้น ด้วยการทำงานแบบผสานความร่วมมือ ดังที่ อรรถวุฒิ บอกว่า

 

Zyclone ที่ผ่านการพัฒนาวัสดุและรูปแบบต่าง ๆ มาจนถึงปัจจุบัน (จากซ้ายไปขวา)

 

“เอสซีจีมีความสามารถจะแปลงเทคโนโลยีให้กลายเป็นจริง ซึ่งอุปกรณ์ที่ AIT ต้องการใช้งานนั้น ผมมองว่าใช้พลาสติกผลิตแล้วง่ายกว่าจึงอาสาเข้าไปช่วย บทบาทหน้าที่ของเอสซีจีก็คือเราเป็นคนริเริ่มโปรเจกต์ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต้องทำคือการบริหารจัดการความร่วมมือของคนที่มากกว่า 1 หน่วยงานจากต่างบริษัท ให้ทำงานผสานไปในทิศทางเดียวกัน ต้องหาเพื่อนหลาย ๆ คนเพื่อทำให้มันสำเร็จขึ้นได้จริง ๆ ในฐานะเราเป็นคนกลางที่มีความรู้เรื่องวัสดุพอลิเมอร์ทั้งหมด เลยมีเน็ตเวิร์คหาผู้ขึ้นรูปและหาผู้ผลิตเทคโนโลยีนี้”

 

 

ระหว่างทางสู่ความสำเร็จ


หลังจากที่มองเห็นทิศทางการทำงานร่วมกันที่เป็นไปได้อย่างชัดเจน ความท้าทายต่าง ๆ ที่ทุกหน่วยงานต้องเผชิญก็เกิดขึ้นในทันที

 

“เมื่อได้รับโอกาสจากเอสซีจีด้วยโจทย์การออกแบบห้องสุขาที่จะรองรับน้ำเสียที่มีฟังก์ชั่นครบ โดยที่สามารถใช้พลังงานโซลาร์เซลล์เพื่อตอบโจทย์พื้นที่ที่ไม่มีไฟฟ้าได้ และที่สำคัญต้องเคลื่อนย้าย ติดตั้งได้ง่ายและยังไม่ต้องต่อท่อระบายน้ำกับสาธารณูปโภคส่วนกลางอีกด้วย ถือว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายมากครับ” ธิติ โตวิวัฒน์ ประธานกรรมการ บริษัท ธรรมสรณ์ จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านการแปรรูปพลาสติก เล่าถึงโจทย์ที่ได้รับก่อนจะเสริมต่อว่า

 

“ห้องน้ำสาธารณะทั่วไปมักออกแบบเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมมาให้ใช้งานแบบชั่วคราว ไม่เน้นเรื่องความสวยงาม และในมุมของผู้ใช้มักจะอึดอัด เราก็เอาโจทย์นี้มาคิดว่าถ้ามีขนาดพื้นที่ใกล้เคียงกัน ทำยังไงให้ใช้แล้วมีความรู้สึก สบาย โล่ง จึงได้เป็นห้องน้ำทรงกลมขึ้นมา

 

แรงบันดาลใจของทีมออกแบบรูปทรงห้องน้ำนี้มาจาก ต้นเบาบับ ที่มีต้นกำเนิดในทวีปแอฟริกา ซึ่งได้รับฉายาว่าเป็น ต้นไม้แห่งชีวิต (Tree of Life) ที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในพื้นที่กันดารแห้งแล้ง ทีมออกแบบมองว่าการออกแบบห้องน้ำไม่ใช่งานสร้างสรรค์แสดงความเป็นอัตลักษณ์แต่อย่างเดียว แต่คืองานที่ต้องออกแบบให้ลงตัวทั้งด้านอัตลักษณ์และด้านฟังก์ชั่นเพื่อตอบโจทย์การใช้งานในทุกสภาพพื้นที่ เน้นการติดตั้งง่าย ไม่จำเป็นต้องเชื่อมต่อกับระบบสาธารณูปโภคอื่น ๆ ให้ซับซ้อน เรียกได้ว่าเป็นดีไซน์ที่ตอบโจทย์ทุกแง่มุมของการจัดการของเสียในพื้นที่ห่างไกลทั่วโลกได้อย่างแท้จริง ซึ่งถือว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ของผู้ออกแบบห้องน้ำ

 

เมื่อของเสียผ่านกระบวนการบำบัดแยกกากแล้วจะถูกกรองอีกครั้งในขั้นตอนสุดท้าย

 

ปกติแล้วการจัดการน้ำเสียที่ใช้ระบบไบโอจะมีขนาดใหญ่ และยังมีการเลี้ยงเชื้อที่ใช้เวลานาน มีระบบการจัดการแบคทีเรียที่ซับซ้อน แต่สำหรับโปรเจ็กต์นี้ใช้ระบบไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ แล้วระบบก็เล็กลงเยอะมาก นอกจากนี้ยังสามารถจัดการได้ในทันทีไม่ต้องรอให้เชื้อเติบโต อันนี้คือข้อแตกต่าง”

 

ประชุม ภาคภพ ประธานกรรมการ บริษัท ทีเบลโก้ จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านการเชื่อมและขึ้นรูปพลาสติก แทงค์น้ำและแทงค์น้ำมัน ผู้ผลิตและพัฒนาแทงค์คุณภาพสูง กล่าวถึงการทำงานในครั้งนี้ว่า

 

 

“เอสซีจีเห็นงานที่เราทำอยู่แล้ว พอมาคุยก็คิดว่าโปรเจกต์นี้มีประโยชน์มาก ๆ  วัสดุที่ทีเบลโก้เลือกใช้สำหรับงานนี้คือ  พลาสติกพอลิเอทิลีนคุณภาพสูง เพราะพลาสติกพอลิเอทิลีนเป็นวัสดุที่เบาและเชื่อมได้ง่าย ซึ่งทำให้การดีไซน์ง่ายขึ้น ที่สำคัญคือทนกับทุกสภาพแวดล้อมได้ดี เพราะห้องน้ำต้องการใช้วัสดุที่คงทนยาวนาน หากทำแล้วไม่ทนก็จะเหมือนเป็นการเพิ่มต้นทุน นอกจากนี้ พลาสติกพอลิเอทิลีนมีหลายสีด้วย ทำให้ห้องน้ำมีชีวิตชีวาขึ้นได้อีก การทำความสะอาดก็ได้เปรียบกว่าวัสดุอื่น เพราะว่ามีผิวลื่น เพราะฉะนั้น พอลิเอทิลีนเป็นพลาสติกที่เหมาะสมที่สุดสำหรับงานนี้”

 

และในฐานะคนกลางและผู้เชื่อมโยงพันธมิตรในการทำงานครั้งนี้ อรรถวุฒิ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ความท้าทายในการทำงานมีหลายประเด็น ซึ่งเป็นเรื่องดีที่ทุกคนมองโจทย์นี้เป็นเรื่องที่สนุก จึงกลายเป็นความท้าทายที่น่าสนใจเพราะว่ามันไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทย บนโลกนี้ก็มีน้อยมาก การที่จะนำของเสียจากห้องสุขากลับมาใช้ใหม่ได้ ทั้งการนำน้ำกลับมาใช้รดน้ำต้นไม้ ซึ่งเป็นน้ำที่ใส แต่ดื่มไม่ได้เท่านั้นเอง ส่วนกากที่เราแยกไปจะผ่านเทคนิคการใช้ความร้อนเพื่อฆ่าเชื้อโรค แล้วก็ทำให้แห้งจนได้ออกมาเป็นปุ๋ย เอาไปใช้ในเกษตรกรรมได้ เป็นต้น จึงเป็นที่มาที่ทุกคนบอกว่านี่คือโจทย์ที่ดึงดูดให้มาช่วยกันทำให้มันสำเร็จ”

 

ของเสียที่ผ่านกระบวนการบำบัดให้กลายเป็นปุ๋ยสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้

 

ประโยชน์ที่ทุกฝ่ายจะได้รับ

“การทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน คุณค่าของงานตรงนี้ ไม่ใช่แค่การที่ AIT เอาเทคโนโลยีไปพัฒนาร่วมกับเอสซีจีแล้วจะจบนะครับ ผมคิดว่าประโยชน์ต่อเนื่องที่จะออกมาในอนาคต ถ้าประชาชน หรือว่าภาครัฐภาคเอกชนเห็นว่าสำคัญ ก็จะช่วยยกระดับการจัดการสุขาภิบาลที่ดีขึ้น ถ้าเราสามารถฆ่าเชื้อโรค แล้วก็ลดมลภาวะเริ่มต้นได้ ก็จะยกระดับการสุขาภิบาลของประเทศไทยและสุขาภิบาลโลกได้ดีมากขึ้น” .ดร.ธรรมรัตน์ กล่าว

 

ถ้ามีระบบการจัดการและห้องน้ำที่ดี ย่อมส่งผลต่อคุณภาพชีวิตอย่างแน่นอน เพราะว่าของเสียของเราเกิดขึ้นทุกวันโดยผ่านห้องน้ำ ถ้าห้องน้ำมีระบบการจัดการที่ไม่ดี ของเสียก็ออกไปสู่สาธารณะ เข้าสู่สิ่งแวดล้อม แล้วก็เป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค แต่หากทุกบ้านทุกชุมชนสามารถจัดการของเสียได้ด้วยตนเองอย่างง่าย ๆ  ก็หมายความว่าทุกครั้งที่เรามีการใช้ห้องน้ำ เราไม่ต้องกังวลใจว่าเรามีส่วนทำลายสิ่งแวดล้อม

 

ประชุม เสริมประเด็นนี้ว่า “สุขอนามัยเป็นสิ่งสำคัญ สิ่งที่เราทำนี้จะได้ประโยชน์อีกหลายส่วน ทั้งการแยกกากของเสียเพื่อเป็นปุ๋ยธรรมชาติ แล้วน้ำที่ลงสู่แหล่งน้ำก็ไม่มีเชื้อโรค ซึ่งต้องยอมรับว่าตรงนี้เป็นปัญหาของโลกอยู่แล้ว การร่วมกันทำผลิตภัณฑ์ตัวนี้ผมคิดว่าในอนาคตมันต้องเกิดประโยชน์ต่อไปอีก สามารถต่อยอดได้อีกเรื่อย ๆ”

 

เมื่อทุกคนเล็งเห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อม ระบบสุขาภิบาล และร่วมมือกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ จนสำเร็จเป็นชิ้นงานที่ทุกคนพอใจ ตรงตามความตั้งใจของผู้ริเริ่มโปรเจ็กต์อย่างเอสซีจี อรรถวุฒิกล่าวเสริมว่า “โครงการต้องถูกพัฒนาอย่างยั่งยืน เพราะว่าเราคิดถึงประโยชน์ของคนในทุกมิติเลย เรามองเป็น Circular Economy นอกจากทำยังไงให้ขยะกลับมาใช้ใหม่ได้แล้ว เรายังมองไปถึงว่าของเสียที่เกิดจากร่างกายมนุษย์ ก็สามารถนำกลับมาทำให้เกิดประโยชน์ได้ มันต่อยอด นี่คือความยั่งยืนในความหมายของผม บริษัทก็ยั่งยืนในการที่จะมีโอกาสเติบโตทางธุรกิจในหลากมิติขึ้น ประชากรโลกก็ได้ระบบสาธารณสุขที่ดีขึ้น ชื่อเสียงประเทศไทยก็ตามมา ผมว่าภาพรวมทุกคนได้ประโยชน์หมดเลยจากงานนี้”

 

Zyclone ดีไซน์ล่าสุด

 

ความรู้สึกที่ได้มีส่วนร่วม

 

ผลงานชิ้นนี้เกิดจากการใช้เวลาทุ่มเท คิดค้น และผ่านกระบวนการทดลอง จนถึงขั้นตอนการผลิต ให้สามารถใช้ได้จริง อีกทั้งยังจะมีส่วนช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมของโลกด้วย .ดร.ธรรมรัตน์ ในฐานะผู้เป็นเจ้าของงานวิจัยชิ้นนี้กล่าวเสริมถึงความรู้สึกต่อโปรเจกต์นี้ว่า

 

“ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงานก็คือ ทีมงานรวมทั้งตัวผมเองมีทัศนคติในการทำงานที่เปลี่ยนไป คือแทนที่จะไปคิดงานวิชาการ งานวิจัยลงลึกไปเรื่อย ๆ เราต้องคิดว่าทำอย่างไรให้ผู้ใช้รู้สึกอยากใช้เทคโนโลยีของเรา ถ้าไม่เช่นนั้นแล้วก็จะเป็นแค่งานตีพิมพ์บทความทางวิชาการอยู่ในห้องสมุด แล้วก็มีนักวิจัยคนอื่นมาทำต่อ แต่ถ้าเรา เอาเทคโนโลยีไปพัฒนาให้เป็นสินค้าออกมา โดยที่มีความเข้าใจตลาดและคำนึงถึงภาคธุรกิจด้วย ถือเป็นจุดเปลี่ยน สำคัญ ในฐานะที่ผมเป็นนักวิจัยก็อยากฝากถึงเพื่อน ๆ นักวิจัยด้วยกันว่า เราต้องตอบโจทย์ของตลาดด้วยว่าตลาด ต้องการอะไร ไม่ใช่วิจัยเพื่อเรียนรู้เท่านั้น เราต้องวิจัยโดยอยากจะให้มันเป็นประโยชน์ ต่อยอดให้มันสามารถผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ออกมาได้”

 

สุขอนามัยที่ดีเริ่มต้นจากห้องสุขาซึ่งถูกพัฒนาร่วมกันจากผู้เชี่ยวชาญทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง

 

ส่วนธิติ กล่าวถึงความรู้สึกที่เป็นส่วนหนึ่งในทีมงานนี้ว่า “การทำสิ่งนี้ให้สำเร็จเป็นสิ่งที่ต้องใช้จินตนาการ สร้างสรรค์สินค้าดี ๆ ให้สำเร็จตามที่คิด ถึงแม้จะเป็นสินค้าที่เล็ก ๆ แค่ห้องน้ำหนึ่งห้อง แต่ก็สามารถสร้างประโยชน์กับคนทั้งโลกที่ยังขาดระบบบำบัดและวิธีการจัดการของเสียที่ดี ผมก็รู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ครับ”

 

ซึ่งคล้ายกันกับความรู้สึกของประชุม “ทีเบลโก้มีความดีใจและภูมิใจเพราะว่างานตรงนี้มีส่วนช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมซึ่งเราทุกคนต้องตระหนัก เมื่อเราได้รับความไว้วางใจให้ได้ร่วมกันทำเหมือนเป็นทีมเดียวกัน ทำให้สิ่งที่เป็นความท้าทายนี้เป็นจริงได้และเป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ทั่วโลก ออกแบบมาให้ดีที่สุดพร้อมกับวัสดุที่ดีที่สุด ตรงนี้คุ้มค่าสำหรับความทุ่มเทของเรา”

 

 

อรรถวุฒิ สรุปถึงการร่วมมือในครั้งนี้ว่า “เอสซีจีเองก็มุ่งเน้นที่จะพัฒนาเทคโนโลยี หรือนวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อประชาชนส่วนใหญ่อยู่แล้ว เราทำงานเพื่อมุ่งหวังจะพัฒนาให้คุณภาพชีวิตของคนดีขึ้น เราจึงมาทำเรื่องสาธารณสุขของโลก ภายใต้การบริหารจัดการเทคโนโลยีของเอสซีจี นี่คือสิ่งที่ทำให้เราก้าวเข้ามาและก็เป็นเหตุผลให้เราทำต่อไปอีกเรื่อย ๆ”

 

เอสซีจียังคงมุ่งมั่นทำหน้าที่สนับสนุนและผลักดันนวัตกรรมทุกรูปแบบด้วยความเชี่ยวชาญด้านวัสดุพอลิเมอร์ รวมทั้งมีเครือข่ายทางธุรกิจที่แข็งแกร่งมาช่วยเสริมศักยภาพ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่สร้างประโยชน์และเป็นที่ยอมรับในเวทีระดับโลก วันนี้ทีมงานทั้งหมดได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การมีส่วนร่วมที่จะทำให้โลกน่าอยู่ ประชากรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่สามารถเกิดขึ้นจากการกระทำของคนใดคนหนึ่ง แต่คุณภาพชีวิตของเรา และโลกของเรา ต้องมีพวกเราทุกคนเป็นผู้กำหนดและร่วมกันทำให้ดีขึ้นได้อย่างยั่งยืน

 

 

คุณสมบัติพิเศษของห้องน้ำพร้อมระบบบำบัด Zyclone Cube

 

 

ระบบบำบัดของเสีย Zyclone Cube

 

1.แยกกากของแข็งและน้ำเสียได้มีประสิทธิภาพ:

สามารถแยกกากของแข็งและน้ำเสียออกจากกันโดยใช้ลักษณะพิเศษของพลาสติก Zyclone ที่มีการออกแบบรูปทรงและองศาให้เหมาะสมกับการไหล อีกทั้งวัสดุพื้นผิวที่เนียนเรียบทำให้ปราศจากคราบสกปรกติดค้าง ช่วยเสริมประสิทธิภาพในการบำบัด

 

2.บำบัดของเสียจนปราศจากเชื้อโรค:

น้ำเสีย ผ่านกระบวนการบำบัดทางชีวภาพ และฆ่าเชื้อขั้นสูงด้วยกระบวนการไฟฟ้าเคมี (Electro-Chemical)

กากของเสียใช้ความร้อนสูงถึง 100-120 องศาเซลเซียสในการฆ่าเชื้อจนได้ผงสีดำปลอดเชื้อ

 

3.เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม:

สามารถนำกากของเสียจากการบำบัดกลับมาเป็นปุ๋ยธรรมชาติ และน้ำเสียสามารถนำกลับมาใช้ได้อย่างปลอดภัย

 

 

ห้องน้ำพร้อมระบบบำบัดน้ำเสียครบวงจร ติดตั้งนำร่องที่ชุมชนคลองพลับพลา พระราม 9

 

 

 

ห้องน้ำ

1.แข็งแรงทนทาน เพราะขึ้นรูปด้วยกระบวนการผลิตแบบหมุนเหวี่ยง (Rotational Molding) จึงทนแดดทนฝน อายุการใช้งานยาวนานกว่า 10 ปี

2.ติดตั้งง่ายและรวดเร็ว ถอดประกอบใหม่ได้ง่าย ขนย้ายสะดวก ไม่ต้องใช้อุปกรณ์พิเศษ จึงสามารถติดตั้งได้ภายใน 30 นาที

3.รองรับทั้งระบบ On Grid และ Off Grid เนื่องจากหลังคาออกแบบพิเศษให้รองรับการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ให้หมุนรับแสงได้รอบทิศทาง รองรับการติดตั้งได้ทุกภูมิภาค

 

 

ศ.ดร.ธรรมรัตน์ คุตตะเทพ – สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย

            “ถ้าประชาชนต้องอาศัยอยู่ในสุขาภิบาลที่แย่ ถึงแม้จะมีวัคซีนที่ดีที่สุดในโลกก็จะไม่มีประโยชน์อะไร เพราะว่าจะมีเชื้อโรคเกิดมาเรื่อย ๆ แต่ถ้าเราสร้างห้องสุขาที่สามารถบำบัดของเสียได้ด้วยก็จะเป็นซูเปอร์วัคซีน สามารถป้องกันเชื้อโรคได้มากกว่าวัคซีน

 

 

ธิติ โตวิวัฒน์ – ผู้บริหาร บริษัท ธรรมสรณ์ จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านการแปรรูปพลาสติก

                    เรื่องที่น่าทึ่งคือจินตนาการของเอสซีจีที่เป็นจุดเริ่มต้น และยังจุดประกายให้ทีมงานดำเนินการต่อจนสำเร็จ เชื่อว่าสิ่งเล็กๆ ที่เกิดจากจินตนาการนี้จะสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้อย่างน่าทึ่งเช่นกัน

 

 

ประชุม ภาคภพ – ประธานกรรมการ บริษัท ทีเบลโก้ จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านการเชื่อมและขึ้นรูปพลาสติก แทงค์น้ำและแทงค์น้ำมัน

ทีเบลโก้พอใจกับงานที่ออกมาเพราะว่าเราได้มีส่วนร่วมพยายามทำให้ดีเหมาะกับการที่จะไปโชว์ต่างประเทศ เราก็ต้องพยายามทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะดีได้

 

 

อรรถวุฒิ คุ้มครอง Open Innovation – Partnership Management ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี

ประชากรโลกจะมีระบบสาธารณสุขที่ดีขึ้น แล้วผมก็เชื่อมั่นว่าเอสซีจีต้องภูมิใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะว่าเราประกอบธุรกิจที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนมาตลอด เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ตอบโจทย์หลักการทางธุรกิจของเอสซีจี

 

 

บิล เกตส์

มูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์

วันนี้ ผมยินดีที่จะบอกทุกท่านว่า ขณะนี้มีบริษัทที่พร้อมรับผลิตห้องสุขาแห่งอนาคตและเครื่องบำบัดออมนิโพรเซสเซอร์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ บริษัท เช่น เคลียร์ อีโคแซน  เอสซีจี เคมิคอลส์ และอีรัม ไซแอนทิฟิก โซลูชันส์ ได้เริ่มประกาศเปิดตัวผลิตภัณฑ์ห้องสุขาแห่งอนาคตของตนเองแล้ว ส่วนบริษัท ซีอาร์อาร์ซี  ซีดรอน เทคโนโลจีส์  แองเคอร์ ไซแอนทิฟิก และ ไทด์ เทคโนแครต ก็ได้ประกาศเปิดตัวเครื่องบำบัดออมนิโพรเซสเซอร์ของตนเองเช่นกัน

 

อ้างอิง: Bill Gates Remarks, Reinvented Toilet Expo, Beijing, Nov 6, 2018

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

reinventedtoilet@scg.com

www.scgchemicals.com/th/products-services/technology-service-solutions/reinvented-toilet-total-solution

[elementor-template id="3478"]