พลังแห่งความร่วมมือ แก้ปัญหาการอุดตันของระบบลำเลียงวัตถุดิบการผลิตปูนด้วย PE Sheet
Publish On 07, May 2018 | พลังแห่งความร่วมมือ แก้ปัญหาการอุดตันของระบบลำเลียงวัตถุดิบการผลิตปูนด้วย PE Sheet
คงจะเคยได้ยินกันว่า การทำธุรกิจเพียงลำพังอาจจะทำได้รวดเร็ว แต่หากมีการจับมือทำงานร่วมกันย่อมส่งเสริมผลประโยชน์ให้ธุรกิจมีความมั่นคงและยั่งยืนมากกว่า เหมือนดั่ง “พลาสติก” กับ “เหล็ก” ที่ใครจะรู้วันหนึ่งสามารถนำมาใช้คู่กันอย่างเหมาะสม ภายใต้โครงการความร่วมมือตลอดทั้ง Value Chain เริ่มต้นจากปัญหาการอุดตันในฮอปเปอร์ที่ใช้ลำเลียงวัตถุดิบของโรงปูนแก่งคอย หรือบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (แก่งคอย) จำกัด ในธุรกิจซิเมนต์ – ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ของเอสซีจี เมื่อทีมของเอสซีจี เคมิคอลส์ รับรู้ถึงปัญหานี้ จึงนำเอาความเชี่ยวชาญด้านวัสดุพอลิเมอร์มาช่วยหาวิธีแก้ปัญหาดังกล่าว โดยครั้งนี้เอสซีจี เคมิคอลส์จับมือกับบริษัท แอร์โรคลาส ซึ่งเป็นผู้นำด้านการผลิตสินค้าพลาสติกในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีเครื่องจักรและความชำนาญในการผลิตแผ่น PE sheet โดยใช้เม็ดพลาสติกเกรดพิเศษจากเอสซีจี เคมิคอลส์ จนเกิดเป็นโซลูชั่นใหม่ให้กับโรงปูนแก่งคอยโดยทำหน้าที่เป็นคนหาโซลูชั่น ตั้งแต่การหาวัสดุที่จะมาใช้แก้ปัญหาดังกล่าว หาผู้ผลิต และนำไปติดตั้งที่โรงงานลูกค้า และนี่คือเรื่องราวของพลังแห่งความร่วมมือ
จุดเริ่มต้นการร่วมมือ
คุณเอกวัฒน์ วิทูรปกรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอร์โรคลาส จำกัด กล่าวถึงการทำงานร่วมมือกันครั้งนี้ว่า เกิดจากการพูดคุยที่มีเคมีตรงกัน ไม่ว่าจะเป็นความสนุกในการคุยเรื่องธุรกิจ ไอเดีย หรือนวัตกรรม รวมไปถึงปรัชญาของบริษัทที่ตรงกันคือ “รับจากสังคม คืนสู่สังคม” จึงเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดความเข้าใจ เชื่อใจ และมั่นใจในการทำงานร่วมกัน ซึ่งเขาย้ำว่าเป็นสิ่งสำคัญในการเริ่มต้น
“การที่เราเห็น เอสซีจี เคมิคอลส์ มีความตั้งใจเดินเข้ามาหาเรา ทำให้เราเกิดความมั่นใจ และสัมผัสถึงความรู้สึกดี ๆ เพราะคนที่ทำงานนวัตกรรมจะมีความคิดเหมือนกัน มีความรู้สึกอยากสู้ อยากเปิดโอกาส ซึ่งการเปิดโอกาสเหล่านั้น มันเป็นประตูด่านแรก ถ้าเรารู้สึกได้คุยกับคนคอเดียวกัน เราจะร่วมงานกันได้อย่างสนุก”
PE Sheet ของเอสซีจี เคมิคอลส์ เกิดจากการทำงานอย่างใกล้ชิด ศึกษาความต้องการเชิงลึก เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ด้วยการนำเสนอสินค้าและบริการครบวงจร เป็นการนำจุดแข็งของ เอสซีจี เคมิคอลส์ ที่มีเม็ดพลาสติกคุณภาพสูง มาผลิตที่แอร์โรคลาสซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการผลิตแผ่น PE Sheet โดย คุณอรรถวุฒิ คุ้มครอง Open Innovation- Partnership Management เอสซีจี เคมิคอลส์ ขยายรายละเอียดให้เราฟังว่า โครงการนี้เกิดจากแนวคิดที่จะนำเทคโนโลยีการผลิตเม็ดพลาสติก PE ที่มีขนาดโมเลกุลใหญ่มาก มาสร้างการใช้งานในรูปแบบใหม่ เมื่อได้รับทราบปัญหาการเกาะติดของวัตถุดิบที่ โรงปูนแก่งคอยที่ประสบปัญหามานานและหาวิธีการจัดการมาหลายรูปแบบแต่ก็ยังไม่สำเร็จเท่าที่ควรจึงได้เสนอแนวคิดใหม่ที่เกี่ยวกับ PE Sheet มา Lining กับ ฮอปเปอร์เหล็กด้วยความร่วมมืออย่างดีจากส่วนซ่อมบำรุง ส่วนผลิต และส่วนส่งเสริมการผลิตโรงปูนแก่งคอย สามารถพัฒนาเป็นนวัตกรรมใหม่ขึ้นมา และนำไปใช้ได้ผลสำเร็จเป็นอย่างดี
ส่วนบริษัทแอร์โรคลาส จำกัด ก็ได้นำความเชี่ยวชาญในฐานะผู้ผลิตแผ่น PE Sheet มาช่วยขึ้นรูปแผ่น PE Sheet จากเม็ดพลาสติกเกรดพิเศษของเอสซีจี เคมิคอลส์ และตัดให้ได้ขนาดตามที่ต้องการ รวมไปถึงปรับค่าคุณสมบัติต่าง ๆ ให้เหมาะสม เช่น ค่าความหนา ความหนืด ทำให้ระหว่างการผลิตชิ้นงานไม่ประสบปัญหาใด ๆ ซึ่งต้องขอบคุณทีมงานผลิตของแอร์โรคลาสที่เปิดใจรับฟังความต่างของคุณสมบัติเม็ดพลาสติกชนิดใหม่กับเม็ดที่เคยใช้งาน ทำให้การผลิตมีของเสียน้อยและปรับแต่งเครื่องจักรได้มีประสิทธิภาพมาก อีกทั้งผลลัพธ์ PE Sheet ก็ให้คุณสมบัติตรงตามความต้องการทุกประการ ใช้งานได้จริง
“แต่เดิม ฮอปเปอร์ป้อนวัตถุดิบ ของโรงปูนแก่งคอย ทำจากเหล็กแผ่นขึ้นรูป ซึ่งพบข้อเสีย คือ เมื่อวัตถุดิบชื้น ก็จะติดตามผนัง ทำให้เกิดอุดตันง่าย โดยเฉพาะช่วงฤดูฝน ซึ่งผู้ปฏิบัติงานต้องใช้เวลานานในการเคลียร์วัตถุดิบที่อุดตัน ในสภาพหน้างานที่มีความร้อน เสียง และฝุ่น นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อคุณภาพให้วัตถุดิบบดสำเร็จ (Raw Meal) และคุณภาพปูนเม็ด (Clinker) ไม่เป็นไปตามเกณฑ์กำหนด” คุณณัฐวุฒิ อินทรส ผู้จัดการส่วนส่งเสริมการผลิต บริษัทปูนซิเมนต์ไทย (แก่งคอย) จำกัด กล่าวในฐานะตัวแทนผู้ใช้งานจริง
“หลังจากที่เราทำโครงการนำร่องติดตั้ง PE Sheet เข้าไปที่ฮอปเปอร์หินปูนของ Raw mill 3 พบว่า การอุดตันของฮอปเปอร์วัตถุดิบดังกล่าวเป็นศูนย์ เพราะว่าแผ่น PE Sheet ทำให้วัตถุดิบไหลลื่นในฮอปเปอร์ได้อย่างต่อเนื่อง ช่วยไม่ให้เกิดการอุดตัน ไม่ต้องเคาะหรือกระทุ้งผนังของฮอปเปอร์เพื่อให้วัตถุดิบไหล ซึ่งที่ผ่านมาเราตามเก็บข้อมูลกันมาตลอด 2 ปี ที่ติดตั้งแผ่น PE Sheetปัญหาเรื่องการอุดตันก็ไม่เกิดขึ้นอีก”
จากการติดตามตลอดระยะเวลากว่า 2 ปี แผ่น PE Sheet ยังอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ดีอยู่ ซึ่งปัจจุบันกำลังวางแผนขยายการติดตั้งแผ่น PE Sheetไปที่ฮอปเปอร์วัตถุดิบที่มีการอุดตันง่ายในส่วนการผลิตอื่น ๆ ของโรงปูนแก่งคอย และเริ่มขยายไปยังโรงปูนแห่งอื่น ๆ อีกด้วย เช่น โรงปูนทุ่งสงก็ได้มีการทดลองนำแผ่น PE Sheet ไปติดตั้งบริเวณชู้ท (ตัวเชื่อมท่อส่งวัตถุดิบ) เพื่อลดการอุดตันของวัตถุดิบในบริเวณดังกล่าว
ผลประโยชน์แก่ทุกฝ่าย
หากมองในภาพรวมจะกล่าวได้ว่า ความร่วมมือกันในการผลิตสินค้าและบริการครั้งนี้ นำมาซึ่งผลประโยชน์ทั้ง Value Chain” ตั้งแต่ผู้ผลิตพอลิเมอร์ ผู้แปรรูปสินค้า จนถึงผู้ใช้งานปลายทาง
เริ่มจากเอสซีจี เคมิคอลส์ เอง การทำ collaboration เป็นโอกาสที่ให้เราได้รับโจทย์ใหม่ ๆ ที่ท้าทายให้เราพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง ในหลากหลายรูปแบบการใช้งาน (Application) ช่วยขยายโอกาสทางธุรกิจให้บริษัท
ต่อมาคือฝั่งคู่ค้าแอร์โรคลาสที่แต่เดิมเป็นบริษัทผู้ผลิตสินค้าพลาสติกแปรรูปจากแผ่น PE Sheet เพื่อยานยนต์ วันนี้ก็สามารถเข้าสู่ธุรกิจใหม่ ๆ เช่น ลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรม ช่วยให้คู่ค้าของเราสามารถขยายโอกาสทางธุรกิจไปยังสินค้าใหม่ ๆ ได้
ด้านผู้ใช้งานก็ได้โซลูชั่นที่แก้ปัญหาได้ตรงจุด เช่นการที่โรงปูนแก่งคอยสามารถแก้ปัญหาฮอปเปอร์อุดตัน ทำให้สามารถแก้ปัญหาความสม่ำเสมอในการป้อนวัตถุดิบได้จริง ในราคาที่เหมาะสม โดยผลที่ได้ตามมาอีกอย่างคือ คุณภาพของปูนซีเมนต์ที่สม่ำเสมอ ลดจำนวนผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้คุณภาพลง (Defect) ท้ายที่สุดก็จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจของลูกค้า
“การทำ Collaboration มันต้อง win-win กันทุกฝ่าย ถ้ามีคู่ธุรกิจมากกว่านี้ก็ต้อง win ให้หมด ต้องทำอย่างไรก็ได้ให้ทุกคนได้ผลประโยชน์ร่วมกัน” คุณอรรถวุฒิ กล่าวย้ำถึงการร่วมมือกัน “นอกจากนี้การทำ Collaboration ที่ดี ต้องมีการคุยกันเรื่องเป้าหมายของโครงการ และบทบาทหน้าที่ของแต่ละฝ่าย โดยแต่ละคนก็จะนำเอาความเชี่ยวชาญ และนำความรู้เฉพาะตัวนั้นมาแชร์ และต่อยอดเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามต้องการ และเกิดประโยชน์สูงสุด” เหมือนดั่งที่คุณเอกวัฒน์ กล่าวว่า การทำธุรกิจ หากไม่เชื่อใจ มันก็เดินไปด้วยกันไม่ได้นั่นเอง เช่นเดียวกับคุณณัฐวุฒิ กล่าวว่า การไว้ใจกันเป็นต้นกำเนิดความร่วมมือที่ดี
ฉะนั้นแล้วการ Collaboration จะไม่สำเร็จหากขาดความร่วมมือของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เป็นการทำงานร่วมกันเพื่อสร้างให้เกิดแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงจุด เพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับลูกค้าและลูกค้าปลายทาง เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืนร่วมกัน