ร่วมคิด ร่วมใช้ ร่วมพัฒนา สู่นวัตกรรม “ถุงคลุมกล้องผ่าตัดสมอง” ช่วยคนไทยเข้าถึงบริการทางการแพทย์
Publish On 30, Sep 2017 | ร่วมคิด ร่วมใช้ ร่วมพัฒนา สู่นวัตกรรม “ถุงคลุมกล้องผ่าตัดสมอง” ช่วยคนไทยเข้าถึงบริการทางการแพทย์
แม้ว่ามาตรฐานทางการแพทย์และการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ของประเทศไทยจะดีขึ้นกว่าในอดีตมาก แต่ก็ยังมีข้อจำกัดด้านการพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมทางการแพทย์ ทำให้เราต้องสูญเสียเงินมหาศาล เพื่อนำเข้าวัสดุอุปกรณ์จากต่างประเทศที่มีราคาแพงมาก ซึ่งอาจทำให้ประชาชนได้รับบริการทางการแพทย์ที่มีมาตรฐานไม่ทัดเทียมกัน
ดังนั้น คณะแพทยศาสตร์ของ 3 สถาบันการศึกษา ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จึงจัดทำโครงการ “The One” ภายใต้สโลแกน “ร่วมคิด ร่วมใช้ ร่วมพัฒนา” พร้อมดึงให้เอสซีจี เคมิคอลส์ เข้ามาร่วมกันพัฒนานวัตกรรมพลาสติกสำหรับวงการแพทย์ ซึ่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์อำนาจ กิจควรดี (ประสาทศัลยแพทย์ ) ภาควิชาศัลยศาสตร์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัย คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เล่าถึงวัตถุประสงค์ของโครงการนี้ว่า
“เราริเริ่มโครงการ The One เมื่อ 3 ปีที่แล้ว เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ทางการแพทย์ระหว่างคณะแพทย์ฯ ของสามสถาบัน ซึ่งต่อมาก็มีแนวคิดว่าควรร่วมกันพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์เพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ และเห็นว่าน่าจะเริ่มจากวัสดุทางการแพทย์ที่ส่วนใหญ่จะเป็นพลาสติกหรือกระดาษที่ใช้แล้วทิ้ง ทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่เคยทำงานร่วมกับเอสซีจี เคมิคอลส์มาก่อนเชื่อมั่นว่าเอสซีจี เคมิคอลส์ ซึ่งเป็นมืออาชีพด้านวัสดุพอลิเมอร์น่าจะช่วยเราได้ จึงเชิญให้มาทำโครงการนี้ด้วยกัน”
จากการระดมความคิดของทีมบุคลากรทางการแพทย์และทีม Design Catalyst ของเอสซีจี เคมิคอลส์ ได้ข้อสรุปว่านวัตกรรมชิ้นแรกที่ร่วมกันพัฒนาคือ “นวัตกรรมถุงคลุมกล้องผ่าตัดจุลศัลยกรรม” ซึ่งใช้คลุมกล้องผ่าตัดให้ศัลยแพทย์จับโดยไม่ต้องสัมผัสกับเชื้อโรค เนื่องจากมีเหตุผลหลายประการ คือ ถุงคลุมกล้องผ่าตัดเป็นอุปกรณ์ที่ต้องปลอดเชื้อ เพราะใกล้ชิดกับอวัยวะ หากไม่สะอาดจะทำให้เกิดอันตรายกับคนไข้ ดังนั้นควรใช้งานเพียงครั้งเดียว แต่ที่ผ่านมาบางรายใช้วิธีใช้ซ้ำ (Reuse) โดยนำไปทำให้ปราศจากเชื้อ (Sterilization) แต่ก็ไม่มั่นใจเรื่องการขาดรั่วของพลาสติกถุงคลุมกล้อง นอกจากเรื่องความสะอาดแล้ว กล้องแต่ละยี่ห้อต้องใช้ถุงคลุมเฉพาะของตัวเองจึงทำให้เกิดการผูกขาด อีกทั้งถุงมีราคาสูง ทำให้ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดจึงมากขึ้น
“เราไม่ต้องการให้ใช้ถุงคลุมกล้องซ้ำ เพราะเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อโรคหรือถุงรั่ว จึงคิดว่าควรหาวิธีผลิตเอง อยากให้ราคาย่อมเยาลง และใช้งานกับกล้องทุกยี่ห้อ”
ด้านคุณอัจฉรี พัชรากิตติ Product Design Executive จาก Design Catalyst by SCG Chemicals ที่มีบทบาทสำคัญในการออกแบบผลิตภัณฑ์และคัดเลือกวัสดุ เล่าถึงกระบวนการพัฒนานวัตกรรมชิ้นนี้ว่า การออกแบบเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์เป็นสิ่งที่ซับซ้อนกว่าผลิตภัณฑ์อื่น นอกจากรับโจทย์จากผู้ใช้มาแล้ว ทีมนักออกแบบต้องไปสังเกตการณ์ในห้องผ่าตัดจริง เพื่อให้เห็นลักษณะการใช้งานของผลิตภัณฑ์ ปัญหาที่เกิดขึ้น ตลอดจนได้พูดคุยกับบุคลากรทางการแพทย์ผู้ใช้งาน ก่อนนำข้อมูลทั้งหมดมาปรึกษาเพื่อหาข้อสรุปกับทีมอาจารย์แพทย์แผนกวิจัยและพยาบาลห้องผ่าตัด ว่าต้องการเห็นนวัตกรรมชิ้นนี้ออกมาเป็นอย่างไรบ้าง เพื่อจะได้ออกแบบและหาวัสดุที่เหมาะสมมาผลิตชิ้นงานได้ตรงตามความต้องการ
“อุปกรณ์นี้มี 2 ส่วนหลักคือ ส่วนฝาครอบเลนส์และตัวถุง ซึ่งฝาครอบเลนส์ เราออกแบบให้มีความยืดหยุ่น แข็งแรง มีสีสดเห็นชัด ส่วนตัวถุงจะเป็นชิ้นเดียวขนาดใหญ่ และยาวประมาณ 2–3 เมตร เนื้อถุงมีความใส บาง เวลาคลี่ออกต้องไม่เกิดไฟฟ้าสถิตย์ มีความห้อยตัวแต่ไม่ทิ้งน้ำหนักมากเกินไป ส่วนวัสดุที่ใช้ผลิตจะต้องฆ่าเชื้อด้วยรังสีแกมมาได้ และเมื่อผ่านรังสีคุณสมบัติวัสดุต้องไม่เปลี่ยนไป ซึ่งตัวถุงเราเลือกใช้วัสดุที่ผลิตในประเทศทำให้สามารถบริหารจัดการการผลิตและต้นทุนให้เหมาะสมได้”
คุณอัจฉรีบอกว่า งานที่อาจดูท้าทายเมื่อเริ่มแรก กลับสำเร็จลงได้อย่างดีด้วยความร่วมมือของทุกฝ่าย “ความร่วมแรงร่วมใจ เต็มใจให้ข้อมูลทุกแง่มุมของทีมงานทุกคน ที่มองเป้าหมายร่วมกันคือประโยชน์ของคนไข้ ทำให้พัฒนานวัตกรรมนี้สำเร็จ”
เช่นเดียวกับผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์อำนาจ ที่พูดถึงความประทับใจในความร่วมมือครั้งนี้ว่า “ได้เห็นความทุ่มเทอย่างมากของทีม Design Catalyst by SCG Chemicals ที่ลงไปสังเกตการณ์และสัมภาษณ์ผู้ใช้งานจริง เพื่อให้ได้ข้อมูลรอบด้านจริง ๆ จนทำให้เราได้นวัตกรรมทางการแพทย์ที่ช่วยให้ประชาชนได้รับบริการที่มีมาตรฐานและปลอดภัยมากขึ้น ความสำเร็จครั้งนี้ยังพิสูจน์ให้เห็นด้วยว่า หากภาครัฐและภาคเอกชนสามารถร่วมมือกันอย่างแน่นแฟ้นเช่นนี้ มีจุดยืนเดียวกันคือทำเพื่อสังคม ประเทศไทยจะสามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืนแน่นอน”
หมายเหตุ: หากธุรกิจใดกำลังมองหา “ความร่วมมือ” ด้านการออกแบบและการเลือกวัสดุที่เหมาะสม เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ลูกค้ามากยิ่งขึ้น ขอคำแนะนำเพิ่มเติมได้ที่ Design Catalyst by SCG Chemicals บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด โทร +66 2586 4117 หรือ www.design –catalyst.com Facebook: https://www.facebook.com/DesignCatalyst
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์อำนาจ กิจควรดี (ประสาทศัลยแพทย์ ) ภาควิชาศัลยศาสตร์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัย คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ที่เมืองไทยเราอาจเคยเห็นการพัฒนาวัสดุทางการแพทย์เพื่อใช้ในองค์กรใดองค์กรหนึ่ง ไม่ได้นำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่นวัตกรรมทางการแพทย์ชิ้นนี้เกิดจากความร่วมมือกันของหลายสถาบันฯ ร่วมกันผลิต ทดสอบผลิตภัณฑ์ และร่วมกันใช้งานจริง ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งที่จะสามารถตอบโจทย์ของอุปกรณ์ทางการแพทย์ได้ดีที่สุด”
คุณอัจฉรี พัชรากิตติ Product Design Executive จาก Design Catalyst by SCG Chemicals
“โครงการนี้มีความคาดหวังว่าจะผลิตนวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้งานอย่างแพร่หลายทั่วประเทศไทย เพื่อทำให้เกิดการต่อยอดพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ เราต้องการความคิดเห็นจากผู้ใช้งาน เพื่อนำไปปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์รุ่นต่อไปให้ใช้งานได้ดียิ่งขึ้นไปอีก”