Close
|
> BUSINESS TIPS > PCR ทางเลือกของธุรกิจด้วยวิธีคิดแบบ Circular Economy

PCR ทางเลือกของธุรกิจด้วยวิธีคิดแบบ Circular Economy

Publish On 30, Oct 2019 | PCR ทางเลือกของธุรกิจด้วยวิธีคิดแบบ Circular Economy

ปัจจุบันวิกฤตสิ่งแวดล้อมของโลกทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกที หลาย ๆ เรื่องเป็นปัญหาที่สะสมมานาน ไม่ว่าจะเป็นปริมาณทรัพยากรธรรมชาติที่เหลือน้อยลงจนน่าเป็นห่วง ปัญหามลภาวะ และปัญหาขยะที่เรียกได้ว่ากำลังล้นโลก บนโลกใบเดียวที่เราอาศัยอยู่ร่วมกันทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นใครต่างก็มีส่วนสร้างผลกระทบ และได้รับผลกระทบกลับมาอย่างแน่นอน เพราะเราทุกคนต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิต อย่างน้อยที่สุดก็ในฐานะผู้บริโภค

 

หากมองบทบาทของผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการธุรกิจเกี่ยวกับพลาสติกในปัจจุบันซึ่งถือว่าอยู่ในกระบวนการต้นทางนั้น จะดีกว่าไหมถ้าหากเราเริ่มต้นปรับแนวคิด ใช้วิกฤตที่ยังมาไม่ถึงนี้เป็นโอกาสในการเปลี่ยนจากการผลิตแบบเศรษฐกิจเส้นตรง นำมา-ผลิต-ทิ้งไป (Linear Economy: Take-Make-Dispose) ที่นำทรัพยากรมาผลิตสินค้า และเมื่อเลิกใช้แล้วก็ทิ้งไป ไม่นำกลับมาใช้อีก ส่งผลให้ทรัพยากรที่มีจะหมดไปอย่างรวดเร็ว และเป็นที่มาของปัญหาขยะซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มาใช้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ผลิต-ใช้-วนกลับ (Circular Economy: Make-Use-Return) ที่จะเปลี่ยนกระบวนการของการผลิต การบริโภค และการใช้ชีวิต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทำให้เกิดของเสียน้อยที่สุด และเพิ่มประสิทธิภาพของการจัดการของเสียให้ถูกนำกลับไปเป็นทรัพยากรที่หมุนเวียนอยู่ในระบบด้วยกระบวนการที่เหมาะสม

 

ผลิตภัณฑ์พลาสติกประเภทต่าง ๆ เป็น เมื่อผ่านการใช้งานแล้วหากนำมาผ่านการจัดการที่มีประสิทธิภาพ ก็จะสามารถนำกลับเข้าสู่ระบบไปสร้างมูลค่าให้ใช้งานต่อไปได้อีกครั้ง การใช้เม็ดพลาสติก PCR หรือ Post-Consumer Recycled Resin ก็เป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่ได้รับความสนใจในกลุ่มผู้ใช้งานบรรจุภัณฑ์พลาสติก จะเห็นได้ว่าบรรดาเจ้าของแบรนด์สินค้ายักษ์ใหญ่เกือบทุกรายต่างออกนโยบายและประกาศเป้าหมายการปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ของตนเองให้ผลิตจาก PCR มากขึ้น เพื่อตอบรับความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลกที่ให้ความสนใจปัญหาสิ่งแวดล้อมและมองหาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

 

เป้าหมายการใช้ PCR ในบรรจุภัณฑ์พลาสติกของแบรนด์ต่าง ๆ

 

  • Nestlé เพิ่มปริมาณพลาสติก PCR ที่ใช้ผลิตขวดน้ำดื่มที่ขายทั่วโลกเป็น 35% (และ 50% ในบางประเทศ) ภายในปี 2025
  • SC Johnson เพิ่มเปอร์เซ็นต์ของพลาสติก PCR ที่ใช้ในขวดที่ผลิตในอเมริกาเหนือและยุโรปจาก 20% เป็น 40% ภายในปี 2025
  • Unilever ใช้ PCR อย่างน้อย 25% สำหรับบรรจุภัณฑ์พลาสติก ภายในปี 2025 ซึ่งปัจจุบันมีบางสินค้าที่ใช้ PCR 100% แล้ว
  • Coca Cola ใช้บรรจุภัณฑ์ซึ่งผลิตจากวัสดุรีไซเคิลในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 50% ของบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดภายในปี 2033

 

หากจะอธิบายให้ละเอียดยิ่งขึ้น นิยามของพลาสติก PCR คือการให้ความสำคัญกับวัตถุดิบที่นำมาผลิต กล่าวคือจะต้องผลิตจากพลาสติกที่ผ่านการใช้งานของผู้บริโภคแล้ว เมื่อรวบรวมจัดเก็บ คัดแยกประเภท นำไปผ่านกระบวนการทำความสะอาด ปรับปรุงคุณสมบัติด้วยเทคโนโลยีหรือนวัตกรรม ก็จะส่งไปผลิตเป็นเม็ดพลาสติก PCR ก่อนนำไปขึ้นรูปเป็นสินค้า PCR ที่พร้อมใช้งานนั่นเอง

 

 

 

 

เพื่อตอบความต้องการของตลาดในเรื่องนวัตกรรมสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ได้ริเริ่มโครงการพัฒนานวัตกรรมสินค้าจากพลาสติกประเภท PCR เช่น โครงการ Greenovative Lube Packaging ซึ่งเป็นความร่วมมือภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนระหว่างบริษัทบางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ในการรีไซเคิลแกลลอนน้ำมันหล่อลื่นใช้แล้ว โดยนำกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่อีกครั้ง ช่วยลดการใช้ทรัพยากรในการผลิตใหม่และลดปริมาณขยะพลาสติก ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตลอดวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่ผู้ผลิตเม็ดพลาสติก ผู้ขึ้นรูปบรรจุภัณฑ์ เจ้าของผลิตภัณฑ์ ผู้ให้บริการ ผู้บริโภค และผู้รับรีไซเคิล

 

พลาสติก PCR นับเป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดการนำ Circular Economy มาปรับใช้ในธุรกิจ เป็นการลดการใช้ทรัพยากรใหม่ โดยการหมุนเวียนให้วัสดุพลาสติกสามารถนำกลับมาใช้งานใหม่ได้อย่างคุ้มค่าที่สุด นี่เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างความร่วมมือที่แสดงให้เห็นว่าหากทุกภาคส่วนเริ่มขยับตัว ศึกษาและพร้อมปรับเปลี่ยนการดำเนินงานกันตั้งแต่วันนี้ก็ย่อมก้าวไปสู่โอกาสใหม่ ๆ ที่ทั้งส่งเสริมธุรกิจให้ดีขึ้นควบคู่ไปกับการดูแลโลกใบนี้ให้ยั่งยืนไปพร้อม ๆ กัน

 

 

 

 

 

 

 

 

หัวข้อที่เกี่ยวข้อง

[elementor-template id="3478"]