Close
|
> BUSINESS TIPS > ทั่วโลกขยับ! ผู้ประกอบการเร่งปรับ ด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียน

ทั่วโลกขยับ! ผู้ประกอบการเร่งปรับ ด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียน

Publish On 28, Jun 2019 | ทั่วโลกขยับ! ผู้ประกอบการเร่งปรับ ด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียน

          เมื่อสถานการณ์ขยะพลาสติกส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมาถึงจุดวิกฤตที่ทั่วโลกต่างต้องให้ความสำคัญ เราในฐานะประชากรคนหนึ่งของโลกสามารถทำอะไรได้บ้าง?

 

   ในเมื่อขยะพลาสติกที่ไหลลงสู่ทะเล พัดไปตามภูเขา หรือลงไปอยู่ในท้องของสัตว์น้อยใหญ่ ล้วนเกิดจากพฤติกรรมของมนุษย์ที่ไม่มีความรับผิดชอบต่อการใช้งานพลาสติกและไม่จัดการให้มีประสิทธิภาพ หนทางแก้ไขจึงชัดเจนอยู่แล้วว่า มนุษย์ต้องเป็นผู้ปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตแบบเดิม ๆ ให้เร็วที่สุด

 

   ปัญหานี้ไม่ใช่หน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง หรือประเทศใดประเทศหนึ่งที่ต้องก้าวขึ้นมารับผิดชอบ หากแต่เป็นเรื่องของประชาคมโลกที่ต้องร่วมกันหาหนทางยุติและแก้ไข

 

 

 

 

เมื่อสำรวจดูสถานการณ์ปัจจุบัน พบว่ามีหลายภาคส่วนที่ตระหนักถึงความสำคัญและให้การตอบรับเป็นอย่างดี ทั้งภาคเอกชน เช่น ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคระดับโลกที่เริ่มออกนโยบายการปรับปรุงผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หรือรณรงค์ลดการใช้พลาสติกประเภทใช้แล้วทิ้ง (single-use plastic) ซึ่งเป็นวิธีการที่จะแก้ไขปัญหาเบื้องต้นได้เร็วที่สุด องค์กรนานาชาติก็เริ่มออกมาตรการและข้อบังคับเพื่อลดปัญหาขยะพลาสติกซึ่งขอยกตัวอย่างมาบางส่วน ดังนี้

 

ในปีพ.ศ. 2562 รัฐบาลของ 187 ประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยมีข้อตกลงที่จะเริ่มควบคุมการเคลื่อนที่ของขยะพลาสติกทั้งทางบกและทางทะเล

 

องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF ระบุว่า ทุกประเทศที่เข้าร่วมอนุสัญญานี้จะต้องวางเป้าหมายในการแก้ปัญหาการปะปนกันของขยะพลาสติก โดยพุ่งเป้าไปที่ประเทศที่เป็นผู้รับซื้อขยะปลายทาง โดยอนุญาตให้ขยะพลาสติกสามารถผสมปนเปกันได้เพียงแค่พลาสติกประเภท PE, PP และ PET เท่านั้น

 

 

 

 

ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย เวียดนาม และ อินเดีย ซึ่งเป็นประเทศปลายทางที่รับซื้อขยะ เริ่มเคร่งครัดกับการนำเข้าขยะพลาสติกจากต่างประเทศ โดยประเทศไทยประกาศควบคุมการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ และลดการนำเข้าเศษพลาสติกภายใน 2 ปี โดยมีข้อสรุปจากกระทรวงอุตสาหกรรม ได้แก่

 

ปีที่ 1 (พ.ศ. 2562) กำหนดโควตานำเข้าเศษพลาสติกไม่เกิน 70,000 ตัน (PET 50,000 ตัน และอื่น ๆ 20,000 ตัน) โดยมีเงื่อนไขให้นำเศษพลาสติกภายในประเทศร่วมด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 30

 

ปีที่ 2 (พ.ศ. 2563) นำเข้าไม่เกิน 40,000 ตัน และให้นำเศษพลาสติกภายในประเทศร่วมด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 60

 

และในปีที่ 3 (พ.ศ. 2564) ห้ามนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศ

 

องค์กรเพื่อการอนุรักษ์ไม่ว่าจะเป็น WWF Greenpeace Change และ Avaaz กำลังรวบรวมรายชื่อให้ครบ 1 ล้านรายชื่อ เพื่อส่งสัญญาณไปยังองค์การสหประชาชาติและกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป ให้ร่วมกันพิจารณาอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายและการกำจัดของเสียอันตรายข้ามแดน เพื่อให้ประเทศตะวันตก “หยุด” การทิ้งขยะมายังประเทศกำลังพัฒนา แต่ให้เริ่มต้นการรีไซเคิลอย่างจริงจัง

 

กลุ่มนักอนุรักษ์เริ่มสนับสนุนให้มีการวิจัยและพัฒนากระบวนการรีไซเคิล และต่อยอดไปสู่การสนับสนุนทำงานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ซึ่งเป็นแนวทางธุรกิจที่เน้นการหมุนเวียน ใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้คุ้มค่า และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการของเสียให้กลับไปเป็นทรัพยากรที่หมุนเวียนอยู่ในระบบ หรือ Make > Use > Return แนวคิดดังกล่าวนี้เริ่มเป็นที่แพร่หลายมากขึ้นเมื่อโลกก้าวเข้าสู่สภาวะขาดแคลนทรัพยากร และเกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบเข้าใกล้ตัวมนุษย์มากขึ้น

 

 

 

 

ในฐานะผู้ผลิต การนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนเข้ามาปรับใช้ สามารถเริ่มได้ตั้งแต่ต้นทาง ได้แก่ การเลือกใช้วัตถุดิบที่ให้ประสิทธิภาพสูงขึ้น ทำให้ลดการใช้ทรัพยากรให้น้อยลงได้ หรือเลือกวัตถุดิบที่สามารถนำกลับไปรีไซเคิลได้มากขึ้น ส่วนกระบวนการผลิตนั้นหากบริหารจัดการให้ดี ก็จะสามารถลดการเกิดของเหลือของเสีย หรือแม้แต่นำสิ่งเหล่านั้นกลับไปใช้ในกระบวนการผลิตได้ใหม่ (Renewability) หลังจากได้สินค้าออกสู่ตลาดแล้ว ผู้ผลิตหรือเจ้าของแบรนด์สินค้าเองก็สามารถมีส่วนร่วมผลักดันหรือส่งเสริมให้ผู้บริโภคปลายทางใช้งานสินค้าอย่างคุ้มค่าและให้ความรู้ในการจัดการกับขยะที่เกิดขึ้นให้ถูกวิธี โดยเริ่มจากการคัดแยกขยะแต่ละประเภทเพื่อให้สิ่งที่กำลังจะกลายเป็นขยะ ได้กลับเข้าสู่วงจร หมุนเวียน และสร้างมูลค่าได้อีกครั้ง

 

ถึงเวลาแล้วที่ผู้ประกอบการหรือองค์กรในฐานะ “ผู้ผลิต” จะต้องเริ่มบูรณาการการทำธุรกิจด้วยหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน และเป็นอีกหนึ่งกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญในการช่วยจัดการขยะพลาสติกให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ต่อลมหายใจให้กับสิ่งแวดล้อมของโลกได้อย่างเป็นรูปธรรม

 

[elementor-template id="3478"]