Close
|
> BUSINESS TIPS > เปิดมุมมองเมกะเทรนด์ที่ส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรมพลาสติก

เปิดมุมมองเมกะเทรนด์ที่ส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรมพลาสติก

Publish On 13, Mar 2019 | เปิดมุมมองเมกะเทรนด์ที่ส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรมพลาสติก

เปิดมุมมองเมกะเทรนด์ที่ส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรมพลาสติก

จากนักเศรษฐศาสตร์ ผู้ประกอบการ และนักธุรกิจ

 

ท่ามกลางเปลี่ยนแปลงของโลก ไม่ใช่แค่เทคโนโลยีเท่านั้นที่จะเข้ามามีบทบาทกับภาคธุรกิจ แต่ยังมีอีกสารพัดเรื่องใกล้ตัวที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม วิถีชีวิต ไปจนถึงเรื่องใหญ่ ๆ ระดับเศรษฐกิจและสังคม

 

 

 

 

เข้าสู่ศักราชใหม่ All Around Plastics จึงชวน รศ.ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) คุณภราดร จุลชาต ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ดร. พิรุฬห์ เหมมณฑารพ กรรมการบริหาร บริษัท ปัญจวัฒนาพลาสติก จำกัด (มหาชน) และคุณศักดิ์ชัย ปฏิภาณปรีชาวุฒิ Vice President – Polyolefins and Vinyl Business ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี มาพูดคุยถึงเมกะเทรนด์ และกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกที่จะมีบทบาทกับอุตสาหกรรมพลาสติกในอนาคต

 

 

 

 

ลองมาทำความรู้จัก 5 เมกะเทรนด์นี้พร้อมกัน เพื่อปรับตัว รับมือกับความท้าทาย และปรับแผนธุรกิจให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจได้อย่างก้าวไกล

 

 

รศ.ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

 

ส่องภาพรวมเมกะเทรนด์ที่น่าจับตามอง ในสายตานักเศรษฐศาสตร์

 

ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ รศ.ดร.สมประวิณ เริ่มต้นแนะนำเมกะเทรนด์ที่ทั่วโลกกำลังจับตาอย่าง ‘Aging Society หรือสังคมสูงวัย “ประชากรโลกจะกลายเป็นสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ในอีก 35 ปีข้างหน้า รู้ไหมว่าประเทศไทยเรามีประชากรสูงวัยมากเป็นอันดับที่สองในภูมิภาครองจากประเทศสิงคโปร์”

 

รศ.ดร.สมประวิณ พูดถึงโอกาสสำหรับผู้ประกอบการว่า นอกจากสินค้าและบริการที่ตอบสนองคนรุ่นใหม่ หากธุรกิจพัฒนาสินค้าและบริการที่ตอบสนองกลุ่มสูงวัยที่กำลังจะกลายเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศในไม่ช้า โดยคิดถึงการใช้งานจริง พอ ๆ กับที่ให้ความสำคัญกับงานออกแบบที่สวยงาม ไม่เพียงกลุ่มสูงวัยจะเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงมาก ยังสร้างโอกาสธุรกิจเกิดใหม่มากมายเพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป

 

เทรนด์ต่อมาคือ ‘Rise of Middle Income Class หรือกลุ่มตลาดเกิดใหม่ ซึ่ง รศ.ดร.สมประวิณ ให้ความเห็นว่า “หากศึกษาสัดส่วนของประชากรและกำลังซื้อต่อหัวจะพบว่าเราไม่ควรละเลยกลุ่มคนระดับกลางซึ่งเป็นจำนวนส่วนใหญ่ในโลก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market Countries) อย่างจีนและอินเดีย ที่ต้องการบริโภคสินค้าและบริการมากขึ้น โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นสินค้าและบริการสวยหรูสมบูรณ์แบบ เพียงแต่ใช้งานได้และคุ้มค่าคุ้มราคา ซึ่งอาจจะมีจำนวนมากถึง 70 – 80 % ของประชากรทั้งหมด ส่งผลให้กำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น ขนาดเศรษฐกิจใหญ่ขึ้น” ก่อนจะเสริมว่า นอกจากการศึกษาพฤติกรรมในตลาดนั้น ๆ อย่างเข้มข้นเพื่อนำเสนอสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ การใช้เทคโนโลยีเพื่อเข้าถึงคนกลุ่มนั้นก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม

 

รศ.ดร.สมประวิณ ยังพบอีกว่าหลายองค์กรใหญ่ ๆ ในโลก ต่างยกให้เทรนด์เรื่องเมืองเป็นเทรนด์ที่น่าสนใจอันดับต้น ๆ ไม่เพียงจะมีการพูดถึงเรื่อง Smart City ในเมืองใหญ่ที่พัฒนาแล้ว ความเป็นเมืองในที่นี้หมายรวม ‘Urbanization หรือการขยายตัวของชุมชนเมือง นั่นคือ การเกิดขึ้นของหัวเมืองใหม่ ๆ เชื่อมโยงโลกไม่ให้การพัฒนากระจุกตัวอยู่ที่ใดที่หนึ่งอีกต่อไป ซึ่งส่งผลให้ไลฟ์สไตล์เปลี่ยนไป

 

เช่นกันกับเทรนด์เรื่อง ความเป็นปัจเจก หรือ Individualism’ คนมีความเป็นตัวตนที่แตกต่างกัน ส่งผลต่อธุรกิจในแง่แรงงานและพฤติกรรมผู้บริโภค “ทุกคนล้วนต้องการสิ่งที่เป็น personalize เป็นเหตุผลให้การคิดออกแบบผลิตสินค้าและบริการของผู้ประกอบการในยุคนี้ท้าทายเพราะ หนึ่ง คนไม่ต้องการสินค้าที่เหมือนคนอื่น สอง คนต้องการสินค้าที่เหมาะสมกับตัวเขาจริง ๆ รวมถึงยอมรับในความแตกต่างของตลาดที่จะแยกย่อยเล็กลงไปทุกที”    รศ.ดร.สมประวิณอธิบายก่อนเข้าสู่เทรนด์สุดท้ายอย่างเรื่องสิ่งแวดล้อม ‘Climate Change and Resource Scarcity หรือการขาดแคลนทรัพยากรและการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ

 

เราจะเห็นว่าตอนนี้คนเริ่มที่จะคิดถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมจริงจัง ไม่เพียงแต่ประชาชนคนทั่วไป แต่ผู้ประกอบการก็เริ่มเห็นปัญหาที่อยู่รอบตัวและหาความเชื่อมโยงกับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค ตัวแทนมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ทิ้งท้าย

 

Expert Advice

 

HOW TO: Start of Something New

 

สิ่งสำคัญคือการตั้งคำถาม “เราจะเปลี่ยนธุรกิจของเราอย่างไร” เป็นเหตุผลว่าทำไมเราจำเป็นต้องเข้าใจธุรกิจของตัวเอง และเนื่องจากเมกะเทรนด์เป็นเทรนด์ใหญ่จึงเคลื่อนไหวได้ไม่รวดเร็ว ไม่ได้แปลว่าจะเกิดขึ้นทันทีในวันพรุ่งนี้ มันอาจจะเกิดขึ้นในอีก 3-5 ปีข้างหน้า เพราะฉะนั้นยังพอมีเวลาให้ธุรกิจวางแผนปรับตัว

 

“ช่วงแรกของการปรับตัว จะเป็นเรื่องการลงทุนหรือการทำ R&D ซึ่งเป็นการสะสมพลัง คุณอาจจะต้องอดทนมากหน่อย เช่น เวลาเรารู้ว่าเศรษฐกิจจะดีปีหน้า เราก็ต้องสร้างโรงงานไว้ก่อน เพราะถ้ารอให้เศรษฐกิจดีแล้วผมสร้างโรงงานวันนั้นผมอาจจะไม่ทันแล้ว เราจะพลาดโอกาสดี ๆ ที่ควรจะเกิดขึ้น” รศ.ดร.สมประวิณให้คำแนะนำ

 

 

ภราดร จุลชาต ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

 

จับตามองเมกะเทรนด์ แล้วเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส

 

เทรนด์โลกตอนนี้เรากำลังพูดเรื่อง Anti-Plastic ไม่ใช่แค่ Anti-Single Used Plastic แล้ว ไปจนถึง Producer Responsibility ซึ่งเป็นเทรนด์ที่มาแรงในยุโรปตอนนี้ ภราดรเปิดประเด็นเทรนด์เรื่องสิ่งแวดล้อมอย่าง ‘Climate Change and Resource Scarcity หรือการขาดแคลนทรัพยากรและการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ

 

“กว่า 30 ปีที่คนไทยรู้จักอุตสาหกรรมพลาสติกมา เราไม่เคยสอนให้คนไทยใช้พลาสติกให้เป็นเลย เราเกิดมาเราก็ผลิต ขายได้มากก็ขาย สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ผลที่เกิดจากการผลิตมากมายนั้น วันนี้มันกลับมาส่งผลกระทบธุรกิจเรา ถ้าพลาสติกพูดได้ มันจะพูดว่า ‘ฉันดีต่อสิ่งแวดล้อมนะ ถ้าฉันเบา ฉันจะช่วยประหยัดน้ำมัน หรือฉันดีกว่าถุงกระดาษ แก้ว และโลหะอย่างไร’ ขณะที่เรื่องโลกร้อนเป็นเรื่องพูดกันมากว่า 10 ปี แต่ก็ยังมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว ยากจะเรียกร้องให้ทุกคนหันมาสนใจ แต่เมื่อพูดเรื่องขยะพลาสติกในทะเล เต่าทะเลตาย คนกลับตื่นตัว วิธีแก้ปัญหา คือ เราต้องแยกขยะก่อนทิ้งให้เป็นก่อน” ภราดรเล่าที่มาและความสำคัญของการสร้างความเข้าใจเรื่อง Circular Economy ในกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก

 

“สำคัญคือการให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องการใช้พลาสติกอย่างถูกวิธี แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้น สิ่งที่ผู้ประกอบการทำได้คือการติดตามข่าวสารในแวดวงอุตสาหกรรมเดียวกันว่าในวันนี้มีเทรนด์ “ไม่ใช้” อะไรบ้าง ไปจนถึงเรื่อง Circular Economy ทำอย่างไรให้วัตถุดิบและผลผลิตของคุณเกิดการใช้วนได้บ่อย ไม่ใช้แล้วหมดไปเหมือนที่ผ่านมา หลักการ 3Rs Reduce Reuse และ Recycle ยังคงใช้ได้อย่างไม่ล้าสมัย เราต้องช่วยกันปรับพฤติกรรมผู้บริโภคให้ใช้พลาสติกด้วยความรับผิดชอบ และทำให้นำกลับมาสู่การรีไซเคิลให้ได้มากที่สุด” ภราดรยอมรับว่า ภาคอุตสาหกรรมพลาสติกได้รับผลกระทบที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (Disruption) จากเทรนด์เรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างแน่นอน พร้อมแนะนำว่า ภาครัฐและภาคเอกชนต้องร่วมมือในการจัดการปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจัง

 

ยกตัวอย่าง การ Disruption ของบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มพลาสติกที่ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัว เช่น ผู้ประกอบการรายใหญ่ของแบรนด์น้ำดื่มงดใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม (Cap Seal) เขาบอกว่าต้องขอบคุณภาครัฐที่ผลักดันให้ผู้ผลิตแบรนด์น้ำดื่มเลิกผลิตพร้อม ๆ กัน จึงไม่มีผลเสียด้านการตลาดที่เกิดจากการแข่งขัน ผลที่มากกว่านั้นคือ แบรนด์น้ำดื่มทุกเจ้าประหยัดต้นทุนพลาสติกหุ้มฝาน้ำดื่มไปไม่น้อยกว่า 100 – 200 ล้านบาท นั่นหมายถึง รายได้ของโรงงานที่ผลิตพลาสติกสำหรับฝาขวดน้ำที่จะหายไปเกือบ 200 ล้าน

 

ขณะที่เทรนด์เรื่อง ‘Aging Society หรือสังคมสูงวัย ตัวแทนจากกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติกมีความเห็นว่า “นอกจากเรื่องการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ใช้ง่าย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้สูงอายุในการใช้ชีวิตประจำวันที่ลำบากขึ้นเนื่องด้วยสภาพร่างกายแล้ว ในส่วนของภาคการผลิต เมกะเทรนด์นี้ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ”

 

ตามมาด้วยเทรนด์ Urbanization ที่กำลังมาแรงและมีความน่าสนใจขึ้นเรื่อย ๆ ในยุคนี้ ส่งผลต่อการออกแบบบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ต้องตอบสนองฟังก์ชั่นการใช้งานของผู้บริโภคในเมืองใหญ่ทั่วโลกซึ่งมีวิถีชีวิตที่เร่งรีบและต้องการความสะดวกสบายมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์ในเรื่องนี้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมพลาสติกจึงต้องคำนึงถึงการออกแบบบรรจุภัณฑ์พลาสติกให้พกพาสะดวก เปิดปิดง่าย น้ำหนักเบา ในทางกลับกันบรรจุภัณฑ์เหล่านี้จะเกิดเป็นขยะ หากเราไม่รู้จักทบทวนการออกแบบบรรจุภัณฑ์พลาสติกรูปแบบใหม่ที่ไม่ต้องกลับมาเป็นขยะบนโลกอีก  ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติกชวนคิด

 

Expert Advice

 

HOW TO: Take a Chance, Make a Change

 

“เทรนด์ Anti-Single Used Plastic มาแน่นอน ก่อนอื่นเราต้องรู้ว่าเราอยู่ตรงไหนในอุตสาหกรรม คนไทยเพิ่งเจอกระแสนี้ปีนี้ ขณะที่ผู้ประกอบการที่ทำสินค้าส่งออกเจอเทรนด์นี้มาตั้งแต่ 2 – 3 ปีที่แล้ว” ภราดรชวนคิดว่าธุรกิจพลาสติกจะปรับผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ของลูกค้าได้อย่างไร หากในอนาคตคนจะยอมจ่ายสิ่งที่แพงกว่าหากรู้สึกว่านั่นทำให้เขาช่วยสิ่งแวดล้อม

 

“ธุรกิจพลาสติกอะไรก็ตามที่ทำให้พลาสติกนั้นเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ง่ายและดี จะยังมีชีวิตอยู่” ภราดรให้คำแนะนำสำหรับการปรับตัวสำหรับผู้ประกอบการที่อยากเติบโตอย่างยั่งยืน

 

 

ดร. พิรุฬห์ เหมมณฑารพ กรรมการบริหาร บริษัท ปัญจวัฒนาพลาสติก จำกัด (มหาชน)

 

ปรับตัวให้เท่าทันเมกะเทรนด์ ด้วยการสร้างความร่วมมือกัน

 

ในมุมมองของผู้ประกอบการและนักธุรกิจอย่าง ดร. พิรุฬห์ ฉายภาพเมกะเทรนด์ที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมพลาสติก ได้แก่ ‘Aging Society หรือสังคมสูงวัย ซึ่งเขาเห็นประโยชน์ของการเปลี่ยนข้าวของเครื่องใช้ผู้สูงวัยเป็นวัสดุพลาสติกด้วยเหตุผลเรื่องความปลอดภัย ถัดไปคือ ความเป็นปัจเจก หรือ Individualism “คนจะเริ่มมองตัวเองเป็นสำคัญ และให้ความสำคัญกับสังคมน้อยลง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของสังคม คำถามคือเราทำอะไรเพื่อสังคมได้บ้าง” ดร. พิรุฬห์ชวนคิด

 

เมกะเทรนด์ลำดับต่อมา ได้แก่ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการคิดถึง Circular Economy นั่นคือการเปลี่ยนจาก “Take, Make และ Dispose” อย่างเคย มาคิดหาวิธีการที่จะทำให้วัตถุดิบกลับมาใช้งานได้ใหม่อีกหลาย ๆ ครั้ง อีกเมกะเทรนด์ที่น่าสนใจ คือ ‘Urbanization หรือการขยายตัวของชุมชนเมือง ซึ่ง ดร. พิรุฬห์ เห็นว่าผลกระทบจากเทรนด์นี้ได้แก่ การใช้ทรัพยากรพลังงานและสิ่งแวดล้อม และการใช้จ่ายที่ทำให้เกิดขยะมากขึ้นหลายเท่าตัว

 

“เราเป็นธุรกิจรับจ้างผลิตชิ้นส่วนพลาสติก (OEM) วันนี้เรากลายเป็นผู้ต้องหาที่สร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมที่โลกกำลังจับตามอง สิ่งที่เราทำได้คือการเข้าหาลูกค้าเพื่อนำเสนอชิ้นส่วนจากวัสดุพลาสติกที่มีน้ำหนักเบาแต่คงคุณสมบัติเชิงกลเหมือนเดิม และส่งเสริมการใช้วัสดุพลาสติกที่ผ่านกระบวนการรีไซเคิลมาเป็นวัตถุดิบในการผลิต เราจึงเน้นการออกแบบเชิงโครงสร้างชิ้นส่วนพลาสติกเป็นหลัก ใช้ซอฟต์แวร์วิศวกรรมออกแบบ ซึ่งหากเราอยากพัฒนาให้ก้าวต่อไป เราอาจจะต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เชี่ยวชาญเรื่องนั้น ๆ มากขึ้น เช่น การร่วมมือศึกษาและพัฒนาเม็ดพลาสติกใหม่กับทางเอสซีจี ที่ทำให้ชิ้นส่วนพลาสติกมีน้ำหนักที่ลดลงมากกว่าเดิม ขณะเดียวกันก็เห็นว่า ภาครัฐควรนำมาตรการภาษีบรรจุภัณฑ์มาใช้ เพื่อเป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถดำเนินการให้เห็นผลเป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็ว” ดร. พิรุฬห์ อธิบายบทบาทผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมพลาสติก

 

ในฐานะที่เป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับน้ำมันหล่อลื่น ดร.พิรุฬห์ เห็นว่าโครงการ “Greenovative Lube Packaging นวัตกรรมพลาสติกรีไซเคิลจากแกลลอนน้ำมันหล่อลื่นใช้แล้วเพื่อผลิตเป็นแกลลอนใหม่” ที่เป็นความร่วมมือระหว่างธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี และบางจากฯ เป็นอีกหนึ่งโครงการที่น่าสนใจและเป็นรูปธรรมเพราะช่วยลดการใช้ทรัพยากรและใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน  คลิกอ่านเพิ่มเติม

 

Expert Advice

 

HOW TO: Balance between Production and Consumption

 

ใจความสำคัญของการรับมือกับเมกะเทรนด์ที่มีต่อภาคการผลิตในอุตสาหกรรมพลาสติกคือ การร่วมมือกัน

 

ในมุมของผู้ผลิต ดร. พิรุฬห์ เห็นว่าต้นน้ำก็สำคัญไม่น้อยกว่า นั่นคือ หากไม่มีมาตรการจากภาครัฐที่บอกให้ลดปริมาณเม็ดพลาสติกในการผลิต การจะเดินเข้าไปหาลูกค้าโดยตรงก็คงไม่มีใครสนใจเพราะไม่เห็นความสำคัญของสิ่งนี้

 

“เราไม่สามารถบอกได้ว่าเราต้องการใช้พลาสติกแบบไหน เรารู้แค่ว่ามีแบบไหนก็ใช้แบบนั้น เช่น ถ้าต้นทางผลิตพลาสติกที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในราคาที่แข่งขันได้ เราก็มีตัวเลือกในการใช้ นั่นคือ ถ้าต้นทางออกแบบมาดี ปลายทางก็ได้ใช้ของดีตามมาด้วย ต้นทางจึงเป็นตัวเริ่มที่สำคัญที่สุด ทั้งผู้ผลิตต้นน้ำและหน่วยงานภาครัฐ”

 

 

ศักดิ์ชัย ปฏิภาณปรีชาวุฒิ Vice President – Polyolefins and Vinyl Business ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี

 

ถอดรหัสเมกะเทรนด์

 

ความท้าทายของภาคธุรกิจในการปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง

 

แม้โลกใบนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่ธุรกิจที่เตรียมพร้อมและปรับตัวให้ก้าวทันเมกะเทรนด์ได้ก่อนย่อมได้เปรียบคู่แข่ง ในทัศนะของศักดิ์ชัย ผู้บริหารจากธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี มั่นใจว่า การตามติดเมกะเทรนด์อย่างใกล้ชิดถือเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะจะทำให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมพลาสติกรู้ทันกระแสโลกและนำเมกะเทรนด์ไปสร้างธุรกิจเพื่อตอบสนองผู้บริโภคได้อย่างยั่งยืน

 

เมกะเทรนด์อย่าง Urbanization หรือการขยายตัวของชุมชนเมือง ทำให้เกิด Business Model ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจมากมาย ทั้งทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนเปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทำให้ชีวิตสะดวกสบายขึ้น คนก็เริ่มเข้ามาสู่สังคมเมือง การติดต่อสื่อสาร การใช้ชีวิตก็เปลี่ยนแปลงไป ต่อมาคือกระแสเรื่องสิ่งแวดล้อม ‘Climate Change and Resource Scarcity หรือการขาดแคลนทรัพยากรและการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ จากความเป็นห่วงว่าการใช้ชีวิตในเมืองที่เพิ่มสูงขึ้นจะส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรมากแค่ไหน ไปจนถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านการแพทย์ทำให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และมีอายุยืนยาวแต่อัตราการเกิดกลับลดลง ส่งผลต่อภาวะ ‘Aging Society หรือสังคมสูงวัย’  จะเห็นว่าเมกะเทรนด์เหล่านี้สอดคล้องและมีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกัน” ศักดิ์ชัยฉายภาพรวมของเมกะเทรนด์ผ่านมุมมองของผู้บริหารธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี

 

และจากเมกะเทรนด์ที่กล่าวมานั้น ศักดิ์ชัยมองว่าเรื่องสิ่งแวดล้อม ถ้าภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ช่วยกันทำ ไม่ช่วยกันหาวิธีใหม่ๆ ในการดูแลสิ่งแวดล้อม สุดท้ายสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นเมกะเทรนด์ก็จะเป็นตัวทำลายสิ่งแวดล้อมในที่สุด

 

ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี เป็นผู้ผลิตวัตถุดิบที่เกี่ยวข้องกับพลาสติกที่อยู่และไม่อยู่ในชีวิตประจำทุกรูปแบบ ไม่ว่าเรื่องของบรรจุภัณฑ์ การขนส่ง ยิ่งการเติบโตของธุรกิจออนไลน์ที่มากขึ้น ความต้องการใช้พลาสติกในรูปแบบใหม่ ๆ ก็ยิ่งมีเพิ่มมากขึ้น

 

ในการทำงานของ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี เราศึกษาเมกะเทรนด์จริงจัง ด้วยการคิดถึงพฤติกรรมและความเป็นอยู่ของผู้คนในอนาคต หรือการคิดถึงความต้องการของลูกค้าในอนาคต เพื่อกำหนดแผนงานสำหรับนำเสนอผลิตภัณฑ์ด้วยรูปแบบใหม่ที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงนั้น ศักดิ์ชัยเล่าวิธีการทำงานที่มองไปยังอนาคต และการหากระบวนใหม่ ๆ ร่วมกันทั้งบริษัท ลูกค้า ลูกค้าของลูกค้า และผู้บริโภค เพื่อให้ได้สินค้าและการบริการใหม่ ๆ รวมถึงการใช้ทรัพยากรที่มีคุณค่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด

 

ปัจจุบัน ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ตั้งใจผลักดันแนวคิดเรื่อง Circular Economy ไปสู่คู่ค้าและทุกส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดการรับรู้และตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ การใช้งาน กระบวนการจัดเก็บ ตลอดจนนำกลับมาแปรรูป และสามารถนำกลับไปใช้ได้อีกในอนาคต

 

Expert Advice

 

HOW TO: Find Meaningful Work

 

ในมุมมองของศักดิ์ชัย เรื่องการปรับตัวของอุตสาหกรรมพลาสติกต่อเมกะเทรนด์ใกล้ตัวอย่างเรื่องสิ่งแวดล้อม เขาพบว่าหากพิจารณาให้ดี การเลือกใช้วัตถุดิบอย่างพลาสติกก็ก่อให้เกิดประโยชน์ไม่น้อย เมื่อเทียบสัดส่วนของราคาต้นทุนกับอรรถประโยชน์ที่ได้รับกับวัตถุดิบประเภทอื่น ๆ แต่ก็ต้องยอมรับว่ากระบวนการจัดเก็บเป็นปัญหา แม้เราจะพัฒนาวัสดุพลาสติกใหม่ให้สามารถรีไซเคิลได้หลาย ๆ รอบ แต่ถ้าเราไม่มีการจัดการเก็บและหมุนเวียนที่ดี อรรถประโยชน์ก็เกิดขึ้นได้อย่างไม่เต็มที่ ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมอย่างที่เราเห็นกันอยู่

 

“ในฐานะที่พวกเราอยู่ในอุตสาหกรรมพลาสติก เราต้องช่วยกันออกแบบผลิตภัณฑ์ให้คงทน แข็งแรง สามารถรีไซเคิลได้ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” ศักดิ์ชัยทิ้งท้ายคำแนะนำกับผู้ประกอบการ

 

 

 

หัวข้อที่เกี่ยวข้อง

[elementor-template id="3478"]